Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ผมขอย้ำอีกครั้ง การเซ็นเซอร์คือยาพิษของโลกภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์คือยาพิษสำหรับศิลปะ การเซ็นเซอร์คือยาพิษของวัฒนธรรม การเซ็นเซอร์ คือการกระทำของพวกศักดินา มันคือระบอบผเด็จการ
- ลาฟ ดิแอซ

ลาฟ ดิแอซเป็นผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์ที่หนังของเขาโดนแบนในประเทศ หลังจากไปคว้ารางวัลใหญ่มาจากเทศกาลเวนิซ เขาพูดประโยคนี้ไว้ในสุนทรพจน์สำหรับงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์อิตาเลียนในกรุงมะนิลา ในสุนทรพจน์ฉบับนั้นเขากล่าวว่า นี่คือสุนทรพจน์จาก คนทำหนังโป๊อิสระชาวฟิลิปปินส์ ไม่ใช่คนทำหนังศิลปะแต่อย่างไร

ลาฟ เพิ่งกล่าวสุนทรพจน์นี้ไปยังไม่ทันจะพ้นเดือน ใครจะนึกว่าเหตุการณ์ที่ลาฟสาปส่งไว้จะเกิดขึ้นในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศไทย

ภายในสัปดาห์เดียวเราพบว่ามีหนังอย่างน้องสองเรื่องที่สังเวยเซ่นระบบเซ็นเซอร์ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ เรื่องแรก คือการบังคับให้ตัดฉาก ทหารสังหารประชาชนในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ใน ‘ลิฟท์แดง' ตอนหนึ่งของหนัง มหาลัย'สยองขวัญ สุดท้ายเมื่อหนังออกฉายเราเห็นเพียงภาพเงามืดของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะคือทหาร สาดกระสุนหันมาหาจอ มาหาผู้ชม

แน่นอนว่าทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม หรือถ้าไม่รู้ก็สามารถหาความรู้ได้ไม่ยาก แต่เราไม่สามารถจะดูสิ่งเหล่านี้บนจอหนังได้

อย่างไรก็ตามกรณีที่น่าตกใจกว่าคือการที่สารคดีเรื่อง บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกันของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ถูกห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ด้วยเหตุผลตลกๆ เกี่ยวกับความขัดข้องลักลั่นของระบบการเซ็นเซอร์ภายใต้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์แบบใหม่ เรตที่ควรได้ไม่มีให้ และฉายไม่ได้โดยไม่มีเรต รายละเอียดทั้งหมดสามารถอ่านได้จากลิงค์ด้านล่างครับ

ผมไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะบอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ทั้งหมดได้ แต่เหตุการณ์ทั้งคู่นำไปสู่การตั้งคำถามเดิมๆ อีกครั้ง ว่าใครแบน/ เซ็นเซอร์ หนังเหล่านี้และทำไม ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นคำตอบเดิม เหมือนพายเรือวนในอ่าง เราแทบจะโยนความผิดไปได้ทันที ถึงคณะกรรมการเซ็นเซอร์ และกรอบคิดคับแคบของพวกเขาและเธอ (เราอาจย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นกับกรณีการเซ็นเซอร์หนัง แสงศตวรรษของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

เช่นเดียวกับงานศิลปะ มนุษย์เป็นผลผลิตของสังคม และวัฒนธรรม จะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรมันล้วนเชื่อมโยงห่วงโซ่ร้อยข้อต่อกลับไปยังต้นทางได้ทั้งสิ้น

เมื่อครั้งที่เราจัดฉายหนังฟิลิปปินส์ ของ Lav Diaz ระหว่างการ Q & A มีคนฟิลิปปินส์ลุกขึ้นถามว่าทำไมหนังเหล่านี้ถึงไม่ได้ฉายในประเทศฟิลิปปินส์ ทำไมพวกเขาถึงต้องออกมาดูหนังเหล่านี้นอกประเทศ นี่เป็นหนังที่ตั้งใจทำให้คนอื่นที่ไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ดูหรือเปล่า

ในครั้งนั้น Lav ไม่ได้ตอบคำถามนี้ คนที่ตอบคือ Alexis Tioseco นักวิจารณ์ชาวฟิลิปปินส์ ที่ต่อสู้เพื่อหนังฟิลิปปินส์ และหนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มแข็งมาหลายปี เพื่อนผู้ล่วงลับของเรา เป็นคนลุกขึ้นมาตอบ เขาตอบโดยการเล่าเรื่องว่า มีคนเคยถามแบบนี้ครั้งหนึ่งเมื่อมีการจัดฉายใหนังของ Lav ในมหาวิทยาลัย และในครั้งนั้น Alexis ถามกลับผู้ถามว่า คุณคิดว่าหนังเรื่องนี้ควรจะให้คนในฟิลิปปินส์ดูหรือเปล่าล่ะ คนถามตอบว่าควร Alexis จึงย้อนถามกลับไปว่า แล้วทำไมคุณไม่ทำมันล่ะ

It's not a problem of the film, It's the film culture: มันไม่ใช่ปัญหาของตัวหนัง แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางภาพยนตร์ต่างหาก นี่คือสิ่งที่ Alexis กล่าวทิ้งท้าย

ในทำนองเดียวกัน ผมค้นพบว่าใช่หรือไม่ที่กรรมการเซ็นเซอร์ก็เป็นเพียงผลผลิตชิ้นหนึ่งของวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขาและเธอขึ้นมา พวกเขาเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง การก่นด่าพวกเขา ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาก้าวพ้นหล่มหลุมแห่งศีลธรรมกะพร่องกะแพร่งขึ้นมาได้ นอกจากจะเป็นเพียงการถมความเกลียดชังระหว่างกันลงสู่หุบเหวที่ไม่มีวันเต็ม

เราอาจพูดได้เต็มปากว่าในกรณีของ THIS AREA IS UNDER QUARANTINE นั้นมันเกิดจากความผิดพลาดของระบบที่ออกแบบมาอย่างโง่เง่า (กล่าวให้ชัด คนโง่เง่าออกแบบระบบที่โง่เง่า) แต่นั่นแหละ คนโง่เง่าก็เป็นผลผลิตหนึ่งจากสังคมที่โง่เง่าหรือเปล่าหนอ เพราะที่แท้จริงตัวระบบอันผิดพลาด เกิดจากการออกแบบระบบที่ผิดพลาด ซึ่งมันเกิดจากสาเหตุเดียว นั่นคือความเข้าใจอันผิดพลาดที่มีต่อภาพยนตร์ คือมโนทัศน์อันบิดเบี้ยวที่พวกเขามีต่อภาพยนตร์ (ผมไม่อยากใช้คำนี้เลย แต่ผมไม่แน่ใจว่าเราสามารถแปลคำว่า concept เป็นภาษาไทยได้อย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าคำว่ามโนทัศน์ได้ให้ความหมายเดียวกับคำว่า concept หรือไม่ เมื่อเราได้ยินคำว่ามโนทัศน์ เราต้องแปลความหมายคำนี้ซ้ำกี่ครั้ง แล้วที่แท้จริงแล้วเราไม่มีคำศัพท์พื้นๆ ตรงไปตรงมาในการใช้แทนคำว่า concept เลยหรือ หรือที่แท้เราอยู่ในโลกที่ไม่มี concept)

เป็นเรื่องยุ่งยากมากที่เราจะตอบว่าภาพยนตร์คืออะไร เพราะภาพยนตร์ในปัจจุบันนี้ได้กินความไปทั้งกว้างทั้งลึก ทั้งในแง่ของสื่อบันเทิง ไปจนถึงกระบอกเสียงของประชาชน ทั้งความเป็นศิลปะและความเป็นขยะ ภาพยนตร์ไม่ได้มีความหมายง่ายๆ โง่ๆ ว่าเป็นแค่สื่อบันเทิงที่ไม่น่าไว้วางใจอีกแล้ว บ่อยครั้งผมนึกสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เราระแวงภาพยนตร์มากกว่าสื่ออื่น อะไรที่ทำให้เราคิดว่าภาพยนตร์เป็นสื่ออันตรายกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ กว่าโทรทัศน์ กว่าอินเทอร์เน็ต เราเชื่อจริงๆ หรือว่าภาพยนตร์ความยาวเฉลี่ยสองชั่วโมงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำลายจริยธรรมของใครสักคน ภาพยนตร์มีพลังอำนาจมากกว่าสังคมอันวิปริตผิดรูปนี้หรือ ภาพยนตร์มีอำนาจมากกว่าการกลับกลอกของผู้คนที่เราพบเห็นทั้งทั่วไปหรือทางสื่อ ภาพยนตร์มีอิทธิพลกว่าความดัดจริตทางจริยธรรมที่อยู่ในหนังสือเรียน ภาพยนตร์มีอำนาจมากกว่าชาตินิยมบูดเบี้ยวในวิชาประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์มีอำนาจมากกว่าคำสัญญาเลื่อนลอยของชนชั้นปกครองที่โกหกครั้งแล้วครั้งเล่า หาความชอบธรรมให้ตนเองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างนั้นหรือ

ถ้าถามผม ผมตอบได้เลยว่าใช่ ภาพยนตร์มีอำนาจถึงเพียงนั้น แต่! ไม่ใช่ในรูปแบบนั้น

ภาพยนตร์มีอำนาจเพราะภาพยนตร์ก็เหมือนงานศิลปะอื่นๆ (ในแง่ของความเป็นศิลปะ) ภาพยนตร์ซึมเข้าไปสู่จิตใจของคนซึ่งพองฟูและแห้งผากเหมือนกับฟองน้ำ ภาพยนตร์จะซึมเข้าไป ไม่ใช่ด้วยการกล่อมให้เชื่อ หากด้วยการตั้งคำถาม แต่ภาพยนตร์หรือไม่ว่างานศิลปะใดๆ ก็ไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปได้เลยหากผู้คนมีหัวใจเป็นหิน หรือว่าการทำหัวใจให้เป็นหินคืองานหลักของสังคมนี้ จงเซื่องซึม จงเฉื่อยชา จงอย่าตั้งคำถาม จงเชื่อในสิ่งซึ่งถูกสลักลงไปอย่างผิดๆ ในหัวใจหินๆ ของเรา อา สิ่งซึ่งสลักในหินนั้นคงทนถาวรกว่าของเหลวอ่อนนุ่มในฟองน้ำสินะ นี่เองพวกเขาถึงอยากให้เรามีหัวใจเป็นหิน

ผมไม่บังอาจจะสั่งสอนท่านทั้งหลายหรือแม้แต่ตัวเองให้เข้าใจ ‘มโนทัศน์' ที่แท้ของภาพยนตร์หรอก ผมไม่มีขวัญกล้าแข็งพอถึงเพียงนั้น ในเมื่อผมเองยังเป็นผู้ขลาดเขลาในโลกอันไพศาลของภาพยนตร์อยู่เลย

แต่กระทั่งในความเขลานั้นผมกลับพบข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่า ภาพยนตร์ในมโนทัศน์ที่เรายึดถือ ที่ผู้ออกแบบกฏหมายยึดถือ ที่ระบบยึดถือนั้น ช่างถูกลดรูป ง่อยเปลี้ยเสียขายิ่ง

กล่าวไว้ตรงนี้เลย ภาพยนตร์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่สื่อบันเทิงปลอบประโลมจิตวิญญาณ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ยากล่อมประสาทผู้คน นั่นมันงานโฆษณาชวนเชื่อที่แค่สวมเปลือกหุ้มของภาพยนตร์

ภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นครูผู้สอนสั่งศีลธรรมอัดกระป๋องเพ้อเจ้อ ในทางตรงกันข้ามภาพยนตร์อาจจะมีหน้าที่ในการรื้อสร้างศีลธรรมเหล่านั้นด้วยซ้ำ เพื่อให้เห็นว่า ข้างหลังของมันฟุ้งไปด้วยมายาคติอะไรบ้าง

ภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่สร้างความรู้รักสามัคคี ยิ่งไม่มีหน้าที่สร้างความสามัคคีด้วยการกดผู้อื่นให้ต่ำลงทั้งคนชาติเดียวกันหรือชาติอื่น

ภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นตัวเงินตัวทองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น ‘สินค้า'ในสายพานการผลิตของ ‘อุตสาหกรรม' ภาพยนตร์ อย่างที่สมาพันธ์ภาพยนตร์ หรือสมาพันธ์ผู้ผลิตใดๆ ที่ห่วงแค่ผลประโยชน์ของตนเองอยากให้เป็น

ในมโนทัศน์อันบิดเบี้ยวที่มีต่อภาพยนตร์นี้ พวกเขา (ซึ่งผมไม่อาจรู้ได้เลยว่ามีใครบ้าง) พากันกดหัวเราให้ดู ให้รู้ ให้คิด แต่เฉพาะสิ่งซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่อ อัดฉีดเราซ้ำๆ ด้วยยากล่อมประสาทที่แอบอ้างคุณสมบัติครอบจักรวาลที่เรียกกันว่าความดีงาม ซึ่งไม่รู้เลยว่าเป็นความดีงามของใคร

พวกเขากดหัวให้เราซื้อแผ่นลิขสิทธิ์ราคาแพงที่ถูกข่มขืนมาเรียบร้อยก่อนผลิต ก่อนด่าเราว่าเป็นโจรเพราะเราต้องการภาพยนตร์ที่ยังคงเหลือความเป็นภาพยนตร์อยู่บ้าง พวกเขาทำราวกับว่าชาวเราในประเทศโลกที่สามอันยากจนแสนเข็ญนี้จะต้องเป็นตัวโง่งงมไปชั่วนิรันดร์ เพราะเราไม่มีปัญญาจะซื้อหาศิลปะราคาแพงมาเสพเองได้ เป็นกรรมของคุณเองที่เสือกเกิดมาจน จงจน เจ็บ และ โง่ เพราะศิลปะน่ะ เป็นของชั้นสูง เป็นโสเภณีสำหรับกฏหมาย และเป็นตีนซึ่งเหยียบลงบนหัวของเรา

แต่ทั้งหมดนี้ผมไม่โทษพวกเขาเลย ผมไม่โทษใครหรืออะไรที่ทำให้มันเป็นเช่นนี้ มันเป็นความผิดของเราต่างหาก มันเป็นความผิดที่เราทุกคน ในฐานะคนทำงานด้านวัฒนธรรมไม่ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา เรายืนดูมันถูกทำลายลงไปต่อหน้าเฉยๆ

เรามีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เข้มแข็ง (ซึ่งไม่รู้ว่าเข้มแข็งหรือหลอกตัวเองว่าเข้มแข็ง) แต่ที่แน่ๆ ไม่เคยหลอกตัวเองเลยว่าเป็น อุตสาหกรรม แต่เรามีวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่อ่อนแอ หรือแย่กว่านั้นไม่มีเลย

เราไม่มีสื่อที่ทำหน้าที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภาพยนตร์ เรามีแค่การแสดงอารมณ์อันเร่าร้อน ชอบ เกลียด ห่วย ดี ทุกอย่างแปรผันตามอารมณ์ผิวเปลือก เราปล่อยให้คนดูหนังต้องโดดเดี่ยวในโลกภาพยนตร์อันกว้างใหญ่ อย่าโทษใครเลยถ้าเราจะมีแต่คนดูหนังที่นิยมหนังฉาบฉวย เราไม่เคยสร้างอะไรไว้ให้พวกเขา มากกว่าการก่นด่าเพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น วัฒนธรรมการชม คิด เขียน เกี่ยวกับภาพยนตร์ของเราจึงเป็นแค่เรื่องผิวเปลือกที่ฉาบฉวย

เราไม่มีการศึกษาภาพยนตร์อย่างจริงจัง เราไม่มีกระทั่งสถานที่ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ ก็สมควรแล้วที่หนังไทยจะถูกมองว่าเป็นขยะ เพราะมันถูกปฏิบัติเยี่ยงขยะมาตลอด ต่อให้มีทองอยู่ในนั้นเราก็ไม่มีวันค้นพบ เพราะเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฉาบฉวยที่เราสร้างขึ้นมาเอง

การเซ็นเซอร์หนังที่แท้เป็นเพียงส่วนปลายของห่วงโซ่ปัญหาอันลึกกว่านั้น การก่นด่ามันก็เพียงแต่ทำให้เราดูสูงขึ้นกว่าไม่ทำอะไรเลยเท่านั้นเอง

ถ้าคุณเป็นศิลปิน จงทำงานต่อไป จงสร้างสรรค์งานอย่างไม่ต้องกลัวกฏเกณฑ์ใดๆ คุณมีสิ่งพิเศษ โปรดเอามันออกมาใช้ถือว่าทำเพื่อพวกเราที่ไม่ได้มีสิ่งนั้น

ถ้าคุณเป็นนักวิจารณ์ จงขันแข็งและกล้าหาญ จงก่อการถกเถียงมากกว่าการยอมจำนนไม่มีศิลปินหน้าไหนจะดำรงอยู่ได้ถ้าปราศจากวัฒนธรรมการวิจารณ์

ถ้าคุณเป็นผู้ชม จงชม จงชมต่อไป จงถกเถียงใคร่ครวญ จงคันคะเยอเมื่อพบเข้ากับขอบเขตทางศิลปะใหม่ๆ ที่ไม่ได้กล่อมให้คุณหลับอีกต่อไป จงอย่าเชื่อถ้ามีใครบอกว่าโลกนี้มันเครียดพออยู่แล้วและภาพยนตร์มีไว้เพื่อความบันเทิง ความบันเทิงนั้นมีมากมายหลายแบบ เราจำกัดมันเพียงเพื่อที่จะให้เราได้เครียดต่อไปก็เท่านั้นเอง แค่เปิดประตูออกมา

แน่นอนการสร้างวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องจบในสามเดือนหรือหนึ่งปี แบบโครงการที่เขียนขึ้นเพื่อเบิกงบประมาณ มันอาจใช้เวลานานและเราหลายคนคงต้องบาดเจ็บล้มตาย ตอนนี้ก็จวนเจียนตายกันอยู่หลายราย

แต่เราก็ต้องทำต่อไป

ถ้อยแถลงทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผม ซึ่งดำเนินไปอย่างเศร้าสร้อยโกรธแค้น และโง่เขลา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้นครับ

 

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
4 พ.ย. 2552

ลิงค์ข้อมูลTHIS AREA IS UNDER QUARANTINE ครับ
http://www.popcornmag.com/bbs/index.php?showtopic=7215

ที่มา: http://filmsick.exteen.com/20091104/it-snot-a-problem-of-the-film-it-s-the-film-culture
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net