Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 
ชื่อบทความเดิม
4 ปีเศษของการเดินทางในการค้นหาความจริง กรณีความตายที่ตากใบ:
รายงานการสังเกตการณ์คดีไต่สวนการตาย กรณีตากใบ[๑]
 
ผู้เขียน
ปรีดา ทองชุมนุม[๒], ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[๓] นักสังเกตการณ์คดี
 
 

 

 
“เราไม่เพียงต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้น
แต่ต้องการเห็นว่า เกิดขึ้นได้อย่างไรด้วย”
 
-1-
 
            มันไม่น่าจะเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน-เมื่อใครสักคนจะลองอ่านตัวบทมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการไต่สวนการตาย ขั้นตอนของมันก็คือ เมื่อมีความตายของบุคคลเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่  หรือมีความตายภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ กฎหมายจะกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นว่า การตายของบุคคลโดยผิดธรรมชาติหรือเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานนั้นมีสาเหตุการตายอย่างไร แน่นอนว่ามันไม่ใช่การดำเนินคดีอาญาโดยตรงของความผิดที่ทำให้ผู้นั้นตาย หรือความผิดที่ผู้ตายได้กระทำลงไป พูดอีกครั้งได้ว่า-มันเป็นกระบวนการไต่สวนเพื่อหาความจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยตอบคำถาม 5 ข้อเท่านั้น คือ (1) ผู้ตายคือใคร (2) ตายที่ไหน (3) เมื่อใด (4) เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และ (5) ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ (มาตรา 150 วรรค 5 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และหนังสือที่ อส.0001/281 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2537[๔]) และเมื่อทราบถึงสาเหตุแห่งการตายแล้ว กฎหมายกำหนดให้ศาลส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวน (มาตรา 150 วรรค 11) ผลของการไต่สวนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนในการดำเนินคดีอาญาต่อไป[๕]
ในแง่กระบวนการทางกฎหมายในการไต่สวนการตาย จากการพูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภอ.ตากใบ บางคน-ซึ่งทั้งหมดคือภรรยาหรือลูกสาว พวกเธอยังคงติดกับความรับรู้ทั่วไป คือภาพของตำรวจที่จะไปตามจับคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยมาขึ้นศาลแล้วผู้พิพากษาจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสิน-ลงโทษ เมื่อพวกเธอได้รับการอธิบายจากทนายความว่า จะต้องมีกระบวนการไต่สวนการตายเพื่อค้นหาความจริงมาตอบ 5 คำถามสำคัญข้างต้น แน่นอนว่าพวกเธออาจฟ้องคดีอาญาได้ด้วยตัวเอง แต่กระบวนการไต่สวนการตายที่จะเกิดขึ้น จะช่วยให้พยานหลักฐานถูกนำเข้าสู่ศาล และความจริงทั้ง 5 เรื่องจะถูกเปิดเผยต่อพวกเธอ หลังจากนั้นหากคนที่ทำให้สามีหรือพ่อของพวกเธอเสียชีวิต เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นหมายความว่าพวกเธอจะมีทนายความของแผ่นดินมาช่วยในการดำเนินคดีต่อไป
แม้ความเข้าใจและความรับรู้ต่อการอธิบายของทนายความจะเป็นไปอย่างกระพร่องกระแพร่ง รวมถึงอาจลืม ตอบไม่ได้เมื่อถูกถามใหม่ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี สำหรับภรรยาหรือลูกๆ ของผู้เสียชีวิต คำถาม 5 ข้อนี้ แสนจะสำคัญ เพราะพวกเธอต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร เพราะใคร สามีหรือพ่อของพวกเธอถึงกับต้องเสียชีวิตจากไปเพียงข้ามคืนนั้น-คืนวันที่ 25 ตุลาในปี 47
..แล้วความจริงแบบไหนกันที่พวกเธอจะได้รับเป็นคำตอบ
 
-2-
 
ข้อเท็จจริงเบื้องต้น
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนนับพันได้ชุมนุมกันที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ) ตากใบ เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชบร.) จำนวน 6  คน ถูกเจ้าพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าได้มอบอาวุธปืนของทางราชการให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ โดยตั้งข้อหายักยอกทรัพย์และแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัวชรบ.ทั้ง 6 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ได้มีความพยายามเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ (ประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ) กระทั่งแม่ทัพภาคที่ 4 โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก (ประกาศใช้บังคับในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547) ให้สลายการชุมนุมและควบคุมผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ผลจากการสลายการชุมนุมมีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 6 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน และมีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมอีกหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัส
ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกตั้งคำถามทั้งจากสังคมไทยและประชาคมระหว่างประเทศต่อการสลายการชุมนุม และการสลายการชุมนุมฯ อันเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นโดยการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จนรัฐบาลต้องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547[๖] เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นต่อรัฐบาล ซึ่งสรุปว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 3 ราย ได้แก่ พล.ต.เฉลิมชัย วิฬุรเพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่  5 พล.ต.สินชัย นุสถิต รองแม่ทัพภาคที่ 4 และพล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ณ เวลานั้น) เป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบ รายงานของคณะกรรมการฉบับดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตต่อการปฏิบัติหน้าที่ว่า ทำไปภายใต้ข้อจำกัดจึงทำให้เกิดความผิดพลาด แต่มิได้มีเจตนาที่จะทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนอื่นๆของรัฐสภา
วันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสได้ยื่นฟ้องผู้ชุมนุมบางส่วน คือจำนวน 59 รายต่อศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ 96, 510/2548 ในข้อหาร่วมกัน “มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกเสียแต่ผู้มั่วสุมไม่เลิก ร่วมกันข่มขืนใจพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์”โดยพนักงานอัยการได้ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลจำนวน 1,932 คน[๗]
ต่อมา อัยการจังหวัดนราธิวาสได้ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 เนื่องจากเห็นว่า “คดีนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินคดีต่อไปรังแต่จะก่อให้เกิดความร้าวฉานหวาดระแวงและเกลียดชังระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับจำเลย รวมตลอดถึงญาติพี่น้องของจำเลยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อันเป็นการทำลายความสมานฉันท์ของชนในชาติ นอกจากนี้การดำเนินคดีจะต้องใช้เวลานานและมีพยานที่จะต้องนำเข้าเบิกความในศาลเป็นจำนวนมาก และการนำพยานเข้าเบิกความในศาลจะต้องมีการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงการกระทำของจำเลยรวมทั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ได้เข้าไปสลายการชุมนุมจนทำให้เกิดการล้มตายของผู้ร่วมชุมนุมและเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานทุกฝ่ายต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และระงับความบาดหมางเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีที่ทุกฝ่ายพึงมีต่อกัน การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่นนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชนและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศชาติ”
 
-3-
 
กระบวนการก่อนกระบวนพิจารณาของศาลในกรณีไต่สวนการตาย
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพได้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว ได้ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547
อัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีไต่สวนการตาย (คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง กับ นายมาหามะ เล๊าะบากอ กับพวกรวม 78 คน ผู้ตาย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548 และนางสีตี รอกายะ สาแล๊ะ กับพวกรวม 52 คน ญาติผู้เสียชีวิต และยื่นบัญชีพยานจำนวน 300 อันดับ (พยานบุคคล รวม 299 ปาก) ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549
แต่กระบวนการของศาลยังไม่สามารถเริ่มต้นได้ เนื่องจากมีประเด็นว่าอัยการจังหวัดปัตตานีได้ทำเรื่องขอโอนคดีมายังศาลอาญา กรุงเทพมหานคร (กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ด้วยเหตุผล “ความปลอดภัย”[๘] อย่างไรก็ดี ทนายความของฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ให้โอนคดีนี้ไปยังศาลจังหวัดสงขลาแทน[๙] อันส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของญาติผู้เสียชีวิตในกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
ก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้น กระบวนการเตรียมความพร้อมของทนายความร่วมกับญาติผู้เสียชีวิตเป็นขั้นตอนที่น่าสนใจ โดยในช่วงปี 2549  คณะทนายความทั้งหมดได้นัดประชุมญาติของเสียชีวิตเพื่อมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีของศาล อธิบายถึงขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนการเสียชีวิต การจัดให้มีศาลจำลองเพื่อให้ญาติได้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดีเป็นอย่างไร ใครบ้างที่จะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี ตำแหน่งที่นั่งของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้พิพากษา อัยการซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีเป็นใคร จะนั่งอยู่ตำแหน่งใด ทนายความ ตัวแทนของญาติจะนั่งอยู่ตำแหน่งใด การดำเนินกิจกรรมบทบาทสมมุติเกี่ยวกับการสืบพยานในห้องพิจารณาคดี ฯลฯ เป็นต้น กิจกรรมต่างๆ ข้างต้น
นอกจากทนายความแล้วยังมีตัวแทนของภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ก็ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และประสานงานกับญาติ จนทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากจนล้นห้องประชุมของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตมีความมั่นใจในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อกรณีผู้เสียชีวิตอีก 6 คน (เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 5 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน) ที่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการไต่สวนการตายโดยศาล ทั้งๆที่การเสียชีวิตดังกล่าวสืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสภอ.ตากใบเช่นเดียวกัน
 
-4-
 
บุคคลในกระบวนการยุติธรรม
ศาลหรือคณะตุลาการ[๑๐] 
อัยการ   [๑๑]
ทนายความ         
 
-5-
 
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไต่สวนการตาย การไต่สวนการตายเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2550 โดย 4 นัดแรกเป็นการส่งประเด็นการพิจารณาสืบพยานผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพที่ศาลจังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้น การพิจารณาดำเนินคดีต่อโดยศาลจังหวัดสงขลา โดยนัดแรกกำหนดวันพิจารณาคดีวันที่ 5 มิถุนายน 2550 พนักงานอัยการนำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าสืบจำนวนทั้งสิ้น 70 ปาก ฝ่ายอัยการได้ขอเลื่อนการพิจารณาคดีทั้งหมด 7 ครั้งการสืบพยานฝ่ายผู้ร้องเสร็จสิ้นเมื่อ 20 มกราคม 2552
ส่วนการพิจารณาคดีฝ่ายผู้คัดค้าน (ฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต โดยทนายความ) เริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ 20, 21, 27 และ 28 มกราคม 2552  ฝ่ายทนายความนำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 6 ปาก
ศาลจังหวัดสงขลาได้นัดอ่านคำสั่งวันที่ 10 เมษายน 2552 แต่ไม่ได้อ่านคำสั่ง โดยผู้พิพากษาให้เหตุผลว่าวันดังกล่าวรัฐบาล (ชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ[๑๒] ประกอบกับญาติของผู้เสียชีวิตมาไม่ครบ
วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ต่อหน้าญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสาระสำคัญว่า “..ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่”
 
-6-
 
ข้อสังเกตต่อกระบวนการไต่สวนการตายกรณีตากใบ
1)             ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า กระบวนการเตรียมความพร้อมของทีมทนายความร่วมกับญาติผู้เสียหายได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ากระบวนการพิจารณากลับเริ่มต้นขึ้นเมื่อระยะเวลาล่วงเลยไปแล้วร่วม 2 ปีนับแต่เกิดเหตุ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้น ผู้ต้องสงสัยถูกจับและถูกดำเนินคดีมากขึ้น ส่งผลให้คณะทนายความไม่สามารถเข้าร่วมในคดีได้ทุกคนเพราะต้องกระจายกันรับคดีความมั่นคงที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกเดือน
 
2)       แม้การพิจารณาคดีจะกระทำโดยเปิดเผย และทุกคนสามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ (Right to a public hearing)[๑๓]แต่การจดบันทึกโดยนักสังเกตการณ์คดีและบุคคลภายนอกอื่น เช่น ผู้สื่อข่าว ถูกตั้งคำถามจากผู้พิพากษาและอัยการในช่วงเริ่มต้นของการพิจารณาคดี ภายหลังการชี้แจงผู้พิพากษาจึงอนุญาตให้มีการบันทึกได้ อย่างไรก็ดี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นักสังเกตการณ์คดีถูกตั้งคำถามและถูกห้ามจดบันทึกโดยศาลจังหวัดสงขลาในคดีการไต่สวนการตายกรณีตากใบ เนื่องจากสื่อมวลชนได้เผยแพร่การพิจารณาคดีพยานสำคัญคือ พลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี ซึ่งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 4 ในเวลานั้น แต่ภายหลังจากสื่อมวลชนได้ชี้แจงต่อศาลว่าเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นักสังเกตการณ์จึงสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้
              ต่อการมีส่วนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีของกลุ่มญาติผู้เสียหาย พบว่า นับตั้งแต่มีการสืบพยานที่ศาลจังหวัดสงขลา นับจากวันที่ 1 เมษายน 2550-ประมาณกลางปี 2551 มีญาติผู้เสียหายเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานเพียง 2 ครั้ง โดยญาติผู้เสียชีวิตเดินทางมาจากนราธิวาส ซึ่งต้องเดินทางออกจากบ้านแต่เช้ามืด (จากตำบลตากใบ จ.นราธิวาส-จังหวัด ปัตตานี-ศาลจังหวัดสงขลา คิดเป็นระยะทาง) 33+126+96 กิโลเมตร) ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงญาติผู้เสียหายต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระหว่างการเดินทาง ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เพื่อร่วมฟังการพิจารณาคดี และต้องออกเดินทางกลับหลังพักทานอาหารเที่ยง ไม่สามารถร่วมรับฟังการพิจารณาในช่วงบ่าย เพราะหากรอจนจบการพิจารณาในวันนัดดังกล่าว ก็หมายความว่าต้องออกเดินทางจากจังหวัดสงขลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ ไม่มีความปลอดภัย และตัวญาติผู้เสียหายก็ไม่มีเงินสำหรับค่าเช่าโรงแรม นอกจากนี้ยังมีภาระทางครอบครัวอีกด้วย[๑๔]
 
3)       สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้า (Right to be trial without delay)[๑๕] อาจกล่าวได้ว่า สิทธิดังกล่าวยังคงถูกละเลย ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงกับบทบาทและความเป็นอิสระของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ
              3.1)  การไต่สวนการตายควรถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความรวดเร็ว แต่ในทางข้อเท็จจริงพบว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และมีคนเสียชีวิตในคืนดังกล่าว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบศพได้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว ได้ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 หรือใช้เวลา 1 เดือน 21 วัน และอัยการปัตตานีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ (คดีหมายเลขดำที่ ช.6/2548) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548 แต่กระบวนพิจารณาเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2550รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ ที่ญาติผู้ตายและสังคมไทยรอคอยการเริ่มต้นขึ้นของกระบวนพิจารณาคดีไต่สวนการตายคดีตากใบนี้
              3.2) นับจากเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2550 ที่กระบวนพิจารณาดำเนินการโดยศาลจังหวัดสงขลา พบว่า พยานฝ่ายผู้ร้องที่อัยการนำเข้ามาสืบในคดี อาทิ พลขับรถที่ถูกเรียกเป็นพยานทั้งสิ้น 20 ปาก (จาก 21 ปาก จำนวน 1 ปากที่เหลือทราบถึงสาเหตุการตาย โดยคาดเดาเอาเอง) ทหารพรานที่เป็นกำลังสนับสนุน 14 ปาก ล้วนแต่เป็นพยานที่ “ไม่รู้ทราบ” “ไม่รู้ ไม่เห็น”
              3.3) วันที่ 11 กันยายน 2550 ทนายความได้ดำเนินการแถลงด้วยวาจาขอให้ศาลใช้ดุลพินิจในการตัดพยานในบัญชีพยานที่อัยการเสนอ ศาลไม่มีคำตอบแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2550 ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล
“..ขอศาลได้โปรดสอบถามผู้ร้องถึงจำนวนของพยานผู้ร้องส่วนที่เหลือที่จะนำเข้าเบิกความให้ชัดเจน ให้จัดลำดับความสำคัญของพยานที่จะนำเข้าสืบก่อนหลัง และนำประจักษ์พยานสำคัญที่รู้เห็นการตายที่ 163-208 เข้าเบิกความต่อศาลตามสมควร หากเป็นพยานที่ไม่ทราบถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจให้ผู้ร้องงดการนำพยานในลักษณะดังกล่าวเข้าเบิกความ หรือตัดลดจำนวนพยานที่ไม่มีความสำคัญลง หรือสอบถามพนักงานอัยการถึงพยานที่จะนำเข้าสืบต่อไปว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรต่อเหตุการณ์ หากปรากฎว่าเป็นพยานที่ไม่ทราบเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายอีก ประกอบกับมีพยานที่เบิกควมไว้อยู่ก่อน ฟังได้เพียงพอแล้วและคาดหมายได้ว่าจะเป็นพยานที่ซ้ำซ้อน ขอให้ศาลได้โปรดพิจารณาลดทอนจำนวนพยานลงตามที่เห็นสมควร เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยเร็ว”
 
                        ต่อคำร้องนี้ ศาลมีความเห็นว่า
“..เกี่ยวกับพยานของผู้ร้องในส่วนที่ทนายผู้ร้องมีความเห็นว่า ไม่แตกต่างในสาระสำคัญ ศาลได้สอบถามทนายในห้องพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่พยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาไม่ยืดเยื้อและเร็วขึ้น แต่ทนายผู้ร้องที่ 3,5 ไม่สามารถรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ทั้งการนำพยานปากใดเข้าเบิกความก่อนหลังก็เป็นเรื่องดุลพินิจขอผู้ร้องเอง”[๑๖]
 
3.4) ทนายความเรียกร้อง (ด้วยวาจา) ต่อหน้าศาล ให้อัยการนำพยานสำคัญๆ อาทิ พนักงานสอบสวนมานำสืบ แต่ได้รับการชี้แจงจากอัยการว่า การสืบพนักงานสอบสวนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อสืบพยานผู้เชี่ยวชาญหมดแล้ว (เหลืออีก 1 ปาก คือ แพทย์หญิงปานใจ โวหารดี ซึ่งจะถึงนัดวันพิจารณาคดีในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 โดยสืบที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากพยานติดราชการไปเรียนต่อต่างประเทศ) ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2550 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลได้สอบถามผู้ร้องถึงจำนวนของพยานฝ่ายผู้ร้อง (พนักงานอัยการ) จัดลำดับความสำคัญของพยานที่จะนำเข้าสืบ และนำประจักษ์พยานสำคัญที่รู้เห็นการตาย เข้าเบิกความต่อศาล หากเป็นพยานที่ไม่ทราบถึงเหตุและพฤติกรรมแห่งการตาย ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการให้ผู้ร้องงดการนำพยานในลักษณะดังกล่าวมาเบิกความ หรือตัดลดจำนวนพยานที่ไม่สำคัญลง แต่ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องดุลยพินิจของผู้ร้องเอง[๑๗]ดังนั้น ระหว่างนี้ จึงมีแต่พยานที่ “ไม่รู้ ไม่เห็นเหตุการณ์การตาย สาเหตุการตาย” ถูกนำมาสืบ
3.5) ในกรณีวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ได้มีการเลื่อนการสืบพยานปาก พญ.ปานใจ ออกไป[๑๘] ดังนั้น จึงมีการนำพยานปากอื่นๆ มานำสืบ แต่นับจากวันที่ 2-25 ตุลาคม (ก่อนนัดสุดท้ายคือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 สืบพญ.ปานใจ โวหารดี) มีการสืบพยานทั้งสิ้น 13 ปาก พยานทุกปาก “ไม่รู้ ไม่เห็นถึงพฤติการณ์แห่งการตาย”
3.6) นับจากวันที่ 1 เมษายน 2550 จนถึงวันสุดท้ายของนัดพิจารณาคดี (ฝ่ายผู้ร้อง) คือวันที่ 28 มกราคม 2552 มีการสืบพยานทั้งสิ้นจำนวน 70 ปาก โดยมีการเลื่อนการพิจารณาคดี 7 ครั้ง เนื่องจากพยานไม่สามารถมาศาลในวันนัดได้ พยานจำนวน 21 ปากเป็นพลขับรถ และ 3 ปากเป็นผู้นั่งหน้ารถข้างคนขับ ที่โดยสภาพ (ขับรถอยู่ด้านหน้า) ให้การว่าไม่ทราบถึงเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย  นั้นหมายความว่า การค้นหาความจริงที่ใช้ระยะเวลาร่วม 2 ปี คำตอบที่ได้จากการสืบพยานผู้ร้อง (ฝ่ายอัยการ) คือ “ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบถึงสาเหตุการตาย”
3.7) จำนวนพยานบุคคลที่อัยการระบุในบัญชีพยานทั้งสิ้นจำนวน 299 คน แม้บัญชีพยานดังกล่าวจะยื่นโดยอัยการจังหวัดปัตตานี แต่ในการนำพยานเข้าสืบอัยการจังหวัดสงขลาย่อมสามารถใช้ดุลพินิจในการจัดลำดับความสำคัญของพยานที่จะนำเข้าสืบก่อนหลัง รวมถึงใช้ดุลพินิจในการตัดพยานที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันออกไป ซึ่งไม่ปรากฎว่าอัยการจะดำเนินบทบาทในเชิงรุกแต่อย่างใด
ผลก็คือพยานที่ฝ่ายอัยการนำสืบทั้งสิ้น 70 ปาก ล้วนเป็น “ผู้ไม่รู้” “ไม่เห็น” สถานการณ์ที่นำไปสู่การตายของทั้ง 78 ชีวิต ที่เกิดขั้น จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการนำสืบนี้ เป็น “การไต่สวนการ(ไม่)ตาย” การทำหน้าที่ของอัยการ ภายใต้ภารกิจและบทบาทของพนักงานอัยการตามข้อ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ 106 แห่งระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547[๑๙] จึงสมควรถูกตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถาม
 

 

พยานฝ่ายผู้ร้อง (อัยการนำสืบ)
จำนวนพยาน (คน)
พยานผู้เชี่ยวชาญ
5
พลขับรถที่มีผู้เสียชีวิตในรถ
21
    - เจ้าหน้าที่นั่งข้างคนขับรถที่มีผู้เสียชีวิตในรถ
3
    -พลขับทราบสาเหตุการตายโดยการคาดเดา
1
    -พลขับไม่ทราบพฤติการและสาเหตุการตาย
20
ทหารพรานที่เป็นกำลังสนับสนุน
14
ผู้เสียหายจากเหตุการณ์
1
อื่นๆ
29
รวม
70

 

                        ที่มา: ดัดแปลงจากข้อมูลของนางสาวจันจิรา จันทร์แผ้ว, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ตุลาคม 2552
 
              3.8)  ในจำนวนพยานที่เข้าให้การต่อศาลจำนวน 70 ปากนั้น มีอยู่เพียง 2 ปากที่เป็นชาวบ้าน คนแรกคือ ขขขขขขขขขขะ เจ้าของร้านน้ำชาซึ่งตั้งห่างจากสภ.อ.ตากใบประมาณ 150 เมตร[๒๐] โดยมาให้การเป็นพยานในวันที่ 2ขขขขขขขขน ซึ่งนขขขขขขาถูกตีด้วยไม้กระบองเข้าที่ท้ายทอย ถูกเตะเข้าที่ชายโครงขวาและที่ขา จนหมดสติไประหว่างถูกนำตัวมาไปหน้าสภ.อ.ตากใบ เมื่อได้สติพบว่าตัวเองถูกยิงที่แขนซ้าย ต่อมาจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา ขขขขขขขาจึงเป็นพยานอีกปากหนึ่งที่ไม่รู้เห็นถึงเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย
              ส่วนอีกคนคือขขขขขขขขขขขขขขขง ซึ่งศาลนัดสืบวันที่ ขขขขขขขขขน แต่ขขขขขขขดี ไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ โดยนขขขขขขขดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาล่วงหน้า คือ ยื่นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 ว่า
“..เนื่องจากพยานมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ไม่สามารถเดินทางมาศาลจังหวัดสงขลาเพื่อเบิกความเป็นพยานได้ เพราะพยานยากจน ไม่มีเงินค่าพาหนะ และเส้นทางที่มาศาลจังหวัดสงขลาไกลมาก พยานกลัวอันตายและไม่กล้าที่จะเดินทางไปที่แห่งใด
ขอศาลได้โปรดส่งประเด็นมาสืบพยานที่ศาลจังหวัดนราธิวาสด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต”
 
              3.9) โดยหลักการแล้ว ศาลสามารถมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว โดยศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความชี้แจงหรือทำให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์เกิดความชัดเจน ตัดพยานหลักฐานที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดี จำกัดการเสนอพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น แต่มีข้อสังเกตว่าผู้พิพากษาในคดีนี้ยังไม่แสดงบทบาทในการผลักดันให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
              นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว หลังจากที่ศาลได้ฟังข้อเท็จจริงจากการสืบพยานไปแล้วนั้น หากได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบถ้วนเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งได้ตามกฎหมาย เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกพยานที่สืบมาแล้วมาซักถามเพิ่มเติม หรือเรียกพยานอื่นมาสืบเพิ่มเติมก็ได้ (มาตรา 150 วรรค 9 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แต่ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด
 
4)       ข้อน่าสังเกตต่อความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษา (the independence and impartiality of the judiciary หรือ nemo judex in re sua) และสิทธิที่ที่จะได้รับการปฏิบัติโดยเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและศาล (Right to equality before the Law and courts/ equal treatment by the court) พบว่า บ่อยครั้งที่ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจไม่บันทึกการนำสืบ การถามค้านของทนายความ
              นอกจากนี้ผู้พิพากษายังได้เคยแสดงท่าทีเกรงใจพยานซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะ พลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี และในวันที่สืบพยานบุคคลนี้ (5 มิถุนายน 2550) ผู้ติดตามของพลเอกพิศาลได้พยายามขอร้องทนายความให้ยุติการซักถามพลเอกพิศาล และได้เข้าไปยังบริเวณตำแหน่งที่นั่งขอทนายความในห้องพิจารณาคดี ในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ไม่ปรากฎว่า ผู้พิพากษาจะดำเนินบทบาทในการห้ามปรามผู้ติดตามของพลเอกพิศาลแต่อย่างใด และไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวในรายงานกระบวนพิจารณา
ความเป็นอิสระของศาลที่มีต่อคู่ความเพื่อเป็นหลักประกันถึงการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่เท่าเทียมกันกับคู่ความหรือผู้ตายและผู้คัดค้านในคดีนี้ จึงควรถูกตั้งข้อสังเกตและคำถาม
 
5)       บทบาทของเจ้าพนักงานอัยการ
นอกจากข้อสังเกตที่มีต่อบทบาทของพนักงานอัยการในคดีนี้ ต่อการนำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าสืบ ดังที่กล่าวไปแล้วในข้อ 3.2)-3.9) ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อบทบาทของอัยการ คือ เนื่องจากวิธีพิจารณาความที่นำหลักทางวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญามาใช้ โดยเปิดโอกาสให้อัยการนำสืบพยาน แล้วจึงค่อยให้ทนายความซัก (ถามค้าน) และให้อัยการถามติง ทำให้บรรยากาศของการสืบพยานคล้ายกับการต่อสู้ในคดีความอาญาหรือแพ่ง มากกว่าจะเป็นการร่วมกันของทุกฝ่าย  ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ทนายความ และผู้พิพากษาในการแสวงหาความจริง อีกทั้งการทำหน้าที่ของอัยการ ในการถามติง ชวนให้เข้าใจถึงการทำหน้าที่เพื่อทำลายน้ำหนักพยาน มากกว่าการแสวงหาความจริง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามบทบาทในการไต่สวนการจตาย
 
              6) บทบาทของทนายความ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า คดีนี้เป็น “คดีช่วยเหลือ” ที่ศูนย์นิติธรรมฯ จัดทีมทนายความมาช่วยเหลือทางคดี แต่ด้วยปริมาณคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้การทำงานเป็นทีมของคณะทนายความน้อยลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าในการทำงานของคณะทนายความที่เหลืออยู่ (ประมาณ 7-8  คน) ยังขาดความเป็นเอกภาพในการดำเนินคดี ดังจะเห็นได้จากมีกรณีที่ทนายความผู้ร้องซักถามที่ 3,5 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 เพื่อขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้พนักงานอัยการงดนำพยานที่ไม่รู้เห็นการเสียชีวิต หรือไม่ทราบสาเหตุและพฤติกรรมแห่งการตายออก ปรากฎว่ามีทนายความผู้ร้องซักถามบางรายไม่เห็นด้วย จึงไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อในคำร้องดังกล่าว รวมถึงการประสานงานกับญาติผู้เสียชีวิตมีน้อยลง
ความมีเอกภาพของทีมทนายความ จึงจำเป็นต้องถูกตั้งข้อสังเกตในรายงานนี้
              ในส่วนของการนำพยานเข้าสืบในคดีนี้ มีพยานฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6 ปาก

 

พยานฝ่ายผู้คัดค้าน (ทนายความนำสืบ)
จำนวนพยาน (คน)
พยานบุคคลในที่เกิดเหตุ
2
พยานบอกเล่า
(นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ, พิเชษฐ์ สุนทรพิพิธ และดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)
4
รวม
6

 

                     ที่มา: ปรีดา ทองชุมนุมและภาวีณี ชุ่มศรี, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ตุลาคม 2552
 
              7)  พบว่า มีการคุกคามญาติผู้เสียชีวิต โดยปรากฏว่า ญาติผู้เสียชีวิตรายหนึ่งซึ่งช่วยทำหน้าที่ประสานงานครอบครัวญาติผู้เสียชีวิตถูกคุกคามโดยมีชายไม่ทราบชื่อโทรศัพท์ไปข่มขู่และเตือนไม่ให้นำญาติเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี[๒๑]
 
              8) การค้นหาความจริงถึงสาเหตุการตายของ 78 ชีวิต ที่ใช้เวลาถึง 4 ปีเศษ
              4 นัดแรกของการพิจารณาคดีไต่สวนการตายนับจากวันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นการส่งประเด็นการพิจารณาสืบพยานผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพที่ศาลจังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้น การพิจารณาดำเนินคดีต่อโดยศาลจังหวัดสงขลา โดยนัดแรกเริ่มเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 พนักงานอัยการนำพยานฝ่ายผู้ร้องเข้าสืบจำนวนทั้งสิ้น 70 ปาก เลื่อนการพิจารณาคดีทั้งหมด 7 ครั้งการสืบพยานฝ่ายผู้ร้องเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552ส่วนการพิจารณาคดีฝ่ายผู้คัดค้านเริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ 20, 21, 27 และ 28 มกราคม 2552  ฝ่ายทนายความนำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 6 ปาก
นั่นหมายความ หากนับจากวันสลายการชุมนุมที่หน้าสภอ.ตากใบ จนถึงวันสืบพยานปากสุดท้ายของคดีไต่สวนการตาย รวมระยะเวลาการเดินทางของการค้นหาความจริงโดยกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือนเศษ
              แต่หากบวกเพิ่มวันอ่านคำสั่งศาลที่ถูกเลื่อนจากวันที่ 10 เมษายน 2552 เป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 แล้ว ญาติผู้เสียชีวิตรอคอยคำตอบจากกระบวนการไต่สวนของศาลเพื่อค้นหาความจริงถึงสาเหตุการตายของสามีและลูกชายของพวกเธอร่วม 4 ปี 7 เดือน
 
9)       ข้อสังเกตต่อคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา
              กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ศาลจังหวัดสงขลาเริ่มไต่สวนการตาย มีเพียง 2 ครั้งที่ญาติผู้เสียชีวิตหลายครอบครัวมาศาลมากที่สุด คือวันที่ศาลนัดอ่านคำสั่ง ครั้งแรกคือวันที่ 10 เมษายน 2552 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552
              ในวันที่ 10 เมษายน ศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้อ่านคำสั่ง โดยผู้พิพากษาให้เหตุผลว่าวันดังกล่าวรัฐบาล (ชุดนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ[๒๒] ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ก่อนที่จะถึงเวลานัดอ่านคำสั่งของคดีตากใบ ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่ง/คำพิพากษาในคดีอื่น ประกอบกับเหตุผลที่ว่า ญาติของผู้เสียชีวิตมาไม่ครบ ก็เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตเช่นกัน ว่าการที่ญาติมาไม่ครบทำให้ขาดองค์ประกอบในการรับฟังคำสั่งได้อย่างไร
 “ผิดหวัง” เป็นเสียงสะท้อนของญาติผู้เสียชีวิตภายหลังการกลั่นกรองความคิดความรู้สึกที่มีต่อคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้[๒๓] ในวันที่ 29 พฤษภาคม2552       
 
 
ที่มา: ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, ตุลาคม 2552
 
โดยเจตนารมณ์แห่งกฎหมายว่าด้วยการไต่สวนการตายแห่งมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้สร้างความหวังให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงสังคมไทย (ในกรณีที่คดีดังกล่าวกระทบต่อความรู้สึก ความไว้วางใจของสาธารณะ) ว่ากระบวนการยุติธรรมจักสามารถแสวงหาความจริงและพยานหลักฐานเพื่อชี้ถึงสาเหตุการตายของบุคคลผู้เป็นราษฎรแห่งรัฐ ที่เสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานรัฐ อย่างไรก็ดี ในทางข้อเท็จจริงมักพบว่า ผลของการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 นี้ หรือคำสั่งในแต่ละคดี ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของครอบครัวผู้เสียชีวิต คำถามของสังคมไทย รวมไปถึงเจตนารมณ์แห่งมาตรา 150 เอง
ในคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ คำตอบที่ปรากฏในคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาไม่มีความชัดเจนเพียงพอ หรือกล่าวได้ว่าไม่ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตหรือสังคมไทย “พอใจ” หรือ “เป็นธรรม” สำหรับต้นทุนของความยุติธรรมที่ใช้แลก ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล ความเสียหายทางด้านจิตใจ ฯลฯ ในระหว่างทางการค้นหาความจริงของกระบวนการยุติธรรม
คำตอบชัดๆ ที่ตอบคำถามของมาตรา 150 ได้แก่ (1) ผู้ตายคือใคร (2) ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (3) ตายเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่คำถามหัวใจสำคัญอย่าง (4) เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย กลับปรากฎเพียง “ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่” โดยไม่มีการชี้ให้ชัดว่า วิธีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมเป็นสาเหตุแห่งการขาดอากาศหายใจหรือสาเหตุของการตายหรือไม่ อันจะยึดโยงไปถึงคำตอบของคำถามสุดท้ายคือ (5) ใครเป็นผู้กระทำ
อาจกล่าวต่อไปได้ว่า คำตอบที่ปรากฏในคำสั่งศาลจังหวัดสงขลานี้ เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่เป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่เช้าวันที่ 26 ตุลาคมในปี 47 แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปร่วม 4 ปี เหตุใดไม่ปรากฏความจริงใดเพิ่มเติมขึ้นมา
 
บางส่วนของคำเบิกความของพยานที่น่าสนใจ ที่ไม่ปรากฎในคำสั่งศาล
พยาน: -----------------------------------------------ร์ เมื่อวันที่ --------------------0
-            “สภาพศพที่พบคล้ายกันคือ ศพทั้ง 8 เริ่มเน่า มีรอยช้ำ แผลถลอก มีเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว มีรอยกดเป็นเส้นที่ข้อมือ บางศพมีฟันกัดปลายลิ้น
-            มี 1 ศพ ที่มีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ ที่ศีรษะ และมี 1 ศพ ที่กระดูกกรามล่างหัก บาดแผลถลอกเกิดที่ใบหน้าและตามลำตัว
-            ทั้ง 8 ศพ มีสภาพคล้ายกันคือ ขาดอากาศหายใจ, มีเลือดออกเยื่อบุตาขาว, บางศพที่ขาดอากาศหายใจ อาจไม่มีจุดเลือดออกที่เยื่อบุตาขาวก็ได้, ทุกศพมีบาดแผลบริเวณใบหน้า-ถลอก-และช้ำ
 
พยาน:--------------------------------------------------------- เมื่อวันที่ -------------------
-            ลักษณะบาดแผลที่พบคือ เลือดออกที่นัยน์ตาขาว, ใบหน้าคร่ำเลือด, มีบาดแผลบวมช้ำ บริเวณหนังตา, ริมฝีปาก ถลอกบริเวณส่วนนูนของใบหน้า อก หลัง
-            ตายเพราะขาดอากาศหายใจ
-            สันนิษฐานว่าเกิดจากการกดทับทำให้เกิดการขัดขวางการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินหายใจเข้า-ออก
 
 พยาน: ---------------------------------------------------------------เมื่อวันที่ -------------------
-            สภาพของศพคือ มือไพล่หลัง เราจึงถามว่า นำเคลื่อนมาอย่างไร เพราะศพยังแข็งอยู่และเมืออยู่ในสภาพไขว้หลัง
-            ศพที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะการขาดอากาศหายใจจากการทับซ้อนๆ กัน
-            ภาวะของการขาดอากาศหายใจ พฤติการณ์คือ มีการนอนเรียงทับซ้อนกัน
-            สภาพศพส่วนมาก มีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว บ่งบอกว่าขาดอากาศหายใจจากการกดทับบริเวณหน้าอก ..ทุกศพมีเลือดตกมาสู่ที่ต่ำด้านหน้า คือที่หน้าอก ทั้งหมดทุกศพ แสดงถึงขณะเสียชีวิต ผู้ตายนอนคว่ำ มือไพล่หลัง หากนอนคว่ำ แต่ไม่มีคนทับข้างบน ผู้ถูกควบคุมก็จะรอด
-            ศพส่วนใหญ่มีลักษณะแผลถลอกตื้นที่ลำตัวและใบหน้า บางส่วนจะมีรอยช้ำที่ใบหน้า บางศพที่มีเลือดออกที่ปาก ฟันหัก ..แสดงว่าถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างรุนแรง
-            เอกสารหมายเลข ปร.25 สภาพศพมีหนังศรีษะ ท้ายทอยบวมช้ำ แก้มขวา ริมฝีปากบวมช้ำ รอยแผลกล้ามเนื้อต้นขวา ยาว 1 ซม.
-            ลักษณะศพ ถูกกระแทกด้วยของแข็ง ตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกทำร้ายก่อน เป็นบาดแผลเกิดก่อนตาย
 
            น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งต่อคำสั่งศาล ต่อการไม่กล่าวถึงพฤติการณ์เรื่องการขนย้าย สภาพศพหรือสภาพบาดแผลของศพที่พยานผู้เชี่ยวชาญหลายไม่ต่ำกว่า 3 คนได้เบิกความไว้อย่างชัดเจนในชั้นพิจารณาคดี
อีกทั้งศาลกลับใช้คำว่า “เมื่อชั่งน้ำหนักพยานแล้ว” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ เป็นการพิจารณาในเชิงคดีอาญาทั่วไปที่เป็นระบบกล่าวหาซึ่งต้องเป็นการชั่งน้ำหนักของโจทก์-จำเลยว่า ใครมีน้ำหนักพยานดีกว่ากัน แต่กรณีไต่สวนการตายเป็นเรื่อง “ไต่สวน” เพื่อให้ได้ความจริงศาลจึงใช้วิธีการชั่งน้ำหนักพยานมาฟังไม่ได้ แต่ต้องเอาพยานทั้งหมดมาฟังประกอบกันเพื่อมีคำสั่ง
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันนัดอ่านคำสั่งนั้น มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำสั่งจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในวันนั้นศาลได้ขอให้ “ไม่มีการแปล” เนื้อหาของคำสั่งฯ ให้กับชาวต่างประเทศฟัง โดยศาลได้จัดให้เจ้าหน้าที่มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภายหลังจากที่ศาลอ่านคำสั่งเสร็จแล้ว
เพิ่มเติม
 
-7-
 
ข้อเสนอแนะ
 
๑)      แม้ว่ามาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะมุ่งหมายถึงการร่วมกันของผู้พิพากษา อัยการ และญาติผู้เสียชีวิตและทนายความในการแสวงหาความจริง และรวบรวมข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลในระหว่างการควบคุม/การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติที่พบในระหว่างการพิจารณาคดี พบว่าระยะเวลาที่ใช้ไปในกระบวนพิจารณาคดีกับคำสั่งสุดท้ายหลังกระบวนการรับฟังพยาน แทบจะไม่มี “หลักฐานใหม่”หรือข้อมูลใหม่ใดๆ ที่จะชี้หรือแสดงถึงความจริง หรือสาเหตุของการเสียชีวิตที่แตกต่างไปจากผลการชันสูตร หรือข้อมูลเดิมที่รู้กันโดยทั่วไปก่อนที่จะมีกระบวนการไต่สวนการตายจะเริ่มต้นขึ้น จึงขอเสนอแนะและเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนเจตนารมณ์และกระบวนพิจารณาความในการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 โดยยึดมั่นและคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้า (Right to be trial without delay) ของผู้เสียหาย
๒)     ขอเสนอแนะให้มีการรวบรวมสถิติข้อมูลที่ชี้ถึงการดำเนินการฟ้องเป็นคดีอาญา ภายหลังการไต่สวนการตายเสร็จสิ้นลง ว่ามีทั้งสิ้นกี่คดี และสถิติรวบรวมระยะเวลาทั้งสิ้นที่ถูกใช้ไปเพื่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม นับแต่เกิดเหตุ การยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนการตาย การฟ้องเป็นคดีอาญาจนถึงคดีสิ้นสุด[๒๔] เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการทบทวนมาตรา 150 ต่อไป
๓)     การมีส่วนร่วมของญาติผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิตในชั้นพิจารณาคดีเป็นสาระสำคัญของหลักการเข้าถึงความยุติธรรม การไต่สวนการตายที่มีขึ้นในจังหวัดสงขลา โดยศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งห่างไกลจากจังหวัดนราธิวาสและปัตตานีทำให้การเข้าถึงความยุติธรรม หรือการมีส่วนร่วมของญาติผู้เสียชีวิตจึงถูกจำกัด ดังนั้น ภายใต้บริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเสนอแนะให้กระบวนการยุติธรรมคำนึงถึงความสะดวก ความปลอดภัยของญาติผู้เสียหาย เพื่อสนับสนุนให้ญาติผู้เสียหายสามารถมีส่วนรับฟังการพิจารณา และการเข้าถึงความยุติธรรม
๔)     ขอเสนอแนะต่อการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของทนายความที่ควรต้องทบทวนเพื่อให้การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นภายใต้หลักเอกภาพเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย (หรือลูกความ)
๕)     จำเป็นต้องกล่าวถึงในประเด็นนี้ด้วยที่ว่า กรณีตากใบหรือกรณีการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 78 รายในระหว่างการเคลื่อนย้าย เป็นกรณีหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก-ในเวลานั้น) ซึ่งในสภาวะที่ไม่ปกตินี้เอง กระบวนการยุติธรรมยิ่งจำเป็นต้องตระหนักและยึดมั่นต่อหลักความเป็นอิสระและเป็นกลาง อันเป็นไปตามหลักนิติรัฐและหลักกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee on ICCPR) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ติดตามสอดส่องรัฐต่างๆในการปฏิบัติตามกติกานี้ ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า สิทธิในการได้รบการพิจารณาคดีโดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและทรงความเที่ยงธรรมนั้น “เป็นสิทธิสมบูรณ์ที่มิอาจยอมให้มีข้อยกเว้นได้”[๒๕] จึงขอเสนอแนะให้บุคคลในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายตระหนักและยึดถึอในหลักการดังกล่าวนี้
 


 

 


[๑] ปรับปรุงจากเอกสารประกอบการเสวนาวิชาการ “มุมมองทางกฎหมาย กรณีไต่สวนการตายคดีตากใบ” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2552 ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, อ้างอิงจาก (ร่าง) รายงานฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2550
[๒] เจ้าหน้าที่กฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
[๓] อดีตเจ้าหน้าที่กฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล, ข้อมูลในรายงานนี้เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่นักสังเกตการณ์คดี (Trial Observer) ภายใต้กิจกรรมการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ที่ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่กฎหมายให้กับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists-ICJ)
[๔]“โดยที่พนักงานอัยการมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบค้นหาความจริงในคดีอาญาในการดูแลฐานะความเป็น “ประธานในคดี” ของผู้ถูกกล่าวหา ตลอดจนบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันในความโปร่งใสหรือการถูกตรวจสอบได้ของกระบวนการยุติธรรม และโดยที่ในคดีที่มีการตายเกิดขึ้น กฎหมายกำหนดกำหนดให้ทำการสอบสวน รวมทั้งการชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาและกฎหมายยังกำหนดด้วยว่า เมื่อปรากฎแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานต้องมีการชันสูตรพลิกศพและอาจมีการตรวจสอบหรือผ่าศพโดยแพทย์ หากจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย
            แม้ว่าในทางปฏิบัติตามปกติพนักงานสอบสวนได้กระทำตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เพื่อยืนยันหลักประกันในความโปร่งใส หรือการถูกตรวจสอบได้ของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว พนักงานอัยการจึงต้องให้ความสำคัญกับการชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพโดยแพทย์ตามบทบาทของพนักงานอัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดจะต้องออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น ในการไต่สวนการตาย พนักงานอัยการจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งจักต้องให้ความสำคัญกับการแจ้งกำหนดการไต่สวนให้สามี ภรรยา ผู้บุพพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลผู้ตายทราบ รวมทั้งดูแลสิทธิของบุคคลดังกล่าวในการซักถามพยานและการนำสืบพยานไม่ว่าโดยตนเอง หรือโดยทนายความของบุคคลนั้น”
[๕] กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, การไต่สวนการตาย, หน้า 419 โดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร
[๖] คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2548 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้มีมติให้เปิดเผยผลสอบทั้งหมด, ดู http://web.schq.mi.th/~sri/analysis_cenario/paper_senariosouth/rpt_tagbai.pdf
[๗] คดีนี้ ผู้ต้องหาได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีทนายความผู้รับผิดชอบ จำนวน 12 คน คือ นายพีรวัส ประวีณมัย, นายรัษฎา มนูรัษฎา, นายอนุกูล อาแวะปูเตะ, นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ, นายอรรถ เจะบือราเฮง, นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ, นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์, นางบุษบา ฉิมพลิกานนท์, นายพีระพงศ์ ระบิงเกา, นายอาลี เจะเอาะ, นายนิอำรัน สุไลมาน และนายปรัชญา คณานุรักษ์
[๘] “..เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ลักษณะของความผิดเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน จำนวนของ ผู้กระทำความผิดที่รวมชุมนุมมีจำนวน 1,298 คน ซึ่งรวมทั้งนายมาหามะ เล๊าะบากอ กับพวกรวม 78 คน ผู้ตาย ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งนี้ด้วย ซึ่งโดยสภาพความรู้สึกของประชาชนส่วนมากของท้องถิ่นนั้น และเหตุผลด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความรู้สึกไม่พอใจของญาติพี่น้องของผู้ตายอาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณา และน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายแรงอื่นขึ้น ผู้ร้องจึงขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพเพื่อส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาสั่งโอนคดีไปยังศาลอาญาหรือศาลภายในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควร”
[๙] “.. พิเคราะห์แล้ว ตามลักษณะของคดี จำนวนผู้เกี่ยวข้องและเหตุการณ์ในพื้นที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่อาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณา หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26 จึงให้โอนคดีนี้ไปยังศาลจังหวัดสงขลา”
[๑๐] มาตรา 26 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบํญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรืออาญาทั้งปวง
[๑๓] การพิจารณาความโดยเปิดเผยเป็นแนวคิดของการบริหารงานยุติธรรมแบบเสรีนิยม มีที่มาจากกาต่อต้านการพิจารณาคดีโดยลับของศาลบางศาลในสมัยก่อน ด้วยการพิจารณาด้วยวาจาจึงจะสามารถเปิดให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างแท้จริง และเป็นหลักการที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของประชาชนที่มีต่อการใช้อำนาจของรัฐซึ่งเป็นที่ยอมรับกันจนถึงสังคมในยุคใหม่ อีกทั้งยังเป็นการทำให้การบริหารงานยุติธรรมมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
[๑๔]ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ใน การเดินทางและ (อีก) ต้นทุนของความยุติธรรม ในคดีไต่สวนการตาย
[๑๕] ข้อ 14 (3)(c) ICCPR , ข้อ 8(1) ACHR, * ข้อ 6(1) ECHR, ข้อ 7(1) ACHPR, หลักการที่ 17 หลักพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ และหลักการที่ 27 แห่งหลักพื้นฐานว่าด้วยบทบาทของทนายความ
[๑๖] ผู้พิพากษา ยิ่งยศ ตันอรชน เขียนด้วยลายมือที่หน้าแรกของคำร้อง ลงวันที่ 13 กันยายน 2550
[๑๗] คำสั่งศาลเรื่องคำร้องของทนายความผู้ร้องซักถามกรณีขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการตัดพยาน ระบุว่า “เกี่ยวกับพยานของผู้ร้อง ในส่วนที่ทนายผู้ร้องซักถามเห็นว่าไม่แตกต่างกันในสาระสำคัญ ศาลได้สอบถามทนายในห้องพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่พยานที่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาได้ยืดเยื้อและเร็วขึ้น แต่ทนายผู้ร้องซักถามที่ 3.5 ไม่สามารถรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ทั้งการนำพยานปากใดเข้าเบิกความก่อนหลัง เป็นเรื่องดุลยพินิจของผู้ร้องเอง”
[๑๘] สืบพยานปากพญ.ปานใจ โวหารดี ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550
[๑๙] ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 106 เรื่อง การติดตามพยานมาเบิกความ กำหนดว่า พนักงานอัยการต้องตระหนักถึง ความรับผิดชอบในการติดตามพยานมาเบิกความต่อศาล ไม่ควรจะปัดความรับผิดชอบให้หน่วยงานอื่น วิธีการใด ๆ ที่ถูกต้องชอบธรรมในอันที่จะติดตามพยานมาเบิกความให้พึงกระทำ เช่น การติดตามผลการส่งหมายเรียกพยานอย่างจริงจัง การกำชับพนักงานสอบสวนหรือผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนให้ติดตาม หรือนำพยานมาศาล การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องถิ่น การติดต่อกับบุคคลอื่นที่รู้ที่อยู่พยาน การติดต่อกับพยานโดยตรงทางไปรษณีย์หรือทางโทรศัพท์ เป็นต้น
[๒๐] ปัจจุบัน แขนซ้ายของขขขขขขขา ไม่สามารถยกของหนักได้ และได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐจำนวน 30,000 บาท
[๒๑] จากคำบอกเล่าของผู้ถูกคุกคาม เดือนพฤษภาคม 2550
[๒๓]นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ศาลชี้ว่า ขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ใช่เรื่องการขนย้าย อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสภาทนายความเรื่องการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับกองทัพบก กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.), ดู http://news.sanook.com/ศาลสงขลาชี้คดีตากใบ78ศพขาดอากาศตาย-อังคณา-เล็งฟ้องแพ่ง-ทบ.-กห.-ม-767764.html
-คดีตากใบ" ศาลสงขลาชี้แค่...ขาดอากาศหายใจ : ความผิดหวังของผลสอบ โดยอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ), ดู http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1213
-คำสั่งศาล กรณีคดีตากใบ เป็นธรรมถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย?, ดู
[๒๔] ข้อเสนอการเสวนาวิชาการ“มุมมองทางกฎหมาย กรณีไต่สวนการตายคดีตากใบ”เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2552
[๒๕] ข้อ 14 กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ระบุว่า “บุคคลทั้งปวงยุ่มเสมอกันในการพิจารณาของศาลละคณะตุลาการ” และ “ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และทรงความเที่ยงธรรม”, หลักการสากลว่าด้วยความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้พิพากษา ทนายความ และอัยการ แนวทางปฏิบัติสำหรับนักปฏิบัติ ลำดับที่ 1 หน้า 6 , คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net