Skip to main content
sharethis

 

 
‘ประชาไท’ มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘วิวัฒน์ ตามี่’ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระ จากโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย Asian Public Intellectuals (API 2009-2010) สนับสนุนโดย Nippon Foundation Fellowships ขณะนี้กำลังอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์แน่นอนว่า ในฐานะที่เขาทำงานด้านชนเผ่าชนพื้นเมืองในไทยมานาน ย่อมสะท้อนมุมมองเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในไทยกับชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 

 


 

วิวัฒน์ ตามี่
นักวิจัยอิสระ โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียAsain Public Intellectuals (API 2009-2010)

ทำไมคุณถึงเลือกไปศึกษาแลกเปลี่ยนดูงานชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ ?
ผมมาที่ประเทศฟิลิปปินส์ในนาม ผู้รับทุนจากโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectuals Grants) สนับสนุนโดย มูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation Fellowship) ประเด็นที่ผมสนใจศึกษาคือประเด็น การเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชนเผ่าพื้นเมือง ศึกษาสองประเทศคือ ประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ที่เลือกประเทศฟิลิปปินส์ เพราะผมมีความสนใจในประเด็นกระบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ว่าทำอย่างไร ถึงผลักดันให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่เป็นพื้นที่เขตแดนบรรพบุรุษ (Securing the Rights to Ancestral Domains) กฎหมายมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Indigenous Peoples’ Act (IPRA) ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ในปี ค.ศ.1997

และในกฎหมายรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1987 ก็ยังมีการระบุชัดเจนถึงสิทธิชนเผ่า อีกหลายมาตรา โดยสาระสำคัญสรุปได้ว่า ‘รัฐยอมรับและสนับสนุนสิทธิของกลุ่มวัฒนธรรมชนเผ่า ปกป้องสิทธิ์ด้านมรดกที่ดินของกลุ่มชนเผ่า ปกป้องสิทธิในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และกำจัดความไม่เสมอภาค และรัฐจะยอมรับ เคารพ และปกป้องสิทธิของชนเผ่า ในการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมและประเพณีสืบทอดดั้งเดิม’

ในขณะที่เมื่อหันมามองในหลายๆประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ก็ยังไม่ได้มีการยอมรับหรือรับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด

แต่ดูเหมือนว่าภายหลังจากมีกฎหมาย IPRA และรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ได้รับรองสิทธิชนเผ่าแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเด็นเรื่องที่ดิน ระหว่างรัฐกับชนเผ่าพื้นเมือง ดูเหมือนว่าในบางพื้นที่ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไม่ใช่หรือ ?
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมมองว่าในประเทศฟิลิปปินส์ เขายังมีเครือข่ายชนเผ่าและองค์กรชนเผ่าอีกจำนวนมากมาย ที่สามารถทำงานเรียกร้องสิทธิได้อย่างเข้มแข็ง ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับประเทศและระดับสากล ก็เลยน่าสนใจว่า พวกเขามีการพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็งและทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับต่างๆ อย่างไร เพื่อจะได้นำประสบการณ์หรือบทเรียนการทำงานที่นี่นำไปพัฒนากระบวนเครือข่ายชนเผ่าและคนทำงานชนเผ่าในเมืองไทย

อยากให้คุณช่วยเล่าวิถีความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองที่ฟิลิปปินส์หน่อยว่า พวกเขามีวิถีความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง แตกต่างกับชนเผ่าชนพื้นเมืองในไทยมากน้อยแค่ไหน ?
ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศฟิลิปปินส์ นั้นถือว่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก คือมีมากถึง 110 ชนเผ่า มีจำนวนประชากรมากกว่า 12 ล้านคน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ราว 10-12% ของจำนวนประชากรฟิลิปปินส์ทั้งหมดในจำนวนกว่า 80 ล้านคน

ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ตามเกาะต่างๆ คือ ในหมู่เกาะลูซอน (Luson) และมินโดโร่ หมู่เกาะกลางวิสายาส์ (Visayas) และหมู่เกาะใต้มินดาเนา (Mindanao) ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแต่ละหมู่เกาะต่างๆ นั้นยังมีความแตกต่างกันในเรื่องภาษา จารีตประเพณีและวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ และความเข้มแข็งของเครือข่าย จึงส่งผลต่อความอยู่รอดของวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปด้วย

จากข้อมูลหลักฐานของนักมานุษยวิทยา ที่เคยทำการศึกษาเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ พบว่าบรรพบุรุษของชนเผ่าพื้นเมืองอพยพเข้ามาก่อนบรรพบุรุษของคนฟิลิปปินส์ทั่วไปด้วยซ้ำ และอพยพเข้ามาก่อนกลุ่มมุสลิมที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะมินดาเนา มีถิ่นที่อยู่ส่วนใหญ่อยู่ตามบนพื้นที่สูงในเขตป่า และเทือกเขาสูงตามเกาะต่างๆ วิถีชีวิตส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรกรรม ทำนาขั้นบันไดปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ มีการทำหัตกรรมจำพวกเย็บปัก ทอผ้า ทำกระเป๋า เสื้อผ้า แกะสลักตุ๊กตาคล้ายกับบ้านเรา

ในเรื่องของความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองฟิลิปปินส์เหมือนกับชนเผ่าของไทยไหม ?

ในเรื่องของความเชื่อ ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ ยังคงนับถือสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ คือเชื่อว่ามีวิญญาณต่างๆ อยู่รอบตัว คอยให้คุณให้โทษ เช่น ชนเผ่าที่ทำนาเทือกไหล่เขามาหลายพันปี ได้บวงสรวงวิญญาณก่อนปลูกข้าว เก็บเกี่ยวข้าว การเกิด การตาย และการแต่งงาน ต่อมา เมื่อสเปนเข้ามาครอบครองก็ได้นำศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครอง แต่ชนเผ่าก็มิได้ละทิ้งความเชื่อเดิม กลับเอาความเชื่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติเดิมผสมผสานกับศาสนาใหม่ที่ได้รับมา ด้วยเหตุนี้เองจึงมีวันของนักบุญต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่น นำเอาความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานกับความเชื่อศาสนาคริสต์ และมีการฉลองกันแบบพื้นเมืองผสมผสานกันไปด้วย

มองดูภาพรวมแล้ว วิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองฟิลิปปินส์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากไหม ?
ปัจจุบัน วิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ดูได้จากการดำเนินชีวิตคล้ายกับคนในเมืองมากขึ้น การผลิตพืชผักก็เพื่อขาย ทำหัตกรรมก็เพื่อจำหน่าย วิถีการผลิตจึงผูกติดกับตลาดภายนอกเป็นหลัก ส่วนเด็กๆ และเยาวชนชนเผ่าที่มีการศึกษา ต่างก็พากันออกไปอยู่ตามเมืองต่างๆกันหมด หรือหากมีความรู้ความสามารถดีหน่อย ก็พากันออกไปทำงานและเรียนหนังสือต่างประเทศกันหมด

แต่เมื่อหันมาดูภาพรวมของสถานการณ์ปัญหาของชนเผ่าที่นี่ ที่ถือว่าเป็นประเด็นร่วม ก็คือ ปัญหาการถูกแย่งชิงที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและทรัพยากรแร่ธาตุโดยรัฐและบริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนข้ามชาติ เพื่อเข้าไปทำเหมืองแร่ ขุดแร่ทองคำ เงิน ทำโรงงานหินอ่อน จึงจะมักเกิดความขัดแย้งกันเสมอระหว่างบริษัทเอกชนกับชนเผ่าที่อาศัยอยู่ต่างเกาะต่างๆ ในบางพื้นที่ถ้าชนเผ่ารวมตัวกันได้และเข้มแข็งหน่อยก็จะสามารถปกป้องผืนดินของตนเองได้ เช่น ชนเผ่าที่อาศัยอยู่หมู่เกาะลูซอนเหนือในเขตบริหารคอร์เดลเลร่า แต่บางพื้นที่ก็ไม่สามารถปกป้องพื้นที่ดินของตนเองได้ก็สูญเสียที่ดินไปเกือบหมด เช่น ชนเผ่าตามหมู่เกาะกลางวิสายาส์ (VIsayas) เมื่อไร้ที่ดินทำกินส่งผลต่อวิถีชีวิต (อ่านรายละเอียดล้อมกรอบท้ายบทสัมภาษณ์)
 


ชนเผ่าอีฟูเกา ในจังหวัดอีฟูเกา เขตปกครองอิสระภูมิภาคกอร์ดีเยรา(Cordillera)


นาขั้นบันไดของชนเผ่าอีฟูเกา

ที่มาภาพ : นิธินันท์ ยอแสงรัตน์; กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
 

ตามที่คุณมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิมนุษยชนชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ คุณมองเห็นความแตกต่างกับของไทยอย่างไรบ้าง ?
สถานการณ์ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศฟิลิปปินส์ในแต่ละหมู่เกาะนั้น ผมถือว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากทีเดียว เช่น ในเขตปกครองคอร์เดลเลร่า ทางเหนือของหมู่เกาะลูซอน ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการถูกแย่งยิงทรัพยากรที่ดินทำกินและป่า โดยบริษัทเอกชนข้ามชาติและรัฐบาล เพื่อเอาที่ดินไปทำเหมืองขุดแร่ธาตุต่างๆ เช่น ทองคำ เพราะแร่ธาตุส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ของชนเผ่าแทบทั้งนั้น หากชนเผ่าไม่ยินยอมและต่อต้านมักจะถูกอุ้มฆ่าเสมอ

ในส่วนของรัฐเอง ก็พยายามใช้กฎหมายอพยพชนเผ่าให้ออกไปอยู่ที่อื่นโดยไม่เคยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชนเผ่าพื้นเมืองเลย ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องหนักสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง หากเป็นที่ดินตามเกาะต่างๆ ก็มักจะถูกแย่งชิงไปทำรีสอร์ท โรงแรม ส่งผลทำให้ชนเผ่ากลายเป็นคนไร้ที่ดิน วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศไทยมากตรงที่พื้นที่ที่ชนเผ่าอาศัยอยู่มีการประกาศป่าอนุรักษ์ทับที่ดิน กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายไป

ส่วนชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มมุสลิมทางเกาะมินดาเนา ก็มีปัญหาหลักๆ ซึ่งคล้ายๆ กับภาคใต้ของประเทศไทย กล่าวคือ ปัญหากบฏแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเองเป็นรัฐอิสระ จนกระทั่งรัฐบาลได้เปิดการเจรจาแลกเปลี่ยนในปี พ.ศ.2529 เพื่อเป็นหนทางที่จะลดตวามตึงเครียด ระหว่างผู้เรียกร้องและรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เคยปรากฏในภาคใต้ของไทย เพราะว่า ชาวบ้านพุทธ และมุสลิม มักจะอยู่ห่างจากกัน และไม่เชื่อใจกันและกันเสมอ แม้ว่าระยะต่อมาจะเกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเพิ่มขึ้น

สังคมฟิลิปปินส์ มีอคติทางชาติพันธุ์รุนแรงมากน้อยเพียงใด ?
โดยรวมแล้ว รัฐและประชาชนฟิลิปปินส์โดยทั่วไปที่นับถือคริสต์โรมันคาทอลิค มักจะมีอคติทางชาติพันธุ์กับชนเผ่าที่นับถืออิสลามหรือเป็นชาวมุสลิม ชนเผ่ามักจะถูกกีดกันและถูกเลือกปฏิบัติในการพัฒนา การศึกษาและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ชุมชนมุสลิมมักจะไม่ค่อยได้รับการพัฒนามากนัก ถูกปล่อยปละละเลยอดอยากยากจน

ส่วนกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์มักได้รับการพัฒนาและเข้าถึงสิทธิในทรัพยากรต่างๆ และสิทธิทางการเมืองมากกว่า ในขณะที่สถานะของชาวมุสลิมในประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าอยู่ใจกลางเมืองมะนิลา ก็ยังถูกกีดกัน ถูกเลือกปฏิบัติ ดังเห็นได้จากชุมชนมุสลิมถูกกันออกจากชุมชนคริสต์ด้วยการสร้างกำแพงสูงบดบังชุมชนมุสลิม ไปโรงเรียนก็ถูกดูถูกและได้รับการปฏิบัติจากครูและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เท่าเทียมกัน

พอจะบอกได้ไหมว่า ชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์กลุ่มใดที่มีจุดเด่นจุดแข็งเป็นพิเศษ ?
หากมองประเด็นสิทธิความชอบธรรมของการต่อสู้ ก็ต้องเฉพาะชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตบริหารคอร์เดลเลร่า น่าจะมีสิทธิในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของตนเองมากกว่า เพราะมีข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานหรือการอาศัยอยู่มาอย่างยาวนานกว่าหลายพันปี

ยกตัวอย่าง นาขั้นบันไดของชนเผ่าอีฟูเกา ในจังหวัดอีฟูเกา เขตปกครองอิสระภูมิภาคกอร์ดีเยรา (Cordillera) ที่มีอายุกว่าพันปีที่เป็นผืนดินที่ตกทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษและแหล่งทรัพยากรของพวกเขาทั้งหมดได้สืบทอดมาตามจารีตประเพณีให้เป็นสมบัติของสังคม และผู้นำในการสืบทอดประเพณีก็จะเป็นผู้ที่เก็บรักษาไว้ จนกระทั่งมีกฎหมายรับรองที่ดินชนเผ่าอย่างชัดเจนในปี ค.ศ.1997 และในรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ปี ค.ศ.1887 หลายมาตราที่รับรองสิทธิชนเผ่าที่ชัดเจน สามารถนำมาอ้างในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้

ส่วนในพื้นที่อื่น เช่น ชนเผ่ามุสลิม มักจะไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียม ที่ยังดีกว่าหน่อยก็ตรงที่ ในประเทศนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสัญชาติเลย ไม่ต้องมากังวลเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิพลเมือง สามารถเดินทางไปไหนๆ ได้โดยไม่เสี่ยงต่อการถูกจับกุมในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ไม่ต้องคอยหวาดผวาว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมาละเมิดสิทธิได้ง่ายๆ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากชนเผ่าในประเทศไทย ที่มีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยอพยพมาจากประเทศอื่น ทำให้มีความชอบธรรมในการต่อสู้น้อยมาก ประสบการณ์ต่อสู้ก็มีน้อยมาก หากนับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนเผ่าของไทยก็เริ่มมาไม่กี่ปีมานี้เอง

ที่สำคัญ ชนเผ่าพื้นเมืองของไทยเรารวมตัวกันไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่มักถูกนโยบายรัฐและกระแสทุนนิยมแยกสลายไปเกือบหมด
 

โปรดติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ตอนต่อไป...ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์เขามองชนพื้นเมืองอยู่ในระดับไหน รัฐมีนโยบายเอื้อต่อชนพื้นเมืองมากน้อยเพียงใด ?

 

 
เรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ ในฟิลิปปินส์
 
โดย วิวัฒน์ ตามี่
 
 
ชนเผ่าพื้นเมือง ที่อาศัยอยู่ในเขตบริหารคอร์ดิลเลร่า (Cordillera Administrative Region) ทางตอนเหนือของหมู่เกาะลูซอน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงไม่ค่อยมีที่ราบ ชนเผ่าที่นี่เรียกชื่อโดยรวมว่า “อีโกโรต” ซึ่งหมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบสูง ประกอบด้วย 6 ชนเผ่าหลักคือ อีฟูเกาว์ (Ifugao) กานกานาเอ (Kankana-ey) อีบาลอยด์ (Ibaloi) การ์ลิงกา (Kalinga) กาเลนกูยา (Kalanguya) และทิงกูเอียน (TIngguian)
 
บรรพบุรุษของกลุ่มชนเผ่าเหล่านี้ นักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มชาวมาเลย์ อพยพเข้ามาเมื่อ300-200 ปีก่อนคริสตศักราช มีความรู้และมีความสามารถในการชลประทานปลูกข้าว ระบบการผลิตจึงเน้นทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่นข้าว ปลูกพืชผัก กาแฟ ชนเผ่าที่นี่มีความเชี่ยวชาญทำนาขั้นบันไดตามที่ลาดเทบนไหล่เขา ตัวอย่างนาขั้นบันไดของชนเผ่าอีฟูเกาว์มีชื่อเสียงมาก ที่มีอายุกว่าสองพันปี ส่วนอาชีพเสริมคือการทำหัตกรรม ปัจจุบันเริ่มเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชนเผ่า และบางพื้นที่มีแร่ธาตุอันมีค่าเช่นทองคำ ทองแดง เช่นพื้นที่ของชนเผ่าอีบาลอยด์ (Ibaloi) ทางตอนใต้ของกอร์ดีเยรา เป็นที่หมายปองของนายุทนต่างชาติกับรัฐ เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชนเผ่ากับนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐเสมอ
 
ปัจจุบันวิถีการผลิตในเขตพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เน้นการปลูกผักเพื่อจำหน่ายผูกติดระบบตลาดภายนอก หัตกรรมต่างๆผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย ดังเห็นได้จากในหมู่บ้านชนเผ่ามีร้านค้าหัตกรรมมากมาย โดยเฉพาะเมืองบาเกียวที่เป็นเมืองท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าหัตกรรมของชนเผ่า คงเหมือนกับไนท์บาร์ซ่าที่ จ.เชียงใหม่
 
ส่วนในเรื่องระบบความเชื่อ ชนเผ่าพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ ยังคงมีความเชื่อถือในพระเจ้าผสมผสานกับระบบความเชื่อของศาสนาคริสต์ เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก มีสวรรค์และนรก ทำความดีก็ได้ขึ้นสวรรค์และทำความชั่วก็ตกนรก นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าองค์อื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีอำนาจรองลงมา ชนเผ่ายังนับถือสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่นพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดาวตกหรือผีพุ่งใต้ และยังนับถือบูชาสัตว์บางชนิด เช่น นกและจระเข้ นับถือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุมาก เคารพแม่น้ำ ก้อนหิน เป็นต้น
 
ความเชื่อต่างๆดังกล่าวยังคงสืบทอดดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันสังเกตเห็นได้จากเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆแม้ว่ามีศาสนาคริสต์เข้าไปมีอิทธิพล แต่ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่พยายามผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับศาสนาคริสต์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เช่นการใช้ชื่อคริสต์ แต่นามสกุลแบบชนเผ่า
 
ระบบการเมืองการปกครอง เขตบริหารคอร์เดเลร่า (Cordillera Administrative Region) แบ่งออกเป็น 6 จังหวัด บางจังหวัดมีชนเผ่าเป็นผู้ว่าราชการ เช่น จังหวัดอีฟูเกาว์ ที่มีชนเผ่าอีฟูเกาว์เป็นผู้ว่าราชการ ส่วนการปกครองระดับชุมชนหรือหมู่บ้านลักษณะคล้ายกับชุมชนบนพื้นที่สูงในเมืองไทย กล่าวคือมีระบบการปกครองตามจารีตประเพณีวัฒนธรรมยังคงอยู่ ผู้อาวุโส ผู้รู้ชนเผ่ายังคงมีบทบาทในกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาชุมชน ที่แตกต่างจากชนเผ่าในไทยก็ตรงที่ ชนเผ่าส่วนใหญ่ที่นี่ยังนับถือศาสนาคริสต์ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า
 
ที่น่าสนใจ คือ ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายค่อนข้างเข็มแข็ง ตั้งแต่ระดับเครือข่ายเผ่าต่างๆ เครือข่ายประเด็นและเครือข่ายหกชนเผ่า มีเป้าหมายการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชนเผ่าชัดเจน มีการประกาศวันสำคัญคือ “วันคอลเดลเลร่าเดย์” (The Cordillera Day) โดยเอาวันที่ 24 เมษายนของทุกปี เพื่อรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสัมมนาประจำปีชนเผ่า กิจกรรมระลึกถึงผู้นำที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เรื่องสิทธิ อ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์ของชนเผ่าและทิศทางการต่อสู้เรื่องสิทธิชนเผ่า เป็นต้น
 
ชนเผ่าพื้นเกาะลูซอนตอนใต้
ชนเผ่าพื้นเมืองในหมู่เกาะลูซอนตอนใต้ กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนีกริโต้” (Negrito) ทำอาชีพเกษตรกรรม การล่าสัตว์และเก็บของป่าคล้ายชนเผ่าทางเหนือลูซอน เนื่องจากอยู่ติดทะเลจึงมีอาชีพประมง รับจ้างและค้าขาย
 
ชนเผ่านีกริโต้ (Negrito) ยังมีกลุ่มย่อยอีก 25กลุ่ม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป อาศัยอยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจายกันอยู่ตามเกาะต่างๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าลึกคนภายนอกที่เข้าถึงได้ยาก
 
ปัญหาที่นี่ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกแย่งชิงที่ดินโดยนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำไปทำเหมืองแร่ ขุดแร่ จึงเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องที่ดินเสมอ ลักษณะปัญหาที่มีความคล้ายคลึงกับชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตบริหารคอร์เดลเลร่าและมินดาเนา แต่ว่าโอกาสที่จะมีการถูกอพยพไปอาศัยอยู่ที่สูง เพราะไร้ถิ่นที่อยู่และไร้ที่ดินทำกิน
 
ชนเผ่าพื้นเมืองหมูเกาะกลางวิซายา (Visayas) มานกายัน (Mangyan)
เป็นการรวมกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในเกาะมินโดโร่ (Mindoro) ซึ่งปกติจะมีการรวมกลุ่มกับกลุ่มทางตอนเหนือของมานกายัน (Mangyan) เช่นชนเผ่า เทดีอวัน (Tadyawan), อเลนเกน (Alangan) และ ไอเรย่า (Iraya) และทาง Mangyan ตอนใต้ เช่น ชนเผ่า บูเอด (Buhid), ทีโออิด (Taobuid) และ ฮานูนูว์ (Hanunuo) โดยกลุ่มเล็กๆ นั้นเรียกว่า กลุ่มแบงกอง (Bangon) ซึ่งเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทีโออิด (Taobuid) ส่วนกลุ่มเล็ก กลุ่มอื่น ก็คือ กลุ่มราเทนัน (Ratagnon) ที่อยู่ทางตอนใต้ของมินโดโร่ (Mindoro) และอยู่ติดกับกลุ่มคิวโยนิน (Cuyonin) ของปาราวัล (Palawan)
 
อาชีพโดยทั่วไปทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะของมานกายัน (Mangyan) มีลักษณะพิเศษกว่าชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มอื่นคือ มีการทำอาชีพแบบผสมผสาน เช่นอาชีพล่าสัตว์ ทำการประมง การเก็บของป่าและการค้าขายเข้าไว้ด้วยกัน
 
ชนเผ่าพื้นเมืองที่นี่แม้ว่ามีจำนวนมากมาย แต่ไม่สามารถรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเช่นชนเผ่าในเขตคอร์เดลเลร่าได้ ที่ดินของพวกเขาจึงถูกนายทุนและรัฐแย่งชิงไปมาก ที่บริษัทเอกชนข้ามชาติโดยการสนับสนุนของรัฐบาลได้เข้าไปทำเหมืองมากมาย ส่งผลบางชนเผ่าแทบไม่มีที่ดินเป็นของตนเองหลงเหลือเพื่อการผลิต วิถีชีวิตจึงเปลี่ยนแปลงไป
 
ชนเผ่าพื้นเมืองในเขตปกครองอิสระมินดาเนาว์ (Autonomous Region in Muslim Mindanao) พื้นที่แห่งนี้เรียกว่า “ดินแดนโมโร” ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันว่า “ฟิลิปปินส์ตอนใต้” ประกอบด้วยเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ มีหมู่เกาะซูลู ปาลาวัน (Palawan) บาซีลันและเกาะต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง ดินแดนโมโรมีพื้นที่ 116,895 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของเกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด มีประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ 12 ล้านคนเป็นมุสลิม ที่เหลือเป็นชาวที่ราบสูงหรือที่เรียกว่า“รูเมด” (Lumad) เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคริสเตียน อพยพมาจากเกาะลูซอนและวิซายาส์
 
บรรพบุรุษกลุ่มนี้เป็นชามาเลย์ที่อพยพเข้ามาระหว่าง ค.ศ.1350-1450 เดิมทีไม่ได้นับถืออิสลาม ที่มานับถือเพราะ ราชามากินดา (Rajah Baguinda) ของซูลูและนาริฟมูฮัมเหม็ด กาบัง สุโรน (Sharit Muhammed Baguinda) มาจากยะโฮว์ (Jahore) ต่อมาเป็นสุลต่านคนแรกของเกาะมินดาเนานำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ การปกครองแบบสุลต่านก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้การปกครองของสุลต่านโมโรเอง
 
ชาวมุสลิม เรียกว่ากลุ่ม “โมโร” เป็นชนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะมินดาเนา มีกลุ่มชนเผ่าที่เป็นนับถืออิสลามมีทั้งหมด 9 กลุ่มหลัก เช่น กลุ่มมาราเนา (Maranaw), มากินดาเนา (Maguindanao) เตาซุก (Tausug) ยากัล (Yakan) วามัล (Sama/Samal) แซนกิว (Sangil) ไอแรนัน (Iranun) กาลิบูแกน(Kalibugan) บัดเจา(Badjaos) และ กาลากัลป์ (Kalagan) ส่วนกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองรูเมด (Lumad) ถือว่าไม่ใช่โมโร (Non-Moro) พวกเขาถือว่ามีแตกต่างจากกลุ่มโมโร พวกเขาไม่ยอมรับว่ามุสลิมโมโรคือชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับชนเผ่าจึงมีความสลับซับซ้อน และในสายตาของรัฐแล้วทุกกลุ่มคือชนกลุ่มน้อยที่เป็นชนเผ่าต่างๆ จึงถูกเลือกปฏิบัติเหมือนกันหมด และในจำนวนชนเผ่าทั้ง 9 ชนเผ่า มี 5 ชนเผ่าที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคือ
 
“เตาซุก” (Tausug) เป็นชนเผ่ากลุ่มแรกที่หันมานับถือศาสนาอิสลาม เดิมเป็นชนชั้นปกครองของรัฐสุลต่านโฮโล ชนเผ่านี้ถือตนเองว่าสูงส่งกว่าชนเผ่าอื่น หรือมุสลิมกลุ่มอื่น ได้สมยานามว่า “ชนแห่งกระแสน้ำ” มีวิถีชีวิตที่ทรหดอดทนมาก มีอาชีพค้าขาย ทำการประมง และทำหัตกรรมมีฝีมือสวยงามประณีตมากที่สุด
 
“มาราเนา” (Maranaw) ได้ชื่อว่า“ชนแห่งทะเลสาบ” ชอบตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทะเลสาบ และส่วนมากอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบลาเนา เป็นพื้นที่ห่างไกลจากชนเผ่ากลุ่มอื่น ในพื้นที่แถบนี้มีความสูงเกือบ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงมีเย็นยะเยือกตลอดทั้งปี ชนเผ่ามารานา มีลักษณะนิสัยอ่อนโยน มีการรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง ใช้ระบบการปกครองแบบสุลต่าน
 
“มากินดาเนา” (Maguindanao) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ที่ราบน้ำท่วมถึง ส่วนมากอาศัยอยู่ในจังหวัด “โกตาโก” ชนเผ่ากลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษคือ แข็งแกร่งทรหดอดทนมากและเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรม ทำอาชีพประมง และหัตถกรรมประเภทเสื่อ ตะกร้าชนิดต่างๆอย่างสวยสดงดงามมาก
 
“บัดเจา” (Badjaos) หรือ “ยิปซีทะเล” ในเกาะซูลู เป็นชนเผ่าเร่ร่อนไม่อยู่กับที่ อาศัยอยู่บนเรือลำเล็กท้องทะเลตลอดชีวิต คล้ายกับชาวเลในประเทศไทย ชนเผ่าเหล่านี้จะขึ้นบนบกอีกทีก็ต่อเมื่อเสียชีวิต กลุ่มนี้จะนับถืออิสลามแบบผิวเผินไม่เข้มข้นเหมือนชนเผ่ากลุ่มอื่นๆ
 
ยากัล (Yakan) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่มีความอ่อนโยนมากที่สุดเมื่อเทียบกับชนเผ่าอื่น ส่วนมากอาศัยอยู่บนเกาะบาซีลัน เกาะนี้อยู่ทางใต้ระหว่างเกาะมินดาเนากับเกาะซูลู มีความเชื่อเรื่องผีสางผสมอิสลาม และนักทอผ้าฝีมือเยี่ยมมีลวดลายศิลปะแบบเรขาคณิตอย่างสวยสดงดงามมากทีเดียว (นวลจันทร์ คำปังสุ์ บรรณาธิการ และปุณฑรี ปุญญเจริญสิน แปล, เรื่องฟิลิปปินส์ หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2550)
 
หมู่เกาะมินดาเนาในถิ่นที่อิสลามและชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆมากมาย รัฐบาลกลางฟิลิปปินส์ได้นำทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้ตั้งมากมาย แต่ได้ทอดทิ้งชนเผ่าพื้นเมืองและชาวมุสลิมให้อดอยากยากจน โดยไม่สนใจพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการเกิดกบฏแบ่งแยกดินกลุ่มต่างๆเกิดขึ้น อาทิ กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยโมโร (Moro National Liberation Front: MNLF) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro Islamic Liberation front) และอาบูไซยาฟ (Abu sayyaf)
 
ปัจจุบัน มุสลิมโมโรได้ปกครองพื้นที่ของตัวเองในฐานะเป็นผู้ปกครองจังหวัดและเป็นผู้ว่าการมหานคร แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ พยายามอพยพ ชักชวนชาวคริสต์เตียนเข้ามาอาศัยในเกาะมินดาเนา โดยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง นับวันจำนวนมากขึ้น ชาวคริสต์เริ่มเข้ามายึดตำแหน่งที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
 
พอถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 การอพยพที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและการปะทะกันบ่อยครั้งระหว่างผู้ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ กับมุสลิมและเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมตามตะเข็บชายแดนที่เชื่อมต่อกับนิคมใหม่ นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้มีการเผชิญหน้ากันรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันได้แก่ปัญหาการล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนของผู้นำมุสลิมโดยกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งขึ้น ผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ชาวคริสต์เตียน และปัญหาระหว่างกลุ่มคู่แข่งทางการเมืองท้องถิ่น และบรรดาขุนศึก (Warlords) กลุ่มต่างๆ (ดร.ศราวุฒิ อารีย์, 2006)
 
จะเห็นว่าปัญหาในเกาะมินดาเนา มีสภาพปัญหาที่แตกต่างไปจากชนเผ่าในเขตทางเหนือและหมู่เกาะกลางวิซายาส์มาก ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะกลุ่มมุสลิมถือว่าดินแดนแห่งนี้เคยเป็นของตนเองมาก่อน จึงพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิทุกวิถีทาง นอกจากนี้มีความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มคริสต์เตียนกับมุสลิม มีกองกำลังอบูไซยาสที่คอยก่อกวนและจับคนรวยเรียกค่าไถ่อยู่เสมอ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net