รัฐมนตรีฯ ศึกษา แถลงนโยบาย เอาใจเด็ก 5 จังหวัดใต้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชุมแถลงนโยบายการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี ถึงปัญหาด้านการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาคุณภาพ ปัญหาโอกาส สวัสดิการและสวัสดิภาพของครู โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูทั้งรัฐและเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน

นาย จุรินทร์ กล่าวว่าด้วยเหตุนี้ ศธ.จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดศธ.เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กอ่อนด้านการศึกษา สาเหตุแรกที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของผลการสอบระดับชาติขั้น พื้นฐาน หรือที่เรียกกันว่า O-NET ซึ่ง เด็กภาคใต้มีคะแนนต่ำอยู่ที่อันดับสุดท้ายของประเทศ จากผลการประเมิน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการยกระดับคุณภาพการศึกษา สาเหตุที่สอง เนื่องจากเด็กมุ่งเน้นการศึกษาในเรื่องศาสนามากเกิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องให้ความสำคัญในด้านวิชาสามัญและวิชาชีพด้วย เพราะเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับจะสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงมีปัญหาครูขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปีงบประมาณ 2553-2555 ซึ่งคณะกรรมการบริหารการศึกษาฯ ต้องเร่งดำเนินการตามแผนตามแม่บท โดยต้องยกระดับคะแนน O-NET ในปีการศึกษา 2553 ให้สูงขึ้น อย่างน้อย 2% จึงต้องการจัดโครงการติวเตอร์ออนทัวร์ แต่ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนอีก และจะดำเนินการให้ครูได้สอนตรงตามวุฒิ 500 คน นอกจากนี้นักเรียนในระดับ ป.3 ต้องสามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้น 3% และเพิ่มสัดส่วนเด็กที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับให้จบการศึกษาภาคบังคับภาย ใน 3 ปี อย่างน้อย 70%

โดย ศธ. มีแผนที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในโครงการดังนี้คือ โครงการ 5 ฟรี ได้แก่ เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานศึกษาเอกชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ศธ.จะสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเดิม 60% ส่วนโรงเรียนของรัฐสนับสนุน 100% และในปี 2553 รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ 30,000 ล้าน บาทไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการติวเตอร์แชนแนลที่จะยกคุณภาพและขยายโอกาสของนักเรียน ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เท่าเทียมกับนักเรียนในส่วนกลาง จึงขอให้โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนได้รับชมรายการดังกล่าว รวมทั้งให้โรงเรียนเปิดศูนย์ติวเตอร์แล้วรับแผ่นซีดีจาก ศธ.โครงการนมฟรี อาหารกลางวันฟรี พร้อมทั้งจัดให้ผู้พิการเรียนฟรีเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2553 โดยจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมปีหน้า อีกทั้งให้นักศึกษามุสลิมได้กู้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป

นายจุรินทร์ กล่าวถึงนโยบายยกระดับคุณภาพโรงเรียนดี 3 ระดับ โดยโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้ายกระดับให้เป็นโรงเรียนดีระดับสากล หรือระดับชาติ 21 แห่ง โรงเรียนดีระดับอำเภอ 126 แห่ง และโรงเรียนดีระดับตำบล 351 แห่ง ยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ และ O-NET ในระดับต่ำ โดยใช้สื่อสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งต่อยอดจากโรงเรียนวังไกลกังวล จำนวน 319 แห่งและจะพัฒนาห้องสมุดประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นห้องสมุด 3 ดี จำนวน 498 แห่ง พร้อมเตรียมงบประมาณ 250 ล้านบาท ในการจัดคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมให้กับโรงเรียน จำนวน 393 โรงเรียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน จาก 1:40 เป็น 1:10 นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้โรงเรียนของรัฐจัดสอนอิสลามศึกษา ซึ่งปัจจุบันสอนอยู่ในโรงเรียน 274 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 350 แห่ง ในปี 2553 นอกจากนี้จะมีการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนอิสลามศึกษา โดยจะมีการสอบด้วยข้อสอบเดียวกันเป็นครั้งแรกในปลายปี 2552 หรือเรียกว่า I-NET ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

อีกทั้งยังมีการเร่งพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในโรงเรียน 1,305 แห่ง ซึ่งได้เตรียมงบประมาณ ปี 2553 แล้ว จำนวน 32.6 ล้าน บาท โดยจะสนับสนุนให้เด็กระดับประถมศึกษาตอนต้นเรียนภาษาไทย ควบคู่ภาษายาวีหรือที่เรียกว่าทวิภาษา ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัย (กศน.) และวิทยาลัยชุมชน เข้าจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเพื่อสอนวิชาสามัญและอาชีพให้กับสถาบันการศึกษา ปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนตาดีกา ที่สำคัญต่อไปนี้เด็กที่เรียนศาสนาสามารถเทียบโอนหน่วยกิต กับ กศน.เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาในระดับชั้น ม.6 ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้นักเรียนนำวุฒิไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้จะเพิ่มสัดส่วนผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับภายใน 3 ปี ให้เพิ่มขึ้นเป็น 70% จากปัจจุบันมีผู้ที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9,805 คน ที่สำคัญ ศธ.จะจัดทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1 หมื่นทุน จากปัจจุบันมี 1,600 ทุน

ในการนี้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศธ.จะจัดสรรงบให้กับครอบครัวครูที่เสียชีวิตจำนวน 2 ล้าน บาท และจัดทุนการศึกษาให้กับทายาทของครูที่เสียชีวิตจนจบปริญญาตรี นอกจากนี้ เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะบรรจุพนักงานราชการให้เป็นข้าราชการ 50% ขณะที่จังหวัดอื่นๆ บรรจุเพียง 25% ส่วนอีก 50% ที่ เหลือจะบรรจุจากผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้ นอกจากนี้ยังมีแผนสนับสนุนให้นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าศึกษาต่อ ในโครงการครูพันธุ์ใหม่ เพื่อจบการศึกษาไปแล้วจะได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่

“นโยบาย ดังกล่าวใครสามารถให้คำตอบได้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เป็นที่ยอมรับของผู้ที่ใช้นโยบายดังกล่าวหรือไม่ และสามารถขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ชัดเจนแค่ไหน” นั่นเป็นเสียงของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเรียกร้องถึงความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท