Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเมือง (Center for Economic and Policy Research: CEPR) จากประเทศสหรัฐฯ นำเสนอรายงานการศึกษาเศรษฐกิจของฮอนดูรัสเปรียบเทียบกันระหว่างช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร ซึ่งในรายงานดังกล่าวระบุว่าเศรษฐกิจของฮอนดูรัสได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและจากวิกฤติการเมืองหลังการรัฐประหาร

มาร์ค เวสบรอท หนึ่งในผู้อำนวยการของ CEPR บอกว่าประเทศแถบอเมริกากลางล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯ แต่สำหรับในฮอนดูรัสสถานการณ์ก็แย่ลงไปอีกเมื่อเกิดการรัฐประหารในเดือน มิ.ย.และเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว หากวิกฤติทางการเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไข

รายงานเรื่อง “ฮอนดูรัส: สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา” โดย นักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ โฮเซ่ อันโตนิโอ คอร์เดโร ศึกษาเรื่องนี้ในระยะยาวโดยรวมไปถึงช่วงเวลาก่อนวิกฤติการณ์ รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญช่วงสมัยรัฐบาลของมานูเอล เซลายา และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 6% ในสองปีแรก นอกจากนี้ยังมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 60 เปอร์เซนต์ จนทำให้กลุ่มนายจ้างและนักธุรกิจไม่พอใจอย่างมาก และในรายงานบอกอีกว่าแม้จะมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

รายงานฉบับนี้ระบุรายละเอียดเรื่องรายได้จากกลุ่มคนในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปี 2005-2006 ไว้ โดยกลุ่มคนรายได้ต่ำมีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 2.1 เปอร์เซนต์ ไปเป็น 2.5 เปอร์เซนต์ กลุ่มคนที่มีรายได้ระดับปานกลางมีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 35 เป็นเกือบ 39 เปอร์เซนต์ ในขณะเดียวกัน รายรับจากกลุ่มคนรวยลดลงจากเกือบ 47 เปอร์เซนต์ในปี 2005 เป็น 42.4 เปอร์เซนต์ในปี 2006

ในด้านการศึกษาทางรัฐบาลก็ทำให้มีคนเข้าเรียนมากขึ้นโดยการงดเว้นค่าเล่าเรียน ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้เข้าโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นราว 450,000 ราย มีการขยายโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ที่ทำให้จำนวนนักเรียนที่ได้รับอาหารกลางวันฟรีมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 25 เปอร์เซนต์

โดยในช่วงสรุปของรายงานกล่าวว่าการส่งเสริมการศึกษาในระยะยาวจะทำให้เกิดแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้น เป็นการให้โอกาสแก่ส่วนที่ยากจนที่สุดของประชากร ทำให้พวกเขามีทางเลือกทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มมูลค่ากับตัวแรงงานเองด้วย

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ธนาคารกลางของฮอนดูรัสสูญเสียเงินกองทุนระหว่างไปราว 18.4 เปอร์เซนต์ และไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปกติมอบให้กับประเทศสมาชิกได้ เพราะรัฐบาลจากการรัฐประหารขาดความชอบธรรมในสายตาของนานาชาติ การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลรักษาการก็ทำให้รัฐสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกว่า 50 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,600 ล้านบาท) ต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำลงไปอีก 2.6 เปอร์เซนต์ หรือมีสิทธิ์ที่จะลดลงต่ำไปกว่านี้อีกด้วย

เศรษฐกิจของฮอนดูรัสต้องอาศัยการเติบโตจากการส่งเงินเข้าประเทศของแรงงานที่ไปทำงานนอกประเทศเป็นจำนวนมาก โดยนับเป็นสัดส่วน 21 เปอร์เซนต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2006 การลดจำนวนลงเรื่อยๆ ของรายได้จากส่วนนี้และจากส่วนของการแลกเปลี่ยนเงินตรา ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของฮอนดูรัสย่ำแย่ลงไปใหญ่

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
New Report Looks at Honduran Economy Before and Since the Coup , Center for Economic and Policy Research, 09-11-2009
รายงานเรื่อง
"ฮอนดูรัส: สภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา"  (ไฟล์ PDF ฉบับเต็ม / ภาษาอังกฤษ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net