ข้ามให้พ้นยุคสถาบันเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สิ่งที่สังคมถูกทำให้รับรู้ร่วมกันกว่า 4 ปีมานี้ คือ “ทักษิณเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมือง” จึงเกิดปรากฎการณ์พันธมิตรฯ ขับไล่ทักษิณ และรัฐประหาร 19 กันยา 49 ตามมาด้วยแผนบันได 4 ขั้น กระทั่งมาถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีอำมาตย์หนุนหลังเพื่อบรรลุจุดหมายที่ว่า “ไม่มีทักษิณ ปัญหาความขัดแย้งทั้งปวงจะจบลง”

เมื่อถือว่าทักษิณเป็นศูนย์กลางของปัญหา และประเด็นสำคัญที่ถือว่าเป็นปัญหาจากทักษิณคือ การทุจริตคอร์รัปชัน เผด็จการรัฐสภา แทรกแซงสื่อ องค์กรอิสระ นโยบายประชานิยม ประเด็นเหล่านี้เราสามารถนำมาถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผล ตรวจสอบข้อเท็จจริงกันได้ กระทั่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยะประเทศเขากระทำกัน

แต่ด้วยความคิดที่ว่า “ทักษิณคือตัวปัญหา” ที่ต้องขจัดออกไปจากเวทีการเมืองให้ได้ แต่ทักษิณก็มีอำนาจมากเหลือเกินเนื่องจากเป็นผู้นำรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงกว่า 300เสียง สภาจึงทำอะไรไม่ได้ สื่อ นักวิชาการ การเมืองบนท้องถนนของพันธมิตรฯ ก็ไม่เพียงพอจะโค่นทักษิณลงได้ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจอื่น เช่น กองทัพ องคมตรี สถาบันกษัตริย์

ดังนั้น จึงมีการตอกย้ำแผนล้มล้างสถาบัน สร้างวาทกรรม “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เป็นยุทธวิธีหลักในการโค่นทักษิณ ทำให้เกิดการขยายปัญหาจาก “เอา-ไม่เอาทักษิณ” มาเป็น “เอา-ไม่เอาสถาบัน” และสร้างวาทกรรมอำพรางว่า “เอาทักษิณเท่ากับไม่เอาสถาบัน ไม่เอาทักษิณเท่ากับเอาสถาบัน”

ประเด็นคือ เรื่อง “เอา-ไม่เอาทักษิณ” เมื่อยังไม่ถูกดึงมาเกี่ยวโยงกับเรื่องสถาบัน เป็นเรื่องที่สังคมสามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลและอย่างเปิดเผยว่า เกี่ยวข้องอย่างไรความเป็นประชาธิปไตย ปากท้องของประชาชน การเมืองที่โปร่งใส ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

แต่เมื่อขยายปัญหามาเป็นเรื่อง “เอา-ไม่เอาสถาบัน” หัวใจหรือประเด็นหลักของการถกเถียงไม่เกี่ยวกับเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย ปากท้องของประชาชน การเมืองที่โปร่งใส ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ อีกต่อไป มันเป็นเรื่องของความถูก-ความผิดแบบ “สัมบูรณ์” (absolute) คือฝ่ายที่เอาสถาบันย่อมเป็นฝ่ายถูกอย่างสมบูรณ์ไม่ต้องตั้งคำถามอีกต่อไป ฝ่ายที่ไม่เอาสถาบันย่อมผิดอย่างสมบูรณ์ไม่ต้องถามหาเหตุผลว่าเพราะอะไร

และเมื่อมีการปลุกระดมว่าทักษิณวางแผนล้มสถาบัน และทักษิณเองก็มีการสัมภาษณ์สื่อในลักษณะที่ฝ่ายตรงข้ามยกมาอ้างได้ว่า “หมิ่นเบื้องสูง” อยู่เป็นระยะ เขายิ่งจะถูกทำให้เป็นฝ่ายผิดอย่างสัมบูรณ์ และประเด็นการ “เอา –ไม่เอาสถาบัน” ยิ่งจะถูกทำให้กลายเป็นศูนย์กลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น

ดังที่ทักษิณให้สัมภาษณ์ Time online กลายเป็นประเด็นที่พันธมิตรใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวออกมาปกป้องสถาบันโดยการนัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.นี้ ยิ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้สถาบันกลายเป็นศูนย์กลางของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น
 
การทำให้สถาบันเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่พันธมิตรฯ ได้กระทำมาและกำลังจะทำต่อไป เป็นการทำให้ปัญหาการเมืองกลายเป็นเรื่องของความเชื่อแบบ “หัวชนฝา” (Dogmatism) ที่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ละเลยหรือมองข้ามปัญหาที่สำคัญกว่า เช่น ความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ปัญหาปากท้องของประชาชนที่เป็น “เป้าหมายอันแท้จริง” หรือเป็นความต้องการอันแท้จริงของฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน

ทางที่ถูกเราควรยึดเอา “เป้าเหมายอันแท้จริง” มาเป็นศูนย์กลางของปัญหา เรื่องเอา-ไม่เอาทักษิณ หรือเอา-ไม่เอาสถาบันต้องไม่ทำให้เป็นความเชื่อแบบหัวชนฝา (เช่น “ทักษิณ” หรือ “ไม่ทักษิณ” และ “สถาบัน” หรือ “ไม่สถาบัน” เท่านั้นคือคำตอบ) แต่ต้องทำให้เป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงกันได้ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลว่า เอาหรือไม่เอานั้นๆ สามารถตอบสนองต่อ “เป้าหมายอันแท้จริง” ได้อย่างไร

เช่น เมื่อยืนยันว่าเอาสถาบัน ก็ต้องถกเถียงกันให้จริงจังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการกำกับของสถาบันและเครือข่ายบริวาร การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือจะวางระบบกันอย่างไรที่จะทำให้สถาบันเป็นอิสระจากความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างแท้จริง เช่นการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ การมีกฎหมายที่ทำให้สถาบันโปร่งใสตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยเหตุผล หรือเป็นที่เคารพของประชาชนบนพื้นฐานของการตรวจสอบได้ เป็นต้น

การทำให้สถาบันเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมืองบนพื้นฐานความเชื่ออนุรักษ์นิยมแบบหัวชนฝา รังแต่จะเป็นการทำลายสถาบันเสียเอง และเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงนองเลือด

ในโลกยุคใหม่เราไม่อาจรักษาสถาบันเอาไว้ได้ด้วยการลดทอนความเป็นประชาธิปไตย แต่อาจรักษาไว้ได้ด้วยการทำให้สถาบันปรับตัวตามวัฒนธรรมประชาธิปไตยสากล คือการยอมรับและเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ดังนั้น การนำเอาความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ปัญหาปากท้องของประชาชน ฯลฯ ที่เป็น “เป้าหมายอันแท้จริง” มาเป็นศูนย์กลางหรือเป็นประเด็นหลักในการถกเถียงหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำเรื่องเอา-ไม่เอาสถาบันหรือทักษิณเป็นส่วนประกอบว่าจะสามารถตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อ “เป้าหมายอันแท้จริง” นั้นอย่างไร จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ก้าวหน้ากว่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท