Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
                                                                                               
                                                 ไม่ต้องการอะไร คิดแต่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง
                                                  ป้ายหาเสียงขนาดกลางหมายเลข 3  นายแพทย์เพทาย เตโชฬาร,
                                                  ติด 2 ฝั่งถนนแก้วนวรัฐ บริเวณหน้า รพ.แม็คคอร์มิค 30 กันยา 52
 
ประปาทุกที่ ติดฟรีทุกบ้าน…….คัดค้านการขยายถนนในเขตเทศบาล
โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนท่าแพ-ไนท์บาร์ซาร์ต้องเสร็จในสมัยของผม
                                                          ป้ายหาเสียขนาดกลางหมายเลข 4 นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว
                                                          ติดเรียงรายเป็นชุดริมรั้วประตูทางเข้า มช. 2 กันยายน 2552
 
 
                                                                                   
นำเรื่อง
            การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่โดยตรงครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ถูกปลุกเร้าให้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนเป็นเวลาเพียง 1 เดือน (3 กันยายน 2552 เป็นวันแรกของการรับสมัคร และ 4 ตุลาคม 2552 เป็นวันเลือกตั้ง)
 
แน่นอน เมื่อผู้รับผิดชอบปัญหาต่างๆ ทางการเมืองและกฎหมายไม่กังขา และไม่ขัดแย้งกันในปัญหาที่ว่าการที่ผู้สมัครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีคนเดิม ขาดคุณสมบัติในการสมัครสำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 แล้วชนะการเลือกตั้ง และเข้าบริหารงานนานถึง 2 ปี และเมื่อศาลตัดสินแล้ว  เหตุใดคนขาดคุณสมบัติในอดีตและเป็นผู้ทำผิดจนทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ยังได้รับอนุญาตให้สมัครตำแหน่งนี้ได้อีกครั้ง  และสื่อมวลชนเองก็ไม่สงสัยในประเด็นนี้  ดังนั้น ช่วงเวลา 30 วันดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาสั้น การประกวดประชันกันจึงเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะโปสเตอร์หาเสียงที่ติดกันถี่ยิบ หลายรูปแบบหลายขนาด  น่าสงสัยมากว่าการใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
 
ร.อ. หญิง เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2550 โดยชนะนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ (นายบุญเลิศ ชนะในการเลือกตั้งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547)  เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งไปพบกับสภาเทศบาลที่เธอไม่มีพันธมิตรแม้แต่คนเดียว  สภาเทศบาลในเวลานั้นซึ่งมีสมาชิก (ส.ท.) รวมทั้งสิ้น 24 คนจาก 4 แขวง ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 ทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มช้างงานซึ่งเคยทำงานร่วมกับกลุ่มของนายกฯคนก่อน
 
            2 ปีที่ผ่านมา ข่าวว่ามีการชิงไหวชิงพริบกันหลายครั้งระหว่างนายกฯกับสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งเป็นคนละพวก  แน่นอน นายกเทศมนตรีคนใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสาวสวย เป็นนายทหารยศร้อยเอก จบการศึกษาปริญญาเอกจากต่างประเทศ พ่อแม่เป็นนักการเมืองใหญ่ มีนามสกุลใหญ่ที่คนรู้จักทั้งจังหวัด  ผู้คนย่อมคาดหวังกันมาก โดยเฉพาะผู้คนที่มีฐานะและการศึกษาดีและหลายคนได้เคยไชโยโห่ร้องต้อนรับกรณี 19 กันยามาแล้ว  ยิ่งไปกว่านั้น “ดร.แป้ง” ยังสามารถเอาชนะนายกฯเก่า “นายบุญเลิศ” ของกลุ่มอำนาจก่อน 19 กันยา มาได้
 
            แต่ 2 ปีที่ผ่านไป นครเชียงใหม่ภายใต้การนำของ ดร.สาวสวยกลับอยู่กับที่ แทบไม่มีข่าวเกี่ยวกับโครงการใหม่ใดๆ เพื่อรักษาเยียวยาเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหา เรื่องใหม่ที่ดีของเธอที่ไม่เคยมีผู้นำคนใดทำมาก่อน คือ การพบปะพูดคุยกับสมาชิกองค์กรต่างๆ ของภาคประชาสังคมเดือนละครั้ง  เธอแต่งตั้งเพื่อนของพ่อคนหนึ่งที่เป็นประธานสภา อบจ. มาเป็นรองนายกฯของเทศบาล  แต่โควต้าตำแหน่งรองนายกฯ ซึ่งมีถึง 4 คนเพื่อช่วยดูแลบริหารเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ และมีงบประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท  เธอกลับตั้งได้เพียงคนเดียวมาช่วยงาน และตั้งอีก 1 คนก่อนที่เธอจะหลุดออกจากตำแหน่งได้ไม่นาน

            ช่วงเวลา 3 ปีของนครเชียงใหม่หลังรัฐประหาร 19 กันยา  ทุกอย่างจึงยังคงเดิม ปัญหาจราจรติดขัดยังคงดำเนินต่อไป จะไปไหนแต่ละครั้งต้องเผื่อเวลา 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ไม่ใช่ 10 นาทีเหมือน 2 ทศวรรษก่อน แทบทุกครอบครัวมีรถจักรยานคันดีๆ  แม้มีการโหมรณรงค์ให้ใช้จักรยานอย่างต่อเนื่อง  แต่ใครเล่าจะกล้าขับขี่จักรยานออกไปบนท้องถนนในเมื่อรถยนต์เบียดเสียดกันตลอดเวลาและยังวิ่งด้วยความเร็ว  ทางจักรยานก็ยังมีน้อยและที่สำคัญ ขาดหลักประกันความปลอดภัย;  ป้ายโฆษณาสินค้าขนาดยักษ์ยังเกลื่อนเมือง; ตลาดใหญ่กลางเมืองยังคงไร้ระเบียบเหมือนเก่า;  เมืองไม่มีต้นไม้เพิ่ม ไม่มีสวนใหญ่หรือสวน หย่อมเพิ่ม;  มีแต่ดอกไม้ในกระถางริมทางและราวสะพานที่สวยแล้วเฉา แต่ไม่เคยให้ความร่มเย็น  

ยกย่องกันหนักหนาว่าเป็นเมืองวัฒนธรรม เมืองประวัติศาสตร์  แต่ก็แทบไม่เห็นว่านครเชียงใหม่ยังหลงเหลือเอกลักษณ์อะไรตามที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐโหมโฆษณาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา  วัดวาอารามก็ใหม่เอี่ยมแทบทุกวัด นอกจากกำแพงเมืองก็ไม่มีอะไรเป็นของเก่า คุ้มหลวงหรือวังก็ไม่เหลือแม้แต่หลังเดียว ซ้ำบริเวณคุ้มหลวงยังถูกเปลี่ยนให้เป็นคุกจนถึงปัจจุบัน  ศาลพญามังรายก็ยังอยู่ในที่ดินของเอกชน กลายเป็นสมบัติของเอกชนจวบจนกระทั่งขณะนี้ ฯลฯ

            2 ปีที่ผ่านมา ในสภาพที่เมืองยังไม่มีอะไรเปลี่ยน  นอกจากนายกเทศมนตรีคนใหม่ที่ยังสาวและดูจะมีทุกอย่างเพียบพร้อม   และนอกจากช่วง 2 เดือนล่าสุด ที่มีคลิปของคนดังที่แจกกันทั่วเมือง แต่ก็ไม่เคยมีคำชี้แจงหรือคำให้การหรือแม้แต่คำถามจากปากใคร  แต่สังคมก็เหมือนกับจะเดาว่านี่เองคือสาเหตุหลักของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งล่าสุด ทั้งๆ ที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลย
 
 
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ 4 ตุลาคม 2552
ข้อมูลทั่วไป
            เทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบันมีพื้นที่ 40.216 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นเพียง 26% ของพื้นที่อำเภอเมืองทั้งหมด  มีประชากรรวมทั้งสิ้น 146,346 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 106,367 คน

ดร. เคน สันติธรรม ปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณไว้ 7.3 ล้านบาท สำหรับหน่วยเลือกตั้ง 175 หน่วยใน 4 แขวง (แขวงกาวิละ, เม็งราย, นครพิงค์, และศรีวิชัย) โดยใช้เจ้าหน้าที่ดำเนินการประมาณ 2,000 คน ใช้การนับคะแนนรวมโดยทหารกว่า 200 นาย ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่หลังปิดหีบบัตรทุกหน่วยในเวลา 15.00 น. [1]  ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดกรอบการใช้จ่ายสำหรับผู้ สมัครแต่ละคนไว้ไม่เกินคนละ 8 แสนบาท
 
ตารางที่ 1 รายชื่อผู้สมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรี และคะแนนที่ได้รับในการเลือกตั้ง 4 ตุลาคม 2552
 
เลข
ชื่อ-สกุล
อายุ
   ลักษณะเด่น จุดแข็ง, ข้อสงสัยจากสภากาแฟ
 คะแนนที่ได้รับ  
 1
ร.อ.หญิง
เดือนเต็มดวง
ณ เชียงใหม่
 38
นายกฯเก่า, ครอบครัวนักการเมืองรุ่นใหญ่, โปสเตอร์สวยงาม-หลากหลายกว่าใคร, สังกัดพรรคประชาธิปัตย์, ข้อสงสัย 1.คลิปวีดิทัศน์ 2. เป็นนายกฯ 2 ปี มีผลงานอะไรโดดเด่น
    6,958
 2
นายทัศนัย
บูรณุปกรณ์
 35
ตระกูลนักการเมืองท้องถิ่น, โชว์เสื้อแดง-ภาพ-ลายเซ็น พตท.ทักษิณ, ข้อสงสัย 1. ครองตำแหน่งการเมืองสำคัญๆ ตั้งแต่อายุน้อยด้วยอะไร, 2. จะเป็นผู้นำอิสระหรือเป็นตัวแทนของตระกูล [2]
   24,384
  3
นายแพทย์เพทาย เตโชฬาร
 44
ส.ท.2 สมัย, เป็นหมอ (ว้าว ใครก็ชอบ) ข้อสงสัย ที่ผ่านมาไม่เห็นมีบทบาทในสังคม-การเมือง คิดอะไรถึงลงสมัคร
    1,747
 
  4
นายวัลลภ แซ่เตี๋ยว
 52
ส.จ.2 สมัย, เปิดเกมส์หาเสียงด้วยมาตรการประชานิยมถึง 8 ข้อ ข้อสงสัยคือวิธีจัดการปัญหาของเมืองกับบริการชุมชนจะทำอย่างไร  ข้อเสนอทั้ง 8 ทำได้จริงไหม และจะทำจริงหรือไม่
    5,465
  5    
ดร. วิชัย
วงษ์ไชย
 71
ส.ส.2สมัย, ต่อต้านการซื้อเสียง, ข้อสงสัย 1. ที่ว่าจะรับใช้สังคมจะทำอะไร 2. เครือข่ายฮักเจียงใหม่อยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง
    1,354
  6
นายพรชัย
จิตรนวเสถียร
 40
อดีตรองนายกฯ, พูดถึงปัญหาการบริหารเมืองได้มากกว่าคนอื่นสภากาแฟสงสัยเรื่องทีมทำงานและการทำงานในอดีต
    5,524
  7
นางวิภาวัลย์
วรพุฒิพงค์
 52
อดีตรองนายกฯ, ว่ากันว่าโดดเด่นที่ฐานเสียง-ทีมนักเลือกตั้ง
สภากาแฟสงสัยเรื่องวิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารเมือง
   13,197
  8
นางอารีย์
อุดมศิริธำรง
  
ไม่รู้จัก ว่ากันว่าเป็นป้าของเบอร์ 2, เป็นพี่สาวของนายก อบจ. เลือกตั้งนายก อบจ. ก็ลงสมัคร [3] แต่ก็เช่นเคย คือไม่เคยเห็นป้ายหาเสียงแม้แต่ใบเดียว สงสัยว่าสมัครเพื่ออะไร
       61
  9
นายบารมี
พจนามธุรส
 
ไม่รู้จัก ไม่มีป้าย ไม่เคยปรากฏตัวเหมือนเบอร์ 8, สมัครทำไมกกต. ควรพิจารณาปัญหาสมัครแล้วไม่หาเสียงเลย
       54
 10
นายเทพโยธินฐ์
ไชยรัตน์
 
คนหนุ่ม ตั้งใจหาเสียง แต่สังคมยังไม่รู้จัก ไม่เห็นผลงานที่ผ่านมา จึงยังต้องทำงานต่อไป
      149
 
           ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลการลงคะแนนเลือกนายกเทศมนตรีทั้ง 3 ครั้ง [4]
 
 
เลือกตั้ง 1 ก.พ. 2547
 24 มิถุนายน 2550
  4 ตุลาคม 2552
จำนวนประชากร
      152,637
    164,743
    146,346
จำนวนผู้มีสิทธิ
      109,695
    109,311
    106,367
จำนวนผู้ใช้สิทธิ
       56,728
     65,213
     64,871
คิดเป็นร้อยละ
       51.72%
     59.66%
     60.99%
บัตรเสีย
   3,988 (7.03%)
   1,204 (1.8%)   
  1,534 (2.37%)
ไม่ประสงค์เลือกใคร
   4,400 (7.70%)
   4,257 (6.5%)
  4,444 (6.85%)
 
 
บทวิเคราะห์
            ข้อที่หนึ่ง  การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเวทีการเมืองท้องถิ่นเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่มองลึกลงไป จะพบว่าที่เป็นทางเลือกใหม่ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คือคนเก่าในแวดวงการเมือง  คนหน้าใหม่ในเวทีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักในเวทีอื่นๆ  ทางเลือกที่เป็นไปได้จึงมีน้อยลง  นั่นคือ จะเลือกนายกฯคนเก่าเข้าไปทำงานต่อ หรือจะเลือกผู้สมัคร 2 บุคลิกที่ขัดแย้งกันคือ ด้านหนึ่งประกาศตนเป็นคนเสื้อแดง แต่อีกด้านหนึ่งเป็นสมาชิกตระกูลใหญ่ของนักธุรกิจการเมืองท้องถิ่น  หรือจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานกว้าง หรือมีฐานแคบ  หรือจะเลือกนักการเมืองที่เป็น ส.จ. และหันมาสมัครเป็นนายกฯ เป็นครั้งแรก ข้อที่สอง  การเลือกตั้งครั้งนี้มีความคึกคักในแง่ของจำนวนและรูปแบบของโปสเตอร์และใบปลิว การเปิดเกมส์ก่อนใครๆ ของผู้สมัครหมายเลข 4 ที่เสนอมาตรการแบบประชานิยมถึง 8 ข้อ ดูเหมือนจะบีบบังคับให้ทุกฝ่ายต้องเสนอมาตรการรูปธรรมออกมาเสนอต่อประชาชนเพื่อช่วงชิงความนิยม  จึงเกิดการติดโปสเตอร์เสนอมาตรการเป็นข้อๆ  และเกิดสงครามโปสเตอร์หาเสียง มีการติดโปสเตอร์เป็นชุดๆ ละ 4-5 ใบเรียงติดกันตามถนนสายต่างๆ  โดยเฉพาะหมายเลข 1, 4, 6, 7
            ข้อที่สาม  ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสมัคร  เช่น เล่ากันในสภากาแฟ ว่า มีผู้สมัคร 2-3 คนที่ไม่คาดหวังว่าจะชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ต้องการเพียงให้คนรู้จักหน้าตาหรือที่รู้จักแล้วก็หวังไม่ให้ผู้คนหลงลืม ทั้งนี้เพื่อปูทางไปสู่การลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว. ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า  และว่ากันว่า บางรายมีการจ้างคนบางคนให้ลงสมัครเพื่อตัดคะแนนของอีกฝ่ายหนึ่ง
 
ข้อสงสัยข้อหนึ่ง คือ เมื่อสมัครแล้ว ทำไมไม่หาเสียง ไม่ติดป้ายโปสเตอร์หรือแผ่นพับ-ใบปลิวเลย ไม่ปรากฏตัวในการชุมนุมแถลงนโยบายแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่คนไม่เข้าใจ  มีผู้วิเคราะห์ว่า ที่ทำเช่นนั้นก็เพราะ 1. ต้องการเพียงเป็นนอมินีของอีกหมายเลขหนึ่งในกรณีที่ตัวจริงถูกจับได้ว่ากระทำผิดกฎหมาย เช่น ซื้อเสียง ฯลฯ จึงจะมีการส่งสัญญาณให้ผู้สนับสนุนหันไปเลือกอีกหมายเลขหนึ่ง 2. ต้องการให้มีสิทธิฟ้องร้องได้ เนื่องจากตามกฎหมาย ผู้สมัครด้วยกันเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องร้องศาลได้ในฐานะเป็นผู้เสียหาย และ 3. หากมีการตัดสิทธิผู้สมัครบางคนและให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ใช้จำนวนผู้สมัครเดิมเท่านั้น  ก็ยังไม่เสียโอกาสเพราะนอมินีก็จะกลายเป็นตัวจริง  ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหาเสียงและทำโปสเตอร์ให้เสียงบเสียเวลา [5]
 
คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งควรนำข้อสงสัยเหล่านี้ไปพิจารณา และหาทางแก้ไข อย่างน้อยที่สุด ประเด็นที่เห็นได้ชัด เช่น สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่โฆษณาหาเสียงเลย หรือไม่เข้าร่วมการแถลงนโยบายต่อสาธารณะแม้แต่ครั้งเดียว  รวมทั้งประเด็นที่ว่ามีผู้สมัครที่เป็นญาติพี่น้องกัน  ที่เห็นได้ชัดคือ ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ มีองค์กรต่างๆ จัดการประชุมเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคนแถลงนโยบายต่อสาธารณะและออกโทรทัศน์รวมทั้งหมดถึง 3 เวที คือ พุทธสถาน 26 กันยา, ข่วงท่าแพ 27 กันยา, และหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 28 กันยา  แต่มีผู้สมัครถึง 3 คนที่ไม่ไปร่วมงานเลย และยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาด้วย
 
ในสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยพัฒนามายาวนาน  ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ เข้มแข็ง เพราะมีประสบการณ์ในการคัดเลือกผู้สมัครและสั่งสอนผู้สมัครที่ด้อยคุณภาพ  ผู้สมัครชิงตำแหน่งควรเกิดจากการคัดเลือกของแต่ละชุมชน  โดยผู้สมัครลงไปขอรับการสนับสนุนจากแต่ละชุมชน มีการเสนอตัวผู้สมัคร 2-5 คนให้สมาชิกของแต่ละชุมชนคัดเลือก มีการหาเสียง การปราศรัย และการแถลงนโยบายหลายๆ ครั้ง หลังจากการคัดเลือกในชุมชนหนึ่งก็ย้ายไปอีกชุมชนหนึ่ง  มีการสะสมคะแนนเป็นขั้นๆ  ผู้ใดสะสมคะแนนสนับสนุนได้มากที่สุด ผู้นั้นก็คือผู้ชนะ ฯลฯ
ในสังคมประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นวิธีการหนึ่ง เป็นกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งของประชาชน ไม่ใช่กิจกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นกิจกรรมที่สังคมประชาธิปไตยต้องมี เพราะสังคมมีคนจำนวนมาก จำต้องมีตัวแทนเข้าไปทำงานการเมือง แต่ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative democracy) มักถูกวิจารณ์มากว่า ผู้แทนตัดสินใจงานการเมืองโดยไม่เคยถามความเห็นของประชาชน ดังนั้น จึงต้องมีประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งค่อยถ่วงดุล นั่นคือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory democracy) หมายความว่า นอกจากการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอด 4 ปีที่ประชาชนเลือกคนจำนวนหนึ่งเข้าไปทำงานการเมืองในสภาและฝ่ายบริหารประชาชนมีสิทธิและควรเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองหลายรูปแบบ เช่น ติดตามตรวจสอบนโยบายและการทำงาน,  ผลักดันหรือคัดค้านการออกกฎหมายและการแก้ไขกฎหมาย, เสนอกฎหมาย และโครงการต่างๆ  การเสนองบประมาณ, ผลของการบริหารงาน พฤติกรรมส่วนตัวและส่วนรวมของนักการเมือง, การติดตามข่าวสารทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง, การเดินขบวน การแสดงประชามติ ฯลฯ นี่คือกิจกรรมที่ประชาชนแต่ละคนทำได้ตลอด 4 ปี หรือตลอดชีวิตของประชาชน
 
 แต่ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการทำลายคุณค่าของการเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ คือ 1. ทำลายด้วยการเชิดชูลัทธิเลือกตั้ง (Electoralism) หรือเลือกตั้งธิปไตย (Electocracy) หมายถึงการโหมประโคมความสำคัญของการเลือกตั้งมากเกินจริง ละเลยกิจกรรมการเมืองส่วนอื่นๆ ของประชาชน ถนัดแต่โฆษณาชักชวน เปิดเพลง เขียนบทกวีให้ประชาชนไปเลือกตั้ง ให้รางวัลแก่ตำบลและอำเภอตลอดจนจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คุยโม้ว่านั่นคือจังหวัดหรืออำเภอที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  ออกกฎหมายบังคับให้คนไปเลือกตั้ง ลงโทษคนที่ไม่ไป  ลงโทษนายอำเภอและผู้ว่าฯที่ประชาชนไปลงคะแนนน้อย  ยกย่องคนไปเลือกตั้งว่าเป็นพลเมืองดี เป็นผู้รักชาติรักประชาธิปไตย แต่พอประชาชนทำกิจกรรมการเมืองอย่างอื่น เช่น ประท้วง หรือตรวจสอบนโยบายผู้บริหาร หรือร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลของการทำงานของภาครัฐหรือนักการเมือง ฯลฯ ประชาชนเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้ร้าย ถูกกล่าวหาว่าชอบก่อความวุ่นวาย ไม่รักชาติ  รับเงินมาสร้างความปั่นป่วน ฯลฯ [6]
 
การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง กระทั่งน้อยกว่านั้น (ขับรถหรือเดินออกจากบ้านไปที่คูหา ยื่นบัตรประชาชน ตรวจสอบรายชื่อ รับบัตร เข้าคูหากาหมายเลข หย่อนบัตร ออกจากคูหากลับบ้าน)  แต่คนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำงานดำรงตำแหน่ง 4 ปี เหตุใด ประชาชนจึงไม่สนใจทำกิจกรรมการเมืองอื่นๆ ตลอดช่วงเวลา 3 ปี 11 เดือน 29 วัน และ 22 ชั่วโมงที่เหลือ
 
ลัทธิเลือกตั้งที่ทำให้คนสนใจแต่การเลือกตั้งได้ทำให้เกิดพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพียงไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง แต่ไม่เกิดพลเมืองในระหว่างการเลือกตั้ง (Citizenship between elections) เลือกตั้งธิปไตยไม่ใช่ประชาธิปไตย  อย่างแรกไม่สามารถเข้าแทนที่อย่างหลังได้
วิธีการทำลายแบบที่ 2 คือ ทำให้การเลือกตั้งเหมือนการประกวดนางงาม และทำให้เสร็จสิ้นในเวลาอันสั้น  เช่น โหมประกาศเรื่องวันเลือกตั้งให้ครึกโครม ชักชวนให้คนไปใช้สิทธิให้มากๆ  จัดขบวนแห่ระดมนางงามและเด็กๆ ถือป้ายรณรงค์ให้คนไปเลือกตั้ง หรือจัดเวทีให้ผู้สมัครโชว์ตัว แถลงนโยบายเพียงครั้งเดียวในเวลาอันสั้น  หรือวัดคุณสมบัติผู้สมัครที่รูปถ่าย  ใครหล่อกว่า ใครมีจำนวนป้ายหาเสียงมากกว่า ใครเสนอนโยบายได้จับใจมากกว่า ?  หรือการรณรงค์ให้ไปช่วยกันเลือกคนดีไปทำงานแทนเรา เกิดปัญหาเพราะความดีในความหมายของแต่ละคนต่างกันที่สำคัญ ก็เพราะคิดว่าเลือกได้คนดี ประชาชนจึงวางใจ ลงคะแนนแล้วก็ไม่ต้องมีบทบาทอื่นใดอีก
 
การพัฒนาระบบการเลือกตั้งก็คือการพัฒนาชุมชนหรือองค์กรให้เข้มแข็งอย่างหนึ่ง นั่นเอง กล่าวคือ  ควรมีอย่างน้อย 3 ขั้น คือ หนึ่ง การเปิดเวทีชุมชนเพื่ออภิปรายกันว่าใครควรเป็นผู้เหมาะสมในการสมัครรับเลือกตั้ง หรืออภิปรายคนที่สมัครไปแล้วมีคุณสมบัติ-ความสามารถและนโยบายอย่างไรบ้าง นี่เป็นการพูดคุยกันในหมู่ประชาชน ไม่เชิญผู้สมัครให้เข้ามาร่วม  แต่นี่คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความรู้ทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเยาวชนที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอนาคต  เป็นการบอกกล่าวกันให้สมาชิกในชุมชนได้รับรู้ร่วมกันและมีข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน  เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้เป็นประชาชนทั้งชุมชนหรือตำบล เช่น ผู้สมัครคนนั้นทำงานจริงจังมาก หรือไม่รับผิดชอบ หรือโดดเด่นในด้านวิสัยทัศน์ หรือด้านมนุษยสัมพันธ์ การทำงานกับกลุ่มต่างๆ อย่างประนีประนอม แต่ไม่ทิ้งหลักการใหญ่  เป็นผู้มีคุณธรรม  ไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องส่วนตัว ฯลฯ  ในการอภิปรายขั้นนี้จะจัดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อสมาชิกทุกคนเข้าร่วม ซักถามโต้แย้งและเสริมข้อมูลกันจนครบถ้วน  ชุมชนนั้นก็จะมีอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในมือ นั่นคือ ประชาชนรู้จักข้อดี ข้ออ่อน และข้อควรระวังเกี่ยวกับผู้สมัครแต่ละคน  เมื่อผู้เลือกตั้งจำนวนมากมีความรู้  ผู้สมัครก็จะไม่สามารถหลอกลวงใครได้
 
สอง  ขั้นต่อไปคือ การเชิญผู้สมัครมาแถลงนโยบาย เสนอมาตรการปรับปรุงบ้านเมือง และตอบข้อซักถามทุกข้อที่ประชาชนแต่ละคนสงสัย จะจัดการประชุมกี่ครั้ง นานเท่าใด ออกวิทยุหรือโทรทัศน์หรือไม่ นั่นเป็นปัญหารายละเอียด แต่ความสำคัญคือ นี่คือโอกาสที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ตรวจสอบผู้สมัครในแต่ละด้านอย่างละเอียด จะพบปะกันกี่ครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ  เหมือนการประกวดนางงามปัจจุบันที่ยกระดับไปแล้วด้วยการพาผู้เข้าประกวดแต่ละคนไปเข้าค่าย เหมือนพ่อแม่ของหญิงสาวที่มีชายเข้ามาติดพัน เหมือนผู้สมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศที่ไม่มีเพียงการสอบข้อเขียนหรือสัมภาษณ์แต่มีการไปเข้าค่ายด้วยกัน 3-7 วัน ฯลฯ
 
แน่นอน สำหรับพ่อแม่ในสังคมไทย เขยหรือสะใภ้ของลูกคือสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวตลอดชีวิต  คำว่า “รู้จักหัวนอนปลายตีน” จึงมีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
 
การคัดเลือกคนเพื่อเข้าไปทำงานดูแลใช้จ่ายงบประมาณปีละนับพันล้านบาทเป็นเวลานานถึง 4 ปีติดต่อกัน เหตุใดจึงรู้จักเพียงเห็นโปสเตอร์แผ่นเดียวหรือเพียงเพราะเขามายกมือไหว้ที่หน้าบ้าน หรือเข้าไปไหว้คุณยายที่ครัวหลังบ้าน หรือเพียงเพราะเขาพูดบนเวทีหาเสียง 1 ครั้ง หรือเพียงเพราะเขามาวางหรีดในงานศพ หรือมางานขึ้นบ้านใหม่ของเรา ฯลฯ
           
สาม  ขั้นสุดท้ายก็คือ ชุมชนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นครั้งสุดท้ายว่าข้อมูลที่ได้มาตั้งแต่การประชุมอภิปรายครั้งแรก การเปิดตัวในครั้งที่สอง รวมกันแล้วสอดคล้องต้องกันหรือขัดแย้งกัน หรือมีประเด็นใดอีกที่ยังไม่ชัดเจน  แน่นอน หากส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อสรุป ก็อาจกลับไปจัดรายการแบบครั้งที่สองได้อีก หรือจะพูดคุยกันเองอีกหลายครั้ง หรือเรียกผู้สมัครเฉพาะบางรายมาพูดคุยก็ได้   จากนั้น ที่ประชุมก็ควรตัดสินใจเลือกใคร  ใครควรเป็นคนที่เหมาะสมของชุมชนนั้น ผลการตัดสินใจที่ออกมาต่างกันจะสามารถเปิดการอภิปรายรอบใหม่เพื่อให้ได้มติเอกฉันท์ หรืออย่างน้อยเสียงส่วนใหญ่ เรียกว่าเป็นการตัดสินใจของชุมชนที่จะ “agree to agree” เพื่อให้เกิดมติร่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังของชุมชนนั้นเนื่องจากเมื่อทุกคนออกเสียงเหมือนกัน ก็ย่อมสามารถยื่นข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขบางอย่างให้แก่ผู้สมัครได้ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง  เกิดพลังกดดันทางการเมืองที่นักการเมืองไม่ว่าระดับไหนก็ไม่อาจมองข้ามได้ในอนาคต
 
หรืออีกทางหนึ่งคือ ที่ประชุม “agree to disagree” นั่นคือตกลงกันว่าหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะความเห็นไม่ตรงกันและไม่มีใครยอมรับมติอันเกิดจากเสียงข้างมาก ดังนั้น ใครอยากจะเลือกใครก็ตามใจ  ในกรณีนี้ ชุมชนก็จะขาดพลังเพราะไม่อาจเสนอข้อเรียกร้องใดๆ ให้แก่ผู้สมัครคนหนึ่งคนใดได้เพราะไม่ทราบว่าเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนสนับสนุนใคร
 
การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งมีวิธีการที่หลากหลาย  แต่ละวิธีการรวมทั้งรายละเอียดย่อม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละท้องที่  แต่กล่าวในภาพกว้าง เมื่อชุมชนรวมตัวกัน ใช้การประชุมเป็นกลไกในการยกระดับความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและทัศนะต่างๆ  และที่สำคัญได้รับรู้เรื่องราวของผู้สมัครแต่ละคนอย่างกว้างขวางและเป็นเอกภาพ  นี่คือขั้นตอนของการใช้กลไกการเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้การเลือกตั้งสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยโดยรวมให้มากยิ่งขึ้น
วิธีการทำลายแบบที่ 3 คือ การบิดเบือนหลักการที่ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และพูดว่าการเลือกตั้งโดยคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป  วิธีการเช่นนี้เกิดขึ้นก็เพื่อหาเหตุผลมารองรับการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าโดยวิธีการใดก็ตาม
 
แน่นอน การเลือกตั้งมิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้  เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ผลักดันให้ฟันเฟืองตัวอื่นๆ หมุนตาม  เช่น ดังที่ได้กล่าวแล้ว มีการเลือกตั้ง มีการเสนอนโยบาย การถกเถียงอภิปรายเรื่องนโยบายหรือแสวงหานโยบายและทางเลือกอื่นๆ  การตรวจสอบปัญหาของเมืองและประเทศ การแสวงหาหนทางแก้ไข  การเลือกตั้งยังนำไปสู่การค้นหาคนทำงาน นโยบาย วิธีการทำงาน การเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบอื่นๆ  ฯลฯ
           
ข้อที่สี่ การแข่งขันด้านนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขและปรับปรุงเมือง   
            ในบรรดาผู้สมัคร 8 คนที่ได้แถลงนโยบาย เราสามารถแบ่งการนำเสนอนโยบายและมาตรการดูแลเมืองได้เป็น 2 แบบ คือ แบบแรก เน้นเสนอภาพความงดงามยิ่งใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ และเสนอการแก้ไขปัญหาแต่ละด้าน เช่น เบอร์ 1 เสนอ 3 นโยบายหลัก คือ รักษาเสน่ห์ดั้งเดิมของเมือง, พัฒนาเมืองด้วยโครงการขนาดใหญ่, และทำให้บ้านเมืองสวยงามน่าอยู่ เบอร์ 3 เสนอเมืองให้โดดเด่น 9 ด้าน เป็นเมืองแห่งความปลอดภัย, สุขภาพ, วัฒนธรรม, สวัสดิการ, การท่องเที่ยว, ความสะอาด, การศึกษา, มหาวิทยาลัย, และคุณธรรม  ส่วนเบอร์ 5 เสนอให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม, ให้เขตคูเมืองเป็นมรดกโลก, ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก, อุดหนุนเงินให้ชุมชน, แยกขยะ, อินเตอร์เน็ตไร้สายฟรี, ส่งเสริมกีฬา.
           
แบบที่สอง  เน้นเสนอนโยบายและมาตรการรูปธรรมในการปรับปรุงเมืองเป็นหลัก เช่น เบอร์ 4 เสนอ 8 นโยบาย: ประปาทุกบ้าน, 500 บาทต่อเดือนสำหรับเด็กเล็ก, อินเตอร์เน็ตไร้สาย, ค้านการขยายถนน, แก้ปัญหาคนว่างงาน, พักหนี้โรงจำนำเทศบาล, ไฟกิ่งทั่วเมืองและตั้งศูนย์อนามัยชุมชน  เบอร์ 2 เสนอพัฒนา 6 ด้าน คือ ถนน การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อม อาชีพ งานประเพณี และองค์กรชาวบ้าน เบอร์ 6 เสนอปรับปรุงโรงเรียนเทศบาล, โรงพยาบาล, การท่องเที่ยว, การค้าขาย, แม่น้ำ, การจัดการขยะ และเบอร์ 7 เสนอ 9 ข้อ เมืองสะอาด, ถนนดี, โครงการบ้านมั่นคง, แม่น้ำใส, คลินิกพิเศษ, กล้องวงจรปิด, แหล่งท่องเที่ยว, สนับสนุนสถาบันศาสนา
           
มีข้อสังเกตอย่างน้อย 4 ข้อเกี่ยวกับการพิจารณาและตรวจสอบนโยบายของผู้สมัครทั้ง 8 คน คือ 1. การตรวจสอบนโยบายและพฤติกรรมของผู้สมัครยังไม่เข้มข้น


            นี่คือเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เมืองที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และเป็นเมืองที่ผู้สมัครส่วนใหญ่รู้จักกันมาจากครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้มาแล้ว 2-3 รุ่น  ข้อสังเกตแรก นี่เป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้สมัครที่เป็นนายกฯเก่าและผู้ท้าชิงถึง 9 คน การประชุมแถลงและถกเถียงนโยบายทั้ง 3 ครั้งเป็นเพียงเปิดให้แต่ละคนได้แสดงโวหาร ไม่มีการเปิดโอกาสให้โต้แย้งกัน ซักถามกันเอง หรือตอบโต้กัน  นายกฯคนเก่าได้รับการดูแลราวกับเป็นคนใหม่ไม่เคยทำงานมาก่อน ทั้งๆ ที่คนดำรงตำแหน่งมาแล้วจะต้องตอบให้ได้ว่าอยู่ในตำแหน่ง 2 ปีได้ทำอะไร พบปัญหาอะไร ได้แก้ไขอย่างไร และต่อไปจะแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอย่างไร
           
ข้อสังเกตที่ 2 การจัดรายการแถลงนโยบาย 3 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดรายการเพื่อออกโทรทัศน์เป็นหลักหรือจัดเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ให้คนเชียงใหม่ได้ฟังล้วนมีลักษณะตรงกันคือ เน้นการโชว์แบบประกวดความงาม กระทั่งผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งพูดว่านี่คือรายการที่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยะ คือไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเอง  ไม่มีใครแน่ใจผู้ดำเนินรายการคนนี้หมายความว่าห้ามใส่ร้ายป้ายสี หรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์กันก็ทำไม่ได้   ประชาธิปไตยแบบอารยะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมทำได้ และควรทำอย่างยิ่งเพราะความเห็นที่แตกต่างย่อมนำไปสู่การทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ที่มีมุมมองได้หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และยกระดับความเข้าใจทางการเมืองของสังคมให้สูงขึ้น
 
            จอห์น แม็คเคนต่อสู้แข่งขันกับบารัก โอบาม่าเพื่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ  ฝ่ายหลังเสนอว่าจะถอนทหารออกจากอิรัค  ฝ่ายแรกบอกว่าทำไม่ได้และไม่สมควรทำ  มีคนจำนวนมากวิจารณ์ฝ่ายแรกในเวทีหาเสียงว่าอายุมากแล้ว จะไม่สามารถแบกรับงานหนักนี้ได้  แม็คเคนแย้งว่าสุขภาพของเขาดีมาก อายุไม่ใช่ปัญหา  โอบาม่าวิจารณ์ว่าแม็คเคนว่าดำเนินนโยบายตามรอยบุชทุกประการ และนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของบุชผิดพลาดอย่างแรง  ขณะที่แม็คเคนแย้งว่านโยบายของโอบาม่าเป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยง ฯลฯ
 
            การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครเชียงใหม่ครั้งที่ 3 (4 ตุลาคม 2552) เป็นการแข่งขันกันระหว่างนายกฯคนเก่ากับผู้ท้าชิงรวม 9 คน ถ้าชาวเชียงใหม่พอใจการทำงานของคนเก่า ทุกอย่างก็จบ คำถามคือคนเก่ามีผลงานอะไร ชาวเชียงใหม่คิดอย่างไร ผู้ท้าชิงแต่ละคนคิดอย่างไร  การปกครองท้องถิ่นที่ส่งเสริมประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้คิด ได้ตั้งคำถาม ได้ตรวจสอบ และแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ส่วนไหนเป็นข้อสงสัยของประชาชนหรือของผู้สมัครรายอื่นๆ  นายกฯคนเก่าก็ควรตอบและต้องตอบ  ประเด็นไหนมองต่างกันก็เป็นความเห็นต่าง  การจัดแถลงนโยบายของผู้สมัครแบบประกวดนางงามในที่สุดก็คือการกวาดปัญหาหลายข้อไว้ใต้พรม  ข้อสงสัยหลายข้อไม่ถูกขจัดปัดเป่า  แทนที่สังคมเมืองจะได้ยกระดับการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้จากการเลือกตั้งแต่ละครั้ง
 
      ข้อสังเกตที่ 3  ขณะนี้มีสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องเสนอรายการข่าวเกี่ยวกับบทบาทการ
เคลื่อนไหวของดารานักร้องนักแสดง  ลามไปถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของดาราโดยเฉพาะคนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก  เช่น เลิกกันหรือไม่ ท้องหรือไม่  มีภาพเปิดเผยว่าไปชายทะเล หรือไปต่างประเทศกับบางคน หรือมีภาพหวานแหววกับบางคน มี “ภาพหลุด” หรือปัญหามือที่สาม  เลิกกันแล้ว เลิกจริงหรือไม่ ฯลฯ  ข่าวหลายชิ้นขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ   แต่จะพบว่าข้อเท็จจริงที่น่าตกใจว่า ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมและบทบาทการทำงานของนักการเมืองไม่ว่าระดับไหนมีน้อยมาก  ทั้งๆ ที่นักการเมืองโดยเฉพาะคนที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของตำบล ของเทศบาล จังหวัด และระดับประเทศต้องดูแลงบประมาณ โครงการ และรับผิดชอบข้อกฎหมายต่างๆ รวมกันนับแสนล้านบาทหรือมากกว่านั้น  ทิศทางการพัฒนาของแต่ละพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของคนเหล่านี้ และทั้งหมดมีผลโดยตรงต่อพื้นที่ต่างๆ  และต่อผู้คนจำนวนมาก แต่สื่อมวลชนและสังคมกลับไม่ให้ความสนใจต่อพฤติกรรม ทัศนะ และบทบาทของพวกเขา  แม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวซึ่งมีผลต่อชีวิตการทำงานที่มีผลต่อส่วนรวม
 
            เช่น การที่ผู้บริหารคนหนึ่งมีภรรยาน้อยหลายคน  นอกจากปัญหาศีลธรรมในสังคม เขาบริหารเวลาการทำงานอย่างไร เขาใช้เวลาในการดูแลครอบครัวอย่างไร เขามีรายได้เท่าใดในการดูแลครอบครัว  เขาจำเป็นต้องหาเงินเพิ่มอีกเท่าใด  เขามีญาติพี่น้องจำนวนมากหรือสนใจหญิงสาวหลายคนที่ต่างตกงานหรือต้องการได้งานทำใน อบจ. หรือเทศบาล หรือ อบต. เพราะหางานอื่นไม่ได้ หรืออยากได้งานนี้เพราะที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน หรือคิดอยากได้งานนี้เพราะญาติของตนเพิ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  เขาจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร ฯลฯ
 
            การที่ผู้บริหารคนหนึ่งมีหอพักจำนวนมากให้นักเรียนนักศึกษาเช่า เขาจะมีท่าทีอย่างไรต่อนโยบายที่กำหนดให้แบ่งหอหญิงหอชายเพื่อป้องกันปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบัน  การที่ผู้บริหารมีกิจการขายดอกไม้ ขายไม้ดอกในกระถาง เขาคิดที่จะปลูกต้นไม้ริมทางให้มากขึ้นเพิ่มให้ร่มเงาแก่ผู้คนและยวดยานที่สัญจรไปมา และยังช่วยลดงบประมาณสำหรับซื้อดอกไม้ในกระถาง หรือเขามองว่านี่คือโอกาสทองในการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและญาติมิตร จัดการเพิ่มงบประมาณสำหรับการนำเอาไม้ดอกไปติดตามราวสะพานหรือริมถนนให้มากขึ้น  ยิ่งรดน้ำให้น้อยลง ปล่อยให้ล้มตาย ก็ยิ่งสามารถเพิ่มงบซื้อไม้ดอกได้มากขึ้นทุกปี   หรือการที่ผู้บริหารมีธุรกิจด้านโรงแรม ด้านการขายรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ปั๊มน้ำมัน เขาจะดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อส่งเสริมเมือง แต่อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตระกูล เช่น ขนส่งมวลชนทำให้ยวดยานส่วนตัวลดลง  ควบคุมนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ฯลฯ
 
            นี่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองและเมือง ชีวิตส่วนตัวและผลประโยชน์ของครอบครัวและตระกูลแยกไม่ออกจากทัศนะ นโยบายและวิธีการทำงานของนักการเมืองแต่ละคน  ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องสนใจและตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ และให้ความจริงจังเพราะสิ่งเหล่านั้นมีผลโดยตรงต่องานบริหาร  ในสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ทุกชุมชนจะจัดชุมนุมเพื่อดำเนินการ 3 ขั้นที่ได้กล่าวข้างต้น นักการเมืองผู้สมัครต้องไปพบชุมชนต่างๆ ทุกวัน  ไม่ใช่หาเสียงเพียงการเดินแจกบัตรของตนเองตามตลาด และพูดเล็กน้อยที่ตลาดที่กำลังสาละวนซื้อขาย ต่อรองราคา แทบไม่มีใครสนใจฟัง  และแทบไม่เคยมีการชุมนุมฟังการปราศรัย (Rallies)
 
สื่อมวลชนทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ไปสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสอบถามผู้สมัครแต่ละราย  นำชีวิตส่วนตัว พฤติกรรมและการทำงานของผู้สมัครมาวิเคราะห์และตีแผ่ อย่างเป็นกลาง นั่นคือ พูดทุกเรื่องและพูดถึงผู้สมัครทุกคนเท่าที่จะหาข้อมูลมาเปิดเผยได้  และในตอนท้ายๆ ใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง สื่อมวลชนแต่ละแขนงหรือแต่ละฉบับก็จะมีคำแถลงหน้าหนึ่งหรือบทนำ ว่าจากการติดตามตรวจสอบ พวกเขาเห็นว่าควรเลือกใคร ควรสนับสนุนใคร ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง  แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงรายงานข่าวทุกแง่ทุกมุมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นรอบด้านและสามารถตัดสินใจได้เอง
 
ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก่อนจะถึงการเลือกตั้ง หนังสือพิมพ์รายวันในเมืองเชียงใหม่มี 2 ฉบับ ไม่เคยติดตามรายงานข่าวของผู้สมัครแต่ละคน แต่รายงานข่าวและสนับสนุนผู้สมัครบางคนอย่างเห็นได้ชัดแทบทุกวัน  สื่อมวลชนระดับชาติบางฉบับก็เป็นเช่นนั้น   สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลในท้องถิ่นเลียนแบบรายการที่เมืองหลวงด้วยการเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ผู้ดูฟัง  รู้หรือไม่รู้ว่าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับนั้นเป็นของกลุ่มทุนบางกลุ่มและทั้ง 2 ต่างเชียร์ผู้สมัครบางหมายเลข ไม่มีการรายงานข่าวผู้สมัครรายอื่น ไม่ทราบว่าคนทำงานข่าวในปัจจุบันเสนอข่าวเหล่านั้นโดยอาศัยหลักสูตรวิชาการสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาใด และผู้บริหารระดับสูงมีความเห็นอย่างไร  ฉะนั้น จนถึงวันสุดท้ายของการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวได้ว่าการปกครองท้องถิ่นในเมืองอันดับ 2 ของประเทศนี้ยังห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าประชา ธิปไตยแบบอารยะ
 
      ข้อสังเกตที่ 4 ผู้สมัครทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลข 6) พูดถึงปัญหาขนส่งมวลชนน้อยมาก   
มีความเป็นไปได้ 3 ทางที่เกิดการละเลยปัญหาดังกล่าว คือ ทางหนึ่ง มีทัศนะที่ผิดเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน คือคิดว่าเมืองใหญ่ย่อมมีรถติดเป็นธรรมดา  ทางที่สอง ผู้สมัครเกือบทั้งหมดมีฐานะดี ไม่เคยลงมาสัมผัสปัญหาของคนเชียงใหม่ที่มีรายได้น้อย ไม่เคยการศึกษาวิจัยของสถาบันอุดม ศึกษาต่างๆ  ไม่เคยรู้ว่ารถเมล์ในเมืองเชียงใหม่มีจำนวนน้อยมาก ไม่เคยรู้ว่าหากขึ้นรถเมล์เพื่อไปยังจุดหมายหนึ่ง จะต้องขึ้นลงรถเมล์กี่ครั้งหรือทำไม่ได้เลยเพราะไม่มีการเชื่อมรถเมล์สายต่างๆ และไม่เคยรู้ว่าการเดินทางด้วยรถสี่ล้อแดงหรือสองแถวต้องเผชิญความยากลำบากอย่างไร เช่น รอนานมากก็ไม่มีรถมา มีแต่ถูกปฏิเสธ คนขับรถสี่ล้อแดงไม่ยอมไปยังจุดหมายที่ผู้โดยสาระบุ โดยไม่สนใจถามว่าจะเพิ่มค่าโดยสารหรือไม่ หรือหลายครั้งขึ้นไปแล้ว คนขับรถก็บอกให้ลงเนื่องจากคนขับ รถเปลี่ยนใจต้องการไปที่อื่น ฯลฯ และทางที่สาม คือ ผู้สมัครเคยรับรู้ปัญหานี้มาแล้ว และเห็นว่าแก้ไขยาก  จึงเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง
 
            ปัญหาระบบขนส่งมวลชนเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่  เพราะเป็นปัญหาที่ส่ง ผลกระทบยาวไกลและมีหลายมิติ  การไม่แก้ไขปัญหานี้ก็เท่ากับแก้ไขปัญหาอื่นไม่ได้ เช่น ผู้สมัครเบอร์ 1 เสนอว่าต้องรักษาเสน่ห์ของเมืองนี้ไว้ คำถามคือ จะรักษาเสน่ห์ของเมืองนี้ได้อย่างไรในเมื่อจราจรติดขัดทั้งเมืองและทั้งวัน  ทั่วเมืองมีรถเมล์เพียงไม่กี่คัน แต่มีรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนตัวเต็มถนนทุกสาย   ผู้สมัครเบอร์ 5 เสนอว่าให้เขตคูเมืองเป็นมรดกโลก คำถามคือจะเป็นได้อย่างไรในเมื่อเขตคูเมืองแทบไม่มีของเก่าอันใดหลงเหลือ มีแต่ยวดยานวิ่งไปมาเต็มไปหมด เคยมีความคิดที่จะให้จักรยานและรถเมล์วิ่งเท่านั้นจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ  ผู้สมัครเบอร์ 6 เสนอเพิ่มการใช้จักรยาน ติดตั้งสัญญาณความปลอดภัย ประเด็นก็คือ เวลานี้ ทุกบ้านมีจักรยานไว้ใช้ แต่แทบไม่มีใครกล้าขับจักรยานออกมาบนถนน เพราะรถยนต์วิ่งไปมามากมายและตลอดเวลา  การขับขี่จักรยานในสภาพของเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันก็คือเสี่ยงภัยอุบัติเหตุ เหม็นควันพิษ  อากาศร้อน สองข้างทางไม่มีร่มเงา ไม่มีที่จอดรถจักรยานโดยเฉพาะ ฯลฯ
 
            เมื่อไม่แก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชน ทุกคนจึงจำเป็นต้องใช้ยวดยานพาหนะส่วนตัว จราจรจึงติดขัดมากขึ้นๆ  ปัญหามลพิษทางอากาศจึงรุนแรงขึ้น ต้องขยายถนน ต้องลดพื้นที่ทางเท้า ไม่อาจปลูกต้นไม้ใหญ่ริมทาง อุบัติเหตุจากการจราจรยิ่งเพิ่มปริมาณ คนป่วยคนตายเพิ่ม ปัญหาครอบครัวรุนแรง  ต้องเพิ่มโรงพยาบาล เพิ่มบุคลากรการแพทย์ เพิ่มงบประมาณของรัฐ  ปั๊มน้ำมันและร้านขายรถเพิ่มจำนวน ต้องเสียเงินให้ต่างชาติ นำเข้าสินค้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่าสูงลิ่ว ฯลฯ
 
ข้อสังเกตที่ 5  ผู้สมัครแทบทั้งหมดไม่มองปัญหาเมืองเชียงใหม่แบบบูรณาการ  ไม่มีใคร
ทราบว่าคนเหล่านั้นไม่เข้าใจเพราะไม่สนใจศึกษาค้นคว้า หรือคิดว่าตนเองรู้แล้วแต่ที่จริงไม่รู้หรือว่ารู้ แต่จงใจไม่พูดถึงปัญหาของเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ เพราะคิดว่าพูดอะไรก็ได้ให้ถูกใจคนเลือกตั้ง และให้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกฯก็พอ ฯลฯ
 
ประการที่หนึ่ง  เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญมากเป็นอันดับที่ 2 ของ
ประเทศนี้ และเป็นเมืองเอกนครระดับภาค (Regional primate city) เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือที่รวมความเจริญทุกๆ ด้านไว้หมด แทบไม่แบ่งกิจการใดๆ ไปไว้ที่จังหวัดอื่นๆ  กิจการหลายอย่างย้ายจากจังหวัดมาไว้ที่เมืองนี้เมื่อไม่นานมานี้  ส่งผลให้เมืองอื่นๆ เล็กลง เชียงใหม่เติบโตเพิ่มขึ้นๆ  ผลที่ตามมาก็คือเป็นศูนย์รวมปัญหาทุกๆ อย่างด้วย เช่น อาคารสูง อากาศเสีย ขยะ แรงงานจากจังหวัดรอบๆ  นักเรียนนักศึกษาและพระสงฆ์เดินทางเข้ามาศึกษาและไม่กลับ แรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติ  ธุรกิจผิดกฎหมาย  ขอทาน ฯลฯ  การเป็นเอกนครระดับภาค ทำให้เกิดแรงดูด (Pull factors) เพราะมีกิจกรรมต่างๆ มากมายหลากหลาย และเกิดแรงดัน (Push factors) ในจังหวัดรอบๆ เพราะบริเวณรอบๆ ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร  จึงผลักดันให้คนที่อยู่ภายนอกเข้าไปอยู่ไปหางานในเมืองใหญ่  แรงดูดและแรงดันรวมกันส่งผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในเมืองเชียงใหม่ในห้วง 1 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา [7]
 
            ประการที่สอง  เมืองเชียงใหม่มีข้อได้เปรียบหลายประการ  ในห้วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการโหมโฆษณาว่าเมืองเชียงใหม่ยิ่งใหญ่ สวยงาม มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ มีภูเขามากมาย ชุ่มชื่น ป่าไม้ดอกไม้หลากหลายพันธุ์ มีน้ำตก มีชาติพันธุ์หลากหลาย  มีท้องนากว้างใหญ่ เชียงใหม่จึงมีทั้งทุนทางกายภาพและทุนทางสังคมที่สั่งสมและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐรวมทั้งต่างประเทศ  เชียงใหม่ที่เป็นเมืองน่าอยู่น่าเยือนจึงถูกสร้างเป็นเมืองชั้นเทพ เป็นสวรรค์ของทุกสิ่ง ดึงดูดผู้คนและกิจกรรมทุกอย่างมาไว้ที่นี่ กลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมข้อที่หนึ่งให้หนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น  และเมื่อไม่เข้าใจประเด็นนี้ และไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ เมืองก็จะกลายเป็นเมืองแกงโฮะ และกลายเป็นนรกไปในที่สุด [8]
 
            ประการที่สาม  เมืองเชียงใหม่เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐล้านนาที่เป็นรัฐอิสระ (พ.ศ. 1839-2101 รวม 262 ปี) เคยรบพุ่งกับรัฐอยุธยาเป็นเวลานานในสมัยพระบรมไตรโลกนาถและพระญาติโลกราช, เมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เชียงใหม่ก็กลายทัพหน้าของพม่าในการบุกโจมตีและยึดครองอยุธยา 2 ครั้งในปี 2112 และ 2310 สร้างความแค้นเคืองให้แก่สยาม ดังนั้น เมื่อสบโอกาส ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่ได้  เชียงใหม่และล้านนาจึงตกเป็นประเทศราชของสยาม เป็นเวลารวม 125 ปี (พ.ศ. 2317-2442) จากนั้น ล้านนาก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามรัฐในปี 2442 [9]
 
ดังนั้น การยกย่องเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองศิลปวัฒนธรรมและเมืองประวัติศาสตร์จึงเป็นเพียงการพูดบางเรื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เชียงใหม่เป็นเพียงเมืองที่ได้รับการโปรโมตให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองที่เป็นตัวของตัวเอง  เพราะภาษาพูดภาษาเขียนแบบเก่า วัดแบบเก่า จารีตประเพณีแบบเก่า ภูมิปัญญาแบบเก่าที่ถูกทำลายลง ไม่เคยได้รับการฟื้นคืนอย่างจริงจัง มีเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หยิบขึ้นมาให้มีสีสันแปลกตา และหลอกให้คนเชียงใหม่และคนทั่วประเทศให้หลงใหลได้ปลื้ม เพราะไม่เคยมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และล้านนาอย่างจริงจัง
 
            เมื่อเอาข้อ 1 บวกข้อ 2 และ 3 เราจึงจะพบนโยบายแบบเพ้อฝันของผู้สมัครหลายรายที่อยากให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง  
 
เมืองก็เหมือนกับคนๆ หนึ่ง มีไหมที่ทำให้คนๆ หนึ่งเก่งไปเสียทุกด้าน ให้เป็นคนรูปงาม เรียนเก่ง ทำกับข้าวเก่ง เย็บปักถักร้อยเก่ง พูดได้ 8 ภาษา เก่งคอมพิวเตอร์ เก่งวาดรูป เก่งดนตรี- กีฬา จบปริญญาเอก  สุภาพเรียบร้อย ซ่อมรถยนต์ได้ดี  เขียนบทกวี แต่งนิยาย ชอบฟันดาบ ยิงปืนแม่น สนใจการเมือง มีเงินหลายหมื่นล้านบาท  ฯลฯ
 
ไม่มีใครที่เป็นได้ทุกอย่าง เมืองก็เช่นกัน เมืองไม่อาจเป็นได้ทุกอย่าง
 
            ประการที่สี่  ด้วยความเป็นสุดยอดที่ได้กล่าวข้างต้น นอกจากรัฐจะได้ย้ายศูนย์ราชการภาคเหนือทั้งหมด ศูนย์บัญชาการตำรวจ 17 จังหวัดภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทยภาคเหนือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เดิม มาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองนี้ยังมีหน่วยราชการส่วนกลางที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯถึง 200 กว่าหน่วย  มีสถาบันอุดมศึกษาถึง 10 กว่าแห่ง ชักชวนคนต่างชาติมาเที่ยว มาพักผ่อนแบบ long stay และแบบสร้างบ้านนับร้อยหมู่บ้าน มีองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนานาชาติ และองค์กรสืบข่าวจารกรรมจากทั่วโลกรวมกันแล้วหลายร้อยหน่วย [10] และว่ากันว่ามีทุนจากเมืองหลวงเข้ามากว้านซื้อที่ดินในเขตเมืองและรอบนอก ขณะที่ทุนท้องถิ่นมีขนาดเล็ก หรือเคยร่ำรวย แต่ก็สู้ทุนจากภายนอกไม่ได้ ที่สุดก็เป็นได้เพียงหัวข้อวิจัยทางวิชาการ เป็นความฝัน แต่ไม่มีฐานะและความสำคัญในทางเศรษฐกิจที่แท้จริง [11]
 
            ประการที่ห้า  ทั้ง 4 ข้อที่ได้กล่าวข้างต้นเป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้วก็เนื่องจากรัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป (Highly or over-centralized state) นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ที่อำนาจการเมืองการปกครอง อำนาจวัด การศึกษา ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ข้าราชการพลเรือนทุกระดับรวมทั้งตำรวจ ตลอดจนภาษาพูดภาษาเขียนและศิลปวัฒนธรรมที่เดิมทั้งหมดนี้อยู่ในมือของคนท้องถิ่นถูกรวบไปไว้ที่ส่วนกลาง [12]
 
            จนถึงขณะนี้หรือ 76 ปี ผ่านไปนับตั้งแต่การสถาปนาระบบจังหวัดและอำเภอ ผู้ว่าฯยังคงมาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลาง ที่ย้ายทุกๆ 2-3 ปี (3 ปีล่าสุดย้ายทุกปีเพราะการต่อสู้ทางการเมืองในระดับชาติ)  เทศบาลนครเชียงใหม่ที่ยกย่องกันว่าเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศตลอด 5 ทศวรรษแรก มีอำนาจที่จำกัด ดูแลพื้นที่เพียงเล็กน้อยของพื้นที่ทั้งอำเภอเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่มีตราประจำเป็นรูปพระธาตุดอยสุเทพอันสง่างาม แต่พื้นที่ของวัดนี้อยู่ในเขตกรมป่าไม้ วัดเป็นสมบัติของกรมศาสนา  พื้นที่ตำบลช้างเผือกอยู่ในเขตเมืองแท้ๆ กลับถูกกระทรวงมหาดไทยตั้งเป็นสุขาภิบาลและปัจจุบันยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล แทนที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่มีอำนาจที่จำกัดมาก งบประมาณแต่ละปีราว 1 พันล้านบาท แต่งบประมาณที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการก็ 700 กว่าล้านบาท ที่เหลือจะคิดทำอะไรก็ต้องขออนุมัติจากนายอำเภอและผู้ว่าฯ  ยังไม่นับเงินที่จังหวัดและอำเภอขอความอนุเคราะห์ปีละหลายแสนบาทเพื่อที่จังหวัดและอำเภอจะนำไปใช้ในกิจการที่รัฐบาลสั่งลงมา แต่ไม่ให้งบ เช่น การจัดทำป้าย หรือโครงการรณรงค์ หรือการเลี้ยงดูต้อนรับข้าราชการจากส่วนกลางที่เดินทางมา “ดูงาน” แทบทุกสัปดาห์ ฯลฯ
 
            ในห้วง 2 ทศวรรษเศษนับแต่มีโครงการจากส่วนกลางที่คิดจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ และการสร้างอาคารสูงแห่งแรก ในราวปี 2528-30 และคนท้องถิ่นคัดค้านโครงการเหล่านั้น ติดตามด้วยการเรียกร้องให้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งในปี 2534  วิกฤตขยะในปี 2536 น้ำแม่ปิงเน่าในปี 2537 การตัดต้นพะยอมริมถนนสุเทพในปี 2538 การคัดค้านอาคารสูงริมแม่น้ำปิงและรอบๆ วัดทั้งหลายในช่วงปลายทศวรรษ 2530 การเรียกร้องให้เปลี่ยนคุกกลางเมืองเป็นสวนสาธารณะในปี 2543-2544 การคัดค้านทางยกระดับหน้าสนามบินในปี 2544 การคัดค้านอาคารเทศบาลสูง 16 ชั้นริมแม่น้ำปิงในปี 2546 น้ำท่วมเมือง 4 ครั้งในปี 2547 การคัดค้านการรื้อฝาย 3 แห่งกลางแม่น้ำปิงในปี 2548 การคัดค้านการขยายสนามบินเชียงใหม่และเรียกร้องให้สร้างในที่นอกเมืองในปี 2548-49 การคัดค้านการสร้างพนังกั้นน้ำปิงตลอด 2 ฝั่งในปี 2549 การคัดค้านอาคารสูงในเขตซอยวัดอุโมงค์ในปี 2549 การรวมกันของประชาชนย่านวัดเกตเพื่อต่อต้านธุรกิจราตรีในปี 2549  การต่อต้านธุรกิจราตรีของชุมชนถนนนิมมานเหมินท์ในปี 2550 และการคัดค้านการขยายถนน 30 สายทั่วเมืองและการคัดค้านระบบการวางผังเมืองจากส่วนกลางในปี 2551 ฯลฯ [13]
 
            ทั้งหมดเกิดขึ้น หลายเรื่องยังดำเนินต่อไปจนถึงบัดนี้ แต่มีประเด็นสำคัญเพียง 4 ข้อ คือ 1. แทบไม่มีเรื่องใดที่การต่อสู้เรียกร้องจะได้รับความสำเร็จ มีการแก้ไขกฎหมายเพียงเล็กน้อยดังกรณีอาคารสูง ซึ่งในที่สุด อาคารสูงก็เกิดขึ้นทั่วเมือง 2. ทุกเรื่องเป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และร้องเรียน และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 3. ยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหายิ่งเพิ่มจำนวน เพิ่มชนิด และมีพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น และ 4. โครงสร้างการบริหารเมืองยังคงเดิมเป็นหลัก ส่วนที่เปลี่ยนไปเช่น เปลี่ยนนายกเทศมนตรีจากเลือกตั้งโดยอ้อมเป็นเลือกตั้งโดยตรง, ยกฐานะสุขาภิบาลหรืออบต. เป็นเทศบาลตำบล, ผู้ว่าฯไม่เป็นนายกฯอบจ.อีกต่อไป แต่ให้นายกอบจ. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  แต่โดยพื้นฐาน อำนาจการบริหารบ้านเมืองยังอยู่ในเมืองของนายอำเภอ ผู้ว่าฯ ข้าราชการส่วนภูมิภาคและรัฐบาลกลาง
 
            มีตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่ได้รับการโฆษณา และมีหน่วยธุรกิจและภาคราชการหลั่งไหลเข้ามามากเพียงใด ส่งผลให้คนอพยพเข้ามามากขึ้น จนคาดกันว่าขณะนี้มีผู้คนเข้ามาอยู่, บริโภค, ทำงาน ศึกษาวิชา ท่องเที่ยวและทำธุรกิจต่างๆ ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่วันละ 4-5 แสนคนโดยเฉลี่ย  แต่จำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
            ตารางที่ 3 แสดงจำนวนประชากรจังหวัดและในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ [14]
 
   ปี พ.ศ.
ประชากรทั้งจังหวัด
เฉพาะในเขตเทศบาลนคร
   2535
   1,530,779
      170,269
   2537
   1,547,085
      170,348
   2540
   1,573,757
      172,290
   2543
   1,590,327
      171,712
   2545
   1,595,855
      159,403
   2547
   1,630,769
      152,334
   2552
    1,670,317 (’51)
      146,346
 
            จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร ในเมื่อสถิติทุกๆ ด้านในตัวเมืองเชียงใหม่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว สามเณรและพระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาเรียน จำนวนโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า โรงงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ  จำนวนสถานที่ราชการ หน่วยราชการ  ธนาคาร องค์กรและมูลนิธิ  สื่อมวลชน จำนวนยวดยานพาหนะ จำนวนเที่ยวบิน จำนวนยวดยานขนส่งในแต่ละวัน
 
            คำตอบก็คือ นครเชียงใหม่ที่ถูกทำให้ใหญ่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นนครที่เติบใหญ่อย่างไร้ทิศทาง  เป็นนครที่ถูกทำให้เป็นศูนย์กลางที่ปรารถนาในทุกๆ ด้านตามความฝันของแต่ละหน่วยจากเมืองหลวง ตามความคิดฝันแบบ “เมืองของเทวดา” ด้วยอำนาจของรัฐรวมศูนย์ที่ท้องถิ่นถูกทำลายมายาวนาน องค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน และมีอำนาจจำกัด จึงไม่มีการต่อต้านและตรวจสอบอำนาจจากส่วนกลางอย่างจริงจัง  เมื่อเมืองเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับภายใต้กลไกการบริหารและโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์  การเติบใหญ่แบบผิดธรรมชาติจึงเกิดขึ้น นครเชียงใหม่จึงมีสภาพเป็น “หัวใหญ่” แต่ร่างกายคือภาคเหนือกลับลีบเล็กแคะแกรน  การรวมศูนย์ความเจริญทุกๆ ด้านจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรวมศูนย์ปัญหาและความไม่สะดวกต่างๆ มากขึ้นๆ  สภาพเช่นนี้มองได้ทั้ง 2 ด้าน คือเห็นทั้งสวรรค์ และเห็นทั้งนรก
 
            โดยเนื้อแท้ เชียงใหม่คือเมืองขึ้นของประเทศนี้  เป็นเมืองที่ถูกกระทำในแทบทุกด้าน ใครอยากจะทำอะไรกับเมืองนี้ก็ได้ ยกเว้นประชาชนที่เป็นคนที่อยู่อาศัยในเมืองนี้
 
            คนที่อยู่ในตัวเมืองมานาน เคยอยู่อย่างสงบสุขร่มเย็น หลายสิบปีมานี้ แม้จะได้เห็นสวรรค์เพราะมีศูนย์การค้ามากมาย อยากไปซื้อของที่ไหนก็ได้ มีสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนประถม-มัธยมมากมายให้ลูกหลานได้เลือกที่เรียน มีโรงพยาบาลและคลินิกหลายแห่งให้ไปใช้บริการยามเจ็บป่วย และมีร้านอาหารมากมายเวลาต้องการจัดงานเลี้ยงหรือไม่ต้องการทานข้าวที่บ้าน  แต่สวรรค์มีเพียงเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นความไม่สะดวก และปัญหาทั้งสิ้น
 
เมืองมีแต่ผู้คนที่เพิ่มขึ้นมากมาย ไม่รู้จักกัน จราจรติดขัดตลอดวัน ฝุ่นควันคลุมฟ้าเมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะในหน้าแล้ง  อากาศร้อนขึ้น หน้าหนาวก็ไม่ต้องเสาะหาเสื้อกันหนาวเหมือนในอดีต  มองไปทางตะวันตกเห็นแต่อาคารสูง แทบจะมองหามุมมองพระธาตุดอยสุเทพไม่ได้ ไปที่ไหนเห็นแต่ตึกสูงห้อมล้อมวัดวาอาราม ศาสนสถานอันเก่าแก่ถูกทำลาย และแทนที่ด้วยโบสถ์ วิหารหลังใหม่ที่หลากสีสัน ไม่มีอัตลักษณ์ของอดีต
 
            สองฝั่งแม่น้ำปิงคับแคบลง พื้นทรายริมฝั่งก็หายไป ผู้คนแต่งกายทันสมัย เด็กและวัยรุ่นไม่พูดภาษาท้องถิ่นอีกต่อไป ตลาดเต็มไปด้วยความโกลาหล ทุกแห่งมีแต่คนขายคนซื้อ บนทางเท้าแทบไม่มีทางเดิน จะขี่จักรยานไปไหนก็ลำบาก จะขึ้นรถเมล์ก็ไม่มี น้ำแม่ข่าดำคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็น บ้านเมืองมีแต่เสียงอึกทึก ไม่มีที่เงียบสงบอีก เข้าไปในวัด รถยนต์ก็จอดเต็มลานวัด  
 
            ยามกลางวันมีแต่ความจอแจ และอากาศเสีย ยามค่ำคืน ก็ไม่มีสนามกีฬา ไม่มีหอแสดงดนตรีละคร หรือแหล่งให้ความรู้ความบันเทิงใดๆ แก่สาธารณชน  ทางเดินริมแม่น้ำก็มีจำกัดและไม่สะดวก สวนสาธารณะก็มีน้อย  ที่ทำได้ก็คือนั่งดูโทรทัศน์หรือวีดิทัศน์ หรือไปเดินศูนย์การค้า หรือไปนั่งตามร้านอาหาร ฯลฯ  นี่คือชีวิตในเมืองที่ปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
 
            นี่คือสาเหตุที่ผู้คนเก็บเงินออกไปหาซื้อบ้านพักนอกเมือง ย้ายทะเบียนออกไปมากขึ้นๆ เข้ามาทำงานในเมืองเฉพาะตอนกลางวัน  ส่วนผู้คนที่อพยพเข้ามาศึกษาต่อหรือหางานทำก็ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา  นักเรียนนักศึกษาเห็นว่าตนเองมาเรียนเพียงไม่กี่ปี นี่ไม่ใช่บ้านเมืองของตนเอง จึงไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา ฯลฯ  ผลการสำรวจสถาบันการศึกษายืนยันเรื่องดังกล่าว  
 
            ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจทำให้คนทำงานอยู่ได้เรื่อยๆ  รับเงินเดือนทุกเดือน แต่ผลงานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น หน่วยราชการของกระทรวงมหาดไทยและสถาบันการศึกษาไม่เคยรณรงค์ให้ประชาชนนักเรียนนักศึกษาเห็นความสำคัญของการย้ายทะเบียนบ้าน ทั้งๆ ที่ประชากรแต่ละคนมีงบที่รัฐจ่ายให้แต่ละจังหวัด จังหวัดไหนมีคนอพยพมาอยู่มาก แต่ไม่ย้ายทะเบียนมาด้วย ก็ต้องแบกรับภาระดูแลประชากรที่เข้ามาอยู่เพิ่ม รวมทั้งค่าซ่อมถนน ค่าจัดเก็บขยะ สนามกีฬา  ในฐานะพลเมือง ประชาชนมีสิทธิเลือกและตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่น เลือกสมาชิกสภาเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎข้อบังคับและตรวจสอบฝ่ายบริหาร  ครั้นไปถาม นักศึกษาจำนวนมากว่าย้ายทะเบียนเข้ามาไหม นักศึกษาจำนวนมากงุนงง ถามว่าทำไมต้องย้าย อยู่ที่นี่แค่ 4-5 ปี บางคนตอบว่าอยู่เชียงใหม่ 10 กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้ย้ายทะเบียน ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ฯลฯ  นี่แสดงว่าการศึกษาไม่เคยสัมพันธ์กับการเมือง การศึกษาไม่เคยช่วยให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มองไม่เห็นความ สำคัญของบทบาทของประชาชนในการกำหนดและตรวจสอบระบบการบริหารบ้านเมือง
 
            การหาเสียงอย่างหนักหน่วงของผู้สมัครส่วนใหญ่ทำไปเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง  พวกเขาจะเข้าใจระบบการเมืองการปกครองที่ได้กล่าวมาหรือไม่  พวกเขาสามารถโยงรัฐบาลกลางกับหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองท้องถิ่นได้หรือไม่ และพวกเขารู้หรือไม่ว่าไม่ว่าจะพยายามอีกเท่าใด  เทศบาลนครเชียงใหม่ก็มีอำนาจจำกัด ไม่สามารถกำหนดอนาคตและลักษณะของเมืองได้ เคยสนใจไหมว่าเหตุใดประเทศนี้ประชากรเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ประชากรผู้มีสิทธิเลือก ตั้งในเขตเทศบาลกลับลดลงทุกปี

 
บทวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง 4 ตุลาคม 2552
             ขณะที่หมายเลข 2 ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นคนเสื้อแดง มีภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏเคียงข้างหลายแห่ง หมายเลข 1 ใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ  ด้วยเหตุนั้น กลุ่มภาคีฮักเจียงใหม่ซึ่งเป็นสีเหลืองจึงเสียงแตก บ้างสนับสนุนหมายเลข 1 ต่อไป บ้างหัวใจสลาย  การเลือกตั้งท้องถิ่น 4 ตุลาคมที่นครเชียงใหม่นอกจากจะแยกไม่ออกจากการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติ  ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ดังกล่าว  แต่ศึกครั้งนี้ต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 ที่กลุ่มเสื้อแดงยังไม่ได้รวมตัวกัน  ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น รัฐบาล คมช. ของพลเอกสุรยุทธ์ ช่วยให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ได้ชัยชนะอย่างไม่ยากเย็น
 
            ประการแรก  จากคะแนนที่ปรากฏในตารางที่ 1 ผู้ได้คะแนนนำสูงสุดกลุ่มแรกมี 5 หมายเลขคือ หมายเลข 1, 2, 4, 6, และ 7 ทั้ง 5 หมายเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองทั้ง 5 หมายเลขนี้มีฐานเสียงที่แน่นอน  ส่วนหนึ่งสนับสนุนหมายเลข 4, 6, และ 7 ซึ่งถือว่าตนเองไม่แบ่งสีเหลืองหรือสีแดง ขณะที่หมายเลข 1 และ 2 แสดงออกทางการเมืองชัดเจน
 
            ประการที่สอง  คะแนนที่ปรากฏมิได้สะท้อนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายแดงกับฝ่าย รัฐบาล ที่อยู่ตรงข้ามกันทางการเมือง แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายแดงกับฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานเสียงสนับสนุนมายาวนาน หรือด้วยปัจจัยอื่นๆ
 
            ประการที่สาม  มีการอธิบายชัยชนะของหมายเลข 2 และความพ่ายแพ้ของหมายเลข 1 ครั้งนี้หลายแบบ เช่น 1. การที่หมายเลข 2, 7 ได้คะแนนมากเพราะมีฐานเสียงสนับสนุนมายาวนาน,  2. การที่หมายเลข 2 พ่ายแพ้ก็เพราะ ก. ชัยชนะในปี 2550 เป็นสถานการณ์พิเศษภายใต้รัฐบาล คมช. ทำให้กลุ่มคุณธรรมของตระกูลบูรณุปกรณ์ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคไทยรักไทยและต่อมาพรรคเพื่อไทยไม่อาจทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ หรือ ข. ประชาชนได้เปล่งเสียงแล้วว่าไม่พอใจการทำงานของนายกเทศมนตรีคนเก่า ต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือ 3. ว่ากันว่ามีการจ่ายเงินซื้อเสียงโดยผู้สมัครส่วนใหญ่  บางกระแสเล่าว่าผู้สมัครที่ได้คะแนนมากก็เพราะซื้อเสียงมาก  แต่บางกระแสแย้งว่ามีการซื้อเสียงในอัตราใกล้เคียงกัน แต่ชี้ขาดอยู่ที่คนเสื้อแดงเป็นคนส่วนข้างมากที่ไปลงคะแนน และตั้งใจเทคะแนนเพื่อให้คนของตนเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับเงินจากผู้สมัครหลายคนก็ตาม   
 
            ประการที่สี่  เรายังไม่เคยเห็นนักการเมืองผู้สมัครคนหนึ่งคนใดออกมาแถลงข่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะและยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมกับปวารณาตนเองว่าหากมีสิ่งใดที่จะช่วยผู้บริหารชุดใหม่ก็ยินดีให้ความร่วมมือ  นี่คือ จิตใจนักกีฬาในการชิงชัยทางการเมือง ที่สังคมไทยยังไม่มีประสบการณ์ แม้จะมีนักการเมืองไทยที่เคยศึกษาในต่างประเทศจนจบปริญญาโท-เอก แต่เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมไทย กลับลืมประเพณีประชาธิปไตยอันงดงามในต่างประเทศ
 
            แน่นอน ในสังคมไทยที่ผลการลงคะแนนยังต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง  การไม่ออกมายอมรับผลการลงคะแนนหรือการไม่ออกมาแสดงความยินดีอาจหมายความถึงการรอฟังผลการตัดสินของคณะกรรมการเสียก่อน คำถามที่ตามมา เช่น การเฝ้ารอรับเรื่องร้องเรียน โดยไม่ได้จัดส่งหรือได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบวิธีการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน จะมีหลักประกันอะไรว่าผู้สมัครที่กระทำผิดกฎหมายมีกี่คน มีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ กรรมการจัดการเลือกตั้งมีความเป็นกลางเพียงใด ฯลฯ
 
            ประการที่ห้า  จากข้อมูลในตารางที่ 2 จำนวนผู้ทำบัตรเสียลดลงมากในรอบ 5 ปีมานี้เหมือนกับจะบอกว่าประชาชนรู้วิธีทำตามกฎมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ มีประชาชนถึง 4 พันกว่าคนที่เดินทางไปลงคะแนนเพื่อที่จะไม่เลือกใคร (6-7%) ในการเลือกตั้งทั้ง 3 ครั้ง ราวกับจะบอกว่าพวกเขาอาจเป็นคนชุดเดียวกัน ที่มีความมั่นคงในจุดยืนคือไม่พอใจผู้สมัครเหล่านี้ และต้องการจะส่งข่าวนั้นไปให้ทราบทั่วกัน
 
ประการที่หก สำนักข่าวบางสำนักรายงานข่าวว่าการเมืองท้องถิ่นที่เชียงใหม่อันเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงได้ตกอยู่ในกำมือของคนเสื้อแดงเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สกลนครและบุรีรัมย์  ที่จริง ทางสายนี้อาจยังอีกยาวไกล สภากาแฟหลายแห่งสงสัยว่า คนหนุ่มวัย 35 ปีได้รับชัยชนะเพราะพลังของคนเสื้อแดงล้วนๆ  หรือว่าเป็นพลังของกระแสบวกกระสุนด้วย  สภากาแฟสงสัยกระทั่งว่าหากกลุ่มคนเสื้อแดงส่งผู้สมัคร โดยมีเพียงกระแส แต่ไร้กระสุน  พวกเขาจะได้รับชัยชนะหรือไม่  
 
และดังที่ได้ตั้งคำถามไว้ในตารางที่ 1 เมื่อคนเสื้อแดงอ้างว่าตนเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพของทุกๆ คน และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคกันทางกฎหมาย  นายกเทศมนตรีคนใหม่ที่พวกเขาเลือกจะพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างไร เพื่อให้เป็นเมืองของคนเชียงใหม่ ที่ผู้นำหลุดออกจากทั้งภาพลักษณ์ตัวแทนของตระกูลนักธุรกิจการเมือง และทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อกลุ่มหรือตระกูล,  นำพลังของคนเชียงใหม่ที่รักประชาธิปไตยไปสร้างประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นและระดับชาติให้เข้มแข็งกว่าเดิม,  และยังปูทางไปสู่การต่อสู้กับรัฐและระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินไปซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยตั้งใจที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเมืองเชียงใหม่หรือท้องถิ่นอื่นๆ อย่างจริงจัง   และหากไม่เป็นไปตามนั้น คนเสื้อแดงและคนเสื้อสีอื่นๆ ที่ล้วนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งจะร่วมมือกันสรรค์สร้างการเมืองท้องถิ่นให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร.
 
                                                                          
 
 
 
 


เชิงอรรถท้ายบท
 
[1] บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์, คอลัมน์เคาะสนิม “นายกฯนครเชียงใหม่” นสพ. ไทยนิวส์. 31 สิงหาคม 2552 หน้า 3
[2] มีใบปลิวเกลื่อนเมืองโจมตีตระกูลบูรณุปกรณ์ และเรียกผู้สมัครหมายเลข 2 ว่าเป็น “ทายาทอสูร”
[3] เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Openbooks, กรกฎาคม 2552) หน้า 179-186 เปิดเผยว่านางอารี อายุ 58 ปี เป็นพี่สาวของนายบุญเลิศและนายปกรณ์  
[4] ข้อมูลคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเทศบาลนครเชียงใหม่, นิตยสาร พลเมืองเหนือ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 287 วันที่ 2-8 กรกฎาคม 2550 หน้า 16, และ รายงานสถิติจังหวัด พ.ศ. 2548, 2551 สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่
[5] สัมภาษณ์ทีมงานของผู้สมัครหมายเลข 6 วันที่ 22 กันยายน 2552
[6] Tanet Charoenmuang, “From Electocracy to Centralization,” in Thailand: A Late Decentralizing Country. Chiangmai: Chiangmai Urban Development Institute, 2006 pp. 11-34
[7] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เชียงใหม่: เอกนครระดับภาค. เอกสารโครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2537
[8] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, บรรณาธิการ. เชียงใหม่ในกระแสความเปลี่ยนแปลง. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่, 2535; ธเนศวร์ เจริญเมือง, การปกครองเมืองในสังคมไทย: กรณีเชียงใหม่ 7 ศตวรรษ. เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น, คณะสังคมศาสตร์ ม.ช. 2540 หน้า 62-84; และ เทศบาลนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2478-2549). เอกสารวิชาการลำดับที่ 35 กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, มกราคม 2550
[9] ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี สายสัมพันธ์สยาม-ล้านนา, 2442-2542. เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น, คณะสังคมศาสตร์ ม.ช., มกราคม 2542
[10] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เมืองยั่งยืนในเชียงใหม่: แนวคิดและประสบการณ์ของเมืองในหุบเขา. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ธันวาคม 2548
[11] โปรดดู เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ทุนเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Openbooks, กรกฎาคม 2552
[12] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “รัฐไทย – รัฐที่การกระจายอำนาจล่าช้า” ใน รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิราบ, 2548
[13] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เมืองยั่งยืนในเชียงใหม่. อ้างแล้ว บทที่ 7-8
[14] ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ อ้างใน สมุดรายงานสถิติจังหวัด พ.ศ. 2537-2548 เชียงใหม่ และ http://th.wikipedia.org/wiki/  16 October 2009.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net