Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ข่าวคราวเกี่ยวกับพม่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาดูจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ชายอเมริกันว่ายน้ำเข้าไปในบ้านของ ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน อันเป็นเหตุทำให้มีการพิจารณากักบริเวณเธอต่อไปในบ้านพัก หรือข่าวลือเรื่องแผนการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของพม่าที่สัมพันธ์กับการเดินทางของเรือสินค้าจากเกาหลีเหนือที่คาดว่าได้บรรทุกอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะได้ส่งผลให้หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และหลายชาติในยุโรปตะวันตกเกิดความหวาดระแวงและประณามการกระทำของรัฐบาลพม่า
 
อย่างไรก็ดีมีอีกข่าวหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ที่แทบไม่เป็นที่รับรู้ของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศไทยเท่าใดนัก นั่นก็คือ รายงานข่าวจากสำนักข่าว Xinhua ของจีนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 ที่อ้างข้อมูลจาก Weekly Eleven News หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของพม่าที่กล่าวถึงการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 15.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 31 ประเทศใน 424 โครงการ โดยไทยเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุดประมาณ 7.41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.98 ของการลงทุนต่างชาติ
 
สำหรับผู้เขียนตัวเลขการลงทุนในพม่าที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของไทยดูจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เนื่องเพราะหลังจากการเปิดประเทศของพม่าในปี ค.ศ. 1988 ไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดต่อเป็นแนวยาวกับพม่าเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำพม่าชุดใหม่และเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าหลายกิจการ ภายใต้บริบทของนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้า” ส่งผลให้นักธุรกิจไทยมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับผู้นำและนักธุรกิจพม่าและสานสัมพันธ์เรื่อยมา แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์อาจมีปัญหาไปบ้างพร้อมกับการที่ประเทศอื่นเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น แต่การลงทุนของไทยดำเนินมาตั้งแต่ช่วงแรกดูจะทำให้ตัวเลขการลงทุนยังคงครองอันดับหนึ่ง
 
ความสนใจและแปลกใจของผู้เขียนอยู่ที่ตัวเลขการลงทุนของอังกฤษในพม่าที่สูงเป็นอันดับสอง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.86 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของการลงทุนต่างชาติ ผู้เขียนฉงนเป็นอย่างยิ่งว่าอังกฤษในฐานะประเทศแรกๆ ที่ออกมาสนับสนุนนโยบายแซงแทรกทางเศรษฐกิจกับประเทศพม่าภายหลังการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่พรรค NLD ได้คะแนนเสียงสูงสุดของคณะนายทหาร ในปี ค.ศ. 1990 และประณามการกระทำของรัฐบาลพม่าเรื่อยมา แต่การมีตัวเลขการลงทุนในพม่าสูงเป็นอันดับสองดูเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ค่อนข้างยาก
 
รายงานข่าวฉบับนี้ดูจะได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อมวลชนอังกฤษ ซึ่งพยายามหาคำอธิบายจากรัฐบาลเกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนที่ปรากฎ สำนักข่าว BBC ได้ทำการสัมภาษณ์ David Miliband รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งเขาได้ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนที่จะให้คำอธิบายพอสรุปได้ว่า “ในอดีตมีบริษัทขนาดใหญ่ของอังกฤษ อาทิ บริษัท Premier Oil และบริษัท British American Tobacco เข้าลงทุนในประเทศพม่า แต่อย่างไรก็ดีบริษัทได้ถอนตัวออกมาจากพม่าแล้ว” นอกจากนี้ “จำนวนตัวเลขการลงทุนของอังกฤษในพม่าที่สูงเป็นอันดับสองนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการเปิดให้บริษัทต่างชาติสามารถใช้ดินแดนในอารักขาของอังกฤษเป็นฐานทางธุรกิจทำให้การลงทุนสะดวกขึ้น”
 
จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าวและจากข้อเขียนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนของอังกฤษในพม่านั้น มิใช่การดำเนินผ่านบริษัทขนาดเล็กหรือกลาง หากแต่ดำเนินการโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก สำหรับ Premier Oil ถือได้ว่าเป็นบริษัทพลังงานจากต่างชาติรายแรกๆ ที่เข้าไปสำรวจและลงทุนในพม่า บริษัทแห่งนี้ได้รับสัมปทานสำรวจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันบริเวณพื้นที่ M13 และ M14 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ซึ่งต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จากชาติอื่นๆ ดำเนินการสำรวจและพบก๊าซธรรมชาติที่รู้จักในปัจจุบันว่าแหล่ง “เยตากุน” อย่างไรก็ดี Premier Oil ได้อ้างว่าทางบริษัทได้ขายส่วนแบ่งของโครงการทั้งหมดให้กับบริษัทน้ำมันรายอื่นไปแล้ว ในส่วนของ British American Tobacco หรือ BAT ถือได้ว่าเป็นบริษัทยาสูบหรือบุหรี่ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ โลก เป็นเจ้าของบุหรี่ยี่ห้อดังจำนวนมาก การลงทุนในพม่าของ BAT ดำเนินการโดยผ่านบริษัท Rothmans of Pall Mall Myanmar หรือ RPMM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Rothmans (บริษัทในเครือของ BAT) ร้อยละ 60 และรัฐบาลพม่าร้อยละ 40 ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 BAT ก็ได้ประกาศขายสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 60 ใน RPMM ให้กับบริษัท Rothmans Myanmar Holding ที่มีฐานอยู่ในประเทศหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
นอกจากการลงทุนของอังกฤษในพม่าจะแสดงให้เห็นการลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ร่วมทุนกับบริษัทจากชาติอื่นๆ และรัฐบาลพม่าในหลายกิจการแล้ว การใช้หมู่เกาะบริทิช เวอร์จิน (British Virgin Island) ดินแดนอารักขาของอังกฤษ กลางทะเลแคริเบียน เป็นฐานในการจดทะเบียนบริษัทเพื่อลงทุนในพม่าของบริษัทชาติต่างๆ ทั่วโลก ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่สำคัญของนักธุรกิจที่ต้องการหลีกเลี่ยงกระแสกดดันทางสังคมในประเทศของตนและมาตรการแทรกแซงทางเศรษฐกิจต่อพม่าอีกด้วย พวกเขาได้อาศัยเงื่อนไขการจดทะเบียนบริษัทอันสามารถทำได้อย่างง่ายได้ในหมู่เกาะแห่งนี้ในการจัดตั้งบริษัทในการแปลงสัญชาติของเงินในการเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าด้วยวิธีการทางการเงินอันสลับซับซ้อนและแตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ภายใต้สัญชาติ “อังกฤษ” ของบริษัทเหล่านี้ เราแทบไม่สามารถรู้เลยว่าต้นทางของเงินที่แท้จริงนั้นมาจากประเทศหรือบริษัทใด
 
เทคโนโลยีหรือวิธีการทางการเงินและธุรกิจในการเข้าไปลงทุนในพม่านี้ดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อนอีกด้วยว่า พม่าได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แม้พม่าจะปกครองโดยระบบแบบรวมศูนย์โดยเหล่านายทหารและถูกแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากหลายชาติอย่างหนักก็ตาม หากแต่ทรัพยากรธรรมชาติอันมีความสมบูรณ์และโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก รวมถึงการลงทุนอย่างมหาศาลจากจีนและอินเดียดูจะได้สร้างความตระหนักพร้อมกับความสนใจให้กับนักธุรกิจจากทั่วโลกให้หันกลับมามองพม่าอีกครั้งในฐานะดินแดนแห่งโอกาสที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก หลังจากแทบจะถูกละเลยไปนับตั้งแต่ยุคอาณานิคม ในที่นี้รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศที่เป็นผู้นำการแทรกแซงทางเศรษฐกิจและประนามการกระทำของรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่องด้วย ยังผลให้พวกเขาต้องใช้ความสามารถทางการเงินที่มีอยู่พลิกแพลงหาช่องทางลงทุนในพม่า
 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการลงทุนในพม่าจากบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ดูจะน่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่าประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านของพม่าที่มีพรมแดนติดกันเป็นแนวยาวจะยืนอยู่ ณ จุดใดในการแข่งขันเช่นนี้?
 
*หมายเหตุบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "มุมมองบ้านสามย่าน" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net