Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) เผยรายงาน "ทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉาน" หวังเป็นคู่มือท่องเที่ยวทางเลือก เตือนนักท่องเที่ยวให้ตระหนัก ระบุรัฐบาลทหารพม่าละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม พยายามทำลายหอคำเจ้าฟ้า 34 แคว้นแล้วแทนที่ด้วยประวัติศาสตร์พม่า ห้ามใช้ภาษาไทใหญ่ สะกดชื่อเมืองด้วยภาษาพม่าจนความหมายเพี้ยนไม่เป็นมงคล

 

การแถลงข่าวเมื่อ 17 พ.ย.

 

 

ภาพปกหนังสือ “ทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉาน” ภาคภาษาไทย

 

การทำลายพระราชวังเชียงตุง เมืองเชียงตุง รัฐฉาน เมื่อปี พ.ศ. 2534

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เครือข่ายปฏิบัติผู้หญิงไทใหญ่ (Shan Women’s Action Network: SWAN) ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็กและสิทธิสตรีในพื้นที่รัฐฉาน สหภาพพม่า ได้แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ "ทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉาน" (Forbidden Glimpes of Shan State) หนังสือความยาว 40 หน้า เพื่อเป็นคู่มือท่องเที่ยวทางเลือกฉบับย่อ เนื่องจากมีการถกเถียงกันมากว่านักท่องเที่ยวควรเดินทางไปพม่าและใช้จ่ายเงินซึ่งอาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ ทางเครือข่าย SWAN จึงได้จัดทำหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิเสธการให้ความสนับสนุนทุกรูปแบบต่อรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะได้ทราบว่ามีการนำวัฒนธรรมหลักของรัฐบาลทหารและวัฒนธรรมพม่าเพื่อครอบงำวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ของรัฐฉาน

ทั้งนี้คู่มือท่องเที่ยวฉบับนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวเห็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่งของรัฐฉาน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในรัฐฉานมีการสู้รบ รัฐบาลพม่าถือเป็นเขตหวงห้ามสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ก็มีบางจุดซึ่งเปิดให้เข้าเที่ยวชมได้ ซึ่งคู่มือฉบับนี้จะเผยให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังทำลายพระราชวังที่หลงเหลืออยู่ในอดีตทั้ง 34 แคว้นในรัฐฉานอย่างไร รวมทั้งการรื้อทำลายพระราชวังเชียงตุงในปี พ.ศ 2534 และทำเป็นโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ข้อมูลในหนังสือทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉานได้ให้ข้อมูลถึงการทำลายมรดกของเจ้าฟ้าต่างๆ ในรัฐฉาน โดยที่รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อแสดงแสนยานุภาพของอดีตกษัตริย์พม่าแทน เช่น การสร้างเจดีย์ชเวดากองจำลองทั่วรัฐฉาน นอกจากนี้ภาษาพม่ายังกลายเป็นภาษาบังคับที่มีการสอนในโรงเรียนทุกแห่งของรัฐฉาน การสอนภาษาไทใหญ่เป็นเรื่องต้องห้าม ป้ายบอกทางบอกสถานที่ในรัฐฉานเขียนด้วยภาษาพม่า มีการนำภาษาพม่ามาใช้สะกดชื่อเมืองในรัฐฉานซึ่งเดิมเป็นภาษาไทใหญ่ ทำให้สำเนียงเพี้ยน ความหมายของชื่อเมืองเปลี่ยนและกลายเป็นความหมายที่ไม่เป็นมงคล

ขณะที่ในหลายพื้นที่ยังอยู่ใต้การคุกคามของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลทหารพม่าอย่างการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายให้ประเทศจีนและประเทศไทย เช่น พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนกุ๋นหลวงในเขตแม่น้ำสาละวินตอนบน และพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนท่าซาง ในแม่น้ำป๋าง ในพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง เป็นต้น

คู่มือท่องเที่ยวฉบับนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมืองคนสำคัญจากตอนกลางของประเทศพม่าที่ต้องขังอยู่ในทัณฑสถานที่ห่างไกลจากรัฐฉาน นักโทษการเมืองเหล่านี้อยู่ในสภาพที่เลวร้าย ทั้งถูกทรมานระหว่างกักขัง อยู่ในเรือนจำที่มีสภาพไม่ถูกสุขลักษณะ และเมื่อป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับนักโทษการเมืองคนสำคัญที่ถูกจองจำในพื้นที่รัฐฉาน เช่น อดีตผู้นำนักศึกษาพม่ารุ่นปี 1988 อย่าง มินโก่นายซึ่งถูกจองจำที่เชียงตุง โก่โก่จีถูกจองจำที่เมืองสาด จิมมี่ถูกจองจำที่ตองยี และมินเซยา ถูกจองจำที่ล่าเสี้ยว เป็นต้น

ถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้พูดถึงแง่มุมของชาวไทใหญ่ แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐฉานและในส่วนอื่นๆ ของพม่าด้วย ซึ่งหนังสือดังกล่าวนั้นได้มีการผลิตและเผยแพร่ในภาษาไทยไทใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสามารถอ่านหนังสือ “ทิวทัศน์ต้องห้ามในรัฐฉาน” แบบออนไลน์ได้ที่ www.shanwomen.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net