เสียมเรียบ..รำลึก

 

1

เม็ดฝนโปรยปรายยืดเยื้อมาตั้งแต่เมื่อวาน กระทั่งถึงช่วงเช้าก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้บรรยากาศจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา บริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ เวลานี้ดูเทาทึบและเหงาหม่นไปตามอารมณ์ของฟ้าฝน ซึ่งแตกต่างกับในยามปกติที่นี่..จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งสองฝั่งที่เดินทางไปหาสู่กันเป็นประจำด้วยเหตุผลต่างๆ กัน บางคนเข้ามาค้าขาย บางคนเป็นนักเสี่ยงโชคกระเป๋าหนัก บางคนเป็นนักลงทุนผู้มองการณ์ไกล บางคนเข้ามาเยี่ยมญาติ บางคนค้าของเถื่อน หรือบางคนหนีความกันดารอดอยากเข้ามาขายเรือนร่างในเมือง กระทั่ง บางคนเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางแบบภาคพื้นดินเพื่อเข้าไปสู่ยังกัมพูชา ภาพเหล่านี้ล้วนสะท้อนความเคลื่อนไหวซึ่งบรรจุข้อเท็จจริงของชีวิตผู้คนเมืองชายแดนสองฝั่งไว้ครบถ้วน ลมหายใจของที่นี่จึงหมายถึงการค้าและการท่องเที่ยว ได้ยินมาว่าอีกไม่นานจุดผ่านแดนแห่งนี้จะยกเลิกวีซ่า นั่นหมายถึงการผ่านไปมาได้อย่างอิสระและสะดวกสบายของผู้คน จึงนับได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าและการลงทุนของภูมิภาคแถบนี้ทีเดียว อย่าได้แปลกใจเลยหากผู้คนที่นี่จะภาวนาให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศในขณะนี้จบลงอย่างสันติวิธี เพราะอย่างไรเสีย มิตรย่อมดีกว่าศัตรู และท้องที่หิวย่อมสำคัญกว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม ที่มักถูกหยิบใช้จากพวกฉวยโอกาสทางการเมืองเป็นไหนๆ และแน่นอนเมืองชายแดนไม่ว่าที่นี่หรือมุมไหนของโลก..ไม่มีใครต้องการสงคราม!

การเดินทางสู่กัมพูชาครั้งนี้จุดหมายปลายทางอยู่ที่ นครวัด นครธม จังหวัดเสียมเรียบเป้าหมายนอกจากจะไปเยี่ยมชมคาราวะความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมตะวันออกแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การไปดูบ้านดูเมือง ดูความเปลี่ยนแปลงของเสียมเรียบ เมืองที่กำลังโตวันโตคืนในแง่ของการท่องเที่ยว นอกจากผม-คนหนุ่มพเนจรแล้ว การเดินทางครั้งนี้ยังมี ต๋อง-นักพัฒนาเอกชนเครางาม ในเขตงานอีสานใต้ ผู้หลงใหลและศึกษาในภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเอาจริงเอาจัง ป็อบ-ข้าราชการหนุ่มไฟแรง พูดและรู้ประวัติศาสตร์เขมรได้เป็นอย่างดี มีดีกรีจากรั้วจามจุรีการันตี เราสามคนถึงที่สุดแล้วแม้อายุอานามจะห่างกันไม่มาก แต่ก็ต้องยกให้ป็อบเป็นผู้นำในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ด้วยเหตุผลเพราะเคยเดินทางมากัมพูชามาแล้วไม่ต่ำกว่าสองครั้งและแตกฉานภาษาเขมรกว่าใคร แต่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดนั่นก็คือ เค้าเป็นผู้ที่รอบคอบในการใช้จ่ายนั่นเอง แน่นอน-การเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้ย่อมแตกต่างกันกับมาแบบคณะทัวร์อย่างสิ้นเชิง เราจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องของการใช้จ่าย

“ซัวสะเดย” ชายหนุ่มชาวเขมรอ้วนฉุคนนั้น โบกมือกล่าวสวัสดีเป็นภาษาเขมรทันทีที่คณะเราลงจากรถ พร้อมกับเดินเข้ามาทักทาย ต๋องอย่างคุ้นชินและหลังจากนั้นไม่นานไกด์หนุ่มคนเดิมก็จัดแจงเอกสารผ่านแดนและพาเราผ่านขั้นตอนต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว รู้ในภายหลังว่าคนหนุ่มดังกล่าวเคยต้อนรับต๋องและคณะ เมื่อครั้งที่เดินทางไปเยี่ยมดูงานที่จังหวัดอุดรมีชัย โดยพาชาวบ้านพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้อง มาครั้งนี้เราจึงได้รับการต้อนรับอย่างดี

“ว่าแต่เที่ยวนี้พวกพี่จะไปไหนกันครับ อุดรมีชัยหรือเสียมเรียบ” ชายหนุ่มคนเดิมถามด้วยรอยยิ้มสุภาพ

“เสียมเรียบ” ผมตอบถึงจุดหมายปลายทาง ขณะยืนรอแท็กซี่มารับหลังจากที่เราเจรจาต่อรองเรื่องค่าเดินทางจนเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย

กล่าวสำหรับการเดินทางเข้าไปยังกัมพูชา ถึงตอนนี้ทางการกัมพูชาไม่อนุญาตในนำรถจากฝั่งไทยเข้าไป เราจึงจำเป็นต้องใช้บริการรถแท็กซี่ สกุลญี่ปุ่น สภาพค่อนข้างดีคันนั้นกับราคา 1800 บาท ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับระยะทางร่วมสองร้อยกิโลเมตรซึ่งถนนเกือบตลอดทั้งสายยังปูด้วยลูกรังและบางช่วงในตอนนี้ก็แปรสภาพเป็นบ่อโคลน อย่างไรก็ดี การเดินทางแบบนี้ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเห็นสัมผัสวิถีชีวิตสองข้างทาง เพราะเส้นทางดังกล่าวเมื่อกางแผนที่ดูนอกจากจะผ่านหมู่บ้านชนบทมากมายแล้ว ยังผ่านโบราณสถานที่เก่าแก่ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักละเลยอีกด้วย

2

เลยเข้าไปในผืนดินกัมพูชาราวสองกิโลเมตร รถแท็กซี่ก็แวะจอดเติมแก๊ส เพราะต่อจากนี้ไปแทบจะหาปั๊มที่เติมแก๊สไม่ได้เลย ครับ-ไม่ว่าไทยหรือกัมพูชาแก๊สดูเหมือนจะเป็นพลังงานทดแทนที่ประหยัดกว่าน้ำมันหลายเท่า เราออกจากปั๊มไม่นาน เปลวแดดและฝุ่นดินก็มาแทนที่ฝนทันที กระนั้นรถก็เคลื่อนตัวได้ไม่เร็วเท่าไหร่นักด้วยข้อจำกัดของถนนหนทางนั่นเอง ในขณะที่สองข้างทางเราผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่เป็นระยะๆ ตัดสลับด้วยทุ่งนาเขียวขจี และรถต้องจอดเป็นช่วงๆ เพื่อเปิดทางให้ฝูงวัวของชาวบ้านข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งของถนน ไกลออกไป เป็นต้นไม้และภูเขายืนเป็นฉากหลัง นานๆ จึงจะมีรถสวนมาสักคัน แต่สิ่งที่สังเกต เห็นชัดนั้นคงจะเป็นสาขาของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ของท่านสมเด็จ ฮุนเซน มีให้เห็นเกือบทุกหมู่บ้านที่เราผ่าน ทำให้หายสงสัยว่าทำไมท่านจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชายาวนานถึง 24 ปี และมีทีท่าว่าจะยาวนานกว่านี้ นอกจากนั้นก็เป็นบ้านริมถนนที่อาบทาด้วยฝุ่นดินสีแดงจับเขลอะเหมือนสีที่ไม่ได้ตั้งใจทา และสินค้าพื้นเมืองวางขายริมถนนให้เห็นเกือบตลอดทาง เรามาหยุดแวะพักช่วงสั้นๆ ที่ตลาด จังหวัดอุดรมีชัย เดินเที่ยวชมตลาดสดและถ่ายรูปจนเป็นที่พอใจแล้วจึงเดินทางต่อ ระหว่างนั้นความเงียบในรถก็ถูกทำลายลงด้วยเสียงเพลงกันตรึม ซึ่งลุงคนขับแกบอกว่าในเนื้อร้องนั้นรำพึงถึงอารมณ์ของชายหนุ่มที่เฝ้ารอการกลับมาของหญิงคนรักที่เข้าไปทำงานในเมือง แม้จะฟังไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่นัก แต่มันก็มากพอที่จะทำให้คิดถึงความตายของหญิงแรงงานชาวเขมรบางคนเมื่อหลายปีก่อนที่ถูกย่างสด หล่อนถูกขังไว้ชั้นบนในเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย

เรามาแวะอีกครั้งเมื่อรถมาถึงสะพานหินโบราณ ซึ่งมีความยาวกว่าสองร้อยเมตร ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น ซึ่งถ้าไม่สังเกตดูให้ดีๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่านี่คือสะพานหิน คนขับรถเล่าให้ฟังว่าหลังจากที่มีการตัดถนนใหม่ทางเส้นนี้ก็ไม่ค่อยจะมีรถผ่านเท่าใดนัก จึงรกร้างอย่างที่เห็น ในช่วงน้ำลงเราสามารถเห็นภาพแกะสลักข้างล่างสะพานอย่างเด่นชัด เสียดายในช่วงที่เราไปกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากจนน่ากลัว จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความงดงามได้ชัดเจน

หลังจากสามชั่วโมงบนลูกรัง สภาพเส้นทางก็เปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง นั่นย่อมหมายถึงเราใกล้เสียมเรียบเข้าไปทุกขณะแล้ว ไม่เพียงแต่ถนนที่แตกต่างกันจนลิบลับแล้ว บรรยากาศสองข้างทางก็เปลี่ยนไปด้วย เราเห็นร้านรวงและโรงแรมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด รถราเริ่มหนาแน่นขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาชมความงดงามหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ได้รังสรรค์ไว้ อย่าง นครวัด นครธมนั่นเอง เคยมีคนประมาณการไว้ว่าที่นี่ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน จึงไม่แปลกที่อดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส หรือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งเวียดนามจะเข้ามามีบทบาท ลงทุนในกัมพูชาและเสียมเรียบเป็นจำนวนมหาศาล และไทยเองแม้จะเป็นคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของกัมพูชา แต่ด้วยสภาวะความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหารและทัศนคติของผู้คนที่ถูกปลูกฝังด้วยประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมที่สร้างแต่ความเกลียดชังและดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยากาศในการทำการค้าซบเซามาตลอดในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา

“พักโรงแรมไหนครับ” คนขับรถพูดขณะติดไฟแดงใจกลางเมืองเสียมเรียบ

“อังกอร์รีน่า” ต๋องบอกชื่อโรงแรมที่เราจะพัก

มีเหตุผลอยู่สองสามประการที่เราเลือกโรงแรมดังกล่าว ประการแรก ราคา 28 ดอลล่า ต่อคืน ถือไม่โหดเกินไปเมื่อเช็คราคากับที่อื่นๆ ประการต่อมา สถานตั้งของโรงแรมไม่ไกลจากเมืองและนครวัด นครธม มากเกินไปสามารถเดินอ้อยอิ่งทอดอารมณ์ชมเมืองได้ในยามค่ำคืน และประการสุดท้าย ต๋องเคยมาพักที่นี่แล้ว เมื่อครั้งพาชาวบ้านจากสุรินทร์มาดูงาน เค้าประทับใจในอัศยาศัยและการต้อนรับของที่นี่ ด้วยเหตุผลข้างต้นเราจึงตัดสินใจได้ไม่ยากนักสำหรับการเลือก “อังกอร์รีน่า” เป็นที่ซุกหัวนอนตลอดทริป

เสร็จสรรพจากการเก็บสัมภาระเข้าโรงแรม ความมืดและสายฝนก็โรยตัวปกคลุมพร้อมๆกับเสียงทักทายของราตรีในเสียบเรียบ

ร้านนั้นชื่อ red piano วางตัวเองอยู่ตรงสี่แยก pub street เราเลือกนั่งชั้นสองคงไม่มีอะไรไปกว่าการจับชีพจรของย่านนี้และคนย่ำโลกจากต่างแดนในมุมกว้าง อาหารพื้นเมืองรสชาติตะวันตกสองสามอย่างถูกสั่งมาพร้อมกับเบียร์อังกอร์เย็นเชียบ แสงไฟสลัวตัดฉากกับฝนพรำ นกบาดเจ็บตัวนั้นคงหลงทางมันจึงเกาะสายไฟอยู่เนิ่นนาน เยื้องไปอีกมุมถนนมีป้ายรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ ขณะที่หน้าบาร์อีกมุมหนึ่งของถนน วงมโหรีเขมรกำลังขับกล่อมผู้คนผ่านทางด้วยบทเพลงพื้นถิ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันปะทะกับเสียงเพลง HiP HoP ที่ดังกว่าจากร้านข้างๆ กันตลอดเวลา ไกลออกไปเด็กหนุ่มเอเชียคนนั้นหน้าตื่นชี้ให้พ่อดู…โชว์ระบำไฟของชายนิรนาม ข้างๆ ..หญิงชราอุ้มทารกอ้อนวอนขอเศษเงินจากนักท่องเที่ยว ผมละสายตาและเรียกเบียร์อังกอร์เพิ่ม และจมไปกับความเคลื่อนไหวของชีวิตผู้คนอีกเนิ่นนาน จนกระทั่งดึกดื่นจึงถอนตัวกลับจากโรงแรม

ก่อนนอนคืนนั้นผมเปิดทีวีไปเจอช่อง BBC ในภาพข่าวรายงานถึงสถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนเขาพระวิหารและการตรึงกำลังของทั้งสองฝ่าย..ไม่นานต่อจากนั้นผมก็หลับไปโดยไม่รู้ตัวด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการเดินทางที่ยาวไกล

3

ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันคงตายโดยความปราศจากความกังวล หากวันหนึ่งได้ยลนครวัด” ถึงตอนนี้ผมเห็นด้วยว่าประโยคข้างต้นมิได้กล่าวเกินเลยข้อเท็จจริงเท่าไหร่นัก ทันทีที่ยืนเผชิญหน้ากับประสาทหินโบราณ มันตรึงผมไว้ในภวังค์ราวกับจะพาย้อนเวลาไปเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน

แดดระอุในเวลาบ่ายกระจายไอความร้อนไปทั่วบริเวณด้านหน้าปราสาท นครวัด รถราวิ่งกันไขว้จนดูน่าเวียนหัว สามล้อจอดเรียงรายกันแน่นขนัดเพื่อรอนักท่องเที่ยวของตน ร่มไม้แทบไม่เหลือที่ว่างเลย เสียงจอแจของนักท่องเที่ยวมีให้ได้ยินเกือบทุกภาษา ขณะที่เด็กน้อยชาวเขมรกลุ่มหนึ่งวิ่งกรูเข้าหานักท่องเที่ยวต่างแดนอวดสรรพคุณและวิงวอนให้ซื้อสินค้าของตน ภาพเหล่านี้มีให้เห็นจนชินตาเสียแล้ว กล่าวสำหรับ คนพื้นถิ่นกับสถานที่ท่องเที่ยวย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประเพณี และสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มันเสมือนประหนึ่งมรดกล้ำค่าที่บรรพชนทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังดูต่างหน้า คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจไม่น้อย หากข่าวที่ว่าทางการที่นี่กำลังจัดระเบียบร้านรวงชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ปราสาทเสียใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อให้ดูทันสมัย สะอาดหู สะอาดตา แก่นักท่องเที่ยวต่างแดน ถ้าด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้คงไม่เสียหายอะไรนัก แต่ถ้าลึกๆ จริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อเปิดทางให้ทุนต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนแทนชาวบ้านเหล่านี้เหมือนกับบางประเทศที่กำลังทำอยู่ ก็นับว่าเป็นเรื่องเสียใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในช่วงที่ผมและคณะกำลังยืนต่อแถวรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูบัตรเข้าชมนั้น ผมนึกถึงเรื่องราวความเป็นมาของปราสาทนครวัด ที่เคยอ่านเจอในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง บันทึกว่า ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราว พ.ศ. 1650-1693 สันนิษฐานกันว่าใช้เวลานานกว่าสิบปี เพื่อเป็นศาสนกิจในภาษาฮินดูลัทธิ “ไวษณพนิกาย” ซึ่งนับถือพระวิษณุและพระนาราษณ์ เป็นใหญ่ และความที่ปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 อีกด้วย

“ซัวสะเดย” ผมยื่นบัตรให้และกล่าวสวัสดี

“ออกุน” เสียงเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรพูดขอบคุณด้วยยิ้ม

จากนั้นเราก็หลุดเข้ามายังด้านหน้าปราสาทนครวัด มาครั้งนี้เพื่อนร่วมเดินทางอย่าง ต๋องและ ป็อบ นั้นถือว่าเป็นไกด์ได้อย่างสบายๆ เพราะศึกษาและมีความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว กล่าวสำหรับเรื่องราวแกะสลักมหากาพย์ทั้งหลายนั้นรวมกันความยาวทั้ง 4 ด้านแล้ว น่าจะอยู่ประมาณ 600 เมตร ฉะนั้นหากไม่มีพื้นฐานเกี่ยวปราสาทบ้าง ระยะทางดังกล่าวนับว่าค่อนไกลและอาจเดินเพียงเพื่อผ่านๆ โดยไม่ได้ซึบซึมเรื่องราวแต่อย่างใด ตรงข้ามกับหากศึกษาความเป็นมาหรือมีผู้รู้อธิบาย มันจะช่วยให้การเดินชมปราสาทมีความหมายยิ่งขึ้น

ก่อนมุ่งเข้าสู่ตัวปราสาท จะมีสะพานข้ามคูน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดล้อมรอบกำแพงปราสาท

ป็อบ อธิบายว่า การสร้างแบบนี้เป็นไปตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าโลกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรและมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก เช่นนั้นแล้วคูน้ำก็เปรียบเหมือนมหาสมุทรและองค์ปราสาททั้ง 5 ยอดก็คือเขาพระสุเมรุ ส่วนระเบียงคดและซุ้มประตูรอบๆ ก็หมายถึง ภูเขาน้อยใหญ่ที่อยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุนั่นเอง

ระหว่างที่เราเดินเข้าถึงซุ้มประตูชั้นแรก ผมสังเกตเห็นไกด์คนแล้วคนเล่าอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของปราสาท นครวัด ด้วยสำเนียงต่างๆ อย่างชัดเจนคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่ภาษาไทย ซึ่งไม่ผิดกับเรื่องราวที่เคยได้ยินมาว่า แนวโน้มทิศทางการศึกษาของหนุ่ม สาว กัมพูชาจำนวนมากเลือกที่จะเรียนภาษาเพราะนอกจากจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแล้วยังมีรายได้ดีอีกด้วย

กว่าสองชั่วโมง..ที่เราเดินซึบซับเรื่องราวอย่างช้าๆ ผ่านหินก้อนแล้วก้อนเล่าที่แกะสลักขึ้นเป็นเรื่องราวที่ผูกโยงความเชื่อแบบฮินดู เราเห็นสงครามที่ทุ่งคุรุเกษตรอันเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ภารตะ เราเห็นภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่2 ซึ่งในขบวนมีภาพ “เสียมกุก” ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพชาวสยามในอดีตรวมอยู่ด้วย เราเห็นภาพ นรกสวรรค์ และการพิพากษาของพญายม กระทั่งภาพพระนารายณ์บัญชาการกวนเกษียรสมุทร และเหล่านางอัปสรากว่าสองพันองค์ที่รายล้อมอยู่ทุกซอกทุกมุมของปราสาท ด้วยท่าทางร่ายรำอันอ่อนช้อยเสมือนมีชีวิตจริง หินแกะสลักเหล่านี้มันถูกปลุกขึ้นด้วยช่างสมัยโบราณที่มีฝีมือขั้นเทพ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปริศนาและยากที่จะหาคำอธิบายได้สำเร็จรูป

ช่วงลงจากปราสาท หญิงชราดวงตาพร่ามัวที่นั่งซ่อนตัวอยู่หน้าพระพุทธรูปเศียรขาดองค์นั้น ทำให้ผมคิดถึงเนื้อเพลงบางท่อนของคาราวาน

“ขยมเป็นคนเขมร อยู่เป็น ด้วยชีวิตหวาดไหว
เมืองเขมร วอดวาย พ่อตาย แม่ตาย เพื่อนตาย
สงครามคือความหายนะ อารยะธรรมก็แหลกลงไป
ปราสาทหินกลายเป็นฝุ่นทราย ศพรายกระดูกเรียงเนียงเอย”

ใช่ - วงคาราวานพวกเขาเคยได้รับเกียรติสูงสุดขับกล่อมบทเพลงในนครวัดมาแล้วในปี 2533 ถ้าจำไม่ผิด

เย็นมากแล้วผู้คนเริ่มทยอยออกจากปราสาทนครวัด เพื่อไปให้ทันดูพระอาทิตย์ตกยังปราสาทบาแคง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่นัก ความร้อนเริ่มคลายตัวเหลือเพียงลมเย็นปะทะใบหน้า ระหว่างทางกลับหนุ่มโชเฟอร์ชาวเขมรที่พูดไทยได้คนนั้น ตั้งคำถามที่ทำให้เราถึงกับอึ้งว่า

“พวกพี่เสื้อเหลืองหรือเสื้อสีแดงครับ”

“สันติเพียบ สันติเพียบ สันติเพียบ” ใครหนึ่งตะโกนตอบพร้อมรอยยิ้ม ขณะที่รถเคลื่อนจากนครวัดจนลับตา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท