Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา พนักงานบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องนายจ้างเจรจา หลังผู้ชุมนุมถูกเลิกจ้างจำนวน 396 คน โดยคนงานเหล่านี้ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์และให้นายจ้างหยุดละเมิดสิทธิแรงงานและเคารพกฎหมาย เพื่อเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดี
 
 

 
แถลงการณ์พนักงานบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2552
 
เรียน     เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน, ประชาชนและสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน
 
1. บริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ (ระยอง) เลขที่ 7/217 หมู่ที่ 6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เบอร์โทรศัพท์  038-650280  038-650280 นายจ้างเป็นชาวสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด ทำกิจการเกี่ยวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ส่งให้กับลูกค้าในประเทศ เช่น ซีเกท ฮิตาชิ ฟุจิตซึ และบริษัทในเครือสหยูเนี่ยนฯ โดยมีชาวสิงคโปร์เป็นผู้บริหาร มีผู้จัดการฝ่ายบุคคลชื่อ คุณอรพิน มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 780 คน
 
2. สภาพปัญหาของพนักงาน
 
• ลาป่วย 1 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ ถ้าไม่มีก็จะตัดค่าจ้าง
• บังคับพนักงานทำงานล่วงเวลา
• ไม่จัดที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม
• ใช้แรงงานพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ จนแท้ง
• มีการประเมินผลการทำงานที่ไม่เป็นธรรม
• กรณีที่ลากิจที่ไม่ได้รับค่าแรง ต้องมีหลักฐานมายืนยันทุกครั้ง
• กรณีที่ลาป่วยต่อเนื่องจากวันหยุดวันอาทิตย์พนักงานก็โดนเรียกไปตักเตือน
• วันพักร้อนซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับถูกหักทดแทนวันที่บริษัทเช็คสต๊อก
• กำหนดเวลา เข้า-ออก การเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ต้องไม่เกินคนละ10 นาที/ห้ามเกินวันละ 2 ครั้ง
• กรณีการลาพักร้อนทำไมหัวหน้างานต้องมีการกำหนด วันลาให้พนักงานทุกครั้ง
• กรณีการลาพักร้อนทำไมต้องมีเหตุผลและหลักฐานมายืนยันทุกครั้ง
• กรณีที่ไม่สบายแล้วขอออกโอที ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยันทุกครั้ง
• กรณีที่ลืมนำบัตรพนักงานมา แต่มีหัวหน้างานเซ็นต์รับรองว่ามาทำงานจริง แต่ทำไมถึงไม่ได้รับเบี้ยขยัน โดยบริษัทอ้างว่าเป็นความสะเพร่าของพนักงาน
 
จากปัญหาดังกล่าวทำให้พนักงานรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่เราควรจะได้รับ เป็นจำนวนทั้งหมด 471 คนและได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทในนามพนักงาน แต่บริษัทก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจากทางพนักงาน และได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 396 คน สาเหตุที่บริษัทเลิกจ้างอ้างว่าพนักงานดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวทางพนักงานเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทางบริษัท
 
3. จากปัญหาการไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของพนักงาน ของบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด พนักงานของบริษัทฯจึงได้มีการรวมตัวกันชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.พนักงานจำนวน 471 คน ได้ลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องจำนวน 13 ข้อ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้แทนพนักงานทั้ง 471 คนได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทอีกครั้ง พร้อมกับหัวหน้างานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง หลังจากนั้นก็ได้มีการชุมนุมกันที่บริเวณหน้า บริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด การยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนการเจรจา จำนวน 6 คน
 
4. ในระหว่างที่รอการเจรจานายจ้างได้มีการเรียกให้พนักงานทั้ง 471คนเข้าไปปฏิบัติงานและมีการข่มขู่ให้พนักงานกลัว
 
5. ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 14.00 น. ได้มีพนักงานจำนวน 45 คนได้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมได้ขอตรวจงบดุลของ บริษัทฯ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการคลังจังหวัดระยอง ทำให้ทราบว่า บริษัทมีผลประกอบการที่ดี มีผลกำไรจำนวนมาก ไม่ได้ขาดทุนตามที่กล่าวอ้างต่อพนักงานแต่อย่างใด
 
6. ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17.00 น. บริษัทฯได้มีเอกสารเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นรายชื่อของพนักงาน ที่เข้าร่วมชุมนุมทั้งหมด มาติดไว้ บริเวณประตูรั้วหน้าบริษัท จำนวน 396 คน ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีรายชื่อของ พนักงานที่ตั้งครรภ์จำนวน 5 คน
 
7. ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 หลังจากที่นายจ้าง ปิดประตูโรงงานแล้ว ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและพนักงาน จำนวน 12 คน ได้มีการเตรียมตัวและประชุมหารือกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยมีการกรอกเอกสารประวัติก่อการสหภาพแรงงานเพื่อยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดระยอง แต่ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 นายจ้างก็ยังคงยืนยันที่จะไม่ให้พนักงานที่รวมชุมนุมเข้าทำงาน และท้ายที่สุดในวันที 21 พฤศจิกายน 2552 ผู้ก่อการสหภาพแรงงาน ได้ถูกเลิกจ้างทั้งหมด
 
9. ผลประกอบการของบริษัทฯ
 
 
 
จากปัญหาต่างๆ การเลิกจ้างพนักงานบริษัทฯ ที่กล่าวมาข้างต้นโดยมีผลการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างสามารถกระทำได้ ตามความในมาตรา 77 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม การที่บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นการเลิกจ้างดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 20,121,122, แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และยังเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550
 
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมของลูกจ้างทั้งหมด และเพื่อประโยชน์แก่องค์กรของลูกจ้างที่ต้องการจัดตั้งมาเพื่อประโยชน์ของพนักงานบริษัทฯ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน จึงขอเรียกร้องให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายดังต่อไปนี้
 
1. ให้บริษัทฯ รับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวทั้งหมดเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างและสวัสดิการที่ได้รับขณะเลิกจ้าง โดยให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการและให้ บริษัท ฯ ชดใช้ค่าจ้างทั้งหมดในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง โดยคิดจากฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ได้รับขณะเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าบาทต่อปี จนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน
 
2. ห้ามมิให้บริษัทฯ ขัดขวางการดำเนินงานและการรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงาน
 
3. ห้ามมิให้บริษัทฯ ขัดขวางการดำเนินการโดยการกลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่ร่วมลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของพนักงานบริษัทฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป
 
4. ให้บริษัทฯ จัดให้มีการเจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้างระหว่างผู้แทนของพนักงานบริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว
 
ดังนั้น ผู้แทนของพนักงาน บริษัท โดนัลด์สัน (ประเทศไทย) จำกัด จึงขอร้องเรียนมายังทุกองค์กรให้ทราบถึงการละเมิดสิทธิแรงงานและให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนตลอดไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net