สมชัย ภัทรธนานันท์: จากการเมืองของคนเสื้อแดงถึงสังคมอีสานยุคหลังชาวนา

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดเทศกาล มองและอ่านสัปดาห์หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยเมื่อ 12 พ.ย. มีการจัดเวทีเสวนา “ความรู้และความไม่รู้และการเมืองของคนเสื้อแดง” โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายอุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญาญาโท สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชัยธวัช ตุลาฑล กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
 
 
สมชัย ภัทรธนานันท์ 
“ชาวบ้านที่เคยกลัวข้าราชการ สามารถที่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน การกระทำที่เอาเปรียบของ “เจ้านาย” ชาวบ้านสามารถที่จะขัดขืนต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ”
 
สมชัย ภัทรธนานันท์ กล่าวว่า จากการลงไปศึกษา กลุ่มชาวบ้านที่มีความคิดเอนเอียงในอารมณ์ร่วมกับมวลชนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวนาอีสาน พบว่า ชาวบ้านมีทัศนะทางการเมืองที่เป็นของตนเองและมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้พวกเขารับรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างดี ดังนั้น การแสดงออกทางการเมืองของพวกเขาจึงไม่ใช่การถูกหลอกเพราะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้ามมันเป็นการแสดงออกหลังจากได้วิเคราะห์ไตร่ตรองแล้ว สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นทางการเมืองของชาวบ้านที่สนับสนุนคนเสื้อแดงคือการคัดค้านระบอบเผด็จการ พวกเขามองว่าการเมืองหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการแทรกแซงทางการเมืองของพวก ‘อำมาตย์’ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะว่าไปแล้วการถกเถียงทางการเมืองของชาวบ้านในหลายๆประเด็นมีความแหลมคมมาก การที่คนรากหญ้าเป็นจำนวนมากเข้าร่วมวงถกเถียงทางการเมืองในประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย
 
สมชัย เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีรากเหง้ามาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในชนบทไทย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไทยโดยเฉพาะในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้สังคมชนบทก้าวพ้นจากการเป็นสังคมชาวนาแบบดั้งเดิมที่สมาชิกของชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยมีหมู่บ้านเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างมาสู่การเป็นสังคมหลังชาวนาที่มีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมหลังชาวนาดังกล่าวทำให้คนชนบทมีวิถีชีวิตคล้ายคนเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสินค้า ความบันเทิง ตลอดจนข่าวสารที่เข้าถึงหมู่บ้านโดยผ่านสื่อต่างๆรวมทั้งทางอินเทอร์เน็ตด้วย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ทำให้คนชนบทสามารถติดตามความเป็นไปของบ้านเมืองได้ใกล้เคียงกับคนเมือง ยังผลให้คนในชนบทส่วนหนึ่งเชื่อมั่นว่าทุกวันนี้พวกเขา‘รู้ทัน’ คนกรุงเทพแล้ว พวกเขากล้าที่จะโต้แย้งความเห็นของนักวิชาการหรือสื่อมวลชนและแสดงทัศนะทางการเมืองของตนอย่างเปิดเผย
 
การใกล้ชิดกับเมืองยังทำให้ชาวชนบทเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่าความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับแฟชั่น การบันเทิง การใช้มือถือ การดื่มกาแฟ การขับรถกระบะรุ่นใหม่ฯลฯ ที่คนชนบทต้องปรับตัวตามไม่ให้‘ตกรุ่น’ล้าสมัย ด้วยเหตุนี้คนในสังคมหลังชาวนาจึงเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงและได้ละทิ้งสิ่งเก่าแล้วหันมารับสิ่งใหม่ที่เห็นว่าดีกว่าอยู่เนืองๆ พวกเขาจึงมีความเป็นพวกอนุรักษ์นิยมน้อยกว่าชาวนาในอดีต ในทางการเมืองพวกเขาพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าและก็ไม่ลังเลที่จะปฏิเสธสถาบันทางการเมืองดั้งเดิมที่พวกเขาคิดว่าขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าของพวกเขา
 
ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสังคมหลังชาวนาคือการประกอบอาชีพที่หลากหลายในหมู่ประชากรของชนบท ถึงแม้ว่าเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพสำคัญแต่แหล่งรายได้ของพวกเขามาจากนอกภาคเกษตรและนอกชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งทำงานของพวกเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในหัวเมืองต่างจังหวัด และกรุงเทพ บางครั้งก็รวมถึงต่างประเทศด้วย นอกจากการเป็นกรรมกรในโรงงาน ลูกจ้างตามบริษัทห้างร้านทั้งของคนไทยและต่างชาติแล้ว พวกเขายังประกอบอาชีพหาบเร่ แผงลอย และผู้ประกอบการรายย่อยประเภทอื่นๆ การที่ผู้คนเดินทางออกไปทำงานนอกหมู่บ้านทำให้พวกเขามีความเป็นอิสระมากขึ้น ถูกผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์และธรรมเนียมประเพณีของชุมชนนัอยลง ทำให้เกิดความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ความเป็นปัจเจกชนนี้นอกจากแสดงออกทางด้านชีวิตส่วนตัวแล้วยังแสดงออกทางการเมืองด้วย การจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าการควบคุมคนในชุมชนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น
 
ลักษณะที่สำคัญประการสุดท้ายของสังคมหลังชาวนาของไทยที่อยากจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับชาวบ้านและระหว่างคนภายในชุมชนด้วยกันเอง พร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงทางทางสังคมและเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ส่งผลต่อสังคมชนบทอย่างลึกซึ้ง ภายหลังการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างรัฐกับขบวนการฝ่ายซ้ายอันนำไปสู่การประกาศใช้นโยบาย 66/23 การจับกุม เข่นฆ่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐในชนบทได้ค่อยๆลดลง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เสรีภาพทางการเมืองภายใต้ระบอบรัฐสภาทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ สภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าวด้านหนึ่งทำให้ชาวชนบทหวาดกลัวอำนาจรัฐน้อยลง ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้การผูกขาดอำนาจในชุมชนทำได้ยากขึ้น เพราะการแข่งขันเลือกตั้งทำให้คนในชุมชนแยกตัวเป็นหลายกลุ่ม ทำให้การกุมอำนาจโดยผู้นำชุมชนคนเดียวแบบเดิมอ่อนแอลง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กล่าวมานี้ทำให้ชาวบ้านกล้าที่จะแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น และที่สำคัญไม่แพ้กันคือประสบการณ์ 30 ปีภายใต้ระบอบรัฐสภาทำให้ชาวบ้านเข้าใจในหลักการความเท่าเทียมกันทางการเมือง พวกเขายืนยันว่าไม่ว่าคนกรุงหรือบ้านนอก ไม่ว่าปัญญาชนหรือชาวบ้านก็มีสิทธิเท่ากัน คนบ้านนอกก็มีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางของตนเองได้
 
ลักษณะสำคัญของสังคมหลังชาวนาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือปัจจัยทางภววิสัยที่เอื้อให้เกิดขบวนการคนเสื้อแดงในชนบท หากสังคมชนบทยังเป็นสังคมชาวนาแบบดั้งเดิมการเคลื่อนไหวในประเด็นที่แหลมคม อย่างเช่นการคัดค้านการรัฐประหาร คัดค้านอำมาตยาธิปไตย การวิจารณ์องคมนตรี ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะได้รับการตอบรับจากชาวบ้านอย่างแข็งขันเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมหลังชาวนาได้ปลดปล่อยชาวชนบทจากการจองจำทางความคิด ความเคยชินเก่าๆ แบบอนุรักษ์นิยม และทำให้พวกเขากลายเป็นพลังทางการเมืองที่ไม่อาจมองข้ามได้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท