Skip to main content
sharethis

กลุ่มชาวบ้านปกากะเญอจากริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เข้ายื่นหนังสือประธานกรรมการสิทธิฯ ติดตามผลการดำเนินงานรัฐบาล หลังกรรมการสิทธิฯ มีข้อเสนอระงับโครงการเขื่อนฮัตจี พร้อมให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิฯ โครงการเขื่อนอื่นๆ บนลำน้ำสาละวิน

 

วานนี้ (24 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.กลุ่มชาวบ้านปกากะเญอ จากริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ตัวแทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน และตัวแทนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ราว 15 คน ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อเข้ายื่นหนังสือติดตามผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 526/2550 เรื่องกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ให้แก่ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และชาวบ้านได้ร่วมชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลหากมีการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีบนลำน้ำสาละวิน

ในส่วนเนื้อหาโดยสรุปของหนังสือคำร้องระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินและมีมติให้รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการสร้างเขื่อนฮัตจี เมื่อวันที่ 9 ก.ย.50 ซึ่งต่อมาประธาน กสม.ได้เสนอผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2552 โดยรัฐบาลต้องดำเนินการภายใน 90 วัน ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินงานของรัฐบาลถือว่าได้ล่วงเลยมานานแล้ว ทาง กป.อพช.เหนือและเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน จึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอทราบความคืบหน้าของกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้หนังสือยังขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน อาทิ โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (เว่ยจี) โครงการเขื่อนสาละวินตอนล่าง (ดากวิน) และโครงการเขื่อนสาละวินท่าซาง ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือว่า ทาง กฟผ.มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

นางอมรา พงศาพิชญ์ กล่าวภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านว่า เบื้องต้นคณะกรรมการสิทธิฯ จะช่วยดูแลและตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และหวังว่าการตัดสินใจของรัฐบาลหลังจากนี้จะช่วยให้ชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำสาละวินมีความสบายมากขึ้น

ด้านนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีเขื่อนฮัตจีว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเมื่อปี 49 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้มีข้อเสนอแนะในปี 50 คือ เห็นว่าโครงการเขื่อนฮัตจีมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้รัฐบาลระงับโครงการนี้ไป ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้ให้เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการติดตามผลการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลเรื่องเขื่อนฮัตจี

ส่วนท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อกรณีเขื่อนฮัตจี นายวีรวิทย์กล่าวว่า ผู้ที่จะสร้าง ผู้ที่จะดำเนินโครงการจะต้องเป็นผู้ที่ทำการจัดหาข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส และชัดเจน ทั้งในเรื่องผลกระทบในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าในเขตประเทศไทย หรือประเทศพม่า เพราะโครงการดังกล่าวส่งผลต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และหากพบว่ามีปัญหาก็ต้องหามาตราการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น มีมาตราการรับมือไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน หรือการกระทำอันกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นภาระที่หนักขึ้นของผู้จัดทำโครงการที่จะต้องหาข้อมูลมาให้กับประชาชน ไม่ใช่ว่าสร้างไปก่อนแล้วให้ประชาชนมาร้องเรียน ขอรับการเยียวยา หรือการชดเชยค่าเสียหายในภายหลัง

“ตามข้อมูลที่เราได้ เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดสิทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องยกเลิก แต่ถ้าเผื่อผู้ดำเนินโครงการคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถหาข้อมูลใหม่มาหักล้างข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิ์ โดยเฉพาะข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการละเมิดในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอีกครั้งในเวลานั้น แต่เวลานี้ท่าทีเรายังเหมือนเดิม ข้อมูลมีแค่นี้ก็ระงับไปก่อนแล้วกัน” รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเป็นเป้าหมายการรณรงค์ของกลุ่มภาคประชาสังคมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2549 ทั้งมีการชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าในหลายประเทศ โดยมีคนหลายพันคนลงนามในหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีของไทยมาโดยตลอด และตั้งแต่เดือน เม.ย.52 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้ กฟผ.ระงับการก่อสร้างงเขื่อนฮัตจีด้วยเหตุผลว่า “การสร้างเขื่อนฮัตจีเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวกะเหรี่ยงในพม่า และประเทศไทยต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ”

ในส่วนเขื่อนฮัตจี มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,360 เมกะวัตต์ ถูกเสนอสร้างบนแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยงประเทศพม่า ห่างชายแดนไทย 47 กิโลเมตร โดยบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือ กฟผ.ร่วมทุนกับบริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยักษ์ใหญ่ของจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้าสหภาพพม่า ทั้งนี้เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net