Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชน 4 แห่ง ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีห่วงใยการใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 4 อำเภอของสงขลา ระบุไม่เหมาะสม ขัดรัฐธรรมนูญ เสนอ 4 แนวทางเพื่อคุ้มครองสิทธิหากผู้ต้องหาสามจังหวัดจะเข้ามอบตัวเพื่อรับการอบรมในพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง

 

หมายเหตุ: วานนี้ (25 พ.ย.) ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน 4 แห่ง ประกอบด้วย นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, นายสิทธิพงษ์ จันทร์วิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม, นายวสันต์ พานิช ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, นายเมธา มาศขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีห่วงใยการใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 4 อำเภอของสงขลา รวมทั้งเสนอ 4 แนวทางเพื่อคุ้มครองสิทธิหากผู้ต้องหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเข้ามอบตัวเพื่อรับการอบรมในพื้นที่ โดยรายละเอียดของจดหมายมีดังนี้

000

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เลขที่ 111 ซอยสิทธิชน เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552   เรื่อง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กราบเรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จักได้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่พิจารณาสำนวนการสอบสวน เพื่อส่งผู้ต้องหาเข้ารับการอบรม ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 21 นั้น ข้าพเจ้าในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้รู้สึกห่วงใยถึงระเบียบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมาใช้บังคับ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและรักษาความมั่นคง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นของตน และระเบียบดังกล่าวจักออกมาใช้บังคับ ในวันที่ 30 พฤศจิกายนศกนี้ แต่ระเบียบดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนในพื้นที่ที่ระเบียบนั้นใช้บังคับ แต่รัฐบาลมิได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเบื้องต้น

นอกจากนี้ การออกระเบียบมาใช้บังคับเฉพาะพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อยและอำเภอเทพาเป็นพื้นที่นำร่องนั้นอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทยได้บัญญัติให้บุคคลเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน แต่ในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าวกลับมิได้รับการบังคับใช้เฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเหมือนพื้นที่อื่นเท่านั้น

แต่ประการใดก็ตามจากการปฏิบัติที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่รัฐอาจสรุปได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้ต้องหาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการออกระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินั้นตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนี้

 

ข้อ 1. คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่พิจารณาสำนวนการสอบสวน เพื่อส่งผู้ต้องหาเข้ารับการอบรม ควรประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่าย ฝ่ายที่หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายที่สองเป็นบุคคลที่ผู้ได้รับผลกระทบไว้วางใจ ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น

ข้อ 2.คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตาม ข้อ 1. ต้องได้รับสำนวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่โดยครบถ้วน และคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานดังกล่าวต้องถือว่าสำนวนดังกล่าวเป็นความลับ หากนำไปเปิดเผยสมควรกำหนดให้มีบทลงโทษ เพื่อให้ความเห็นของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม

ข้อ 3. สถานที่ใช้ฝึกอบรมควรเป็นสถานที่ของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการฝึกอบรบ โดยตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกับภูมิลำเนาของผู้ต้องหา เพื่อญาติของผู้ต้องหาสามารถเยี่ยมเยียนได้สะดวก และไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ข้อ 4.หลังจากมีการใช้บังคับระเบียบดังกล่าวในระยะเวลาหนึ่ง สมควรให้มีการประเมินถึงผลที่ได้รับว่าเป็นประการใด โดยตั้งเป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานต่างหากอีกชุดหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนเช่นเดียวกับข้อ 1. พร้อมทั้งเปิดเผยผลการประเมินดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ

 

ด้วยข้อเสนอมาดังกล่าวแล้วข้างต้น หวังว่า ฯพณฯ คงรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(นายสมชาย หอมลออ) ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

(นายสิทธิพงษ์ จันทร์วิโรจน์) เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม

(นายวสันต์ พานิช) ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม และการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

(นายเมธา มาศขาว) เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net