Skip to main content
sharethis

ขบวนการแรงงานโลกรณรงค์หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง ด้าน UN ผลักดันโครงการชายหยุดทำร้ายหญิง พบการคุกคามทางเพศในที่ทำงานกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของประเด็นกดขี่ทางเพศ จากข้อมูลของ ILO ผู้หญิงในยุโรป 40-50 % แจ้งว่าถูกคุกคามทางเพศในบางลักษณะในที่ทำงาน

ขบวนการแรงงานโลกรณรงค์หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวัน “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” หลายองค์กรมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ กันออกไปโดยเฉพาะขบวนการแรงงานที่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างแข็งขัน
ที่บรัสเซล, สหพันธ์แรงงานนานาชาติ (International Trade Union Confederation: ITUC) และองค์กรเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” และเพื่อระดมกำลังต่อต้านความรุนแรงแก่เด็กและสตรีทั่วโลก
“ความรุนแรงต่อผู้หญิงในที่ทำงานถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม สหภาพแรงงานจะต้องทำการรณรงค์เพื่อยุติสิ่งนี้ทั้งในที่ทำงานและในชุมชน” กาย รีดเดอร์ เลขาธิการของ ITUC กล่าว
ประมาณการกันว่าหนึ่งในสามของผู้หญิงทั้งหมดเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง บางส่วนถูกความรุนแรงจากการข่มขืน หรือถูกพยายามข่มขืน ผู้หญิงอายุ 15-44 ปี มีความเสี่ยงมากที่จะเสียชีวิตและพิการ จากความรุนแรงในครอบครัว โรคมะเร็ง, อุบัติเหตุทางถนน, สงคราม และโรคมาลาเรีย โดยในแต่ละปีมีเด็กหญิง อายุระหว่าง 5-15 ปี ถูกกดขี่ทางเพศ ประมาณ 2 ล้านคน
นอกจากนี้ผู้หญิงในภาคเศรษฐกิจต่างๆ มีประสบการณ์ความรุนแรงในชีวิตการทำงานของพวกเธอ จากการทำงานในโรงงาน ภาคการผลิต, ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการพยาบาล ในขณะที่การล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงในทุกส่วนของโลก
ส่วนที่สิงคโปร์ นักสหภาพแรงงานหญิงจากบังกลาเทศ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, มองโกเลีย, ศรีลังกา, ไทย และสิงคโปร์ ได้ร่วมกันประชุมและรณรงค์ประเด็นการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ภายใต้การสนับสนุนของ ITF (สหพันธ์แรงงานภาคการขนส่งนานาชาติ) และมูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung เมื่อวันที่ 23 – 24 พ.ย. ที่ผ่านมา
อลิสัน แม็คแกรี่ จาก ITF กล่าวว่า นี่เป็นอีกครั้งที่สมาชิกของ ITF ทั้งหญิงและชาย ทั่วโลกจะจัดกิจกรรม เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำรุนแรงต่อรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นสิ่งที่สังคมไม่สามารถยอมรับได้ และสหภาพแรงงาน จะต้องมีการพัฒนาแผนการ และการปฏิบัติการเพื่อต่อต้านความรุนแรงในที่ทำงาน และทำให้นายจ้าง จัดสภาพแวดล้อมในการ ทำงานที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิง
UN ผลักดันโครงการชายหยุดทำร้ายหญิง
ด้านนายบัน กี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ที่สำนักงานสหประชาชาติในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกาศการจัดตั้ง "เครือข่ายผู้นำชาย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้ชายทั่วโลกยุติการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
นายบัน กี มูน กล่าวว่า ในเบื้องต้นเครือข่ายดังกล่าวมีผู้ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกแล้ว 13 คน เช่น นายโฮเซ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน นายฟรังโก ฟรัตตินี รมว.ต่างประเทศอิตาลี อาร์กบิชอปเดสมอนด์ ตูตูแห่งแอฟริกาใต้ รวมถึงนายเปาโล โคเอลโญ นักเขียนชื่อดังชาวบราซิล ฯลฯ ทุกรายได้รับเลือกเพราะปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้ ตนคาดว่าเครือข่ายดังกล่าวจะขยายตัวกลางขึ้นในอนาคตแน่นอนซึ่งสำหรับสมาชิก 13 รายนี้ ทางสหประชาชาติมีแผนจะมอบเงินรางวัลให้คิดเป็นมูลค่ารวม 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เลขาธิการสหประชาชาติยังกล่าวว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงแก่สตรียังคงมีอยู่มาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจและยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งที่ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าสตรีทั่วโลกถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ยังคงตกเป็นเหยื่อถูกสามี แฟน หรือคนใกล้ชิด กระทำทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศ และปัญหานี้จะไม่หายไปหากผู้ชายทุกคนยังขาดความสำนึก
การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
จากข้อมูลของ ILO พบว่าในช่วงทศวรรษที่แล้วการแพร่ขยายและผลเสียของการคุกคามทางเพศซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศรูปแบบหนึ่งนั้นได้กลายเป็นปัญหาที่กำลังลุกลามในระดับชาติและนานาชาติ ILO นิยามการคุกคามทางเพศว่าเป็นพฤติกรรมทางเพศอย่างหนึ่งซึ่งน่ารังเกียจและเป็นการละเมิดต่อผู้ถูกกระทำ โดยการคุกคามทางเพศต้องมีลักษณะสองประการนี้
 
1) การแลกประโยชน์กัน กล่าวคือมีการให้ผลประโยชน์เรื่องงาน เช่น การขึ้นค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่งขึ้น หรือแม้แต่การจ้างงานต่อไป ถ้าเหยื่อยอมมีพฤติกรรมทางเพศบางอย่างตามที่ต้องการ
 
2) การสร้างสภาพการทำงานที่ไม่เป็นมิตรซึ่งทำให้เกิดเหตุที่คุกคามเหยื่อหรือทำให้เหยื่ออับอาย
 
โดยพฤติกรรมที่ถือเป็นการคุกคามทางเพศคือ
 
ทางกาย ใช้ความรุนแรงทางกาย สัมผัส เข้าใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น
ทางวาจา ออกความเห็นหรือถามคำถามเกี่ยวกับรูปโฉม วิถีชีวิต รสนิยมทางเพศ การละเมิด
ด้วยการติดต่อทางโทรศัพท์
การไม่ใช้วาจา ผิวปาก แสดงท่าทางที่สื่อความหมายทางเพศ แสดงวัตถุทางเพศ
 
• ผลการสำรวจซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในฮ่องกงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ทำให้ทราบว่าผู้ทำงานที่ถูกสัมภาษณ์เกือบร้อยละ 25 เคยถูกคุกคามทางเพศและบุคคลเหล่านี้หนึ่งในสามเป็นผู้ชาย ลูกจ้างที่เป็น ผู้ชายรายงานความคับข้องใจของตนเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้น (ขณะที่ผู้หญิงรายงานร้อยละ 20) เนื่องจากพวกเขาไม่อยากถูกหัวเราะเยาะ
 
• รายงานปี 2547 ที่อิตาลีระบุว่า ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 14 ถึง 59 ปีร้อยละ 55.4 ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ ลูกจ้างผู้หญิงหนึ่งในสามต้องยอมถูกคุกคามทางเพศเพื่อแลกกับความก้าวหน้าทางอาชีพ ร้อยละ 65 ถูกผู้คุกคามคนเดิมซึ่งมักเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายข่มขู่ให้ทำตามที่ต้องการทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศร้อยละ 55.6 ต้องลาออกจากงาน
 
• ในสหภาพยุโรปผู้หญิงร้อยละ 40-50 แจ้งว่าถูกคุกคามทางเพศในบางลักษณะในที่ทำงาน
 
• ในการสำรวจของคณะกรรมการโอกาสที่เท่าเทียมกันแห่งออสเตรเลียเมื่อปี 2547 นั้น ร้อยละ 18 ของผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 64 ปีกล่าวว่าเคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ในบรรดาผู้ถูกคุกคามทางเพศร้อยละ 62 ถูกคุกคามทางกาย และผู้ที่คิดจะร้องเรียนเรื่องการถูกคุกคามมีไม่ถึงร้อยละ 37
 
• ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มักถูกคุกคามทางเพศมากที่สุดคือหญิงสาวที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นเรื่องการเงิน อาจเป็นโสดหรือหย่าแล้ว และมีสถานะเป็นผู้ย้ายถิ่น ผู้ชายที่มักถูกคุกคามมากที่สุดคือชายหนุ่มที่เป็นพวกรักร่วมเพศ และเป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์
 
• การคุกคามทางเพศระหว่างบุคคลเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานแต่กำลังเกิดมากขึ้น
 
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลโครงการวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี ปี 2547 พบว่ากรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่พบมากที่สุดคือ การคุกคามแบบแลกกับผลประโยชน์ 36 กรณี โดยเป็นการข่มขืนและทำร้ายทางเพศ 13 กรณี การคุกคามทางกาย เช่น จับหน้าอก จับก้น จับขา หอมแก้ม จูบปาก 19 กรณี การคุกคามทางวาจา 1 กรณี และการคุกคามอื่นๆ เช่น ถ่ายรูปหน้าอก การใช้เงื่อนไขว่าจะไม่ต่อวีซ่าให้เป็นเครื่องต่อรอง 3 กรณี และการคุกคามอีกแบบคือ การสร้างสภาพการทำงานที่เป็นปฏิปักษ์หรือไม่เป็นมิตร 19 กรณี โดยเป็นการข่มขืนและทำร้ายทางเพศ 6 กรณี คุกคามทางกาย เช่น แอบดูในห้องน้ำ ใช้นิ้วกระแทกก้น 10 กรณี การคุกคามทางวาจา เช่น พูดลวนลาม ชวนมีเพศสัมพันธ์ 3 กรณี ซึ่งมีทั้งในหน่วยงานราชการระดับ ผอ.ไปจนถึงอธิบดี หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคแรงงาน
การพิจารณาคดีการคุกคามทางเพศ
 
ทั้งนี้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ทราบว่า การแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่ได้ผลนั้นต้องใช้กรอบกฎหมายหลายอย่างตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดขึ้น สถาบันต่างๆ ต้องได้รับเงินสนับสนุนอย่างพอเพียง และต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้มากขึ้น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของพัฒนาการต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศรัฐบาลในหลายประเทศได้ใช้ข้อกฎหมายอย่างเหมาะสมเพื่อพยายามแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานดังนี้
 
กฎหมายอาญา อินเดีย แทนซาเนีย
ประมวลกฎหมายแรงงาน ไทย ชิลี
กฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ บราซิล เบลีซ ฟิลิปปินส์ อิสราเอล
กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันและการเลือกปฏิบัติทางเพศ ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้
การออกกฎหมายสิทธิมนุษยชนของประเทศ แคนาดา ฟิจิ นิวซีแลนด์
กฎหมายเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัย เนเธอร์แลนด์
 
 
• ในปี 2549 คณะกรรมการโอกาสการทำงานที่เท่าเทียมกันหรือ Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) ของสหรัฐอเมริกาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 12,025 เรื่อง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในเวลาเพียง 5 ปี และร้อยละ 15.4 เป็นเรื่องร้องเรียนของผู้ชาย EEOC ตัดสินคดีแล้ว 11,936 คดี และเรียกค่าชดเชยจำนวน 48.8 ล้านเหรียญจากบริษัทของ ผู้ร้องเรียน เงินจำนวนนี้ยังไม่รวมผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากการดำเนินคดี
 
• กองทัพบกสหรัฐทำการศึกษาเมื่อปี 2542 และพบว่าคดีการคุกคามทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ (ทั้งชายและหญิง) ของกองทัพบกทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเงิน 250 ล้านเหรียญ การศึกษานี้รวมความเสียหายที่เกิดจากการเสียความสามารถในการผลิต การขาดงาน การแบ่งแยก การหาเจ้าหน้าที่แทนและอื่นๆ ด้วย
 
• ในปี 2547 หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในประเทศแอฟริกาใต้ชนะคดีการคุกคามทางเพศที่สำคัญคดีหนึ่ง ถือเป็นครั้งแรกที่นายจ้างต้องรับผิดจากการคุกคามทางเพศอันเนื่องด้วยการดำเนินคดีโดยลูกจ้างคนหนึ่งของเขา บริษัทได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายซึ่งถูกคุกคามทางเพศและถูกปลดจากงานอย่างไม่เป็นธรรม
 
• ในอินเดียคดีความสำคัญระหว่างวิสาขะกับรัฐราชสถานทำให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำนิยามตามกฎหมายของการคุกคามทางเพศ แต่ก่อนการคุกคามทางเพศถือเป็นการ “เย้าแหย่” ศาลนิยามการคุกคามทางเพศเสียใหม่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสตรี นอกจากนี้ศาลยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันและการแก้ปัญหาด้วย
 
ที่มา:
Stop Violence Against Women Day: Governments to Take Decisive Action to End Violence Against Women (ituc-csi.org, 25-11-2009)
Railway workers join global campaign to end violence against women (itfglobal.org, 25-11-2009)
UN เปิดโครงการชายไม่ทำร้ายสตรี (เว็บไซต์ไทยรัฐ, 26 พ.ย. 2552)
เตือนหญิงระวังภัยในที่ทำงาน(เว็บไซต์ข่าวสด, 30 พ.ย. 2547)
http://www.sexualharassmentsupport.org/SHworkplace.html
http://www.ilo.org/public/english/region/asro/bangkok/download/background/decla/fact_th_harass.pdf
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net