รายงาน: 10ปี การต่อสู้เพื่อยาต้านไวรัส 'ดีดีไอ' สู่ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


HIV-2 Virus. Reference: http://www.csend.hu/magazin/0102/hiv2.jpg

1 ธันวาคม วันเอดส์โลก เป็นวาระที่เอาไว้คอยย้ำเตือนความรุนแรงของปัญหานี้ที่ยังคุกคามทุกประเทศ สำหรับประเทศไทย เฉพาะปี 2552 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 11,753 ราย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 32 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชายและแม่บ้านที่ไม่สวมถุงยางอนามัยเนื่องจากไว้ใจคู่ครองของตนเอง

ไม่เฉพาะปัญหาการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว พวกเขายังคงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป และพยายามยืดชีวิตให้ยาวนานอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัจจัยชี้ขาดก็คือ ยาต้านไวรัส พวกเขาจะต้องเริ่มใช้เมื่อภูมิต้านทานในร่างกายลดลงถึงจุดหนึ่ง และต้องใช้ต่อเนื่องไปตลอดนับแต่นั้น

ปัจจุบันบ้านเรามีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อแล้ว ตั้งแต่ตุลาคม 2549 แต่กว่าจะถึงจุดนี้ ต้องผ่านการต่อสู้กับบรรษัทข้ามชาติและรัฐไทยอย่างหนักหน่วงยาวนาน

และว่าก็ว่า ผู้ติดเชื้อเองนั่นแหละที่เป็นส่วนสำคัญ พวกเขาเริ่มต้นจากติดลบ จนไปสู่กลุ่มทางสังคมที่เข้มแข็งและมีส่วนสร้างสังคมที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกๆ คน

 

10 ปี ดีดีไอ ก้าวแรกของขบวนการจูเรนเจอร์

ยาต้านไวรัส ดีดีไอ นับเป็นกรณีแรกที่ผู้ติดเชื้อออกมาเคลื่อนไหว กมล อุปแก้ว อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เล่าว่าในขณะนั้นผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่งเริ่มต้นแปรความเป็นตัวน่ารังเกียจของสังคมเป็นพลัง ประกาศการมีตัวตน และขับเคลื่อนการเข้าถึงยา

“ตอนนั้นคนที่มาพบปะกันก็ยังเอาหนังสือพิมพ์บังหน้ากันอยู่เลย ใครติดเชื้อนี่บอกไม่ได้เลย เพราะโดนรังเกียจ บางคนขนาดพ่อแม่ยังไปปลูกกระต๊อบแยกบ้าน แยกทุกสิ่งทุกอย่าง ให้อยู่คนเดียว เพราะเขาไม่เข้าใจ”

จากการจับกลุ่มคุยกันก็พัฒนามาเป็นกลุ่มขาประจำกลุ่มเล็กๆ เรียกว่า “ชมรมเพื่อนวันพุธ” เมื่อราวปี 2535-2536 แรกเริ่มมีสมาชิกประมาณ 20 คนและพัฒนามาเรื่อยๆ

“เวลาทำกลุ่ม เรานัดเจอกันเป็นช่วงๆ และเราก็จะพบว่าเราไม่เจอเพื่อนบางคนแล้ว เขาเสียแล้ว เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องทุกๆ เดือน สิ่งที่เราทำได้คือ ปลอบใจกันไปมา และยังไม่รู้จักการใช้ยาต้านไวรัสมากนัก จนเมื่อรวมกันเป็นเครือข่ายและได้ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ใช่จะรักษาไม่ได้”

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเองที่องค์การเภสัชกรรมของไทยก็วิจัยทดลองจนกระทั่งเตรียมจะผลิตยาต้านไวรัสดีดีไอออกมา (ราคาเม็ดละ 7 บาท) ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่บริษัท บริสตอล เมเยอร์ สควิบบ์ จำกัด หรือ บีเอ็มเอส กำลังจะจดสิทธิบัตรพอดี (ราคาเม็ดละ 100 บาท)

สององค์กรควบม้าสูสีกันมา และองค์การเภสัชก็เชื่อมั่นว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่อนุมัติสิทธิบัตรให้บีเอ็มเอส เพราะตอนที่ยื่นขอสิทธิบัตรนั้นประเทศไทยยังใช้กฎหมายสิทธิบัตรฉบับเดิมที่คุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีการผลิต ไม่คุ้มครองตัวผลิตภัณฑ์ นั่นแปลว่า มันเปิดโอกาสให้มีการทำในแบบอื่นๆ ที่ไม่ซ้ำกันได้

แต่ดูเหมือนเกมจะพลิกเมื่อบีเอ็มเอสได้รับสิทธิบัตร ทั้งยังได้ข้อถือสิทธิอย่างกว้างขวาง ทั้งที่จริงแล้ว ดีดีไอ เป็นผลการคิดค้นของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐซึ่งนำงบมาจากภาษีประชาชน เมื่อสถาบันวิจัยให้สิทธิบัตรในการผลิตยาแก่บีเอ็มเอส บีเอ็มเอสก็ปรังปรุงสูตรนิดหน่อย แล้วยื่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐ แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลไม่มีขั้นตอนผลิตที่สูงขึ้น แต่กลับได้จดในประเทศไทย

ว่าแล้วผู้เดือดร้อนโดยตรงจึงต้องออกโรง

“เรารวมตัวกันเรียกร้องเรื่องนี้ว่าไม่เป็นธรรม เราต้องการใช้ยาขององค์การเภสัชซึ่งราคาถูกกว่ากันมาก นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่เราออกมาบอกว่าเรามีตัวตน และต้องการรักษา เพราะไม่เคยมารวมตัวกันเยอะขนาดนั้นมาก่อน ตื่นเต้นมาก บางคนสุขภาพก็แย่ มีตุ่มผื่นขึ้นตามผิวหนัง บางคนก็ดูไม่แตกต่างจากคนทั่วไป เรียกว่ามากันทุกรูปแบบ แล้วก็ได้เรียนรู้กัน” กมลเล่าย้อนอดีตให้ฟัง

การต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้ใช้ทั้งกระบวนการศาล และกระบวนการนอกศาล โดยมีกลุ่มผู้ติดเชื้อปักหลักตั้ง ‘ชุมชนมาตรา 51 ดีดีไอพัฒนา’ ขึ้นมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องและรณรงค์เป็นประเด็นสาธารณะ โดยเลข 51 นี้อ้างอิงถึง มาตรา 51 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอล กับเจ้าของสิทธิบัตรได้ พูดง่ายๆ ว่า เปิดโอกาสให้องค์การเภสัชผลิตต่อไปได้ เพราะถือเป็นยาจำเป็น และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ผ่านมา 4-5 ปี ท้ายสุดบีเอ็มเอสก็ยอมเพิกถอนสิทธิบัตรดีดีไอไป

“ถือเป็นชัยชนะของภาคประชาสังคมไทย แม้ว่าจะยังเป็นปัญหากับเพื่อนในประเทศอื่นๆ อยู่” กมลว่า

 

ดีดีไอ สู่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ขยายกลายเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศในทุกอำเภอเลยก็ว่าได้ และมีส่วนผลักดันข้อเรียกร้องชั่วครั้งชั่วคราวไปสู่ระบบที่เสถียรสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

จากเดิมที่การเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อไม่เคยมี ก็เริ่มมีหลังจากกระทรวงสาธารณสุข ตัดสินใจดำเนินโครงการ Access to care เป็นโครงการนำร่องในการกระจายยาต้านไวรัสในบางพื้นที่ จากนั้นก็เป็นโครงการนภา (NAPHA) ในระดับชาติ แต่การจ่ายยาก็ยังคงมีโควต้าที่จำกัดมาก จนกระทั่งปัจจุบันนี้พัฒนามาเป็นโครงการระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.2549 ก็มีการประกาศให้ยาต้านไวรัสเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย นั่นหมายความว่า ผู้ถือบัตรทองก็สามารถได้ยาต้านฯ ด้วย

“เรารู้สึกมีหลักประกันขึ้นมาในระดับหนึ่ง ไม่ถูกลอยแพง่ายๆ จากโครงการรายปี หรือการกำหนดโดยคนในสภาว่าจะให้ต่ออายุหรือเปล่า เพราะ ส.ส.จำนวนมากก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเอดส์นัก” กมลว่า

และผู้ติดเชื้ออีกนั่นแหละที่เป็นกำลังหลักในการล่ารายชื่อเสนอกฎหมาย

“เราระดม 30,000 รายชื่อจาก 11 เครือข่าย จนในที่สุดหมอเลี๊ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ก็ได้นำไปปรับเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนแรกปี 2545 ยังไม่ครอบคลุมโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้ง เอชไอวี ด้วย เราจึงต้องทำงานอย่างหนักกับคณะทำงานหลักประกันสุขภาพในการผลักดันให้ขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมโรคจำเป็นมากขึ้น จนในที่สุดเกิดคณะกรรมการร่วมขึ้นมาในสมัยรัฐมนตรี สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ และพัฒนาระบบกันมาเรื่อย”

เมื่อมียาต้าน คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อัตราการมีชีวิตอยู่สูงขึ้น ปัจจุบันมีการประมาณการณ์ว่าผู้ติดเชื้อน่าจะมี 6 แสนคน (บางหน่วยงานว่ามีถึง 1 ล้านคน) เสียชีวิตแล้วประมาณ 4 แสนคน มีชีวิตอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าคน ปัจจุบันนี้ได้ยาต้านไวัสกันแล้ว 1.7 แสนคน ถือว่าครอบคลุมพอสมควร แบ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1.2 แสนคน ที่เหลือเป็นระบบสวัสดิการข้าราชการหรืออื่นๆ และมีจำนวนหนึ่งที่อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา เพราะภูมิคุ้มกันยังดีอยู่

 

มาตรการบังคับใช้สิทธิ กับ ชีวิตที่ฟื้นคืน

เครือข่ายผู้ติดเชื้อ นักวิชาการ เอ็นจีโอด้านยากลายเป็นเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุดอันหนึ่งในการจับตานโยบายที่จะส่งผลกระทบ หรือผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ คอยให้ข้อมูล รณรงค์วาระที่สำคัญๆ กับสังคม กระทั่ง ปี 2550 น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอล กับยาต้านไวรัส 2 ตัว และยาละลายลิ่มเลือด ก่อนที่ต้นปี 2551 จะประกาศเพิ่มอีก 4 ตัว ในยารักษามะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ยาต้านไวรัสตัวหนึ่งในนั้น คือยาสูตรพื้นฐาน เอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งเป็นยาที่สร้างทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อได้อย่างสำคัญ

“มันเหมือนเรามีทางเลือกมากขึ้น เพิ่มจำนวนคนเข้าถึงมากขึ้น จริงๆ ก็มีจีพีโอเวียที่องค์การเภสัชผลิตได้อยู่ แต่หลายคนต้องทนกับผลข้างเคียง บางคนแพ้ ยาเป็นพิษในกระแสเลือดก็มี หรือบางคนก็ชาปลายเท้า ปลายมือ หรือแบบอื่นๆ”

“นอกจากจะทำให้เราไม่ตายแล้ว ยังทำให้เราพบปะผู้คนได้โดยไม่ต้องกังวลใจด้วย ยาที่เรากินมันสร้างผลกระทบทางกายภาพบางอย่าง เช่น แก้มตอบ ก้นแฟบ พุงโล ใช้ไปนานๆ บางทีเหมือนมนุษย์ต่างดาว ใครเห็นใครก็ทัก”

“หมอเองก็ไม่เข้าใจ บางทีหมอเป็นคนพูดเองว่าจะเอาอะไรหนักหนา แค่ไม่ตายก็บุญแล้ว แต่การมีชีวิตอยู่ไม่มีความสุข ก็ไม่ใช่ชีวิต หลายครั้งเราก็คิดว่า ไม่ตายแล้วยังสวยยังหล่ออยู่ได้ไหม (หัวเราะ)”

ทั้งนี้ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ปกติราคา 10,000 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ปัจจุบันเหลือ 3,000 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน

 

ประโยชน์ 3 ประการของการต่อสู้กรณี ดีดีไอ

จอน อึ๊งภากรณ์ เอ็นจีโอที่ต่อสู้เรื่องการเข้าใจเอดส์ และการเข้าถึงยามาเป็นเวลานาน ปัจจุบันนี้เขารามือจากแวดวงนี้ไปทำหน้าที่เป็นกรรมการนโบายทีพีบีเอส แต่ก็ได้ให้แง่มุมไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อมองย้อนกลับไป 10 ปี ของการต่อสู้เรื่องดีดีไอ เห็น 3 แง่มุมสำคัญคือ

1.    เป็นการยืนยันหลักการในสังคมไทยว่า ยา และ สุขภาพที่ดี เป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่สินค้าที่ได้เฉพาะคนมีเงินซื้อ และการเข้าถึงยา การรับบริการทางสุขภาพเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน ซึ่งนำมาสู่หลักประกันสุขภาพ

2.    เป็นการต่อสู้ครั้งแรกที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเป็นแนวหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมและฝึกเครือข่ายสำหรับการต่อสู้ที่ตามมาภายหลัง ครั้งนั้น ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ ซึ่งมีไม่เกิน 200 คน เป็นผู้ออกแบบ วางแผน และตัดสินใจการเคลื่อนไหวทั้งหมด

3.    ทำให้ภาคประชาสังคมไทย ไปอยู่ในเครือข่ายระดับโลก เช่น การร่วมกับประชาชนในอัฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย ต่อสู้เรื่องการเข้าถึงยาจำเป็นพื้นฐาน

“ถามว่า ดีดีไอเป็นยาสำคัญที่สุดหรือเปล่า ก็เปล่า แต่มันเป็นการเริ่มต้นขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง เช่น ระบบประกันสุขภาพ การทำซีแอล เหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากการต่อสู้เรื่องดีดีไอ” จอนกล่าว

เมื่อถามถึงภาพกว้างว่าขบวนการภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องนี้ยืนอยู่ตรงไหนของโลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ จอนบอกว่า มันเป็นการต่อสู้ของผู้ขาดสิทธิ ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับระบบทุนนิยม ประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วส่วนมากในยุโรปก็มีระบบรัฐสวัสดิการด้วย ไม่ใช่เป็นทุนนิยมแบบโบราณที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ซึ่งนั่นไม่ใช่ทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งยอมรับว่าประชาชนควรมีระบบสวัสดิการที่ดี เหมือนกับประเทศทุนนิยมที่ระบบสวัสดิการแย่ที่สุดอย่าง สหรัฐอเมริกา ตอนนี้แม้แต่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็หันมาพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพ ท่ามกลางการคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ดังนั้น เรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องล้าสมัย

“มันอาจมีแง่มุมแอนตี้โลกาภิวัตน์อยู่ในตัว โลกาภิวัตน์มีข้อดีเยอะ แต่ก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัวด้วย เพราะระบบที่เห็นตลาดอย่างเดียว สร้างความทุกข์ยากให้กับมนุษย์ ถ้ายึดหลักสิทธิบัตรอย่างเดียว คนก็จะตายโดยไม่สมควรตาย เพราะฉะนั้น ระดับโลกจึงกำลังคิดถึงทางออกใหม่ๆ เช่น การตั้งกองทุนระดับโลกบางอย่างสำหรับยาที่จำเป็นต่อชีวิตในระยะยาว เราไม่ได้บอกว่าบริษัทไม่ควรได้กำไร คนค้นพบไม่ควรได้รางวัล แต่มันไม่ควรมีราคาแพงเกินเหตุจนคนส่วนใหญ่ซื้อไม่ได้”

นอกจากนี้สิ่งที่ต่อสู้นี้ก็เป็นการยึดถือข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (WTO) เองด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นการต่อต้านอิทธิพลที่เกินควรของบรรษัทข้ามชาติมากกว่า และปัจจุบันก็มีข้อตกลงมากมายที่เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำหน้าการค้า

จอนย้ำว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นการต่อสู้ในยุคสมัยใหม่ เพื่อปรับจูนระบบเศรษฐกิจโลกในลักษณะที่เอาสิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท