ทีดีอาร์ไอเผยผลสำรวจพลิกความเชื่อ “รวย-จน” ไม่ใช่ปมขัดแย้งการเมือง

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 “การปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยผล “การสำรวจทัศนะประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรม” ซึ่งเป็นการสำรวจทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีขนาดตัวอย่างที่ใหญ่และมีการสุ่มตัวอย่างที่เป็นระบบ (สำรวจประชาชน 4,097 ครัวเรือน ในเขตเมืองและชนบทในทุกจังหวัดทั่วประเทศ) และสามารถเชื่อมโยงความคิดเห็นทางการเมืองกับข้อมูลพื้นฐานและรายได้รายจ่ายของครัวเรือน อีกทั้งได้แก้จุดอ่อนของการสำรวจครัวเรือนที่มักจะเข้าไม่ถึง “คนกลุ่มบน” โดยสำรวจเพิ่มจากผู้ร่วมสัมมนาของทีดีอาร์ไอ (มีผู้ตอบแบบสอบถาม 247 ชุด) ผลการสำรวจให้ภาพที่ต่างไปจากโพลล์และสื่อต่างๆ ที่มักให้ภาพที่หวือหวาอยู่บ่อยๆ

ดร.สมชัย จิตสุชน และดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจทัศนะประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยระบุว่า เป็นการสำรวจทัศนะของประชาชนทั่วประเทศ ในด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดสวัสดิการสังคม และการเมือง (การเลือกตั้ง กิจกรรมทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง) โดยสำรวจพร้อมกับข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงทัศนะประชาชนข้างต้นกับข้อมูลด้านรายได้ รายจ่าย และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ของครัวเรือน การสำรวจดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนะต่อความจน ความรวย และความเหลื่อมล้ำ ไปในทิศทางที่คล้ายกัน โดยให้เหตุผลว่าคนจนส่วนใหญ่จน เพราะ เกิดมาจน (ร้อยละ 39.8) ขี้เกียจไม่ขวนขวาย (ร้อยละ 16.7) และไม่มีทุน (ร้อยละ 14.5) แต่คนรวยมีแนวโน้มที่จะตอบว่าความจนเกิดจากความขี้เกียจ ไม่ขวนขวายมากกว่าที่คนจนตอบ ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่มองเรื่องความรวยว่าส่วนใหญ่รวยเพราะ เกิดมารวย (ร้อยละ 57.4) ขยัน (ร้อยละ 13) และ มีทุน (ร้อยละ 11.1)

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนจำนวนมากที่สุดมองว่า มีความห่างมากแต่ยังพอรับได้ (ร้อยละ 43.3) ในขณะที่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าห่างมากและยอมรับไม่ได้ โดยความเห็นหลังนี้มีอยู่มากในหมู่คนจน สำหรับวิธีแก้ไขปัญหา ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเสนอให้การศึกษาและดูแลสวัสดิการคนจนมากขึ้น ขึ้นภาษีคนรวยแล้วเอาเงินมาช่วยคนจน กำจัดการโกงกิน ระบบเส้นสาย ระบบพวกพ้องให้หมดไป และรัฐควรปฏิบัติต่อคนจนและคนรวยเท่าเทียมกัน

ดร.สมชัย กล่าวว่า ในประเด็นทัศนะต่อความจน ความรวย และความเหลื่อมล้ำนี้ จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าความจนความรวยตกทอดเป็นรุ่นๆ จึงมีลักษณะถาวรพอสมควร และน่าจะเป็นสาเหตุที่คนจนจำนวนมากยอมรับช่องว่างของฐานะไม่ได้ แต่การมีทุน การศึกษา และขยันหมั่นเพียร สามารถลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้

ทัศนะต่อการให้สวัสดิการโดยรัฐ พบว่า ร้อยละ 39 เห็นว่ารัฐควรให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน แต่ให้สิทธิพิเศษเพิ่มบางอย่างกับคนจน เมื่อถามต่อว่าหากรัฐขึ้นภาษี อยากให้นำเงินมาทำอะไร พบว่า 3 อันดับแรก คือ ต้องการให้รัฐนำเงินมาใช้พัฒนาเรื่องการศึกษา ฝึกอาชีพ และพัฒนาฝีมือแรงงาน (ร้อยละ 23.7) รองลงมา ต้องการให้นำเงินมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน (ร้อยละ 14.1) และพัฒนาปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 12.3)

ปัญหาของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 23 เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไข รองลงมา คือ ปัญหายาเสพติดและความยากจน ถัดมาคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแม้ว่าจะมาเป็นอันดับ 4 กล่าวคือมีคนร้อยละ 13 ที่เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ แต่คนที่มีความเห็นเช่นนี้ก็กระจายไปในทุกชนชั้น

ในด้านกิจกรรมทางการเมืองและทัศนะต่อความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า กิจกรรมที่คนทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ ได้แก่ การไปเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. การเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ที่น่าสนใจเช่นกันคือ พบว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่คนบางกลุ่มซึ่งแม้มีจำนวนไม่มากแต่ทำสม่ำเสมอ นั่นคือ ติดตามข่าวสารทางการเมือง การสอดส่องพฤติกรรมนักการเมือง ช่วยผู้สมัครหาเสียง และชุมนุมเดินขบวน อาจหมายถึงว่า คนสนใจเรื่องการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมือง มีอยู่มากพอสมควร

เมื่อถามถึงสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง พบว่าคนเกือบหนึ่งในสาม (33%) เห็นว่าเกิดจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว และอีกร้อยละ 23 เห็นว่าเกิดจากประชาชนแบ่งขั้ว ไม่ยอมกัน ส่วนคำตอบที่ถือได้ว่าเป็นวาทกรรม “เหลือง” (เช่นมองว่าเกิดจากรัฐบาลหรือนักการเมืองโกงมากเกินไป เผด็จการรัฐสภา ชาวบ้านขายเสียง นักการเมืองซื้อเสียง) และวาทกรรม “แดง” (ที่มองว่ามาจากการที่คนบางกลุ่มไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และประชาชนได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน มีสองมาตรฐาน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เมืองกับชนบท ทหารยึดอำนาจและแทรกแซงการเมือง) แต่ละคำตอบมีผู้ตอบไม่มากนัก และที่น่าสนใจคือคำตอบเหล่านั้นกระจายไปในทุกกลุ่มฐานะ ซึ่งต่างจากความเชื่อที่แพร่หลายว่าวาทกรรมเหลืองแพร่หลายในกลุ่มคนชั้นกลางถึงสูงและวาทกรรมแดงแพร่หลายในกลุ่มคนจนหรือกลุ่มคนรากหญ้า

จากข้อมูลข้างต้น ดร.สมชัยสรุปว่า การ “แบ่งขั้ว” ทางความคิดการเมืองอยู่ในคนส่วนน้อย แต่เนื่องจากคนเหล่านี้มีกิจกรรมทางการเมืองที่หลากหลายและเข้มข้น ทำให้ความขัดแย้งกินเวลานาน และถึงแม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ “จุดไฟ” ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ความขัดแย้งแผ่วงกว้างและเสริมการแบ่งขั้วในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือยากจน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาคอรัปชั่น คนส่วนใหญ่มองว่า ควรมีการลงโทษ พร้อมกับให้มีการป้องกัน และตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมือง และที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าจะมีคนประมาณร้อยละ 8 มองว่าปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขได้ แต่ก็มีคนเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ถ้านักการเมืองมีผลงาน ซึ่งต่างจากผลของโพลล์ต่างๆ ที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยๆ เป็นอย่างมาก

ดร.วิโรจน์ เพิ่มเติมผลสำรวจกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาทีดีอาร์ไอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในกลุ่ม 20% บนของประเทศ แต่มากกว่าครึ่งมองว่าตัวเองเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง มองว่าช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างมาก แต่ก็ยังพอรับได้ และให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายของรัฐด้านการศึกษา/ฝึกอาชีพ การรักษาพยาบาล การลงทุนด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการรักษาความสงบเรียบร้อย และมุมมองด้านการเมืองเห็นว่าเรื่องสาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มากจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว (ร้อยละ 45) การคอร์รัปชั่นของนักการเมือง (ร้อยละ 11) ประชาชนเข้าใจการเมืองไม่เท่ากัน (ร้อยละ 9.3) ระบบการเลือกตั้งที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง (ร้อยละ 4.6)

ในด้านความเห็นที่มีต่อระบบการเลือกตั้งนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 66) ยังคงสนับสนุนระบบเลือกตั้งทางตรงในทั้งสองสภา คือทั้ง สส.และ สว.ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 20 ที่เห็นว่าควรให้ สส.หรือ สว.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง เหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือก สส.มีทั้งด้านตัวบุคคล (เช่น เป็นคนดี คนเก่ง มีความรู้ และทำประโยชน์ให้ท้องถิ่น) และความนิยมในนโยบายหรือพรรคการเมือง อีกเหตุผลหนึ่งที่มีผู้ตอบมาน้อยมากคือ “ความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมาย” ซึ่งเป็นไปได้มากว่าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้มองบทบาทของ “ผู้แทนราษฎร” ว่าเป็นผู้ที่มีทำหน้าที่ด้านกฎหมายเป็นหลัก (ซึ่งต่างกับแนวคิดที่พยายามปฏิรูปการเมืองโดยลด/ตัดบทบาททางการเมืองของ สส.)

เมื่อถามประชาชนถึงเหตุผลหลักที่ประชาชนเชื่อว่าทำให้ ส.ส.ในเขตของตนได้รับเลือกตั้ง พบว่าไม่ต่างจากเหตุผลข้างต้นมากนัก และที่น่าสนใจคือ มีคนเพียง 1-2% ในแต่ละกลุ่มเท่านั้นที่เห็นว่า “การให้เงินหรือของหรือสัญญาว่าจะให้” เป็นปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าคนที่ยอมรับว่าตัวเองรับเงินหรือรับของเสียอีก และต่างจากความเชื่อที่แพร่หลายในปัจจุบันว่าการซื้อเสียงเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้ง

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีภาพที่ดีพอสมควรกับทั้งนักการเมืองและ กกต. และยังหวังพึ่ง กกต. ในการจัดการกับนักการเมืองที่โกงการเลือกตั้ง นอกจากนี้เมื่อสอบถามประชาชนถึงบทบาทของกลุ่ม องค์กร และสื่อต่างๆ ว่าแต่ละกลุ่มควรมีบทบาทเพิ่มขึ้น ลดลง คงเดิม หรือ ควรปรับเปลี่ยนบทบาท พบว่าส่วนใหญ่ได้ผลไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปไปในทางหนึ่งทางใด มีเพียงสองกรณีที่คนทุกกลุ่มต่างๆ เห็นพ้องกันอย่างชัดเจนจนถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62 เห็นว่าควรลดหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อที่เป็นตัวแทนของขั้วการเมือง (เช่น ขั้วเหลืองหรือแดง) ลง และคนจำนวนใกล้เคียงกันเห็นว่าควรเพิ่มบทบาทของประชาชนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งถ้าพิจารณาประกอบกัน ก็อาจตีความได้ว่า ข่าวสารที่สำคัญที่ได้จากการสำรวจประชาชนครั้งนี้คือควรหยุดให้ความสำคัญกับสื่อเลือกข้างและหันมาสนใจ “เสียงเงียบ” จากประชาชนส่วนใหญ่แทน

สุดท้าย ดร.วิโรจน์ยังสรุปด้วยว่า แม้ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 13 เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก) แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตของตนและยังพุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า เช่น เศรษฐกิจ ยาเสพติด และการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือน แต่กลุ่มคนที่มีฐานะดีข้างบนกลับดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า (ร้อยละ 29 ของผู้เข้าร่วมสัมมนาของทีดีอาร์ไอเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก และกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญในสามอันดับแรก)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท