Skip to main content
sharethis

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่าย แถลงข่าวตั้งคณะทำงานคู่ขนาน คณะทำงาน 4 ฝ่ายของนายอานันท์ ปันยารชุน เตรียมยื่นร่างองค์กรอิสระให้พิจารณา จี้ 8 หน่วยงานต้องทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ขู่ฟ้องเพิ่มกฤษฎีกาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความสับสนเสียหาย

4 ธ.ค.52  ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย สมัชขาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ฯ จัดแถลงข่าวจุดยืนและข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาโครงการอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุด หลังเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับลงทุนมาบตาพุดต่อ 65 โครงการ ส่วน 11 โครงการประเภทอุตสาหกรรม-คมนาคม โรงแยกก๊าซ-ท่าเทียบเรือ เดินหน้าต่อได้ ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่ายซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาแก้ปัญหาภายใน 2-3 อาทิตย์ 

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวประกาศจุดยืนว่า กรณีที่รัฐบาลตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่ายมาแก้ปัญหา นั้น แม้จะไม่เห็นด้วยในตัวบุคคลที่เป็นกรรมการหลายคนแต่จะยอมรับเพื่อให้หาข้อยุติได้ อย่างไรก็ตาม จะตั้งคณะ
ทำงานคู่ขนานเพื่อตรวจสอบการทำงานของคณะทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนของ กป.พอช. สมัชชาเครือข่ายสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ นักกฎหมาย นอกจากนี้ข้อยุติที่ได้ในคณะทำงาน 4 ฝ่ายจะต้องนำเสนอต่อสาธารณะและเปิดรับความเห็นกับผู้มีส่วนได้เสียก่อนจะมีการดำเนินการ 

สำหรับจุดยืนต่อองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น  นายศรีสุวรรณ เห็นว่า ควรออกเป็น พ.ร.บ.เป็นการเฉพาะ และควรใช้ฉบับที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันยกร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม 10,000
รายชื่อ เสนอกฎหมาย แต่ช่วงเฉพาะหน้า รัฐบาลอาจคัดลอกเนื้อหาใน พ.ร.บ.นี้ไปออกเป็นประกาศกระทรวง หรือประกาศ
สำนักนายกฯ ดำเนินการก่อนได้ โดยไม่สามารถ ส่วนมาตรฐานการดำเนินการด้านสุขภาพก็ขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศหลักเกณฑ์ออกมา รวมทั้งควรเพิ่มจำนวนคณะผู้ชำนาญการด้านสุขภาพด้วย 

นายศรีสุวรรณ  กล่าวต่อว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการจาก 76 โครงการนั้น  ทางสมาคมฯ และ
เครือข่ายจะทำหนังสือเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐทั้ง 8 หน่วยงานซึ่งเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องไปแจ้งกับผู้ประกอบการให้หยุดโครงการแล้วเร่งดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 คือ ทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) จัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วให้องค์กรอิสระฯ ให้ความเห็นประกอบ หากทำครบถ้วนก็มีสิทธิทำคำร้องขอปลดล็อกโครงการออกจากคำสั่งระงับของศาล 

นายวีระ ชมพันธุ์ ทนายความในคณะทำงานของสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า หาก 8 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่แจ้งและบังคับแก่ผู้ประกอบการก็ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องการละเมิดคำสั่งศาล และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แม้ว่าก่อนหน้าที่หน่วยงานทั้ง 8 แห่ง และผู้ประกอบการอีก 36 โครงการจะอุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องไม่มีอำนาจสั่งให้หยุดโครงการ แต่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงานเป็นผู้มีอำนาจสั่ง และต้องดำเนินการ หากผู้ประกอบการจะฟ้องกลับก็ถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นๆ 

นายศรีสุวรรณ  กล่าวว่า คณะนี้คณะทำงานได้แจ้งไปยังอีก 181 โครงการที่เข้าข่ายต้องทำตามมาตรา 67 แล้ว และหากโครงการไหนละเว้นการปฏิบัติก็จะฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกรณีของมาบตาพุด และตอนนี้คณะทำงานกำลังพิจารณาว่าจะฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ กรณีที่ไม่ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ตามกำหนดเวลาในบทเฉพาะกาล รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 5 ที่ให้แก่หน่วยงานที่
เกี่ยวข้องซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินฟ้องคดี

นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เครือข่ายจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นฉบับที่ภาคประชาชนร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ยกร่างไว้ เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายของ นายอานันท์ พิจารณาเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหามาบตาพุด นอกจากนี้ เครือข่ายจะล่ารายชื่อได้ครบ 10,000 คน เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับประชาชนเข้าสู่สภาใน
ปี 2553 ด้วย

นายสัญชัย กล่าวอีกว่า  บทสรุปข้อเสนอที่สำคัญว่า โครงการที่มีความรุนแรงเข้าข่ายต้องทำตามมาตรา 67 นั้นอยากให้ใช้ร่างกรอบกำหนด 19 โครงการที่ตนร่วมกับส่วนต่างๆ ยกร่างขึ้นภายใต้คณะทำงานของกระทรวงทรัพฯ สำหรับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควรมีการปฏิรูประบบเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ HIA ควรยึดตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประกาศข้อกำหนดไว้รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ชำนาญการด้านสุขภาพให้มากขึ้น และท้ายที่สุด การจัดรับฟังความคิดเห็น ควรเป็นการจัดรับฟังความเห็นต่อการดำเนินโครงการ ไม่ใช่เฉพาะต่อ EIA หรือ HIA เท่านั้น โดยระยะสั้นเสนอให้ใช้ระเบียบของสำนักนายกฯ ไปก่อนแต่ต้องทำอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ส่วนระยะยาวควรผลักดันให้มีการออกพ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชน

สัญชัยกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหามลพิษที่มาบตาพุด  เสนอให้เร่งรัดแผนลดและขจัดมลพิษที่กำลังจัดทำ และระยะยาวควรมองการพัฒนาแบบองค์รวมและเน้นการป้องกัน จัดลำดับการแก้ปัญหา ศึกษาขีดการรองรับมลพิษทั่วทั้งพื้นที่เพื่อนำมาประกอบการอนุมัติโครงการย่อย รวมถึงการจัดพื้นที่กันชน และจัดระบบการติดตาม ตรวจสอบ โดยจะต้องนำข้อมูลข่าวสารเสนอต่อ
สาธารณชน 

นายกฯ ติงเอกชน ฟ้องกลับยิ่งยืดปัญหา
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าภาคเอกชนเล็งฟ้องร้องรัฐบาลกรณีปัญหานิคม- อุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยอ้างว่าได้ดำเนินการตามคณะกรรมการกฤษฎีการมาโดยตลอดแต่ถูกระงับโครงการว่า ไม่ทราบว่ามีเรื่องการฟ้องร้องอะไร แต่ได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน และเห็นว่าการฟ้องร้องอาจทำให้เรื่องยืดเยื้อออกไปอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวด้วยว่านักลงทุนจะย้ายฐานลงทุนเพราะขาดความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย  ว่าได้มอบกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานประเมินผลกระทบรวมทั้งความเสียหายจากที่มีการระงับโครงการมารายงานให้ตนได้
รับทราบ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่คิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็พูดกันแต่ในภาพรวมเท่านั้น

พท.ตั้ง 3 คณะทำงานติดตามปัญหา 'มาบตาพุด'
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค เปิดเผยภายหลังการประชุมถึงเรื่องมาบตาพุดว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและภาคการลงทุน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีความเห็นตั้งคณะทำงานออกเป็น 3 ฝ่าย คือ 1.) ฝ่ายกฎหมายซึ่งจะดูว่าประเด็นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 96 2.) ฝ่ายเศรษฐกิจ จะดูเรื่องผลกระทบจากคำสั่งศาลเช่น จำนวนผู้ว่างงาน ผู้รับเหมาก่อสร้างและธนาคารที่ปล่อยกู้ และ 3.) ฝ่ายการเมืองจะศึกษาเรื่องความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยในวันที่ 8 ธ.ค.นี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนมาให้ข้อมูล

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 53 คาดว่าอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 52 ถึง 6% หรือเพิ่ม 2.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานทดแทน โรงงานน้ำตาล สิ่งทอ  อาหาร การแปรรูปเกษตร สินค้าอุปโภคและบริโภค ขณะเดียวกันภาคการลงทุนของเอกชนยังได้รับอานิสงส์จากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นให้เอกชนได้ลงทุนในการผลิตวัตถุดิบตามด้วย

“แม้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง จนอาจทำให้ต่างชาติที่กำลังพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนหนึ่งต้องชะลอแผนหรือหันไปพิจารณาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม แต่ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพอีกหลายประเภท ยังเป็นที่สนใจของต่าง ชาติเพื่อเข้ามาขยายฐานการผลิตในไทย”

นายธนิต กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในมาบตาพุดภาคเอกชนประเมินว่าการลงทุนในปี 53 จะอยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาทหรือเพิ่มกว่า 8% ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะขยายตัว 6% แต่หลังจากเกิดเหตุ การณ์มาบตาพุดก็จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเป้าเดิม 2%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net