สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนแถลง 9 จุดยืนแก้มาบตาพุด-‘อานันท์’ ฉะการนิคมฯ ปล่อยแก๊สรั่วอีก

 
6 ธ.ค.52 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ ‘9 จุดยืน กรณีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ระบุคัดค้านแนวทางการจัดตั้งของกระทรวงทรัพฯ พร้อมเสนอแนวทางของร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ที่ภาคประชาชนช่วยกันยกร่างและมอบให้กระทรวงทรัพฯ ไปแล้ว ทั้งนี้ องค์การอิสระฯ ต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีระบบธุรการของตนเอง มีความโปร่งใสในการสรรหากรรมการ มีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน สามารถพิจารณา EIA และ HIA ฉบับเต็มของเจ้าของโครงการ และต้องไม่ใช่องค์กรแห่งอำนาจ ที่จะไปตัดสินว่าโครงการใดเกิดได้หรือไม่ได้ แต่ควรเป็นองค์กรที่สร้างความรู้ทางปัญญาที่รอบด้านให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาใด ๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจเสนอทางเลือกที่เหมาะสม ก่อนที่จะสรุปเป็นความเห็นให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย (รายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)
 
อานันท์ฉะนิคมมาบตาพุดปล่อยแก๊สรั่วอีกเจ็บ17
เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานการลงพื้นที่มาบตาพุดของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ข องรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการฯได้นำทีมลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแฟบ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อรับฟังชาวบ้านจากเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยมี ผู้ฟ้องร้องคดี 43 ราย และชาวบ้านจากต.เนินกะปรอก อ.บ้านฉาง และอ.ปลวกแดง ทีได้รับผลกระทบ เข้าให้ข้อมูล โดยเมื่อนายอานันท์มาถึงพื้นที่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนิคมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมผาแดง ก็เริ่มมีกลิ่นเหมือนก๊าซไข่เน่าโชยมาตามลม และถึงกับบอกว่ามาสัมผัสกลิ่นเหม็นด้วยตัวเอง และเข้าใจว่าชาวบ้านต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะขนาดช่วงกลางคืนประมาณ 5 ทุ่มเศษแถวโรงแรมที่เข้าพัก ก็ยังมีกลิ่นสารเคมีที่สามารถสัมผัสได้เช่นกัน แต่คงไม่สามารถระบุได้ว่ามามาจากแหล่งไหน และคงกล่าวโทษโรงงานใดโรงงานหนึ่งก็ไม่ได้
         
จากนั้นในเวลาต่อมา นายอานันท์ และคณะกรรมการ พร้อมด้วยนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง ได้เดินทางมา ที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อรับฟังการนำเสนอการจัดการมลพิษในประเด็นที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสา หกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ผาแดง และผู้ประกอบการ 5 บริษัทเข้าร่วมรับฟังและตอบข้อซักถาม
         
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า นิคมฯ เริ่มเกิดปัญหากับชุมชนมาตั้งแต่ 2540 เรื่องกลิ่นจากอุตสาหกรรม ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการแก้ไข กระทั่งในปี 2548 มีปัญหาเรื่องวิกฤติภัยแล้งขึ้น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งการแย่งใช้น้ำ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้าน และปัจจุบันเกิดปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (วีโอซี) เกินมาตรฐานตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัญหาปัจจุบันซึ่งทาง กนอ.จะเชิญผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาติโครงการมารับฟังการปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 8 ธ.ค.นี้
      
สำหรับปัญหาระเหยของวีโอซีนั้น กนอ.ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ติดตามสารวีโอซีในบรรยากาศจากแหล่งกำเนิด ในช่วงปี 51 ที่เกิดปัญหาพบมีการรั่วมากถึง 600 จุด แต่ขณะนี้จัดการปัญหาได้เกือบหมดแล้ว ส่วนการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในเขตมาบตาพุด ขณะนี้ได้เก็บข้อมูลอุตุนิยม และคุณภาพอากาศเกือบครบ 1 ปีแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผลในช่วงเดือนม.ค.25 53 และจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป ขณะเดียวช่วงปี 2550 ทางคณะกรรมการศึกษาหาความสัมพันธของสารมลพิษกับปัญหาทางด้านสุขภาพของชาวบ้าน ก็ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษระหว่างปี50-54 โดยเฉพาะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซต์ มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากการให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการ
 
รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมนายอานันท์ ได้มีการซักถามกรณีเกิดเหตุก๊าซ BUTENE 1 รั่วออกเซฟตี้วาวล์ของเรือ GLOBAL HIME เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีชาวบ้านได้รับกลิ่นเหม็นจนต้องนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำนวน 17 ราย นายวีระพงศ์ ชี้แจงว่าหลังเกิดแก๊สรั่วเมื่อช่วงบ่ายโมง ก็ได้การส่งข้อมูลรายงานมายังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กนอ. และมีการสั่งให้เรือถอนสมอออกจากฝั่งทันที เพื่อให้ซ่อมแซมห่างจากฝั่ง 10 กม. และตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่ไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน เพราะกว่ากระบวนการรายงานตามขั้นตอนจะแล้วเสร็จสิ้นตอน 17.00 น. จนมีรายงานว่ามีชาวบ้านที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุได้รับผลกระทบ 17 คนจากอาการมึมงง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง และ 12 คนสามารถกลับบ้านได้ ส่วนอีก 5 รายคือ เด็ก 3 ผู้ใหญ่ 2 ยังต้องนอนรอดูอาการ อยู่ แต่ในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค.นี้ได้เดินทางไปเยี่ยมแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่ามีชาวบ้านทยอยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีก 20 ราย ทั้งนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูและพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และส่วนตัวอีก 7 วันจะเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยถึงที่บ้าน
 
ด้านนายอานันท์ ได้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วกนอ. มีศักยภาพในการควบคุมนิคมและโรงงานในนิคมได้หรือไม่ เพราะขนาดกรณีแก๊สรั่ว ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉินแต่ยังใช้ระบบราชการ ทำงานแบบเช้าชามเย็นยามไม่ทันกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและถือเป็นอีกครั้งที่เสริมภาพลักษณ์ในทางที่ไม่ดีของกนอ. กับชุมชน ในฐานะที่มาลงพื้นที่ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วงมากๆ และหนักใจมากกับปัญหาในพื้นที่
 
ชาวบ้านเข้าตรวจร่างกายพบอาการหนัก5ราย
ด้าน นายสงวน ประธานชุมชนบ้านตากวนอ่าวประดู่ พาชาวบ้าน 30 คน เข้ารับตรวจร่างกายที่รพ.กรุงเทพระยอง โดยทุกคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียร เวียนหัว แน่นหน้าอก หลังจากเกิดก๊าซรั่ว จากเรือขนส่งสินค้า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก 5 ราย
   
นายสงวน เปิดเผยว่า เมื่อ 15.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ทำงานติดอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้กลิ่นคล้ายแก๊สหุงต้มโชยมา ครั้งแรก 10 นาที แล้วหายไป จากนั้นได้มีกลิ่นตามมาอีกครั้ง แต่รุนแรงกว่าเดิมประมาณ 20 นาที จากนั้นกลิ่นหายไป จึงได้แจ้งไปยังกนอ.มาบตาพุด และทยอยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปรพ.กรุงเทพระยอง
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากเรือลำเกิดเหตุ ได้เคลื่อนเข้าจอดเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้า แต่ขณะเคลื่อนเข้าใกล้ เกิดเหตุก๊าซหุงต้มในเรือรั่วออกมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณตะกั่วอ่าวประดู่ และคนงานที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นได้สูดดมก๊าซดังกล่าวในระยะใกล้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 ราย ต่อมาเช้าวันวันที่ 6 ธ.ค. ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง เริ่มมีอาการคลื่นไส้วิงเวียน แน่นหน้าอก จึงได้นำส่งรพ.อีก 30 คน ซึ่งแพทย์ อยู่ในระหว่างการตรวจรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยอาการสาหัสถึง 5 คน
 
 
ภาคเอกชนเล็งฟ้องรัฐ ชี้วิกฤตมาบตาพุดตกงาน 1.9 คน
เว็บไซต์คมชัดลึก ยังรายงานถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรม โดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมว่าการชะลอ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยภาคเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล เพราะการชะลอโครงการไม่ใช่แค่การหยุดก่อสร้างเท่านั้น แต่บริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเมื่อโครงการไม่เดินสถาบันการเงินก็ไม่ปล่อยกู้ ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง ลามถึงบริษัทผู้รับเหมาและที่หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้นก็คือ จะต้องกระทบกับการจ้างงานค่อนข้างมาก เพราะโครงการทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท
 
นอกจากนี้ บางโครงการก็ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้า และหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามคำสั่งล่วงหน้า ผู้ประกอบการในโครงการดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าผิดสัญญาให้แก่คู่ค้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในโครงการที่ถูกสั่งให้ชะลอการก่อสร้างนั้น จำเป็นต้องฟ้องร้องรัฐ เพื่อให้เข้ามาชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
 
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากกรณีนี้ว่า ส่งผลให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการต้องสะดุด โดย 65 โครงการที่ต้องถูกระงับการลงทุนมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.3 แสนล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด อีกทั้งคิดเป็น 2.5% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พบว่า ในกรณีกระทบเล็กน้อยจีดีพีจะลดลงประมาณ 0.2% ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 6.6 หมื่นคน และในกรณีกระทบรุนแรงจีดีพีจะลดลงประมาณ 0.5% ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 1.93 แสนคน
 
 

แถลงการณ์
๙ จุดยืนของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
กรณี องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง
...........................................................
๑)      ขอคัดค้านองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามแนวทางประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เพราะเป็นการออกประกาศ ซึ่งถือว่าเป็น “กฎ” ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ผิดหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๗ วรรคสอง แต่ต้องเป็นแนวทางของ (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... ที่ภาคประชาสังคมช่วยกันยกร่างขึ้นมาจนตกผลึกทางความคิด และมอบให้กับกระทรวงทรัพยากรฯไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ แล้วเท่านั้น
 
๒)     องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายประเภทใดไม่สำคัญ (ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ, ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี) แต่เนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวต้องให้ความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการให้ความเห็นที่ต้องเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง ต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุม ดูแล สั่งการ แทรกแซงหรือการให้คุณให้โทษของหน่วยงานใด
 
๓)      องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องมีระบบทางธุรการที่เป็นเอกเทศเป็นของตนเอง มีอิสระในการ
บริหารงาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณกลางของรัฐร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการ (ค่าธรรมเนียมกลางที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเข้ากองทุนงบประมาณทุก ๆ โครงการ) ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ
 
๔)     ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องมีกระบวนการได้มาที่โปร่งใส ผ่านการคัดสรรและหรือเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนของสังคม ต้องไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
 
๕)     องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องไม่ใช่องค์การที่องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องไปจับมือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ แต่องค์กรหรือสถาบันเหล่านั้น จะต้องมีอำนาจในการดำเนินงานโดยอิสระเป็นปัจเจกของหน่วยงานตน หากจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ
 
๖)      องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๗ วรรคสอง จะต้องมีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ในพื้นที่ใด ๆ ที่โครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรง มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่นั้น ๆ จนได้ข้อยุติที่ชัดเจน
 
๗)     รายงานการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (HIA) ที่ผู้ประกอบการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำขึ้น ต้องส่งข้อมูล (ตามกรอบของ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ๒๕๔๐) รายละเอียดทั้งหมด (เท่าที่มีในแต่ระช่วงของการดำเนินงานศึกษา) ส่งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้รับทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นำข้อมูลไปเผยแพร่และดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ในพื้นที่นั้น ๆ มิใช่การจัดส่งให้ภายหลังที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการของ สผ. (คชก.)ให้ความเห็นชอบแล้ว
 
๘)     องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องสามารถให้ความเห็นใด ๆ ได้นอกเหนือจากกรอบของการศึกษา EIA และ HIA ในแต่ละโครงการหรือกิจกรรม และสามารถให้ความเห็นโครงการหรือกิจกรรมในภาพรวมของพื้นที่ได้
 
๙)     องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องไม่ใช่องค์กรแห่งอำนาจ ที่จะไปตัดสินว่าโครงการใดเกิดได้หรือไม่ได้ แต่ควรเป็นองค์กรที่สร้างความรู้ทางปัญญาที่รอบด้านให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาใด ๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจเสนอทางเลือกที่เหมาะสม ก่อนที่จะสรุปเป็นความเห็นให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
................................................
๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒
 
 
 
 
ที่มาบางส่วนจาก www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท