จากเบอร์ลินถึงประเทศไทย...ทำไมเรายังอยากก่อกำแพง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดูเหมือนว่าขณะที่คนทั้งโลกกำลังเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย พร้อมกับความพยายามที่จะหลอมรวมความเป็นชาติของตนเอาไว้อย่างเข้มแข็งมั่นคง แต่ประเทศไทยของเรากลับตรงกันข้าม

แม้การทลายของกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกเยอรมันออกเป็นสองประเทศคือเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออกจะผ่านมาครบ 20 ปีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่บรรยากาศการฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนั้นยังเต็มไปด้วยความชื่นมื่นยินดีของชาวเยอรมันทั้งปวง กระนั้นยังรวมถึงผู้คนทั้งโลกก็ว่าได้ ราวกับว่าเหตุการณ์สำคัญนั้นเพิ่งผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วยาม

กำแพงเบอร์ลินเริ่มก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1961 มีความยาวร่วม 155 กิโลเมตรเพื่อแบ่งกั้นพรมแดนระหว่างเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก หลังเยอรมันแยกประเทศออกเป็นสองส่วนในปี 1949 เพราะความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองระหว่างโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินในตอนแรกเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนจากฝั่งตะวันตกที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เข้าไปในฝั่งตะวันออก แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นกำแพงที่ไว้กักขังชาวเยอรมันตะวันออกไม่ให้หนีออกไปฝั่งตะวันตกเสียเอง อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวเยอรมันตะวันออกพยายามที่จะข้ามกำแพงออกไปราว 5,000 คน มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ในจำนวนนี้เชื่อว่าได้ถูกทหารรักษาการตามแนวกำแพงสังหารไปราว 200 คน

ตลอดระยะเวลา 28 ปีของการมีกำแพงเบอร์ลิน และตลอดระยะเวลา 40 ปีของการแบ่งเยอรมันออกเป็นสองประเทศนั้นยาวนานพอที่จะทำให้ชาวเยอรมันได้เรียนรู้ถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ยากจากการแบ่งแยก กลายเป็นแรงผลักที่สำคัญยิ่งในการทลายกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 และนำไปสู่การรวมชาติเยอรมันในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 เพราะประชาชนที่ต้องการเห็นเยอรมันที่เป็นหนึ่งเดียว

นอกจากความเป็นชาติอันเป็นปึกแผ่นของชาวเยอรมันแล้ว ถือว่าการทลายกำแพงเบอร์ลินคือการชนะเหนือม่านมืดแห่งการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีลงไปได้ ดังนั้นการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินยังได้ส่งผลสะเทือนไปยังประเทศคอมมิวนิสต์ทั่วโลกเพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่านี่คือจุดสิ้นสุดของสงครามเย็นที่ยาวนานมาร่วมสี่ทศวรรษ

การทลายกำแพงเบอร์ลินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างในแนวคิดทางการเมืองที่คนในยุคปัจจุบันยังคงระลึกถึงและให้ความสำคัญ จึงมีการนำเอาเศษอิฐเศษปูนจากกำแพงไปเป็นที่ระลึก ไม่เพียงแต่ชาวเยอรมันเท่านั้น แต่กลับเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก จึงมีการนำเอาเศษอิฐจากกำแพงเบอร์ลินมาทุบเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาขายเป็นที่ระลึกอันทรงคุณค่า แถมมีการรับรองว่าเป็นชิ้นส่วนจากกำแพงเบอร์ลินของแท้กำกับไว้ด้วย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับเศษอิฐเศษปูนเหล่านั้นได้บ่งชี้ถึงความปรารถนาถึงเสรีภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คน

ชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินยังถูกนำไปไกลถึงเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีนำไปเป็นสัญญลักษณ์แห่งความปรารถนาและความมุ่งหวังอันสูงส่งของชาวเกาหลีทั้งมวลว่า สักวันหนึ่งสองเกาหลีจะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกับการรวมกันของเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก เพราะว่าการแยกประเทศของเยอรมันเป็นตะวันตกกับตะวันออก และการแยกเกาหลีเป็นเหนือกับใต้ล้วนมาจากปัจจัยเดียวกันนั่นคือ การต่อสู้กันระหว่างความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง ดังนั้นหากสองเยอรมันร่วมกันทลายกำแพงเบอร์ลินและรวมประเทศกันแบบไม่เสียเลือดเนื้อได้ ทำไมสองเกาหลีจึงจะรวมกันไม่ได้

หากใกล้เข้ามาที่เพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดนีเซีย ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในอาเจะห์ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษก็ไม่ต่างอะไรกับกำแพงแห่งปัญหาระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มขบวนการอาเจะห์เสรีที่พยายามแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ออกจากการปกครองของอินโดนีเซีย จนเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนาน แต่ท้ายที่สุดกาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่านั่นไม่ใช่หนทางแห่งการอยู่รอดของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในอาเจะห์ก็ถูกสลายไปอย่างรวดเร็วด้วยความพยายามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เล็งเห็นความสำคัญของส่วนรวมเป็นหลัก ทุกอย่างจึงจบลงได้ด้วยการร่วมกันทลายกำแพงแห่งความไม่เป็นธรรมที่ชาวอาเจะห์รู้สึก โดยการรับฟัง ให้โอกาสและสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

ดูเหมือนว่าขณะที่คนทั้งโลกกำลังเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย พร้อมกับความพยายามที่จะหลอมรวมความเป็นชาติของตนเอาไว้อย่างเข้มแข็งมั่นคง แต่ประเทศไทยของเรากลับตรงกันข้าม ในเมื่อเรากำลังพยายามเอาความเข้มแข็งหนึ่งเดียวที่เคยมี มาทำให้แตกออกเป็นกลุ่มเป็นพวก แบ่งสี แบ่งภาค โดยยึดเอาตัวบุคคลและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองมาเป็นสัญญะแห่งความแตกแยก จนทำให้ประเทศยุ่งเหยิงมายาวนาน เพียงเพราะความต้องการของคนเพียงไม่กี่คนที่พยายามยึดยื้ออำนาจระหว่างกัน ผลคือการร่วมกันทำร้ายสังคมไทยให้ก้าวถอยหลัง มีแต่ความเลวร้ายและความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

ไม่ว่าใครหรือฝ่ายไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็แทบจะไม่มีเวลาทำงาน วันๆ เอาแต่คอยเล่นเกมการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม การพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องปากท้องที่ประชาชนคาดหวังจึงเป็นประเด็นที่มาทีหลัง สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมแห่งการเอาชนะมากกว่าการรับฟัง เป็นสังคมแห่งการเลือกข้างมากกว่าความถูกต้องและความเป็นกลาง ใครมีอำนาจก็งัดออกมาใช้ ใครสู้ไม่ได้ก็คอยขย่มทำลายจากด้านมืด ในด้านสว่างก็ต่างอ้างถึงชาติและประชาธิปไตยมาบังหน้า มิหนำซ้ำต่างฝ่ายต่างก็ลากพาผู้คนมาเป็นเหยื่อในเกมการต่อสู้ จนประชาชนในประเทศแตกออกเป็นฝั่งเป็นฝ่าย พร้อมที่จะห้ำหั่นทำร้ายกันเองได้ทุกเมื่อ

สังคมไทยในปัจจุบันนี้จึงยิ่งกลายเป็นสังคมอันตรายไปทุกขณะ ในเมื่อเต็มไปด้วยบาดแผลเรื้อรังที่ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร ความเป็นหนึ่งเดียวที่สังคมไทยเคยมีจึงไม่เหลือให้เห็น และนับวันเชื้อร้ายแห่งความแตกแยกนี้จะดูเลวร้ายเสียยิ่งกว่าการแบ่งประเทศออกเป็นส่วนๆ ด้วยเส้นเขตแดนตะวันตกกับตะวันออกหรือเหนือกับใต้เสียด้วยซ้ำ

หากเรารู้จักที่จะมองโลกให้กว้างออกไปไกลว่าเส้นเขตแดน เพื่อจะเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ และสิ่งที่ผู้คนอีกมากมายในโลกนี้กำลังปรารถนาและอยากให้เป็น แล้วมาทบทวนสิ่งที่กำลังเป็นไปในประเทศของเราด้วยการกระทำของเราเอง น่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้เรามีสติมากขึ้น และเข้าใจถึงมิติในการอยู่ร่วมกันได้มากกว่าการไปยืนร้องเพลงชาติหน้าศาลากลางจังหวัดได้หลายเท่านัก

การทลายกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 20 ปีก่อนที่ยังมีการให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้คนทั่วโลกพยายามทลายกำแพงที่แบ่งกั้นผู้คนออกจากกัน เพราะการก่อกำแพงเบอร์ลินนั้นได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การแบ่งกั้นหรือทำให้ผู้คนแตกแยกออกจากกันนั้นมีความเลวร้ายต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนมากเพียงใด

เมื่อมองถึงความเป็นไปในประเทศของเรา สังคมของเรา โดยเฉพาะในบริบททางการเมือง นับวันดูเหมือนเงากำแพงแห่งการแบ่งกั้นยิ่งแกร่งหนาขึ้นเรื่อยๆ และช่างน่าหวาดหวั่นไม่น้อยเมื่อนั่นคือกำแพงแห่งอำนาจและการเอาชนะ ซึ่งค่อยๆ ก่อกำแพงแห่งความชิงชังกลางหัวใจของผู้คนที่ทลายลงยากเสียยิ่งกว่ากำแพงใดๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท