Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
 
หลังจากที่บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรี้ จำกัด ถูกบริษัทรองเท้าชื่อดัง “ไนกี้” ยกเลิกการสั่งซื้อและย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม สถานการณ์การจ้างงานในบริษัทรามาชูส์ อินดัสตรี้ จำกัด ที่ก่อตั้งมากว่า 15 ปี เริ่มมีปัญหาการจ่ายค่าจ้าง ทำให้คนงานทนไม่ไหวต้องลาออกไปกว่า 6,000 คน และตอนนี้ยังคงเหลือลูกจ้างอีกประมาณ 800 ชีวิต ที่ยังไม่ทราบอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
 
บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 81 หมู่ 8 ซอยแม่มาลัยทอง ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี นายจ้างคนปัจจุบันเป็นชาวอินโดนีเชีย สัญชาติอเมริกัน ไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตรงตามกำหนดเวลา บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรีส์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2536 เปิดดำเนินกิจการผลิตรองเท้าส่งออกให้กับยี่ห้อ ไนกี้ ตลอดมาตั้งแต่เริ่มต้น บริษัทในเครือรามาชูส์กรุ๊ป รวม 5 บริษัท คือ
 
1.     บริษัทรามาชูส์ อินดัสตรี้ จำกัด
2.     บริษัท ไพรม์เคมีคัล จำกัด
3.     บริษัท พรีเมียโมล จำกัด
4.     บริษัทแอปพลายโพลิเมอร์ จำกัด
5.     และบริษัท บริษัทฟุตแวร์ คอมโพเน็นทส์ จำกัด ที่จังหวัดขอนแก่นอีกสองโรงงาน
 
ต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2552 บริษัทไนกี้ ได้ยกเลิกออเดอร์การสั่งซื้อ โดยการโอนย้ายออเดอร์ทั้งหมดไปที่ประเทศเวียดนาม ทำให้บริษัทเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางด้านการเงิน และนำไปสู่การเกิดปัญหาดังต่อไปนี้
 
ประมาณเดือนสิงหาคม 2552 มีการเลิกจ้างพนักงานรายเดือน จำนวน 150 คน โดยทำเป็นสัญญาข้อตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้าง โดยแบ่งเป็นสามงวด แต่เมื่อครบกำหนดจ่ายเงินนายจ้างก็ยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการฟ้องศาลแรงงานภาค 2 ทุกคนยังไม่มีใครได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายตามที่นายจ้างทำสัญญาไว้
 
ต่อมาก็มีปัญหาการเลื่อนจ่ายค่าจ้างในรอบปีที่ผ่านมา
 
  • พนักงานรายวันและรายเดือน รอบการจ่ายรายเดือนวันที่ 20 สิงหาคม 2552 บอกแจ้งเลื่อนการจ่ายมาเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 แต่เมื่อครบกำหนดขอเลื่อนไปจ่ายในวันที่ 28 สิงหาคม 2552 จำนวน 40% ของค่าจ้าง และส่วนที่เหลือเลื่อนการจ่ายออกไปเป็นวันที่ 1 กันยายน 2552 อีก 60%
  • ค่าแรงพนักงานรายวันงวดวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เลื่อนเป็น 28 สิงหาคม 2552 จำนวน 60% ส่วนที่เหลือเลื่อนการจ่ายออกมาเป็นวันที่ 2 กันยายน 2552 จำนวน 40%
  • และเงินค่าจ้างของพนักงานรายเดือนงวดเดือนกันยายน 2552 ได้มีการเลื่อนการจ่ายจากวันที่ 21 กันยายน 2552 เป็นวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และ
  • พนักงานรายวันค่าจ้างงวดวันที่ 25 ตุลาคม 2552 มีการแบ่งจ่ายดังนี้ ครั้งแรก จ่ายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 30% และครั้งที่สองในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 70%
  • ค่าจ้างงวดวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เลื่อนไปจ่ายในวันที่ 27 ตุลาคม 2552 จำนวน 25% และส่วนอีก 75% จ่ายให้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2552
  • ค่าจ้างของพนักงานรายวันงวดประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2552 ได้บอกว่าขอเลื่อนการจ่ายอีก 50% ของค่าจ้างเป็นวันที่ 30 ตุลาคม 2552 แต่เมื่อถึงกำหนดจ่ายเพียง 25% และอีก 75% จ่ายให้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน แต่พอถึงวันที่ 6 กลับจ่ายเพียง 25% โดยไม่แจ้งเหตุผลให้ทราบ ส่วนที่เหลือ 50% และจ่ายให้ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552
  • ค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายนกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 มีการเลื่อนการจ่ายออกไปเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 50% และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 อีก 50% ในส่วนของพนักงานรายเดือนได้เลื่อนการจ่ายจากวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 โดยในประกาศจะจ่ายให้ 50% แต่เมื่อถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 กลับไม่มีการจ่ายให้ตามที่ประกาศ และเลื่อนไปจ่ายให้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 จำนวน 25% และจ่ายให้อีก 75% ในวันที่ 3 ธันวาคม 2552
  • ในส่วนของพนักงานรายวัน ได้ออกประกาศเลื่อนการจ่ายค่าจ้างจากวันที่ 25 เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 50% แต่จะจ่ายอีกงวดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 จำนวน 50% แต่เมื่อครบกำหนดจ่ายมีการเลือกปฏิบัติโดยที่พนักงานบางคนได้รับ 100% และแผนกอื่นๆ ได้รับเพียง 25% ทำให้แผนกที่ได้รับเงิน 25% หยุดงานไม่ทำงานทำให้โรงงานต้องประกาศให้วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 เป็นวันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง 75% และต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 พนักงานทั้งหมดจึงได้รับค่าจ้างครบ
 
จากการเลื่อนการจ่ายค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลา ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งพนักงานรายวัน และพนักงานรายเดือนเป็นอย่างมาก เช่น
 
  • ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านตามที่กำหนดต้องถูกเจ้าของห้องเช่าปรับ
  • ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ
  • ไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะการจ่ายค่าจ้างแบ่งจ่ายเป็นหลายครั้ง
  • ค่าสินเชื่อเช่าซื้อถูกคิดดอกเบี้ยทำให้เสียเครดิตโดยที่ไม่ใช่ความผิดของพนักงาน
  • ถูกหักค่าทวงถาม ค่าธรรมเนียม และค่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่างๆ ที่จะต้องชำระในรอบบิล
  • ต้องกู้เงินกู้นอกระบบมาใช้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูง
  • ไม่มีเงินส่งค่าเลี้ยงดูหรือค่าเทอมบุตร
  • ไม่มีเงินส่งให้กับครอบครัวที่ต่างจังหวัด
  • ขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
 
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงานจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ต้องรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้ความผิดของพนักงานเลย และบริษัทรามาชูส์ อินดัสตรี้ จำกัด มิได้พยายามที่จะหาทางแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปเรื่อย เป็นการบีบพนักงานให้ลาออกจากงานเองโดยทางอ้อม เพราะเมื่อค่าจ้างได้รับไม่ตรงตามกำหนดปัญหาหนี้สินก็ตามมา จากในอดีตที่เคยมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 7,000 คน ปัจจุบันมีพนักงานที่ยังคงเหลืออยู่และไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นอย่างไรประมาณ 800 คน เมื่อครบกำหนดจ่ายค่าจ้างบริษัทฯ ก็ออกประกาศเลื่อนการจ่ายโดยอ้างว่าไม่มีเงิน บางครั้งพนักงานต้องออกมานั่งประท้วงกดดัน ทำให้งานที่มีอยู่จำนวนน้อยอยู่แล้วส่งล่าช้าออกไป ทำให้ลูกค้าขาดความมั่นใจในสถานภาพของสถานประกอบการ
 
ปัจจุบันพนักงานทุกคนในบริษัท รามาชูส์ กรุ๊ป คิดว่าไม่นานนายจ้างคงปิดกิจการและตกงานทั้งหมด แต่ก็ไม่ทราบอนาคตว่าจะได้รับการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายหรือไม่ หลายครั้งที่พนักงานไปร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี แต่ยังไม่มีคำตอบใดๆ.....หลายครั้งที่พนักงานเคยไปร้องเรียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเพื่อให้ลงมาแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีคำตอบใดๆ.....หลายครั้งเคยทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงานเพื่อให้ลงมาแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีคำตอบใดๆ.....
 
วันนี้ จึงอยากขอร้องเรียนผ่านสื่อไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้หันกลับมาดูปัญหาของคนงานให้มากกว่าที่ผ่านมาบ้าง อย่าไปลุ่มหลงกับตัวเลข GDP หรืออย่าไปมัวเถียงกันเรื่องเขาพระวิหารว่าเป็นของใคร เพราะตอนนี้คนงานไทยกำลังลำบากและขาดคนเหลียวแล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net