Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 77 ปี ประเทศไทยมีการพัฒนาการทางการเมืองเรื่อยมา รัฐธรรมนูญฉบับแรกประกาศใช้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2475 จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในปัจจุบัน เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะถูกยกร่างขึ้นภายใต้เจตนารมณ์ของการปฏิรูปทางการเมือง มีผลทำให้โครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนแปลง ขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น

ซึ่งแม้ต่อมาภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับแทน แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงในเรื่องของที่มา และมีข้อบกพร่องหลายจุดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ยังคงข้อดีไว้ คือให้ความสำคัญต่อการให้สิทธิประชาชน เข้ามามีร่วมทางการเมือง โดยใช้กลไกของประชาธิปไตยทางตรง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ดังเช่นในมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ฯลฯ” โดยเปิดช่องทางไว้ คือ

1.“การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายและมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ คือ เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ด้วยการลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเดิมที่กำหนด ต้องมีลายมือชื่อถึง 50,000 คน ลดลงเหลือเพียง 10,000 คน ส่วนในระดับท้องถิ่นนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดรับรองสิทธิแก่ประชาชนในท้องถิ่นหนึ่งท้องถิ่นใดสามารถเข้าชื่อกันเพื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อใช้บังคับในท้องถิ่นของตนเช่นกัน

2.“การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้มีมติถอนถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้ โดยกำหนดให้ระบบการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งเป็น 2 ระดับ คือ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ฯลฯ และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น เช่นคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้เช่นกัน

3. “การออกเสียงประชามติ” ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการเรื่องหนึ่งเรื่องใดอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียงประชามติ นายกรัฐมนตรี อาจกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องนั้นได้ โดยอาจจัดให้เป็นการออกเสียงประชามติเพื่อหาข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนของการออกเสียงประชามติ รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวนั้นได้อย่างเพียงพอ

ขณะที่การออกเสียงประชามติในระดับท้องถิ่น รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมในการบริหารกิจการของท้องถิ่นของตนได้ โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ หากเห็นว่าการกระทำของท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โดยอปท.มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนการออกเสียงประชามติเป็นเวลาพอสมควร

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีกระบวนการ “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน”

โดยในกรณีที่รัฐต้องการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ กฎหมายกำหนดให้รัฐจะต้อง ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ทั้งจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ความเห็นก่อนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวก่อนดำเนินโครงการนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดช่องทางการเข้าร่วมมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไว้หลายช่องทาง แต่การที่ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิได้นั้น รัฐจะต้องดำเนินการตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียด รูปแบบและขั้นตอนเพื่อรองรับหลักการต่างๆ

แต่ปัจจุบันจะพบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยทางตรงของประชาชนในขณะนี้ มีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ที่ได้กำหนดกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีลำดับชั้นเป็นเพียงกฎหมายลำดับรองเท่านั้น

ส่วนกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยกลไกอื่นนั้น รัฐยังไม่ได้ดำเนินการตรากฎหมายในเรื่องดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริงสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเร่งดำเนินการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับหลักการดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวเข้าร่วมพิจารณาปัญหาสาธารณะและจะเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net