แก้ไขรัฐธรรมนูญเผด็จการ กรณีศึกษา ม.67 และมาบตาพุด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2552 ผมได้ทำหนังสือถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ประชาชนมาบตาพุดต้องการอุตสาหกรรมต่อไปและโปรดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ในบทความที่ผมขอส่งให้ประชาไทนี้ ผมขออนุญาต “ไฮไลท์” เฉพาะในแง่การเมือง นั่นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ กรณีศึกษา ม.67 ที่กำลังเกิดขึ้นกับการแก้ไขปัญหามาบตาพุด

ประเด็นอยู่ที่การแต่งตั้งคณะบุคคลที่ไม่มีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ แต่ไปตัดสินอนาคตของประชาชนในพื้นที่ ตัดสินชะตากรรมของอุตสาหกรรมโดยผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม นี่คือประเด็นความเป็นเผด็จการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สมควรได้รับการแก้ไข
 

ขัดกับประชาชนชนและชุมชน
ข้อค้นพบของการศึกษาที่ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีก็คือ ประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียงหนึ่งในสามที่เห็นว่าควรหยุดขยายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หากนับรวมผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น 22.2% แล้ว จะพบว่า ประชากรที่เห็นว่าควรหยุดขยายตัวมีอยู่ 26.6% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรที่เห็นควรให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดควรจะขยายตัวต่อไป (51.1%)

การนี้แสดงว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้อนรับอุตสาหกรรม แต่เรากลับมีคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหา ที่ไม่มีตัวแทนของประชาชน และอาจไม่ได้มองเห็นเช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่ หรืออาจมีแนวโน้มที่มองว่าอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ควร “ถอย” ให้ประชาชนในพื้นที่มากกว่า
 

ตัวแทนภาคประชาชนจริงหรือ?
การที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นว่าอุตสาหกรรมควรขยายตัวต่อไปเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายนั้น อาจไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่บุคคลในพื้นที่ดังที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ว่า “ชาวชุมชนมาบตาพุดยื่นหนังสือให้รบ.ทบทวนตั้งกก.4ฝ่าย” จากข้อมูลของกรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด ทั้ง 4 ท่านคือ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นายสุทธิ อัชฌาศัย และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ พบว่า น่าจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนภาคประชาชน โดยในรายละเอียดพบว่า:

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” และบ้านอยู่บางบัวทอง นนทบุรี

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ท่านเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นายสุทธิ อัชฌาศัย ท่านเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGO: Non-Governmental Organization) ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ เป็นคนจังหวัดระยอง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ท่านเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 เป็นคนจังหวัดชุมพร มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเช่นกัน

ดังนั้น “ผู้แทนภาคประชาชน” ข้างต้น จึงไม่ใช่ผู้แทนของชาวมาบตาพุดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย แต่กลับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่คนละข้างกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การแต่งตั้งในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ถึงการไม่นำพาต่อความสำคัญและไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังไม่ได้ยึดหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินอนาคตของตนเอง แต่เป็นการถือเอาความเห็นของบุคคลภายนอกเป็นสำคัญ
 

ตัวปัญหาคือรัฐธรรมนูญ
มาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” ในกรณีนี้น่าจะมีข้อที่ควรได้รับการแก้ไขบางประการ กล่าวคือ

1. การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน อาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม กระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ

2. การมี “องค์การอิสระ” ในแง่หนึ่งเป็นแนวคิดที่ดี แต่รัฐบาลก็อาจแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่ตนคุ้นเคยซึ่งอาจไม่เป็นกลาง และไม่มีมาตรฐานการแต่งตั้ง การจะมุ่งตั้งกรรมการเฉพาะที่เป็นผู้แทนองค์การเอกชนและผู้แทนสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่พึงทบทวนเป็นอย่างยิ่ง องค์การและสถาบันเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์มาตัดสินอนาคตของชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ หรือผลประโยชน์ของชาติ การตัดสินใจที่ถูกต้องสมควรอยู่บนพื้นฐานการวิจัยอย่างรอบด้านด้วยระบบสหศาสตร์ (Interdisciplinary Approach) มีการวิเคราะห์หักล้างกันด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ผ่านกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง โปร่งใส ไม่ใช่ไปยึดติดกับตัวบุคคลหรือสถาบันใด ซึ่งอาจมีอคติต่อการพัฒนา การมี “องค์การอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้กลับแสดงชัดถึงการไม่เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของชุมชนอย่างแท้จริง ผิดกับเจตนารมณ์ที่อ้าง

3. สิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า การพัฒนาโครงการของชาติย่อมต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ ในขั้นตอนการวางแผนอาจไม่สามารถเล็งเห็นความจำเป็นได้ล่วงหน้าทั้งหมด ชุมชนบางแห่งก็เกิดขึ้นภายหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงอาจมีความจำเป็นในการซื้อหรือเวนคืนทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยมาตราที่ 42 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุให้สามารถเวนคืนได้เพื่อ “กิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม ...” ดังนั้นในกรณีมาบตาพุดนี้ หากมีความจำเป็นรัฐบาลก็สามารถซื้อที่ดินหรือเวนคืนได้ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจริงน่าจะยินดี ดังนั้นสิทธิชุมชนจึงต้องมีขอบเขต ไม่เช่นนั้นก็จะเป็น “กฎหมู่”

สรุป

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สร้าง “องค์กรอิสระ” ที่ไม่เป็นอิสระ ที่น่าจะมีอคติมากกว่า เพราะรับเฉพาะบุคคลผู้เป็นองค์การพัฒนาเอกชนและอาจารย์มหาวิทยาลัยทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่มีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนั้น จำเป็นต้องอาศัยระบบสหศาสตร์ และจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลและการศึกษาที่เป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ โปร่งใส ไม่ใช่ใช้เพียงความรู้สึกหรือลางสังหรณ์ นอกจากนี้ ตามหลักสากลแล้ว เราจะไปเชื่อถือบุคคลได้อย่างไร บุคคลอาจจะเปลี่ยนสีแปรธาตุ จากคนแสนดีเป็นคนเลวก็เคยเห็นมาแล้ว เราต้องสร้างระบบที่เข้มแข็ง ไม่ใช่อาศัยตัวบุคคลไม่กี่คนมาตัดสินอนาคตของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติ

รัฐธรรมนูญนี้สร้างกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงสมควรได้รับการแก้ไข


หมายเหตุ:

บทความนี้เป็นการดัดแปลงจากหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ ดร.โสภณ พรโชคชัยจัดทำขึ้น โปรดอ่านฉบับเต็มได้ที่: http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter.php แต่ในส่วนนี้ตัดเฉพาะกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และการหักล้างต่อสู้ทางความคิดกับกลุ่ม NGOs ที่คิดต่างออกไป

 

อ้างอิง:
อ่านจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย เรื่อง “ประชาชนมาบตาพุดต้องการอุตสาหกรรมต่อไปและโปรดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ลว. 7 ธันวาคม 2552 ได้ที่: http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter17.htm
ข่าว “ชาวชุมชนมาบตาพุดยื่นหนังสือให้รบ.ทบทวนตั้งกก.4ฝ่าย” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1258433775&grpid=03&catid=03
ดูรายละเอียดรายชื่อทั้งหมดที่ http://gotoknow.org/blog/envi/314827
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้ที่ http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/member_c/member_detail1.php?member_id=022 และ http://www.nhrc.or.th/kcontent.php?doc_id=executive
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ รศ. ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ได้ที่ http://stscholar.nstda.or.th/sis/st_scholar.php?ScholarID=2494
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้ที่ http://www.newpoliticsparty.net/about-party
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ได้ที่ http://www2.nesac.go.th/nesac/th/about/members_detail.php?did=06100078
โปรดดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons2550.pdf
โปรดดูรายละเอียดตามข้อ 8 ข้างต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท