Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
(หมายเหตุ การเน้นข้อความโดยตัวเอียงและตัวหนา มาจากต้นฉบับเดิม)
 
 
 
 
รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ในสถานที่เกิดเหตุ ที่แรงงานพม่าเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ
 
ผ่านไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีกว่ากับเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่จังหวัดระนองได้เกิดเรื่องน่าสลดใจคือ รถตู้คอนเทนเนอร์ขนแรงงานต่างชาติทั้งชาย หญิง และเด็ก จำนวน 121 คน เดินทางเพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดภูเก็ต ในระหว่างทาง แอร์ในตู้คอนเทนเนอร์เกิดเสียเป็นเหตุให้เกิดผู้เสียชีวิต 54 ราย เป็นชาย 17 คนและหญิง 37 คนในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 คน ผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล 21 คน และถูกดำเนินคดีข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายต่อศาลจังหวัดระนอง ส่วนคนขับหลบหนีก่อนจะเข้ามอบตัวในภายหลังซึ่งนำมาสู่การดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
 
จากกรณีดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้เพื่อร่วมหาหนทางในการแก้ไขและป้องกัน จนเกิดความร่วมมือในระดับต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนรวมถึงองค์การสหประชาชาติ ประเด็นที่สำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมีหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็น ‘ในด้านความเป็นมนุษย์’ หรือ “หลักสิทธิมนุษยชน”
 
Ms. Gwi-Yeop Son ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติได้กล่าวไว้ในเวทีสัมมนา “ 1 ปี โศกนาฎกรรม แรงงานพม่า วันนี้ยังมีความหวัง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ว่า “เพื่อพิจารณา 4 หลักการที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จ และแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวให้ก้าวหน้าได้ ไม่ว่าอาชญากรรมนั้นจะเป็นการค้ามนุษย์ หรือการลักลอบเข้าเมือง ไม่ว่าปัจเจกบุคคล หรือองค์กร ที่ทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวต้องยึดหลัก 4 ประการ”
 
           หลัก 4 ประการนั้นคือ
           1. มนุษยธรรมมาก่อนการบังคับใช้กฎหมาย
           2. การใช้มาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนกับชาวต่างชาติอย่างสมบูรณ์ และทุกสภาพของวงจรการเคลื่อนย้ายของบุคคล ทั้งภายใน หรือภายนอกประเทศ
           3. การพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย  เนื่องจากขณะนี้ยังมีช่องว่างระหว่างตัวบทกฎหมาย กับการบังคับใช้กฎหมาย
           4. การพัฒนาการเข้าถึง และคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวโยงกับประเด็นนี้  สำหรับทุกฝ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐบาล ภาคเอกชน รวมถึงแรงงานต่างชาติเอง อาทิ ข้อมูลเรื่องการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย  กฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นของบุคคล กระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างชาติของประเทศไทย ระเบียบของการจ้างงานหรือระเบียบแรงงาน   เนื่องจากปัญหาของการแสวงประโยชน์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นนั้น มีสาเหตุจากความเข้าใจผิด และการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายที่มีอยู่ในประเทศไทย
 
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะทำงานทั้งระดับจังหวัดและองค์กรภาคี อาทิ สภาทนายความ สำนักงานอัยการจังหวัดระนอง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระนอง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดระนอง ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น (IOM) จังหวัดระนอง มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน ภายใต้(มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป-SNF) ได้จัดเวทีสัมมนาขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดระนอง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ต่อการแก้ไขและป้องกัน
 
ปัจจุบันความคืบหน้าในส่วนของคดีความ ทีมทนายความจากสภาทนายความ โดยนายนัสเซอร์ อาจวารินได้ให้ข้อมูลว่า “ในส่วนของคดีอาญา ภายหลังจากที่ได้มีการจับกุมและออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 6 ราย และมีการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดระนอง ในข้อหาร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ร่วมกันให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ จำเลยซึ่งเป็นคนขับและคนนำพา 2 คนให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาจำคุกรายละ 6 ปี ส่วนจำเลยอีก 4 คน ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดและต่อสู้คดี ศาลกำหนดนัดตรวจเอกสารในเดือนพฤศจิกายน 2552 และจะมีการสืบพยานโจทก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ผู้รอดชีวิตในฐานะผู้เสียหายและในฐานะทายาทของผู้เสียชีวิต ได้ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดระนอง และยื่นคำร้องขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา แต่พนักงานอัยการปฏิเสธการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ส่วนคำร้องขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนก็ยกเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าสามารถไปยื่นฟ้องเป็นคดีได้อีกต่างหาก ปัจจุบันได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8”
 
ในด้านสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ (ส่วนเงินค่าชดเชยเบื้องต้น) คณะทำงานได้ร่วมมือกับจังหวัดระนองและจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่า ในการประสานงานเกี่ยวกับเอกสารความเป็นทายาท นำไปยื่นขอรับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น (ค่าปลงศพ) ต่อบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ยอมจ่าย คณะทำงานจึงรับมอบอำนาจให้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต่อมาคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้จ่ายเงินให้กับทายาทผู้เสียชีวิตจำนวน 37 รายๆ ละ 35,000 บาท ส่วนรายอื่นๆเอกสารไม่เรียบร้อยและไม่ครบถ้วน อยู่ระหว่างดำเนินการ 
 
ในส่วนคดีแพ่ง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 คณะทำงานได้ยื่นฟ้องบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด ต่อศาลจังหวัดพระโขนง ฐานความผิดผิดสัญญาประกันภัย เรียกเงินค่าชดเชยจำนวน 65,000 บาท และจำนวน 100,000 บาท (บางราย) โดยมีทายาทผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีจำนวน 37 ราย (เป็นผู้เสียชีวิต 39 ศพ) เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2185-2223/2552 ซึ่งศาลได้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้ง 37 สำนวนเข้าด้วยกันและศาลได้มีการสืบพยานโจทก์-จำเลย และพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากตามเงื่อนไขกรรมธรรม์ประกันภัยข้อ 18.7 คนขับรถได้มีการนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปใช้ในการกระทำความผิด จำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ทั้ง 37 ราย แต่ศาลก็ได้รับรองความเป็นทายาทและการมอบอำนาจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมอุทธรณ์คดี”
 
อีกด้านหนึ่งจากอัยการจังหวัดระนองให้ความเห็นว่า “ในกรณี 54 ศพ เป็นคดีที่มีความผิดทั้งคดีทางอาญาและทางแพ่ง    โดยการนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ตามกฎหมายอาญาหมายถึง ผู้เสียหายโดยนิตินัยคือผู้เสียหายที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น จึงถือว่าเป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายในส่วนนี้สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้หรือจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ ในกรณีที่ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอาญา ทางกฎหมายจึงไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ถึงแม้ว่าจะตกเป็นผู้ถูกกระทำ จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฟ้องดำเนินคดี
 
ในกรณี 54 ศพนี้ เป็นกรณีที่ผู้ประสบเหตุหลบหนีเข้าเมืองมาและมีส่วนที่จะสมัครใจขึ้นไปบนรถตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีความสมัครใจและรู้อยู่แล้วว่าการเข้าไปจะมีความเสี่ยงและอาจได้รับอันตรายได้ พอเหตุเกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจากความประมาท ศาลก็มองว่าผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองมามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยจึงไม่ถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งกฎหมายใหม่กำหนดให้เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้ได้ เมื่อศาลเห็นว่าผู้ที่ขอเข้ามาไม่ได้เป็นผู้เสียหายศาลก็จะยกคำร้องไม่พิจารณาคดีให้ แต่ในส่วนนี้สามารถที่จะไปฟ้องเป็นคดีแพ่งได้” อัยการ จังหวัดระนอง กล่าว
 
ในภาคส่วนของฝ่ายตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ทำหน้าที่ในภาคส่วนการป้องกันนั้น ให้ภาพหลังจากเกิดเหตุการณ์กรณี 54 ศพนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าถามว่าผลจากกรณีนี้จะส่งผลอย่างไรในการสัญจรข้ามแดน จากหน้าที่โดยตรงเราดูแลในเรื่องการสัญจรข้ามแดนในเส้นทางอนุญาตเป็นไปอย่างปกติทั้ง 3 ช่องทาง แต่ถ้าถามว่าในช่องทางที่ไม่ได้รับอนุญาตยังมีอยู่ไหม ตลอดแนวชายแดนทั้ง 3 ด้านยังมีปัญหาอยู่ทั้งตลอดแนวชายแดนตั้งแต่ภาคเหนือไล่ลงมายังมีการลักลอบข้ามมาแบบผิดกฎหมายอยู่ ถ้ามองในแง่ตัวบทกฎหมายก็คือเป็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดนแต่ถ้ามองในแง่ของวิถีของคนที่จะเข้ามาเพื่อแสวงหางานทำ มันก็เป็นไปในลักษณะของวิถีที่มีความเป็นมาและก็จะยังเป็นไปอยู่ ถ้าถามว่าจะมีข้อยุติหรือจะมีความเป็นไปอย่างไร ในด้านมิติของการแก้ปัญหาในเรื่องของการลักลอบเข้าเมืองก็ดี หรือจะให้พูดก็คือการไหลของผู้ที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ก็คงตอบลำบากว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะไม่ให้เขาเดินทางเข้ามาในบ้านเรา ถ้าเขามองว่าเขาอยู่ในบ้านเขาแล้วเขาไม่ต้องมีชีวิตที่ดิ้นรนหรืออยู่ในบ้านเขาแล้วมีงานทำ มีสภาพชีวิตที่ดีนั่นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เขาจะไม่เดินทางลักลอบเข้ามาในบ้านเรา”
 
ในส่วนของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดระนอง ได้กล่าวว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ยังไม่ได้บังคับใช้ แต่ปัจจุบันหน่วยงานเป็นองค์กรหลักในพื้นที่ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลพวงประการหนึ่งจากเหตุการณ์นี้ คือการเกิดขึ้นของบ้านพักเด็กและครอบครัว ในจังหวัดระนอง ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และบ้านพักและฝึกอาชีพชาย จังหวัดระนอง เพื่อรองรับและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย อันส่งผลดีต่อการทำงานในพื้นที่ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และผู้ถูกกระทำในกรณีต่างๆ ได้ต่อไป
 
หลังจากจบจากเวทีสัมมนา ตัวแทนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการสัมมนาในนี้ว่า “เหตุการณ์นี้ได้สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในหลายระดับ คือ ระดับภาครัฐต่อรัฐ หรือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับสู่ประเทศ การบำบัดฟื้นฟูด้านจิตใจทั้งตอนที่เขาอยู่ที่นี่และตอนที่กลับไปยังประเทศพม่า ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหาย     นอกจากนั้นในระดับจังหวัด ในระดับพื้นที่ก็เกิดเครือข่ายภาคีทั้งจากภาครัฐบาล และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อการเรียกร้องและรักษาสิทธิให้กับแรงงานกลุ่มนี้ จนพัฒนามาเป็นคณะกรรมการในระดับจังหวัด ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากผู้ว่าราชการจังหวัด   
 
ที่สุดแล้วเราทุกคนทำงานที่ตั้งเป้าหมายจากฐานของสิทธิมนุษยชน   ที่สะท้อนจากการประชุมของคณะกรรมการในระดับจังหวัด ซึ่งเรามีความเห็นร่วมกันว่า ผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สมควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับในสิ่งที่ควรจะได้รับอย่างเต็มที่ “อย่างเต็มที่” ในที่นี้คือ การตัดสินใจนั้นไม่ได้ออกมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นภาคีที่ตัดสินใจร่วมกัน เพราะฉะนั้นจึงมีการประชุมในวันนี้เกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังอาณาเขตของไทยเป็นจำนวนมากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน   ดังนั้นเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การสร้าง “มาตรฐาน และจารีตของสังคม” ในการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ที่อาจประสบเหตุในลักษณะเดียวกัน   ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นต้องหาคำตอบที่เหมาะสมให้กับเหตุการณ์นี้ ที่ต้องคำนึง ทั้งด้านมนุษยธรรม ความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปพร้อมกัน     นอกจากนี้หากกรณีนี้สามารถถ่ายทอดเป็น “บทเรียน” ในกระบวนการทำงานร่วมกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และรักษาสิทธิต่อผู้ประสบเหตุอันไม่คาดฝันจนถึงแก่ชีวิต หรือต้องบาดเจ็บ และสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็นับเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่อีกมากมาย ที่หนีภัยความขัดแย้ง และความยากจนจากประเทศของตนเอง มาพึ่งพาร่มเงาแห่งมนุษยธรรมของสังคมไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net