Skip to main content
sharethis

คุยกับ "กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล" เจ้าของห้างค้าส่ง – ค้าปลีกท้องถิ่นที่สงขลา ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้สามารถที่จะต่อกรกับธรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ เขาไม่ได้มองผลกระทบแค่เพียงจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของต่างชาติเท่านั้น หากแต่พวกโมเดิร์นเทรดทั้งหมดด้วยที่จะกลืนกินค้าปลีกไทย

 

กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุ
 
การเปิดสาขาของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของต่างชาติมีขึ้นทั่วทุกจังหวัดพอๆ กับการประท้วงคัดค้านของคนในพื้นที่นั้นๆ เช่นเดียวกับที่จังหวัดสงขลา ซึ่งล่าสุดคือการประท้วงคัดค้านการเปิดสาขาสะเดาของห้างเทสโก้ โลตัส ของผู้ประกอบการ ร้านค้า ยี่ปั๊ว พ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่ เพราะมองเห็นถึงผลกระทบที่พวกเขาอาจต้องเจอ
 
แต่ผลกระทบจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ในสายตาของเจ้าของห้างค้าส่ง – ค้าปลีกท้องถิ่นอย่าง นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เค แอนด์ เค ซุปเปอร์ค้าส่ง หรือ K & K ในฐานะอุปนายกสมาคมค่าส่ง –ปลีกไทย ภาคใต้และพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทยในจังหวัดสงขลา ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่แค่ห้างขนาดยักษ์เท่านั้น แต่รวมถึงธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหมด ที่เรียกว่า โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ด้วย
 
เป็นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า (Department Store) เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ 2.ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Supercenter) หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือดิสเคานต์สโตร์ เช่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ 3.ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) เช่น ท็อปส์ 4.ร้านค้าเงินสดและบริการตนเอง หรือแคชแอนด์แคร์รี่ (Cash & Carry) เช่น ห้างแม็คโคร 5.ร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) เช่น บูทส์ วัตสัน 6.ร้านค้าสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ท (Convenience Store) เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น และ 7.ร้านค้าประชันชนิด หรือแคติกอรีคิลเลอร์ (Category killer) เช่น พาวเวอร์บาย ออฟฟิศดีโป้
 
000
 
ผลกระทบจากธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่ธุรกิจข้ามชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทย พวกยี่ปั๊ว ร้านค้าท้องถิ่นและโชว์ห่วยทั้งหลาย ยังไม่ค่อยตื่นตัว เมื่อปี พ.ศ.2537 มีการเปิดสาขาห้างต่างชาติที่เชียงใหม่ ปลายปีก็มาเปิดสาขาที่หาดใหญ่ เราในฐานะที่อยู่หาดใหญ่ ก็เริ่มเห็นผลกระทบของผู้ประกอบการท้องถิ่น เจอโมเดิร์นเทรดกระแทกอย่างรุนแรง
 
แม้แต่ที่เชียงใหม่ที่มีผู้ประกอบการรวมตัวเป็น ชมรมจตุรภัณฑ์ โดยห้างตันตราภัณฑ์เชียงใหม่เป็นโต้โผใหญ่ สังเกตได้ว่า ห้างตันตราภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 5 สาขา ถึงกับเลิกไปเลย
 
หลังจากนั้น ห้างต่างชาติเริ่มกระจายไปหัวเมืองต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น อุดรธานี ระยอง จันทบุรี โดยแต่ละภาคเมื่อเริ่มห้างต่างชาติ พวกยี่ปั๊วก็เริ่มมีการรวมตัวกัน เมื่อ พ.ศ.2539 ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ พวกเราจะทำอย่างไรดี แต่ก็เป็นการรวมตัวกันหลวมๆ
 
จากนั้น พ.ศ.2543 ก็เริ่มจัดตั้งเป็นสมาคมค้าส่ง – ปลีกไทย เพื่อเจรจากับรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตอนนั้นนายอดิศัย โพธารามิก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
 
เนวิน ดูแลเรื่องนี้ ก็รับเรื่องแล้วชงไปที่คณะรัฐมนตรี แล้วก็ให้สมาคมค้าส่ง – ปลีกไทย มีโอกาสได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่จังหวะที่นัดหมายเข้าพบนายกรัฐมนตรีนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดอาการป่วย เนื่องจากหูอื้อ ก็เลยไม่ได้พบ แต่ได้พบรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งนายสมคิดก็รับเรื่องไป
 
หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงิน 324 ล้านบาท จัดตั้งเป็นบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง หรือเออาร์ที (ART) ซึ่งตอนนี้ก็ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน เพราะงบประมาณถูกใช้ไปจนหมด
 
การแก้ปัญหาโดยภาครัฐในลักษณะนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ถูกจุด คือมีความเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากเออาร์ที ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรวมซื้อ โดยให้ผู้ประกอบการสมัครเป็นสมาชิกของเออาร์ที แล้วก็ไปสมัครกับธนาคารกรุงไทย หรือนครหลวงไทย เพื่อให้ธนาคารอนุมัติวงเงิน แล้วเวลาสั่งออเดอร์ (สั่งซื่อสินค้า) ผ่านหอการค้าจังหวัด แล้วแต่ใครอยู่จังหวัดไหน ก็สั่งผ่านหอการค้าจังหวัดนั้น
 
จากนั้นหอการค้าก็จะรวบรวมแล้วส่งต่อออเดอร์ไปที่เออาร์ที แล้วเออาร์ทีก็จะส่งยอดมูลค่าสินค้าไปที่ธนาคาร เพราะเออาร์ที ไม่ได้ออกสินเชื่อเอง เมื่อธนาคารอนุมัติวงเงินก็จะส่งของไปที่ลูกค้า แล้วเดือนต่อไป ลูกค้าก็จะเอาเงินไปจ่ายที่ธนาคาร แล้วสั่งออเดอร์มาที่หอการค้าอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวความคิดดี แต่เนื่องจากหอการค้า ไม่มีความชำนาญด้านนี้ ขณะที่ร้านค้าโชว์ห่วยกับร้านค้าท้องถิ่นนั้นอยู่ห่างไกลกันมาก
 
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของหอการค้าก็ไม่มีความรู้มาก ปรากฏว่า ตอนนั้นทางหอการค้าจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ผมดูแลและลองศึกษาข้อมูลดู ผมก็ลงทุนไปเปิดบัญชีกับทางธนาคารนครหลวงไทย และยื่นขอวงเงิน ปรากฏว่า 6 เดือนผ่านไป ยังไม่อนุมัติวงเงินเลย ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไม แล้วเมื่อไหร่ผู้ประกอบการจะได้ค้าขาย
 
ขณะนั้นมีผู้ประกอบการหลายรายที่สั่งออเดอร์ผ่านทางเออาร์ที แต่ก็มีอุปสรรคมาก อย่างเช่นผู้ประกอบการร้านค้ารายหนึ่งอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กับอีกรายหนึ่งอยู่ที่อำเภอนาทวี ซึ่งสามารถสั่งซื้อหรือออเดอร์สินค้ารวมกันได้ แต่ในภาคปฏิบัติ คือ เขาสั่งซื้อสินค้าชิ้นเล็กๆ เช่น ซื้อยาสีฟันหนึ่งโหล แล้วบริษัทคอลเกตเจ้าของผลิตภัณฑ์เขาจะส่งให้คุณหนึ่งโหลไปที่ อ.นาทวีได้อย่างไร หรือปลากระป๋อง 10 กระป๋อง ขณะที่เออาร์ทีก็ไม่มีคลังสินค้าที่จะมาแพ็กกิ้งหรือบรรจุหีบห่อให้ เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้ก็เลยต่ำ
 
เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าลูกค้าไม่สะดวกซื้อ สองซับพลายเออร์หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่สะดวกส่ง เออาร์ทีก็เลยค่อยๆ เล็กลงๆ เพราะมีแต่รายจ่ายแต่ไม่มีรายรับ
 
นั่นก็แสดงว่า การที่รัฐบาลให้เออาร์ทีมาก็ไม่เกิดผล ทางสมาคมค้าส่ง – ปลีกไทย จึงพยายามผลักดันกฎหมายค้าปลีก โดยเมื่อ พ.ศ.2546 มีการประชมที่จังหวัดอุดรธานี แต่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า ไม่ได้ เพราะประเทศไทยจดทะเบียนกับองค์การการค้าโลก หรือ WTO ดังนั้นการค้าเสรีจะมีกฎหมายค้าปลีกมากีดขวางไม่ได้ แต่ให้เปลี่ยนเป็นการออกกฎหมายผังเมืองแทน
 
พระราชบัญญัติผังเมืองกำหนดว่า ถ้าผู้ประกอบการค้าปลีกจะสร้างห้างร้านขนาดพื้นที่ใช้สอยเกิน 300 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องอยู่ในระเบียบของผังเมือง แล้วถ้า 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ก็อยู่ในผังเมืองขั้นที่สอง ซึ่งกฎหมายจะเข้มงวดมากขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น
 
แต่หลังจากมีการใช้กฎหมายผังเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว ปรากฏว่า โมเดิร์นเทรดมีการเปิดสาขากันเยอะ ซึ่งเปิดกันได้ เพราะในกฎหมายมีข้อยกเว้นข้อหนึ่งว่า ถ้าท้องถิ่นใดต้องการให้เปิดสาขาของโมเดิร์นเทรดก็สามารถทำได้ โดยล่ารายชื่อมา 2 พันรายชื่อ เพื่อขอเปิดสาขา เพราะฉะนั้นจึงไม่ยากสำหรับท้องถิ่นที่ต้องการ นั่นคือช่องว่าง จนปัจจุบัน โมเดิร์นเทรด มีการเปิดสาขากันเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว ส่วนกฎหมายค้าปลีกก็ยังไม่เกิด
 
ดังนั้นสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย ที่เป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วย ก็ได้ประสานงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า มีช่องทางอะไรที่ช่วยผู้ประกอบการบ้าง คือ จะออกกฎหมายไปห้ามไม่ให้โมเดิร์นเทรดเกิดขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะหยุดให้เขาทำการค้าขายเป็นไปไม่ได้ ก็มีอย่างเดียวคือ มาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ค้าส่ง ค้าปลีก รวมถึงรายย่อยต่างๆที่มีอยู่
 
เพราะฉะนั้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงมีความคิดในเรื่องการสร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาได้เริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนกันยายน 2552 ที่ผ่านมา โดยหาผู้ประการธุรกิจที่มีความแข็งแรง และมีอำนาจในการต่อรองสินค้ากับซับพลายเออร์ (เจ้าของผลิตภัณฑ์) แล้วนัดผู้ประกอบการรายย่อยให้มาพบกัน เพื่อให้ความรู้ว่า การรวมกลุ่มดีอย่างไร
 
วิธีการเหมือนกับเออาร์ที แต่ย่อส่วนเฉพาะพื้นที่ เพราะรวมออเดอร์ไปที่เออาร์ทีซึ่งอยู่ส่วนกลาง กาดูแลจะยากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อแต่ละท้องถิ่น แต่ละอำเภอ หรือแต่ละจังหวัดมีตรงนี้แล้ว ก็จะง่ายขึ้น เพราะเป็นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการให้รวมกลุ่มกัน แต่ก็ไม่มีข้อผูกมัดว่า ห้ามร้านค้าปลีกรายย่อยซื้อสินค้าจากโมเดิร์นเทรด เพียงแต่เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ สามารถค้าขายหรือหาทางเลือกในการซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการค้าขายให้กับผู้บริโภคด้วย
 
แต่ขณะเดียวกัน เราเองก็ยังคาดหวังกฎหมายค้าปลีกอยู่ว่า น่าจะเป็นเครื่องมือช่วย เพราะเนื้อในของกฎหมายค้าปลีก จะมีเรื่องของความเป็นธรรมของผู้ประกอบการ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าไม่มีกติกา รายใหญ่ก็จะได้เปรียบ
 
 
ความคืบหน้าในการออกกฎหมายค้าปลีก
ตอนนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีและการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอนำเข้าพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
 
 
ในร่างกฎหมายค้าปลีกดังกล่าว มีประเด็นใดบ้างทีเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการค้าส่ง ปลีกไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคใต้ ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติค้าปลีกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เรื่องคณะกรรมการที่จะมากำกับดูแลตามร่างๆกฎหมายนี้ คือยังไม่ให้คณะกรรมการระดับจังหวัด เพราะเรามองว่าคณะกรรมการระดับจังหวัดน่าจะมีอำนาจระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะอุทธรณ์เรื่องต่างๆ ถึงจะส่งไปคณะกรรมการกลางพิจารณาได้
 
เนื้อในของร่างกฎหมายที่เราต้องการ คือ กรณีที่มีผู้จะเปิดร้านค้าปลีก จะต้องยื่นขอต่อคณะกรรมการจังหวัด แล้วคณะกรรมการจังหวัดก็มาตรวจโดยใช้วิธีการว่า พื้นที่ที่ผู้ประกอบการจะขอเปิดสาขา มีอัตราส่วนระหว่างผู้บริโภคกับจำนวนร้านค้าเดิมสมดุลกันหรือยัง พิจารณาง่ายๆ โดยใช้สูตรว่า ประชากรเท่าไหร่ต่อร้านค้ากี่ร้าน ถ้ามีร้านค้าพอแล้ว การเปิดสาขาเพิ่มจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากเกินไป คณะกรรมการจังหวัดมีสิทธิที่จะไม่อนุมัติให้เปิดก็ได้ เพื่อความสมดุล ไม่อย่างนั้นจะโอเวอร์ซับพลาย(เกินความต้องการ) ถ้าไปยื่นแล้ว พบว่าจำนวนประชากรน้อยกว่าร้านค้าแล้ว มันก็ไม่ควรจะเปิด
 
เมื่อโอเวอร์ซับพลายแล้ว ก็หมายความว่า คนที่แข็งแรงกว่า สายป่านยาวกว่า ก็จะอยู่ได้นาน แล้วคนที่สายป่านสั้นก็ต้องล้มเลิกไป ถามว่าคนที่สายป่านสั้นนั้น คือใคร ก็คือผู้ประกอบการในท้องถิ่น สมมุติห้างเคแอนด์เคเอง จะไปเปิดสาขาที่ตลาดบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ ถ้ามองว่าที่ตลาดบ้านพรุมันก็พอแล้วนี้ ถ้าเราไปเปิดสาขาอีก ร้านค้าแถวนั้นก็มีโอกาสต้องเลิกกิจการไปสองราย สามราย แล้วถามว่า เคแอนด์เค ไปทำร้ายท้องถิ่นใช่หรือไม่
 
อีกประเด็นหนึ่งคือขนาดของพื้นที่ ผมเห็นด้วยว่า พื้นที่ขายจะต้องรวมกับพื้นที่อื่น เช่น ห้องทำงาน ห้องน้ำ และห้องเก็บสินค้า ให้อยู่ในพื้นที่ขายด้วย ไม่ใช่นับเฉพาะพื้นที่ขายจริงๆ อย่างเดียว อย่างที่บอกว่า 300 ตารางเมตรข้างต้นตามพระราชบัญญัติผังเมือง นับอะไรบ้าง นับพื้นที่ขายหรือนับพื้นที่รวม
 
สำหรับพื้นที่ 300 ตารางเมตรนั้น ห้างใหญ่ๆ ไม่คัดค้านอยู่แล้ว เพราะพื้นที่ขนาดนี้ เท่ากับห้องแถว 3 ห้องเท่านั้น ซึ่งคนที่ทำห้างขนาดนี้ คือ โลตัสเอ็กเพรส ซึ่งในกรุงเทพมีเยอะ ถ้าบอกว่าพื้นที่ขาย 300 ตารางเมตร แต่พื้นที่เก็บของไม่นับ รวมแล้วก็แสดงว่าเกิน 300 ตารางเมตรแล้ว
 
ห้างโลตัสเอ็กเพรสมีพื้นที่อยู่ที่ 300 ตารางเมตรถึง 300 ตารางเมตรเศษๆ ส่วนร้านเซเว่น อีเลฟเว่นพยายามเบ่งตัวเองจาก 200 ตารางเมตร เป็น 300 ตารางเมตร เพื่อให้เท่ากับโลตัสเอ็กเพรส ตอนนี้กำลังเกี่ยงงอนกันอยู่ แต่สำหรับผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่น มีไม่ถึง 300 ตารางเมตรอยู่แล้ว
 
 
แล้วผลกระทบจริงๆ คืออะไร
ถ้าเป็นโมเดิร์นเทรดรายยักษ์ อย่าง คาร์ฟูร์ บิ๊กซี โลตัส มีผลกระทบต่อร้านค้าส่งอย่างเคแอนด์เค ลีวิวัฒน์ โอเดียน โวค (ห้างค้าส่ง – ค้าปลีกในจังหวัดสงขลา) แต่ถ้าโลตัสเอ็กเพรส หรือเซเว่น อีเลฟเว่น จะมีผลกระทบต่อร้านค้าหน้าปากซอย ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายยังไม่สามารถไปสกัดกั้นร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้เลย
 
สิ่งที่ผมเคยเสนอในการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการออกกฎหมายค้าปลีกว่า อย่าให้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง นั่นก็คือ อย่าไปมองตัวห้างใหญ่ๆ แต่ให้มองตัวเล็กๆ ของโมเดิร์นเทรด เพราะห้างตัวเล็กๆ มันจะกินร้านค้าย่อย
 
แต่เนื่องจากว่าบางท่านไปมองแต่ตัวใหญ่ แต่ลืมเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งที่เซเว่น อีเลฟเว่นทำให้ร้านค้าย่อยตาย เพราะเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดขาย 24 ชั่วโมง เราก็สู้เขาไม่ได้ ที่น่ากลัวคือเซเว่น อีเลฟเว่น แต่ไม่มีใครเอ่ยชื่อเซเว่น อีเลฟเว่นเลย ไปมองที่ตัวใหญ่ แต่ไม่ได้มองที่ตัวเล็กที่จะมาชนกับร้านค้าปลีก ซึ่งร้านค้าปลีกก็คือลูกค้าของ เคแอนด์เคนั่นเอง แม้ร้านค้าปลีกจะไปซื้อสินค้ามาจากห้างแม็คโคร หรือห้างคาร์ฟูร์ไปขายในร้านของตัวเองก็ตาม แต่คู่แข่งเขาก็คือเซเว่น อีเลฟเว่น
 
 
การสร้างเครือข่ายตอนนี้ทำไปถึงขั้นไหนแล้ว
ตั้งแต่เดินกันยายน 2552 ที่เริ่มมา เราได้ข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจจริง แล้วในวันนั้นก็มีการซื้อของ เป็นลูกค้ากันแล้ว ส่วนบางรายก็เป็นลูกค้าเดิม จากนั้นมีการติดตามว่า ท่านต้องการให้เราช่วยอะไรบ้าง ตามหน้าที่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องการให้ช่วย เช่น อยากให้จัดรูปแบบร้านใหม่ เราก็ส่งทีมงานไปช่วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะถ้าวันนั้นเราประกาศว่าจะจัดร้านให้ เราทำไม่ทันแน่
 
เราโทรศัพท์ไปถามว่า เข้ามาร่วมงานกับเราแล้วต้องการให้เคแอนด์เคช่วยอะไรบ้าง คำตอบกลับมาคือ อยากให้เคแอนด์เคให้เครดิต อยากให้จัดงานอย่างนี้บ่อยๆ อยากให้ไปจัดร้าน อยากให้บอกเทคนิคในการบริหารลูกน้อง ตรงนี้เราได้รวบรวมข้อมูลไว้ แต่ถ้าต้องการให้จัดร้าน เราส่งทีมงานไปถ่ายรูปร้านก่อน แล้วก็สัมภาษณ์ว่าอยากให้แก้อะไร บางร้านผมไปเอง
 
อย่างที่ร้านหนึ่งที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เขาตั้งตู้แช่ไว้หน้าร้าน ผมบอกว่าพื้นที่ในร้านไม่ต้องขายเลย เพราะตู้แช่บังเกือบครึ่งห้อง ทำให้ไม่สะดวก ดูอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นเขาตั้งตู้แช่ไว้ด้านหลัง แล้วก็มีไฟสว่าง ไม่ใช่สลัวๆ
 
เรื่องการเชื่อมโยงเราได้อะไรบ้าง จริงๆแล้ว ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้ คือ เรื่องการรวมซื้อที่ได้ประโยชน์ได้ร่วมกัน สมมุติซื้อสินค้า 100 หีบ ต้นทุน 100 บาท แต่ถ้าซื้อได้ 500 หีบ ต้นทุนอาจจะเหลือ 95 บาท แล้วก็มาแบ่งกัน ต้นทุนที่ทุกคนได้ก็คือ 95 บาทเท่ากัน บางคนอาจมีกำลังซื้อแค่ 10 หีบ ต้นทุนอาจจะ 120 บาท 50 หีบ ต้นทุนอาจจะ 110 บาท แต่พอรวมกัน ต้นทุนเหลือ 95 บาท เราก็เอา 95 บาทมาแบ่งกัน ทุกคนจะได้ราคาต้นทุนต่ำพร้อมกัน แทนที่จะให้คนหนึ่งซื้อ 120 บาท อีกคนหนึ่งซื้อ 110 บาท มาเป็น 95 บาทร่วมกัน เคแอนด์เคเองก็ได้ 95 บาท แต่เคแอนด์เคเองก็ได้เรื่องการการเป็นผู้นำในการจัดรวมซื้อ ก็จะมีประโยชน์สมประสบด้วยกันทุกฝ่าย เราก็ได้ รายย่อยก็ได้ เรียกว่า วิน-วิน นี่คือนโยบายของการสร้างเครือข่าย
 
 
ตอนนี้เริ่มเห็นผลอย่างไรบ้าง
เริ่มมีการตอบรับมาบ้าง แล้วเราจะจัดงานนี้อีกครั้งหนึ่ง ในวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2553 โดยรอบนี้จะเชิญผู้ประกอบการที่อยู่ในรายชื่อมาพูดคุยกันว่า จะปรับแต่งอะไรบ้าง แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้การเชื่อมโยงเครือข่ายแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม
 
 
เมื่อรวมกลุ่มและจัดร้านแล้ว ได้ไปถึงเรื่องการจัดโปรโมชั่นร่วมกันหรือยัง
การทำโปรโมชั่นร่วมกัน ก็ทำต่อเนื่องกันอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการจัดร้าน โดยทยอยทำทีละร้าน เพราะทีมงานไม่พอ ร้านไหนที่จัดเสร็จแล้วก็เอามาขึ้นเว็บไซด์ เพื่อเสนอให้เห็นสภาพก่อนจัดร้านและหลังจัดร้านว่า แตกต่างกันอย่างไร ตอนนี้กำลังจัดทำเว็บไซด์อยู่
 
 
การรวมกลุ่มลักษณะนี้มองในระยะยาวเราจะสู้โมเดิร์นเทรดได้อย่างไร
ไม่ได้มองเรื่องสู้ แต่มองเป็นทางเลือก เหมือนกับว่า ถ้าคุณรู้ว่าวิกฤตการแข่งขันแรงอย่างนี้ คุณจะงอมืองอเท้า หรือมีทางเลือกแล้วคุณลองทำดู ข้อสำคัญอยู่ที่ ซับพลายเออร์ หรือโรงงานเจ้าของสินค้า เขาให้น้ำหนักไปทางไหน ถ้าเจ้าของสินค้าให้น้ำหลักไปทางโมเดิร์นเทรด เขาก็จะให้โปรโมชั่น สิทธิพิเศษ หรือเปอร์เซ็นต์ใต้โต๊ะ หรือกิจกรรมการขายสูงกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น พวกเราก็จะเสียเปรียบทันที
 
แต่การรวมกลุ่มอย่างนี้เหมือนกับพวกเรารวมน้ำหนัก เพื่อให้เกิดความสมดุล ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามองว่า ถ้าทุกจังหวัดทำได้อย่างที่เคแอนด์เคทำอยู่ การรวมกลุ่มเพื่อให้ได้ตัวเลขที่มาก ทำให้ซับพลายเออร์เห็นว่า กำลังของผู้ประกอบการในท้องถิ่นกำลังมีการพัฒนา
 
เราไม่ไปว่าซับพลายเออร์ เพราะถ้าเราเป็นเขา เราก็คิดแบบนั้นว่า ใครที่ขายสินค้าเราเยอะ เราก็ให้เขาเยอะ แต่สูตรก็คือ ถ้าน้ำหนักข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป มันจะเกิดการเสียสมดุล สมมุติ สัดส่วนในการสั่งซื้อสินค้าของโมเดิร์นเทรดอาจจะ 60% ผู้ประกอบการท้องถิ่นอาจจะ 40% ถ้าอนาคตโมเดิร์นเทรดขึ้นไป 80% ท้องถิ่น 20% ซับพลายเออร์จะถูกโมเดิร์นเทรดบีบและต่อรองราคา ถ้าคุณไม่ขายเขาก็ไม่ซื้อของคุณ คุณเสียส่วนแบ่งทางการตลาด
 
เพราะอย่าลืมว่า 80% นั้นเป็นของ 4 เจ้าเท่านั้น เจ้าหนึ่งก็มีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 20% ถ้าเกิดเจ้าใดเจ้าหนึ่งไม่ขายสินค้ายี่ห้อนี้ ตัวเลขของซับพลายเออร์หายไปเลย ซึ่งอันตรายต่อซับพลายเออร์มาก
 
ขณะเดียวกันซับพลายเออร์มองว่าลูกค้าของเขามี 3 ส่วน หนึ่งคือ โมเดิร์นเทรด สองคือ ท้องถิ่น และสามคือหน่วยลดของซับพลายเออร์เอง ซึ่งทั้งสามส่วนก็คืออันเดียวกัน เหมือนน้ำที่อยู่ในใบบอนกลิ้งไปกลิ้งมา ถ้าให้น้ำหนักกับโมเดิร์นเทรด น้ำจากท้องถิ่นก็ไหลไปโมเดิร์นเทรดมาก ร้านค้าปลีกย่อยในท้องถิ่นก็แห่ไปซื้อที่โมเดิร์นเทรด ซับพลายเออร์ก็ถือว่าที่เขาส่งเซลแมนมาขายสินค้าและมีค่าใช้จ่าย ก็สูญเปล่า
 
ซับพลายเออร์ก็เลยต้องสร้างความสมดุล จะให้โมเดิร์นเทรดมากก็ไม่ได้ ให้ท้องถิ่นมาก ทางโมเดิร์นเทรดก็จะบีบ จะให้หน่วยลดมากก็ไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง แต่หน่วยลดนี้ เอาไว้สำหรับบริการลูกค้าว่าถ้ามีของเก่าของเสีย หรือกระจายสินค้าใหม่ เพราะฉะนั้นช่องทางธุรกิจของซับพลายเออร์มี 3 ช่องนี้ เหมือนเลี้ยงลูก 3 คน ต้องรักเท่าๆกัน ถึงแม้ตัวพี่จะเป็นโมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่แข็งแรง แต่ก็ต้องเผื่อตัวน้องด้วย
 
ถ้าเรามองภาพตรงนี้แล้วเข้าใจ เราก็ต้องสร้างอำนาจต่อรองเองโดยการรวมค้าปลีก แก้จากรวมค้าปลีกเข้มแข็งขนาดใหญ่ มาเป็นการซอยย่อยระดับจังหวัด เพราะฉะนั้นปีหน้าเราจะเห็นจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีจัดงานอย่างนี้ขึ้น เมื่อทุกจังหวัดเริ่มจัดอย่างนี้ เริ่มมีการรวมกลุ่มหรือเริ่มเช็คกำลังกันว่า ของใครมีน้ำหนักเท่าไหร่
 
 
แนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไรสำหรับค้าปลีกไทย
ผมมองว่า ในอีก 3 ปี หรือ 5 ปี ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ไม่ได้ปรับตัว จะหายไปแน่นอน สาเหตุที่เลิก หลักๆ คือ หนึ่ง เจ้าของร้านมีอายุมากขึ้น สองลูกหลานหรือทายาทไม่สานต่อ หรือ สาม กำไรสู้ค้าใช้จ่ายไม่ได้
 
ถ้าปรับตัวแล้ว ลูกหลานเห็นรูปแบบการค้าแล้วก็ทำต่อ แทนที่จะเห็นการใช้เครื่องคิดเลขธรรมดา ก็ใช้ระบบแคชเชียร์ ระบบบาร์โค้ด มีการวิเคราะห์ตลาด จากเมื่อก่อนมานั่งขายแล้วก็เอาเงินใส่ลิ้นชัก โดยไม่รู้ว่าอะไรขายดี อะไรขายแล้วมีกำไรมาก กำไรน้อย เพราะฉะนั้นการปรับตัวก็ต้องมีการพัฒนาจุดที่ว่า ทำอย่างไรที่จะให้รู้ว่าขายสินค้าตัวไหนมีหรือไม่มีกำไร สินค้าอะไรอยู่ในคลังมากเกิน
 
ส่วนกฎหมายค้าปลีกก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่พูดไปก็เหนื่อยใจตรงที่ ผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยเขาไม่รับรู้ หลายคนไม่รู้ว่าจะมีกฎหมายค้าปลีก แล้วก็ไม่รู้ว่ากฎหมายค้าปลีกจะช่วยอะไรเขาบ้าง แต่ที่จริงผมบอกว่ากฎหมายค้าปลีก จะเป็นตัวสร้างความสมดุลในตลาด อย่างที่บอกว่า ถ้าตลาดนั้นมีร้านค้าโชว์ห่วยมากพอแล้ว จะเปิดร้านใหม่ไม่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้น ร้านใหม่ที่ไปเปิดคือคนที่แข็งแรงกว่า แล้วคนที่อ่อนแอหรือคนที่ไม่ยอมปรับตัวก็จะถูกกลืน ถามว่าเราจะยอมให้ถูกกลืนหรือจะให้วัฒนธรรมนี้อยู่ต่อไป
 
ถ้าเรามองย้อนกลับไปว่า ลูกหลานหลายคนที่เรียนจบปริญญาตรี โท เอก พ่อแม่ขายของชำ ผมมองว่าวัฒนธรรมไทยๆ เราดีอย่าง คือขายของชำอยู่ที่บ้าน โดยที่บ้านไม่ต้องเช่า มีพ่อแม่อยู่ แล้วสามีไปทำงานก็ให้แม่บ้านอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ถ้ามีลูกมีหลานก็มาช่วยเลี้ยง เพราะฉะนั้น พ่อแม่ลูก แม่บ้านหรือหลานที่มาอยู่ที่บ้าน สามารถขายของชำได้ แล้วก็ไม่ต้องชายไกล คือขายคนในย่านนั้น ก็เหมือนกับไปซื้อมาแล้วได้มาแบ่งปันกัน นี่คือวัฒนธรรมที่เรามองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี
 
เราไม่ได้อนุรักษ์ถึงขนาดไทยต้องช่วยไทย แต่มองว่าท้องถิ่นต้องช่วยท้องถิ่น เพราะเขาขายก็ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรมากมาย ขายเพื่อให้เหมือนกับว่าวิถีชีวิตเราอยู่ได้ ดีกว่าปล่อยอยู่เปล่าๆ พูดง่ายๆ คือบ้านไม่ต้องเช่า ลูกน้องก็ไม่ต้องจ้าง
 
 
ฝากอะไรถึงร้านค้าที่ยังไม่ปรับตัว
เอาอย่างนี้ว่า ร้านค้าทั่วไปไม่ต้องปรับตัวแรง เอาให้ได้ตามสูตร 3 อย่างก็คือ สว่าง สะอาด สะดวก สะดวกเท่าที่เรามองว่าสะดวก ไม้ต้องถึงกับว่าลูกค้าเดินเข้าร้านแล้วต้องถอดรองเท้า สะอาดหมายความว่าคุณต้องทำความสะอาดร้าน เพื่อให้ลูกค้าสะดวกซื้อ แล้วก็สว่าง ไม่ใช่ไฟสลัวๆ แล้วก็มีหยากไย่เต็มร้าน วางของระเกะระกะ
 
ถ้าเราได้ปรับตัวแค่นี้ ก็ถือว่าเราได้พัฒนาแล้ว แล้วถ้าเรามีโอกาสได้ส่งไม้ต่อให้กับรุ่นลูก ลูกก็จะมาต่อยอดโดยการใช้ซอฟแวร์นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็มีโปรแกรมให้ใช้ฟรี ใครสนใจก็ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าของจังหวัดนั้นๆ หรือถ้าไม่ได้ ก็มาติดต่อผ่านเคแอนด์เค แล้วเราจะประสานให้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net