Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ว่าแรงงานของมนุษย์ มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งในโลกให้เจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้น “แรงงานจึงสร้างสรรค์สร้างโลก”
 
วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.1997 เพื่อสร้างความตระหนักและปกป้องสิทธิจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆของโลก
 
กล่าวได้ว่าการพัฒนาประเทศไทย ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงที่ว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคนไทยนับหลายล้านคนที่เข้ามาใช้ชีวิต ทำมาหากินในสังคมไทยหรืออยู่ในสังคมไทย อาจจะมาจากประเทศแถบยุโรป ตะวันตก ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี จีน ฯลฯ
 
อาจจะมีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทยก็ได้ บ้างก็มาลงทุนทำธุรกิจ บ้างก็มาเรียนหนังสือ บ้างก็เป็นนักร้อง บ้างก็เป็นหมอ ฯลฯ
 
แต่มีจำนวนไม่น้อยที่มาขายแรงงานในสังคมไทย มาจากแถบประเทศเพื่อนบ้าน หลายคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า เช่น ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ฯลฯ แรงงานส่วนหนึ่งอพยพหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในผืนแผ่นดินไทยด้วยสาเหตุต่างๆ 
 
ผู้คนบางส่วนเดินทางมาจากแดนไกลเพราะหลีกหนีภัยเถื่อนจากอำนาจเผด็จการทหารพม่า ผู้คนบางส่วนพลัดถิ่นมาจากขอบชายแดนประเทศลาว กัมพูชา เพื่อมาแสวงหารายได้กลับไปจุนเจือครอบครัวในพ้นจากความทุกข์ยากในแผ่นดินเกิดของตน
 
และพวกเขาก็คงเหมือนเราเหมือนท่าน ที่ไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดเมืองนอนที่มีอบอุ่นภายใต้อ้อมกอดของบรรพชนไปยังถิ่นฐานที่ไม่เคยพานพบ ต้องห่างไกลจากครอบครัว ญาติพี่น้อง แต่ความจำเป็นของชีวิตกำหนดให้เป็นเช่นนั้น
 
และพวกเขาถูกเรียกว่า “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งมีอยู่นับล้านคนทั่วประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม การมีแรงงานข้ามชาติ ก็ได้สอดคล้องกับสภาวะที่ประเทศไทยเองได้ขาดแคลนในบางกิจการบางประเภทอยู่เช่นกัน อาทิเช่น งานประมง งานก่อสร้าง งานรับใช้ในบ้าน งานเกษตรที่ใช้สารเคมีเข้มข้น งานประมง งานทำความสะอาดบ้าน งานดูแลสวน งานร้านอาหาร งานแบกหาม ตลอดทั้งงานบริการ
 
“แรงงานข้ามชาติ” เหล่านี้ มักใช้แรงงานที่หนักมากๆ ซ้ำซาก และน่าเบื่อหน่ายด้วย หนำซ้ำค่าจ้างต่ำ ไร้สวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปที่มีทางเลือกอื่นๆมักจะไม่ทำกัน
 
หรือสังคมไทยนั้นขาดแคลนแรงงานไทยในบางกิจการ จึงต้องมีแรงงานข้ามชาติ
 
เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย เป็นแรงงานที่ได้ทดแทนแรงงานที่หายากและขาดแคลนในสังคมไทย
 
ขณะที่แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยก็ไปแสวงหาโชคไปขุดทองในประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย หรือแถบตะวันออกกลาง เช่น บรูไน เป็นต้น
 
“แรงงานข้ามชาติ” ได้เดินทางข้ามสายน้ำ ภูดอย มายังแดนขวานทองแห่งนี้นั้น หลายครั้งพวกเขาถูกดูถูกเหยียดหยาม จากบางคนที่ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ หรือผู้ที่ถูกอคติทางชาติพันธุ์ครอบงำอยู่ บางครั้งก็ถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ที่ไร้มนุษยธรรม
 
พวกเขากลายเป็นดั่งพลเมืองชั้นสองที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมไทย แต่ไร้ซึ่งหลักประกันพื้นฐานของชีวิต ไร้สวัสดิการที่ควรจะมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
 
กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ดิ้นรนต่อสู้กับชีวิต เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อรังสรรค์อัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงานของตนเองให้คงไว้ และเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหาของพวกเขา เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ โดยเฉพาะ
 
นโยบายการลงทะเบียนสัญชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย โดยรัฐบาลได้ทำ MOU กับประเทศเผด็จการพม่าที่กำหนดให้แรงงานข้ามชาติ จากประเทศพม่า ต้องไปทำสัญชาติกับรัฐบาลทหารพม่าก่อน จึงจะอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้ โดยไม่ได้ถามแรงงานข้ามชาติเลยว่าพวกเขาคิดรู้สึกอย่างไร?
 
ทั้งๆ ที่ทั่วโลก เขารู้กันดีว่า รัฐบาลทหารพม่ากดขี่ประชาชนมากแค่ไหน การทำสัญชาติพม่าต้องมีเงินใต้โต๊ะ และต้องลงทะเบียนที่อยู่ของครอบครัวพม่าด้วย ซึ่งจะทำให้ทหารพม่ารีดไถเงินจากครอบครัวแรงงานพม่าได้อีกต่อหนึ่งด้วย จากเงินที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานที่แรงงานข้ามชาติเก็บเงินออมน้อยนิดอย่างอดทนประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อส่งให้กับครอบครัวของตนที่บ้านเกิด หรือบางคนที่มีความคิดทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านรัฐเผด็จการอาจจะถูกรัฐบาลทหารพม่า จับเข้าคุกและสังหารได้
 
ดังนั้น วิธีคิดของรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยไทย ไม่ต่างกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแต่อย่างใด และการต่อต้าน การไม่ยอมรับนโยบายนี้ของ “แรงงานข้ามชาติ” เป็นสิ่งที่เราท่านผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมทั้งหลายควรสนับสนุน
 
เพราะแรงงานข้ามชาติ ล้วนร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยร่วมกับพวกเราทุกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net