Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
จากการประชุมที่ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกงาม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ (NAT) ซึ่งได้ประกาศเปลี่ยนจุดยืนองค์กรสู่การสร้างสหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (อ่าน: เครือข่าย NAT ประกาศเจตนารมณ์สู่ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย)ได้มีการสรุปปัญหาและวิเคราะห์สถานการณ์การค้าแรงงานข้ามชาติ
 
ตัวแทนจากคนงานที่ถูกหลอกไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่ประเทศสวีเดน โดยคนงานแบ่งเป็นสองกลุ่มคือคนงานที่ไม่ยอมเซ็นสัญญารับเงินชดเชยจากบริษัทจัดหางานเนื่องจากเห็นว่าค่าชดเชยไม่เป็นธรรม และคนงานที่ยอมเซ็นสัญญารับเงินชดเชยจากบริษัท ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ได้รับเงินไปประมาณ 8,000 – 20,000 บาท แต่ก็ยังไม่พอที่จะนำไปใช้หนี้กับนายทุนเงินกู้ โดยในบางรายกำลังถูกนายทุนเงินกู้ฟ้องร้องต่อศาลแล้ว
 

 
ความล่มจมของไร่บลูเบอร์รี่ในปี 2009 ภาพรวมของธุรกิจเก็บผลบลูเบอร์รี่ในสวีเดน
 
ความเป็นมา
ตุลาคม 2552
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ เกษตรกรรายย่อยจากหมู่บ้านชนบทที่ยากจนในภาคอีสานและภาคเหนือของไทยจำนวนหลายร้อยคนได้เดินทางไปสวีเดนและฟินแลนด์ โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เพื่อไปเก็บผลบลูเบอร์รี่ป่า   รายได้จากการเก็บผลบลูเบอร์รี่ในช่วงเวลา 2-3 เดือน ช่วยให้ครอบครัวของเกษตรกรเหล่านี้มีชีวิตรอดในระหว่างฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศไทย
 
คนงานไทย รุ่นแรกที่เดินทางไปเก็บผลเบอร์รี่ที่สวีเดนส่วนใหญ่เป็นครอบครัวและญาติพี่น้องของหญิงไทยที่แต่งงานกับสามีชาวสวีเดน จากนั้น คนงานรุ่นต่อมาจึงเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือใกล้เคียง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานจากคนงานในรุ่นแรก ช่วงนี้บางรายเริ่มมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนในการช่วยเหลือจากคนงานที่มาใหม่เป็นจำนวนเล็กน้อย (เช่น 5,000 บาท)
 
ในปี 2550 สมาคมผลเบอร์รี่ป่าแห่งสวีเดน (SBIF) และคณะกรรมการตรวจคนเข้าเมืองของสวีเดนได้มีมาตรการให้การเก็บผลเบอร์รี่ป่าทำอย่างเป็นทางการ และไม่ว่าด้วยเจตนาหรือไม่ มันได้ทำให้การเก็บผลเบอร์รี่ป่ากลายเป็นช่องทางหากินสำหรับบริษัทจัดหางานทั้งในประเทศไทยและสวีเดน
 
สมาคมผลเบอร์รี่ป่าได้กำหนดโควตาของแรงงานเก็บผลเบอร์รี่ไว้ บริษัทจัดหางานของสวีเดนจึงทำงานเป็นทีมร่วมกับบริษัทของไทย รับสมัครคนงานเก็บผลเบอร์รี่ และอำนวยความสะดวกในเรื่องของ...
- สัญญาการจ้างงาน
- การจัดการด้านที่พักและการเดินทางสำหรับคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
- เจรจากับสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และ
- สถานทูตสวีเดนในกรุงเทพฯ (ขอวีซ่า)
- จองตั๋วเครื่องบิน
 
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สวีเดนเต็มไปด้วยคนไทยที่ไปเก็บผลเบอร์รี่ จากจำนวนไม่กี่ร้อยคนในราวปี 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 1,129 คน ในปี 2550 และ 3,582 คน ในปี 2551 สำหรับปี 2552 บริษัทจัดหางาน 4 แห่ง จัดส่งคนงานไปทั้งสิ้น 5,911 ราย มีรายละเอียดดังนี้: บริษัท สยาม รอแยล เซอร์วิส กรุ๊ป จำนวน 2,372 ราย, บริษัท สิน ซันไชน์ จำนวน 1,668 ราย, บริษัท ทีเอส ลอว์ แอนด์ บิสิเนส จำนวน 1,133 ราย และบริษัท ไทยบลูเบอร์รี่ จำนวน 738 ราย
 
ภายใต้กระบวนการทำสัญญาไปต่างประเทศในปัจจุบัน คนที่ต้องการไปเก็บผลเบอร์รี่ต้องจ่ายเงินประมาณ 90,000 บาท(2,000 เหรียญยูโร) มีครอบครัวเกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่กี่ครอบครัวที่จะมีเงินสดจำนวนนี้เก็บสำรองไว้ ส่วนใหญ่แล้วพงกเขาต้องกู้จากธนาคาร เช่น ถ้าเป็นวงเงิน 60,000 บาท ก็กู้กับ ธกส.ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7-12 บาท/ปี หรือกู้จากนายทุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3-10 บาท/เดือน แต่ถ้าต้องจ่ายในจำนวน 90,000 บาท ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องกู้จากทั้ง ธกส.และนายทุนเงินกู้ หลายๆ ราย (ประมาณร้อยละ 70 ของคนงานเก็บผลเบอร์รี่) ต้องจำนองที่ดินเพื่อให้ได้เงินจำนวนนี้มาจ่ายแก่บริษัทจัดหางาน สำหรับเงินกู้เพื่อการเดินทางไปเก็บผลเบอร์รี่ในสวีเดนของ ธกส. มักจะกำหนดให้บริษัทจัดหางานของไทยเป็นผู้ค้ำประกัน
 
เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายภาษีของสวีเดน ทำให้จำเป็นต้องมีการทำสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการระหว่างบริษัทจัดหางานกับคนงานเก็บผลเบอร์รี่ ดังนั้น บริษัทจัดหางานในสวีเดนจึงจ่ายเงินให้บริษัทในไทยเพื่อให้รับสมัครและจัดส่งคนงานไปสวีเดน เกษตรกรทั้งหมดที่ต้องการไปเก็บผลเบอร์รี่ถูกบังคับให้ต้องเซ็นสัญญาจ้างหนึ่งในสี่บริษัทจัดหางานของไทย
 
คนงานจะถูกส่งไปสวีเดนโดยได้รับการอธิบายว่า นายจ้างในประเทศไทยส่งไปทำงานในสวีเดน’!   ตามสัญญาจ้าง คนงานไปสวีเดนโดยได้รับการว่าจ้างในประเทศไทย โดยได้รับเงินเดือนตามค่าแรงขั้นต่ำของไทย (8,000 บาท/เดือน) พร้อมเบี้ยเลี้ยงวันละ 500 บาท(10 เหรียญยูโร) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสวีเดน และได้รับการคุ้มครองในระดับเดียวกับที่คนงานค่าแรงขั้นต่ำได้รับในประเทศไทย 
 
ข้อเท็จจริงก็คือ บริษัทจัดหางานไม่ได้จ่ายอะไรเลย แต่เป็นคนงานที่ต้องจ่ายทุกอย่างเอง
 
ที่มา: ร่างรายงาน “ธุรกิจค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติ” โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ อนึ่งร่างรายงานฉบับนี้จัดทำเพื่อประกอบการประชุมเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศครั้งที่ 2 วันที่ 14 ธ.ค. 52  ยังไม่ใช่รายงานฉบับสมบูรณ์
 
ส่วนกรณีคนงานที่ถูกหลอกไปสเปนนั้น ตัวแทนคนงานที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา 11 คน ได้เปิดเผยว่าหลังจากวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ไปร้องเรียนกับนายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ซึ่งนายสุเมธได้รับปากให้มีการสอบสวนบริษัทจัดหางาน แต่มาจนถึงวันนี้ (14 ธ.ค.) แต่ยังไม่มีการแจ้งจากหน่วยงานของรัฐถึงความคืบหน้าในปัญหาของคนงานที่ไปทำงานสเปน (อ่าน: กรมการจัดหางานรับสอบบริษัทจัดหางานกรณีคนงานถูกหลอกไปสเปน) ซึ่งขณะนี้ก็พบปัญหาเรื่องหนี้สินเช่นเดียวกันกับแรงงานที่ถูกหลอกไปเก็บลูกเบอร์รี่ที่ประเทศสวีเดน
 

 
กรณี 19 คนงานเก็บมะเขือเทศในสเปน
 
ความเป็นมา
 
30 พฤศจิกายน 2552
 
ตามข้อมูลของสถานทูตไทยในสเปน มีคนไทยอยู่ในสเปนจำนวน 1,059 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษา 60 ราย, คนงาน 252 ราย และนักโทษ 1 ราย
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานในต่างประเทศได้รับโทรศัพท์จากสเปนเกี่ยวกับคนงานไทย 19 คน ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ทำงานมาครบ 1 ปีแรกของสัญญาจ้างให้ทำงานในไร่มะเขือเทศของสเปนที่มีระยะเวลา 5 ปี และนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา พวกเขาไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว
 
ในจดหมายถึงเครือข่ายฯ ที่มีตามมา หนึ่งในผู้นำของคนงานกลุ่มนี้กล่าวว่า ที่เมืองไทยพวกเขาได้...
 
สมัครงานที่บริษัท อุดร เอ็นที ยูเนี่ยน จำกัด โดยสมัครไปทำงานที่ประเทศแคนาดา แต่บริษัทบอกว่า วีซ่าไปทำงานที่แคนาดาของผมไม่ผ่าน และแนะนำผมให้ไปทำงานที่สเปนแทน บริษัทฯ บอกเราว่าประเทศสเปนงานดี เงินเดือนดี เงินเดือนขั้นต้น 60,000-70,000 บาท (1,250-1,450 เหรียญยูโร) ไม่รวมโอที และสัญญาจ้างมีระยะเวลา 5 ปี บริษัทฯ อธิบายว่า จะได้รับค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 6.13 เหรียญยูโร และบอกว่าผมกับเพื่อนๆ ควรจะพิจารณาดูว่า มันคุ้มค่าในการเดินทางไปทำงานที่สเปน ตามที่บริษัทฯ อธิบาย สัญญาจ้างมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการต่อสัญญาจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
 
ในการหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่บริษัทจัดหางานกำหนดเป็นเงิน 580,000 บาท ชายคนนี้และเพื่อนอีก 18 คนจึงได้จำนองทุกสิ่งทุกอย่างที่จำนองได้ ทั้งที่ดิน, บ้าน และรถ ไว้กับนายทุนเงินกู้, ธนาคาร, ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และใครก็ตามที่สามารถให้กู้เงินได้ แต่อัตราดอกเบี้ยก็สูงอย่างไม่ต้องกล่าวถึง
 
ที่มา: ร่างรายงาน “ธุรกิจค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติ” โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ อนึ่งร่างรายงานฉบับนี้จัดทำเพื่อประกอบการประชุมเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศครั้งที่ 2 วันที่ 14 ธ.ค. 52  ยังไม่ใช่รายงานฉบับสมบูรณ์
 
 
ทั้งนี้แรงงานทั้งสองกลุ่มพบปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่พบว่าเจ้าหนี้เริ่มทวง โดยปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบนั้นพบว่ามีทั้งการกู้เงินมาจากญาติและจากนายทุนเงินกู้ โดยการยืมจากญาตินั้นคนงานมีสองวิธีในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนก็คือการผ่อนผันหนี้สินกับญาติเอง และการนำหนี้ไปเข้าระบบกับธนาคารของรัฐตามนโยบายแปลงหนี้นอกระบบของรัฐบาล ในส่วนของหนี้นอกระบบนอกระบบนั้น คนงานพบปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะการที่เจ้าหนี้เริ่มเร่งรัดหนี้สิน บางรายถูกฟ้องร้องขึ้นศาล บางรายกำลังถูกไฟแนนซ์ยึดรถเนื่องจากนำรถ และยังมีส่วนที่นายทุนเงินกู้ไม่ให้ความร่วมมือกับคนงาน โดยไม่ยอมรับนโยบายการแปลงหนี้เข้าระบบ เนื่องจากรู้ตัวว่าการปล่อยกู้ดอกเบี้ยที่มากเกินไปให้กับคนงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
 
จากการสรุปวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นพบว่า ในรายของเงินกู้นอกระบบนั้นคนงานจะต้องเร่งไปแจ้งเพื่อแปลงหนี้เข้าระบบกับธนาคารของรัฐก่อนวันที่ 30 ธ.ค. นี้ และคนงานมีมติพร้อมใจกันที่จะรวบรวมรายละเอียดของทุกคนแล้วไปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อกดดันให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีที่ปล่อยให้มีการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ
 
จากนั้นในช่วงท้ายของการประชุมคนงานได้ระดมปัญหาและแนวทางออกการแก้ไขปัญหาระยะยาว จัดทำเป็นคำประกาศของสหภาพคนทำงานต่างประเทศ (อ่าน: เครือข่าย NAT ประกาศเจตนารมณ์สู่ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย)
 
0 0 0
 
ทั้งนี้ในการประชุมขั้นต้นนั้น จรรยา ยิ้มประเสริฐ ประธานสหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย ได้บรรยายวิเคราะห์เรื่อง “ขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ การแก้ไขปัญหา และการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรี”
 
จรรยาได้เริ่มต้นบรรยายถึงช่องทางการไปทำงานต่างประเทศกระบวนการค้าแรงงานไปยังต่างประเทศ โดยช่องทางในการไปทำงานยังต่างประเทศนั้นมีหลายช่องทางเช่น การผ่านโครงการข้อตกลงของรัฐต่อรัฐ (MOU) ผ่านบริษัทจัดหางาน นักศึกษาฝึกงาน ไปแบบนักท่องเที่ยว แต่งงานกับชาวต่างชาติ นายจ้างพาไป และการไปด้วยตัวเอง โดยประมาณการกันว่ามีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน โดยกว่า 95% ของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศนั้นไปโดยผ่านบริษัทจัดหางาน มีเพียง 5% เท่านั้นที่ผ่านโครงการข้อตกลงของรัฐต่อรัฐ และสามารถทำเงินได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
 
ทั้งนี้การไปทำงานเมืองนอกมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยมีทั้งไปแบบมีสัญญาจ้างและไม่มีสัญญาจ้าง โดยบางครั้งต้องลักลอบเข้าเมือง เช่นในอดีตมีกรณีที่คนงานไทยถึงกับนอนใต้รถทัวร์ข้ามพรมแดนผ่านมาเลเซียเพื่อไปทำงานที่สิงคโปร์
 
ประเด็นที่เราต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลคือ รัฐบาลได้ทำข้อตกลง MOU กับหลายประเทศ แต่มากกว่า 90% ของการไปทำงานเมืองนอกนั้นยังไปโดยผ่านบริษัทจัดหางาน โดยบริษัทจัดหางานนั้นมีทั้งประเทศต้นทางคือที่ไทย มีตัวกลางคือบริษัทที่อิสราเอล ก่อนส่งคนงานไปสเปน (ในกรณี 19 คนงานไทยที่ถูกหลอกไปสเปน)
 
ทั้งนี้เมื่อมีการเปิดงานในประเทศต่างๆ เช่น ในไต้หวันเมื่อมีงานให้ทำก็จะมีการประกาศให้แก่ประเทศต่างๆ เช่น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม เพราะฉะนั้นจึงมีการแย่งงานกัน ทำให้บริษัทจัดหางานที่ต้องการส่งคนงานไป จึงต้องไปซื้อตำแหน่งงานที่ประเทศปลายทาง ทำให้ค่าหัวในการส่งคนงานไปนั้นสูงขึ้น
 
ซึ่งต้องตั้งข้อสงสัยว่ากระบวนการจัดส่งของรัฐนั้นมีไม่ถึง 5% นอกนั้นเกือบทั้งหมดเป็นรูปแบบของบริษัทจัดหางานจัดส่งทั้งสิ้น ซึ่งรูปแบบที่ไปโดยการจัดส่งผ่านบริษัทจัดหางานนั้นก็มีกฎหมายคุ้มครอง โดยคนที่ไปจะต้องเข้าสมาชิกกองทุนช่วยเหลือแรงงานในต่างแดน แต่ในกรณีสวีเดนและสเปนนั้นเป็นรูปแบบที่นายจ้างพาไป ไม่เข้าสมาชิกกองทุน ซึ่งจะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ
 
 
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปทำงานที่ต่างประเทศ เวบไซด์ของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2552 
 
ค่าทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต1,090 บาท ติดต่อทำที่กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ
ปัจจุบันมีสถานที่ที่จะไปทำพาสปอร์ตได้ 4 แห่ง คือ 
1. กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ เลขที่ 123 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทร : 981-7170-99, 981-7200-19. 
2. ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ชั้น 4 โทรศัพท์ 531-1841 
3. ศูนย์การค้าอิมพีเรียลบางนา ชั้น 5 โทรศัพท์ 744-0893 
4. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ชั้น 8 โทรศัพท์ 884-8820-28 

 

ค่าตรวจสุขภาพ เพื่อไปทำงานต่างประเทศไม่เกิน 1,500 บาท แต่ต้องไปตรวจในโรงพยาบาลที่กรมการจัดงานประกาศรายชื่อไว้

 

ค่าทดสอบฝีมือ ครั้งละไม่เกิน 500 บาท หากค่าทดสอบฝีมือมีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 500 บาท ให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือ เรียกเก็บได้ตามอัตราที่อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด ทั้งนี้ต้องไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท 

 

ค่าบริการและค่าใช้จ่าย (ค่าหัว)
-          ไต้หวันเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายไม่เกิน 56,000 บาท
-          ประเทศอื่นๆ เสียค่าบริการเท่ากับค่าจ้าง ที่ท่านได้รับไม่เกิน 1 เดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจัดส่งไม่เกิน 15,000 บาท
ถ้าท่านไปทำงาน สิงคโปร์ เงินเดือน 8,000 บาท บริษัทจัดหางานจะเก็บได้ไม่เกิน 8,000 + 15,000 = 23,000 บาท 

 

 
 
สำหรับรูปแบบการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐนั้นพบว่า ประเทศปลายทางที่มีงานนั้นไม่ได้ทำสัญญากับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ก็ยังเปิดให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลง IMM ได้เปิดให้กับ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ในกรณีของประเทศไต้หวันหลังจากที่เปิดให้ประเทศไทยและมีคนไทยเข้าไปทำงานเป็นแสนกว่าคนก็กลัวว่าแรงงานไทยจะมีอำนาจต่อรอง จึงต้องเปิดให้คนงานจาก เวียดนามฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย เข้าไปด้วย ซึ่งตอนนี้กำหนดโควตาสำหรับแรงงานต่างชาติจะต้องไม่เกิน 350,000 คน โดยแบ่งให้เป็นแรงงานจากประเทศไทย 80,000 คน ประเทศอินโดนีเซีย 80,000 คน ประเทศฟิลิปปินส์ 80,000 คน เพราะที่จะคานอำนาจไม่ให้ประเทศไหนมีคนงานมากกว่ากัน เพราะรัฐบาลไต้หวันเองก็หวั่นปัญหาเรื่องคนงานประท้วง
 
ที่เกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มีคนไปทำงานผิดกฎหมายมากที่สุด จนในปี พ.ศ. 2546 จึงมีการใช้สัญญาระหว่างประเทศต่อประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าคนงานต่างชาติในเกาหลีจะต้องไม่เกิน 350,000 คน ตอนนี้มีแรงงานไทยในเกาหลี 46,000 คน 30,000 คนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย (15,000 คนรัฐบาลจัดส่ง 15,000 คน ผ่านบริษัทจัดหางาน) อีก 14,000 คนอยู่ในสถานะผิดกฎหมาย โดยคนไทยที่อยู่อย่างผิดกฎหมายนั้นต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยงานที่เปิดให้แรงงานต่างชาติทำในเกาหลีก็จะเป็นงานในโรงงานก่อสร้างเกษตรฟาร์มประมงงานห้องเย็นงานสโตร์ งานเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
 
ในส่วนประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดรับแรงงานต่างชาติ โดยเปิดให้กับประเทศอินโดนีเซียในปี 2534 ไทยในปี 2543 และเปิดให้ประเทศเวียดนามในปี 2549 ใช้ระบบที่เรียกว่า IMM คือระบบการฝึกงาน โดยเฉพาะเด็กที่จบจากวิทยาลัยในด้านเทคนิคต่างๆ ทั้งนี้เมื่อพูดถึงระบบของญี่ปุ่นนั้นเป็นระบบที่ดี
 
ส่วนประเทศอิสราเอล ในระบบ IOM มีความพยายามทำข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2549 เพราะอิสราเอลต้องการกำลังแรงงานในภาคเกษตร 26,000 คน ซึ่งนายจ้างอิสราเอลนั้นชอบคนงานไทยมาก เพราะให้ทำงานแค่ไหนคนงานไทยก็ทำ ขณะที่แรงงานท้องถิ่นไม่สามารถทำงานแบบคนไทยได้ แต่ประเด็นที่มีการกินค่าหัวคิวที่แพงมากทำให้คนที่อิสราเอลไม่ค่อยพอใจ จึงมีการกดดันให้การที่จะส่งคนงานไทยไปนั้นจะต้องไม่มีการจ่ายค่าหัวคิวมากเกิน ซึ่งจริงๆ แล้วระบบของอิสราเอลก็เป็นระบบที่ดีมาก เพราะมีสัญญา 5 ปี (หมด 1 ปี ต่ออีก 1 ปี จนครบ 5 ปี) แต่จะไปทำงานได้ 5 ปีเท่านั้น ทำให้คนที่เคยไปทำงานที่อิสราเอลกลับมาจึงต้องไปที่อื่นต่อ เช่น สเปน เป็นต้น
 
ตาราง เปรียบเทียบ MOU กับประเทศต่างๆ
 

 
MOU -Taiwan
EPS - Korea
IMM - Japan
IOM - Israel
ปีที่ริเริ่ม
2536
2546
2534 (อินโดนีเซีย)
2543 (ไทย)
2549 (เวียดนาม)
2549 - 2552
ประเทศที่เปิดให้
4 ประเทศ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
11 ประเทศ
ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม
ฟิลิปปินส์ ไทย จีน ศรีลังกา อินเดีย เนปาล
ตำแหน่งงาน
 
โรงงาน ก่อสร้าง เกษตร ฟาร์ม ประมง งานห้องเย็น งานสโตร์  งานเฟอร์นิเจอร์
ที่ใช้เครื่องจักร ก่อสร้าง สิ่งทอ อื่นๆ (สิ่งพิมพ์ งานเชื่อม งานเฟอร์นิเจอร์ บรรจุผลิตภัณฑ์ ฯลฯ) 
แม่บ้าน เกษตร ก่อสร้าง
สัญญา
สัญญา 2 ปี (ไม่เกิน 6 ปี)
2 ปี (ไม่เกิน 3 ปี)
3 ปี
2 ปี (ไม่เกิน5 ปี)
จำนวนคนไทย
รวมกันกว่าแสนคน
กว่าสามหมื่น
 
33,517 (ปี 2550)
 
ทั้งนี้ปัจจุบันมีคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศปีละกว่าแสนคน ซึ่งอำนาจต่อรองกลับไปอยู่ที่บริษัทจัดหางาน จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ธุรกิจค้ามนุษย์” อย่างที่เราเคยได้ยินกันเสมอมา โดยมีทั้งบริษัทค้ามนุษย์ต้นทางและปลายทาง มีการประชาสัมพันธ์เกินจริง และงานที่ได้ทำไม่เคยเป็นไปตามสัญญา ยกเว้นการจัดส่งไปแบบรัฐต่อรัฐ
 
ปัญหาที่พบจากการจัดส่งไปโดยบริษัทนอกจากไม่เป็นไปตามสัญญาแล้ว พบว่าอาจจะมีการให้ทำงานสองอย่างไปด้วยกัน เช่น ผู้หญิงนอกจากจะทำงานในโรงงานแล้ว ยังต้องทำงานแม่บ้านไปพร้อมกันด้วย รวมถึงการสวมแทค (การนำคนงานคนใหม่ไปทำงานต่อสัญญาจ้างของคนงานคนเก่า) แรงงานมักจะถูกกดขี่ต่างๆ และมีการส่งกลับก่อนกำหนด ซึ่งจากการสำรวจของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยในปี 2549 พบว่า 70% คนที่ไปทำงานกลับมาแบบเสมอตัวหรือไม่ก็ล้มเหลว มีไม่ถึง 30% ที่กลับมาแล้วได้ตามที่หวังไว้
 
ในกรณีของคนงานที่ไปสวีเดน คนไทยเริ่มไปตั้งแต่ยุค 2535 จนเกิดการตั้งคำถามเรื่องภาษี และเริ่มมีคนไทยไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในปี 2550 รัฐบาลสวีเดนได้เข้ามาจัดการให้มีกระบวนการเสียภาษี ซึ่งได้ส่งผลให้บริษัทที่ประเทศสวีเดนล้มละลายไปถึงสองบริษัท เพราะโดนเก็บภาษี ธุรกิจการค้ามนุษย์จึงใช้วิธีการให้นายจ้างที่ประเทศไทยพาไปเพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งพอระบบนี้เกิดขึ้นทำให้คนงานกลับต้องลำบาก เพราะการเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนมีเพียง 2-3 เดือน เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยสมาพันธ์ผู้ค้าเบอร์รี่จะให้โควตาว่าควรจะมีคนงานมาเก็บเท่าไร และให้โควตากับบริษัททีสวีเดนอีกสิบกว่าบริษัท ในการจัดการรถ ที่พัก และกระบวนการต่างๆ และบริษัทเหล่านี้ก็มาจ้างบริษัทจัดหางานในประเทศไทยเพื่อพาคนไปทำงานอีกที
 
แต่ปัญหาที่พบก็คือบริษัทจัดหางานที่เมืองไทยคล้ายกับแปลงร่างมา โดยบางบริษัทเป็นบริษัททนาย บางบริษัทเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง และบริษัทที่แปลงร่างมาเหล่านี้ไม่พอใจแค่ค่าจ้างจากบริษัทที่สวีเดนจ้างมา จึงมาเก็บค่าหัวคิวคนงานเพิ่ม จาก 65,000 บาท ในปี 2551 เป็น 75,000 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า ทั้งนี้ทำให้บริษัทจัดหางานในไทยต้องหาโควต้าจัดส่งคนไปให้มากที่สุด บริษัทจะต้องจ่ายเงินให้สาย (คนที่หาคนงาน) หัวละ 5,000 บาทและสายยังเก็บค่านายหน้าจากคนงานสูงสุดถึง 20,000 บาท รวมถึงบางครั้งยังทำหน้าที่เป็นคนที่ให้กู้กับแรงงาน
 
ทั้งนี้คนงานที่จะไปต้องทำการกู้เงินจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธกส. หรือเงินกู้นอกระบบ แต่เมื่อไปทำงานจริงคนงานจะต้องเผชิญกับราคาเบอร์รี่ที่ตกต่ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกที่สวีเดน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นที่เป็นข่าว
 
โดยจากการเดินสายภาคอีสานของสหภาพคนทำงานต่างประเทศ พบว่าส่วนใหญ่แล้วแรงงานที่กลับมาล้วนแล้วแต่มีหนี้สินล้นพ้น(อ่านเพิ่มเติมในกรณีความเสียหายจากการหลอกคนงานไทยไปสวีเดนใน: ลง พื้นที่พูดคุยผู้ได้รับผลกระทบทำงานเมืองนอก พบสูญร่วม 600.)
ทั้งนี้สำหรับทางออกนั้นจรรยาอธิบายต่อว่าคนงานที่ถูกหลอกไปต่างประเทศนั้นจะต้องรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง และมีมาตรการเชิงรุกดังนี้
·         ร้องเรียนการไม่ได้รับความสะดวก และความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
·         สร้างกระบวนการกดดันกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งของสหภาพ
·         ตีแผ่ธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติ
·         นำเสนอปัญหาต่อสาธารณชน
·         นำเสนอปัญหาสู่สากล ประเทศปลายทาง
·         เรียกร้องค่าเสียหาย ทุกช่องทางที่ทำได้ ทั้งในประเทศไทย และเอเยนต์ หรือนายจ้าง ที่อยู่ต่างประเทศ
·         เอาชนะคดีที่ศาลให้ได้
 
ทั้งนี้ทางเครือข่ายเองฯ เคยมีปัญหาโดยเฉพาะการที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น “สหภาพแรงงาน” โดยครั้งหนึ่งบนโต๊ะเจรจาเจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าวว่าตามกฎหมายแล้วเครือข่ายไม่สามารถใช้ชื่อสหภาพแรงงานได้ แต่จรรยาอธิบายว่าตามสิทธิในความเป็นคน สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิที่ให้ไว้ตามหลักสากลนั้น เราสามารถรวมกันเป็นสหภาพเพื่อต่อรองให้ได้ความเป็นธรรมได้
 
ซึ่งในเรื่องของการร้องเรียนหน่วยงานของรัฐนั้นตาม รธน. 2550 ให้สิทธิ์เราไว้ เช่น มาตรา 58 (สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ) บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน มาตรา 59 (สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์)บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว มาตรา 60 (สิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น
 
ส่วนกระบวนการเอาผิดต่อบริษัทที่ฉ้อโกงประชาชนนั้นมีช่องทางในการร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้
 
และสิ่งที่เราจะต้องทำนั้นก็คือการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพคนทำงานต่างประเทศ แห่งประเทศไทย เพื่อนำหลักการการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วมตามแบบสหภาพแรงงานมาใช้เสริมสร้างขบวนการ โดย รธน. 2550 ให้สิทธิ์เราไว้ เช่น มาตรา 64 ที่ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น / ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ / การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ
 
รวมถึงสิทธิที่ให้ไว้ตามหลักสากล เช่น อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยอนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง 3. องค์กร (สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี สำหรับอนุสัญญาฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
 
โดยจรรยากล่าวว่าสหภาพฯ ต้องสลัดความกลัวที่รัฐและนายทุนสร้างไว้ครอบงำคนจนให้ได้ ในการรวมกลุ่มต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นแนวทางของสหภาพคนทำงานต่างประเทศ จะต้องสร้างขบวนการเพื่อ
 
เยียวยา: ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกำลังเผชิญกับการถูกบีบคั้นจากหนี้สิน และปัญหาจากการไปทำงานต่างประเทศโดยจะต้องสร้างกลไกเยียวยาคนในกลุ่ม
 
ป้องกัน :กดดันให้รัฐป้องกันเหลือบแรงงานที่มาในรูปบริษัทจัดหางานและยกเลิกระบบจัดส่งแรงงานผ่านบริษัท
 
ยั่งยืน :กดดันให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศที่ยังมีหนี้สินผูกพันกับบริษัทจัดหางานและธนาคารที่ให้เงินกู้ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพในชุมชน การทำธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดย่อม วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและระบบนิเวศน์
 
ซึ่งในท้ายสุดแล้วเราจะต้องพูดถึงเรื่องทางเลือกในการที่จะต้องไม่ดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ โดยมีตัวอย่างหลายที่ที่ทำเกษตรยั่งยืน เช่นที่ชุมชนกุดชุม และที่อื่นๆ โดยอาศัยพื้นฐานด้านเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของเรา ทั้งนี้จะต้องมีการรวมกลุ่มกันในการดำเนินงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net