สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอ 11 ประเด็น พลิกโฉมพัฒนาประเทศ กู้วิกฤตสุขภาพ

 
 
18 ธ.ค.52 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 ได้พิจารณาร่างระเบียบวาระการประชุม จำนวน 11 เรื่องใหม่ และอีก 1 เรื่องเป็นการติดตามความคืบหน้าจากปีก่อน
 
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจสช.) กล่าวว่า วิกฤตซ้อนวิกฤตที่กำลังถาโถมสู่สังคมไทยล้วนมีต้นตอของปัญหาร่วมกัน คือ ทิศทางการพัฒนาประเทศที่วิ่งตามกระแสบริโภคและหลงใหลอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจ จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างมากมาย ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน จึงมีฉันทามติให้เสนอและจะร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอทางนโยบาย 11 เรื่องใหญ่เพื่อกอบกู้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีแผนดำเนินการเชิงรุกที่จะทำให้ข้อเสนอ 11 เรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
 
“ทั้ง 11 ข้อเสนอ เป็นของ 180 เครือข่ายที่มีส่วนร่วมกันตั้งแต่การกำหนดระเบียบวาระ ที่กลุ่มเครือข่ายเสนอและคัดเลือกประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ จาก 115 เรื่อง เหลือ 11 เรื่อง ซึ่งมีข้อมูล หลักฐาน ทั้งทางวิชาการและสภาพปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชนไทย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาแผนพัฒนาภาคใต้ที่คนใต้สูญเสียความมั่นคงในชีวิตเพราะแผนพัฒนาไม่ได้เน้นที่การสร้างศักยภาพที่ยั่งยืนและยังมีแนวโน้มจะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด จึงมีมติให้มีการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้
 
ส่วนเรื่องขยะอันตรายซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต สมัชชาสุขภาพเสนอให้มีมาตรการที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตรับผิดชอบการกำจัดขยะเหล่านี้โดยรับคืนซากผลิตภัณฑ์และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์ซึ่งกำลังมีการทำการตลาดเชิงรุกทุกรูปแบบกับกลุ่มคนที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงคือกลุ่มวัยรุ่น สมัชชาสุขภาพฯ มีมติรับรองยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติที่ครอบคลุมมาตรการรอบด้าน โดยได้เชิญนักวิชาการด้านแอลกอฮอล์ระดับโลกมาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ จึงมั่นใจได้ว่าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอแผนฯ ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
โรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นอีกปัญหาที่คุกคามทั้งสุขภาพและความมั่นคงของประเทศ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ระดับชาติ เพื่อให้มีกลไกประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน โดยการให้ข่าวสารข้อเท็จจริงกับประชาชนโดยกับไม่ปิดบังพร้อม ๆ กับให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
 
“สำหรับประเด็นการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเงินและผลประโยชน์ครอบงำ ทำให้บริษัทคิดรูปแบบการส่งเสริมการขายที่ทำให้เข้าใจผิด และซื้อใจหมอให้สั่งยาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยามากกว่าผลประโยชน์ของคนไข้ ก็จะนำมาซึ่งความตกต่ำในเกียรติและศักดิ์ศรีในวิชาชีพ และประชาชนคือผู้รับเคราะห์เพราะอาจต้องใช้ยาเกินความจำเป็นและประเทศชาติกสูญเสียเงินค่ายาเพิ่มขึ้นทุกปี ในเรื่องนี้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาฯ มีมติให้ออกกฎหมายห้ามบริษัทพาหมอเดินทางไปต่างประเทศ และ ให้บริษัทยาเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดว่าบริษัทต้องออกค่าใช้จ่ายให้กับหมอในการเดินทางไปฃประชุมต่างประเทศ หรือซื้อของขวัญให้กับหมออย่างไร ซึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายเช่นนี้อยู่”
 
ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพฯ กล่าวอีกว่า ระเบียบวาระทั้ง 11 ประเด็น ได้รับการเสนอและคัดสรรจากภาคีเครือข่าย 180 กลุ่ม ก่อนจะถึงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกจังหวัดและเฉพาะกลุ่มทั่วประเทศ โดย คจสช.ได้ประสานงานลงพื้นที่หาข้อมูลอย่างครบถ้วนมาเกือบ 1 ปี ข้อสรุปหรือมติของที่ประชุมเป็นนโยบายสาธารณะและมีกระบวนการขับเคลื่อน ติดตาม และเชื่อมโยงกับปีหน้าและปีต่อ ๆไป ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เป็นเพียงเอกสารวิชาการหรือหนังสือร้องเรียนจำนวน 11 เล่ม แต่คือ “แผนที่ชีวิตคนไทย” ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ มีหลักฐานสนับสนุน และที่สำคัญที่สุดคือมีเจตนาบริสุทธ์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง
 
น.พ. อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยชูสุขภาวะของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความท้าทายต่อสังคมไทยทั้งสังคมว่า เรากำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้น ในแง่ของกระบวนการออกนโยบายที่ต้องดำเนินตามวิถีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น เสียงของสมัชชาสุขภาพกำลังส่งสัญญาณว่าทิศทางการพัฒนานั้นต้องเอาชีวิตเลือดเนื้อและศักดิ์ศรีของคนเป็นหลัก แทนที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับเงินจนเกิดผลกระทบกับชีวิตคน
 
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า สมัชชาสุขภาพนั้นเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไม่ใช่มาประชุมปีละครั้งแล้วจบกันไป ผลจากการดำเนินงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2551 ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมชัดเจนก็คือการเข้าไปเชื่อมและหนุนให้กลุ่มองค์กรภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นจังหวัดระยองที่ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ได้จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และร่วมกันหาข้อมูลสนับสนุนครบถ้วน เกิดการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า นอกจากประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการต่าง ๆ ต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพด้วย และสนับสนุนการขับเคลื่อนข้อเสนอต่าง ๆ จนกระบวนการยุติธรรม สั่งระงับ 76 โครงการที่จะดำเนินการไว้ก่อน ดังเป็นที่รับรู้กันอยู่ในขณะนี้
 
“เมื่อคนใต้เห็นกรณีตัวอย่างของมาบตาพุด จึงเห็นว่าสมัชชาสุขภาพสามารถเป็นช่องทางที่จะนำเสนอความห่วงใยและกังวลใจต่ออนาคตของตัวเองและลูกหลานต่อสาธารณะชน และ สามารถร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะระดับประเทศได้ ดังนั้น ในปีนี้เครือข่ายภาคใต้ จึงเสนอประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ฯ และได้ใช้กระบวนการสมัชชาในพื้นที่จนมาถึงสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งฉันทามติของที่ประชุมแห่งนี้ เสนอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนและแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ซ้ำรอยมาบตาพุด นี่คือกระบวนการเรียนรู้ของสังคมครั้งใหญ่ว่าเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะไม่ใช่เรื่องไกลตัวชาวบ้านอีกต่อไป เพราะมีพื้นที่การมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยที่มีกฎหมายรองรับมาเป็นทางเลือกในการขับเคลื่อนและร่วมกำหนดนโยบายได้จริง
 
 ในเวทีนี้เราได้ร่วมกันบอกทิศทางการพัฒนาประเทศโดยผ่านแผนพัฒนาภาคใต้ไปยังรัฐบาลโดยตรง  และ อยากเห็นแผนพัฒนาภาคอื่นๆ เป็นเช่นนี้ด้วย ทำให้หันกลับมามองว่าถึงจุดที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนแนวทางพัฒนาประเทศที่เห็นเรื่องแต่เรื่องเงิน มาสู่การเห็นแก่สุขภาวะที่ดีของคนไทยแล้วหรือไม่ ผมขอฝากว่า สมัชชาสุขภาพเป็นเพียงขบวนการสานพลังที่จะชักชวนทุกส่วนให้เข้ามาร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และเราพร้อมที่จะสนับสนุนสมัชชาในทุกพื้นที่” นพ.อำพล กล่าวในตอนท้าย
 
ดร.มอรีน อี เบอกิงแฮม (Maureen E. Bergingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตนมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษา คจ.สช. ได้เห็นสมัชชาสุขภาพประสบความสำเร็จในการนำเอาภาคส่วนและตัวบุคคลที่หลากหลายแม้กระทั่งกลุ่มที่อยู่ชายขอบของการกำหนดนโยบายให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ในการค้นหาประเด็นสำคัญที่กระทบต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยกลุ่มเครือข่ายที่เป็นตัวแทนของสามภาคส่วนตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
“สมัชชาสุขภาพเป็นตัวอย่างของที่อื่นๆ ในโลกในแง่ของวิธีคิดและวิธีการที่เข้าไปจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ซึ่งหมายถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจล้วนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการถกแถลงสนทนาอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายแตกต่าง เรียนรู้และทำความเข้าใจกับประเด็นยากๆ ที่นำมาพิจารณากันอย่างถ่องแท้ รวมทั้งได้มีการทำงานหนักในการเตรียมข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ และกระบวนการเตรียมการได้สร้างการทำงานเป็นทีมที่มาจากหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน”
 
ในทัศนะของตนคิดว่าเรื่องที่ท้าทายที่สุดคือการทำให้มติสมัชชาไปเกิดผลในทางปฏิบัติซึ่งมีปัจจัยสำคัญก็คือ 1) กลไกการทำงานแบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ 2) รักษาความเป็นกระบวนการที่อยู่บนฐานความรู้ต่อไป 3) การสื่อสารกับสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ 4) การขับเคลื่อนและดำรงเจตนารมณ์ทางนโยบายที่เข้มแข็ง 5) การมีส่วนร่วมที่เสมอภาคและเท่าเทียม 6) ทำให้มีการออกมาตรการ/กฎและข้อบังคับ หรือกฎหมายที่จำเป็น 7) มีการติดตามและประเมินผล
 
ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 ธ.ค.52 มีตัวแทนกลุ่มเครือข่าย จาก 180 กลุ่มเครือข่าย ประกอบด้วยเครือข่ายภาครัฐและการเมือง 47 กลุ่มเครือข่าย ภาควิชาการและวิชาชีพ 25 กลุ่มเครือข่าย ภาคประชาสังคมและเอกชน 32 กลุ่มเครือข่าย และ 76 กลุ่มเครือข่ายจังหวัด/พี้นที่ จัดการประชุมโดยคณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รูปแบบการประชุมมีความเป็นระบบโดยใช้รูปแบบเดียวกับการประชุมองค์การอนามัยโลก ปีนี้มีผู้เข้าร่วมที่เป็นคนไทยประมาณ 2,000 คน และตัวแทนประเทศต่าง ๆ และองค์กรนานาชาติประมาณ 30 คน โดยมีประเด็นสำคัญที่พิจารณาและลงมติในปีนี้ จำนวน 11 ประเด็น คือ1) การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน  2) โรคติดต่ออุบัติใหม่ 3) การพัฒนาระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง  4) การพัฒนาบริการปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงระบบบริการที่มีคุณภาพ 5) การจัดการขยะอันตรายของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและทุกภาคส่วน 6) การพัฒนาการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก 7) การแก้อุบัติเหตุทางถนน 8) การยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย 9) การจัดการภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 10) ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และประเด็นที่ 11) กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง เศรษฐกิจ สังคม กรณีภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท