Skip to main content
sharethis

หลังประกาศเขตปกครองอิสระ 13 แห่งทั่วเนปาล ล่าสุดกลุ่มเหมาอิสต์ประกาศนัดหยุดงานทั่วกาฐมาณฑุระหว่าง 20-22 ธ.ค. เพื่อกดดันรัฐบาลและกองทัพ ด้านรองประธานเหมาอิสต์ลั่นมี "พลังที่มองไม่เห็น" คิดล้มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

การนัดหยุดงานในกาฐมาณฑุเมื่อ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่มา: Nepalnews/Youtube.com

การนัดหยุดงานในกาฐมาณฑเมื่อ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่มา: Nepalnews/Youtube.com

 


กลุ่มเหมาอิสต์ออกมาชุมนุมนัดหยุดงานเมื่อ 20 ธ.ค. (ที่มา: Reuters/daylife.com)

 
กลุ่มเหมาอิสต์ออกมาชุมนุมเมื่อ 21 ธ.ค. (ที่มา: AP/daylife.com)
 

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนกลุ่มเหมาอิสต์ได้ประกาศเขตปกครองอิสระ 13 แห่งทั่วเนปาล (อ่านข่าวย้อนหลัง) ล่าสุดกลุ่มเหมาอิสต์ หรือพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือ CPN ประกาศนัดหยุดงานทั่วกรุงกาฐมาณฑุซึ่งเป็นเมืองหลวงของเนปาลเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่ 20 ธ.ค. ถึง 22 ธ.ค. เพื่อกดดันรัฐบาล และประท้วงบทบาทของประธานาธิบดีเนปาล นายภารัน ยาดาฟ ที่พวกเขาเห็นว่าเกินอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ธ.ค.) ย่านธุรกิจร้านค้าและโรงงานในเมืองหลวง รวมทั้งโรงเรียนปิดตัวลงทั้งหมด โดยมีรายงานว่าตำรวจได้ใช้กระบองและแก๊สน้ำตาโจมตีผู้ประท้วงเพื่อเคลียร์ถนน ทำให้ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยก้อนอิฐและก้อนหิน

โดยการนัดหยุดงานวันแรกมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 62 ราย เนื่องจากผู้ประท้วงเหล่านั้นพยายามทำลายรถยนต์ รถประจำทาง และรถบรรทุกรวมกว่า 20 คัน

 

รองประธานเหมาอิสต์ลั่น “พลังที่มองไม่เห็น” คิดล้มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

ด้านรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) (CPN) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ นายบาบูราม ภัทธาไร (Baburam Bhattarai) กล่าวย้ำว่ามีความพยายามที่จะล้มเลิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ (CA) โดยมี “พลังที่มองไม่เห็น” (invisible forces) หนุนหลัง

อย่างไรก็ตาม นายบาบูราม ภัทธาไรไม่ได้ระบุว่า “พลังที่มองไม่เห็น” คืออะไร

คำกล่าวของนายภัทธาไรเกิดขึ้นระหว่างการปราศรัยระหว่างการชุมนุมนัดหยุดงานวันที่สองของกลุ่มเหมาอิสต์ วานนี้ (21 ธ.ค.) โดยรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ยังขู่ด้วยว่าหากรัฐบาลปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ก็เท่ากับบีบให้พลพรรคเหมาอิสต์ตอบโต้

เขาอ้างด้วยว่า “ประชาชน” จะยึดท้องถนนนานเท่ากับที่รัฐบาลยังคงตอบโต้ความต้องการของประชาชนและสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ

เขายังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐเข้ามาร่วมการนัดหยุดงานทั่วประเทศครั้งนี้ ในนามของพรรคของเขาและในนามของความประสงค์ของประชาชนในประเท

เขากล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) จะดำรงการนัดหยุดงานครั้งนี้ต่อไป จนกว่าข้อเรียกร้องให้หลักการ “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” จะบรรลุ

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ธ.ค.) นายบาบูราม ภัทธาไร ได้กล่าวหารัฐบาลว่ากระทำการต่อต้านรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม และว่าจะดำเนินมาตรการนัดหยุดงานเป็นเวลาสามวันต่อไป

 

พรรคร่วมเรียกร้อง “เหมาอิสต์” กลับเข้าสภาแทนวิธีประท้วง

ขณะที่นายมาน โมฮัน ภัทธาไร กรรมการพรรคเนปาลีคองเกรส (Nepali Congress) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแถลงว่าเป้าหมายท้ายสุดของกลุ่มเหมาอิสต์คือการยึดทุกสิ่งทุกอย่าง เขากล่าวว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ายถิ่นฐานค่ายนักรบเหมาอิสต์ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขากล่าวด้วยว่าพรรคของเขาพร้อมที่จะ “หาทางออก” ในสภาเพื่อยุติวิกฤตการเมืองครั้งนี้

ด้านผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง คือพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (สามัคคีมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) (CPN-UML) นายเกชาฟ บาดาล (Keshav Badal) กล่าวว่าการเมืองเนปาลขาดผู้นำที่มีความสามารถพอที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดฉันทามติทางการเมืองในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านขณะนี้

เขาแนะนำให้กลุ่มเหมาอิสต์อ้างความเป็นผู้นำรัฐบาลผ่านการลงมติในสภาแทนการปั่นผู้คนเข้าร่วมการนัดหยุดงาน

ด้านเลขาธิการทั่วไปพรรคสภาวะนา (Sadbhawana Party) นายอนิล คุมา เกรงว่าประเทศจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากกลุ่มเหมาอิสต์ยังคงสร้างความปั่นป่วนและเพิกเฉยต่อการร่างรัฐธรรมนูญ

 

ชนวนต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ อยู่ที่บทบาทประธานาธิบดีและกองทัพ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มเหมาอิสต์ออกมาชุมนุมใหญ่ในกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อประท้วงประธานาธิบดีราม ภารัน ยาดาฟ แห่งเนปาล ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญ อันเนื่องมาจากบทบาทของประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้รัฐบาลผสมของกลุ่มเหมาอิสต์ล่มกลางคันจนต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยกลุ่มเหมาอิสต์เรียกร้องให้ประธานาธิบดีขอโทษ และให้มีการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับบทบาทของประธานาธิบดี

และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายพุสปา คามาล ดาฮาล (Pushpa Kamal Dahal) หรือประจันดา ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ ประกาศว่าจะจัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอีกเป็นระลอกที่ 3 เพื่อฟื้นฟูอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน โดยการประท้วงรอบใหม่จะไม่เพียงแค่ตั้งเขตปกครองอิสระเท่านั้นแต่จะตั้ง รัฐบาลคู่ขนานด้วย

สำหรับวิกฤตการเมืองเนปาลรอบล่าสุด เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ นายพุชปา คามาล ดาฮาล ผู้นำเหมาอิสต์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการที่ประธานาธิบดีคัดค้านคำสั่งที่นายพุชปาสั่งปลดผู้บัญชาการ กองทัพเนปาล

โดยเมื่อ 3 พ.ค. ผู้นำเหมาอิสต์ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเนปาล มีคำสั่งปลด พล.อ.รุคมานกัด คาตาวัล ผู้บัญชาการกองทัพเนปาล ซึ่งจ้างทหารใหม่เข้ามาประจำกองทัพเนปาลจำนวน 2,800 นาย และนำ 8 นายพลกลับมารับตำแหน่งเดิมโดยไม่ปรึกษารัฐบาล และเมื่อมีคำสั่งปลด พล.อ.รุคมานกัด กลับปฏิเสธคำสั่งปลดและประชุมหารือกับบรรดานายพลที่กองบัญชาการกองทัพ

สำหรับ พล.อ.รุคมานกัด เป็นผู้คัดค้านนโยบายการนำกำลังพลในกองทัพของกลุ่มเหมาอิสต์มารวมกับกองทัพ รัฐบาลเนปาล ซึ่งนโยบายนี้เป็นเงื่อนไขภายใต้สัญญาสันติภาพที่ลงนามระหว่างกลุ่มเหมาอิส ต์และรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อปลายปี 2549

โดยเมื่อปี 2551 พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว และได้เป็นรัฐบาล โดยมีการยกเลิกระบอบกษัตริย์เนปาล และเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามนักรบเหมาอิสต์จำนวนมากยังอยู่ภายในค่ายทหารโดยการควบคุมของเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของสหประชาชาติตามเงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพ

 

ที่ของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

Maoist protesters clash with police in Nepal, Deepesh Shrestha, AFP, Sun Dec 20, 2009

http://news.yahoo.com/s/afp/20091220/wl_asia_afp/nepalmaoistpoliticsunrest_20091220101519

Strikes to continue until govt bows down to 'civilian supremacy': Bhattarai, Nepalnews, 21 December 2009

http://www.nepalnews.com/main/index.php/news-archive/2-political/3014-strikes-to-continue-until-govt-bows-down-to-civilian-supremacy-bhattarai.html

Maoist general strike will affect peace process: Ruling party leaders, Nepalnews, 21 December 2009

http://www.nepalnews.com/main/index.php/news-archive/2-political/3015-maoist-general-strike-will-affect-peace-process-ruling-party-leaders.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net