Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ ทั้งในไทยและกัมพูชาต่างไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์และมารยาททางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้กลุ่มของตนบรรลุเป้าหมาย โดยไม่สนใจว่าอะไรคือ “ราคา” ที่ประเทศไทยและกัมพูชาจะต้องจ่ายในระยะยาว ความผิดปกติที่ว่าได้แก่อะไรบ้าง ผู้เขียนขอใช้โอกาสของการส่งท้ายปีเก่านี้ ทบทวนความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาที่ดำเนินมาสองปีเต็ม เพื่อชี้ให้เห็นว่าการกระทำที่ไม่แยแสต่อกฎเกณฑ์-กติกามารยาท (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึง) นี่เอง ที่ลากพาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมายืนอยู่ตรงปากเหวในปัจจุบัน
 
1.ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลายคนคงยังจำกันได้ว่าเหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดชนวนความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็คือ เมื่อสมาชิกของกลุ่มนี้พยายามบุกเข้าไปยังปราสาทพระวิหารตั้งแต่เมื่อต้นปี พ.ศ.2551 และอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จุดยืนของพวกเขาคือคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา, ยึดปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชา, ไม่ต้องการให้มีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. และพยายามยุยงให้ฝ่ายทหารและรัฐบาลใช้กำลังเข้ายึดครองปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่า บางส่วนไปไกลถึงขนาดเรียกร้องให้ยึดพระตะบองและเสียมราฐคืน แต่โชคดีที่ฝ่ายทหารไม่เล่นด้วย
 
การปลุกกระแสชาตินิยมของคนกลุ่มนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ด้วยข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายชาติ การเคลื่อนไหวของพวกเขาแสดงผลลัพธ์อย่างรวดเร็วเมื่อนายนภดล ปัทมะ รมต.ต่างประเทศในขณะนั้น ต้องลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา
 
การมุ่งเอาชนะต่อศัตรูทางการเมืองภายในของคนกลุ่มนี้ทำให้พวกเขายินดีใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้โดยรู้อยู่ว่าจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองประเทศ พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยอมรับไปแล้ว พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเท็จจริงว่าสิทธิของประเทศไทยที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลโลกนั้นมีอายุเพียงแค่ 10 ปีหลังคำพิพากษาเท่านั้น พวกเขายังเรียกร้องให้ฟื้นชีพอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 ที่ทำให้ไทยได้พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และจำปาศักดิ์คืนมาชั่วคราวในสมัยจอมพล ป. ขึ้นมา แต่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของอนุสัญญาวอชิงตัน ค.ศ.1946 อันเป็นอนุสัญญาที่มายกเลิกอนุสัญญาโตเกียวโดยตรง การกระทำของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แยแสต่อกติการะหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องปฏิบัติตาม
 
นายอภิสิทธิ์ ในสมัยที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และนายกษิต ก็อิงอยู่กับการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้
 
2.ประวัติศาสตร์การทูตไทยคงต้องจารึกไว้ว่ารัฐบาลไทยได้แต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีประวัติว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการยึดสนามบินนานาชาติ และโจมตีผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านด้วยถ้อยคำที่รุนแรง การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างเพียงพอ ไม่ตระหนักว่าพฤติกรรมในอดีตของรัฐมนตรีต่างประเทศนั้นเป็นปัญหาสำหรับการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน
 
รัฐบาลอภิสิทธิ์ดูจะไม่ตระหนักว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะอาเซียนไม่ได้มีกลไกในเชิงสถาบัน (Institutionalization) มากมายนัก ที่สำคัญ ไม่มีกลไกการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสมาชิก ฉะนั้น เมื่อความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำมีปัญหา โอกาสที่จะแก้ปัญหาระหว่างกันก็เป็นไปได้ยากยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องการ “ง้อ” ทำความเข้าใจกับรัฐบาลฮุน เซ็น เมื่อครั้งที่ส่งนายสุวิทย์ คุณกิตติไปสเปนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขัดขวางการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง จนสร้างความไม่พอใจให้กับทางกัมพูชา รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับเลือกส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณไปแทน แสดงว่ารัฐบาลก็รู้อยู่แก่ใจว่านายกษิตทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับกัมพูชาไม่ได้
 
กระทรวงการต่างประเทศในยุคของนายกษิต จึงดูจะถนัดกับการตอบโต้เสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาในเอกสารลับของ กต. ที่พรรคฝ่ายค้านนำมาเปิดเผย มีแต่ข้อเสนอให้ตอบโต้ แต่ไม่มีข้อเสนอให้เจรจาปรากฏอยู่เลย กระนั้น เก้าอี้ของนายกษิตก็ดูจะยังมั่นคงแข็งแรงต่อไป
 
3.ประวัติศาสตร์ไทยคงต้องจารึกไว้อีกเช่นกันว่าปี พ.ศ.2552 เป็นปีที่กลุ่มการเมืองของไทยไปดึงประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในของไทย ในอดีตนั้น มีแต่ฝักฝ่าย ของเขมรที่มักดึงเอาไทยหรือเวียดนามเข้าไปช่วยโค่นล้มศัตรูภายในของตน จนส่งผลให้ประวัติศาสตร์กัมพูชาเต็มไปด้วยสงครามกลางเมือง เพราะเมื่อเข้าไปได้แล้ว ทั้งไทยและเวียดนามมักไม่ยอมถอนตัวออกมาง่าย ๆ แม้จะถูกเจ้าบ้านขับไล่ในภายหลังก็ตาม
 
เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย หวังใช้กรณีกัมพูชาเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อเป็นไพ่สำหรับการต่อรองในการเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายอำมาตย์
 
ในแง่นี้ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยจึงไม่ต่างจากขบวนการเสื้อเหลือง ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของตนเท่าไรนัก คือ พร้อมจะใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อบรรลุเป้าหมายการเมืองภายในของตน เหตุการณ์ล่าสุดที่นายจตุพร พรหมพันธุ์นำเอกสารลับของ ก.ต. มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีคำว่า limit สำหรับการเคลื่อนไหวของพวกเขาอีกต่อไป คนกลุ่มนี้ย่อมตระหนักว่าเอกสารนี้จะทำให้ความสัมพันธ์กับกัมพูชาร้อนแรงยิ่งขึ้น โอกาสของการเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศจะยิ่งถดถอยลง 
 
เพื่อที่จะเอาชนะศัตรูของตน พวกเขาไม่สนใจว่า “ราคา” ที่ประเทศไทยจะต้องจ่ายให้กับความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับกัมพูชาในระยะยาวมีอะไรบ้าง และความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามนี้จะส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยภูมิภาคอาเซียนอย่างไรต่อไป
 
สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยจะต้องระวังก็คือ วิธีการเช่นนี้จะกลายเป็นไฟที่กลับมาเผาผลาญตนเอง (backfire) โดยเฉพาะหากไทยและกัมพูชาถูกผลักเข้าสู่ภาวะสงคราม กระแสชาตินิยมในไทยย่อมรวมตัวกันเพื่อต่อต้านทั้งกัมพูชาและกลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ประชาชนไทยจำนวนมากที่ไม่ใช่ทั้งเหลืองหรือแดง คงไม่เลือกข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน
 
4.ผู้นำกัมพูชาเลือกที่จะละทิ้งหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน แล้วหันมาเล่นไพ่ พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อตอบโต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีจุดยืนคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ด้านหนึ่งสมเด็จฮุน เซ็น เชื่อว่ากัมพูชาจะไม่มีทางเจรจาเรื่องปราสาทพระวิหารกับไทยได้เลยตราบเท่าที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังปกครองประเทศไทยอยู่ และหากเจรจากันไม่ได้ ต่อให้การพัฒนาปราสาทพระวิหารเสร็จสิ้นลง ก็คงมีนักท่องเที่ยวไม่มากนักที่อยากเสี่ยงขึ้นไปชมมรดกโลกชิ้นล่าสุดของกัมพูชา เพราะการมีกองทหารของทั้งสองฝ่ายตั้งประจันหน้ากันอยู่ในบริเวณรอบปราสาทไม่ได้ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวเลย
 
จริงอยู่ การแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษานั้น สามารถมองว่าเป็นกิจการภายในของกัมพูชาได้ แต่ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่กำลังมีปัญหากันอยู่นี้ สมเด็จฮุน เซ็นย่อมรู้ดีว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ย่อมไม่สามารถทำเป็นทองไม่รู้ร้อน แล้วทำใจยอมรับว่าสมเด็จฮุน เซ็นไม่มีเป้าหมายอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ ยังไม่นับเรื่องการวิจารณ์การเมืองภายในของไทยและที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่แม้ว่าจะมีมูลความจริงอยู่ก็ตาม แต่ถือเป็นมารยาทที่ผู้นำของประเทศหนึ่งจะไม่วิจารณ์กิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง แต่ความโกรธที่มีต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำให้ฮุน เซ็นได้โยนมารยาทข้อนี้ทิ้งไป
 
ในอีกด้านหนึ่ง ท่าทีอันแข็งกร้าวของฮุน เซ็น เป็นการแสดงให้ไทยได้ตระหนักว่า ถึงกัมพูชาจะเป็นประเทศเล็ก แต่จะไม่ยอมอ่อนน้อมให้กับประเทศไทยอีกต่อไป  ประการสำคัญ วิธีการยั่วให้โกรธ ยั่วให้เต้นตามของฮุน เซ็น ก็ดูจะได้ผลกับรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างมากทีเดียว เราจึงได้เห็น พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับเข้าไปยังกัมพูชาซ้ำสองในเวลาไล่เลี่ยกัน และคงมีครั้งที่สามครั้งที่สี่ตามมาอีก  
 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการเลือกเล่นไพ่ทักษิณของฮุน เซ็น จะมียุทธวิธีใหม่ ๆ อะไรออกมาอีก และจะยุติลงเมื่อไร สิ่งที่น่ากังขาคือ ทำไมฮุน เซ็นจึงต้องนำเรื่องเอกสารลับ ก.ต. ขึ้นทูลต่อสมเด็จบรมนาถนโรดม สีหมุนี ว่าไทยกำลังก้าวก่ายกิจการภายในของกัมพูชา นี่เป็นเพียงแค่การบลั๊ฟ (bluff) รัฐบาลไทยที่เคยกล่าวหาฮุน เซ็น ว่าแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา หรือเป็นสัญญาณเตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชากำลังจะก้าวลงสู่ก้นเหวในเร็ววันนี้?
 
หยุดพากันลงเหวได้ไหม
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในช่วงที่ผ่านมาได้กลายเป็นเรื่องของการใช้อารมณ์โต้ตอบกันและกันอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกฝ่ายมุ่งเอาชนะโดยไม่สนใจกติกามารยาทใด ๆ ทั้งสิ้น พายุแห่งความโกรธและทิฐิได้ลากพาความสัมพันธ์ของสองประเทศไปไกลจากจุดเริ่มต้นของปัญหา จนเราแทบจะลืมกันไปแล้วว่าต้นตอของความขัดแย้งนั้นเริ่มจากเรื่องอะไร เมื่อมองไม่เห็นต้นตอของความขัดแย้ง ก็ยากที่จะหาทางแก้ไขได้ถูกจุด
 
ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มองว่าสาเหตุของปัญหาเริ่มต้นเมื่อฮุน เซ็น แต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา แต่ฝ่ายกัมพูชาบอกว่าทำไมไทยไม่พูดถึงเรื่องปราสาทพระวิหารบ้างเล่า ซึ่งก็ชี้ว่าสองฝ่ายมองสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกัน แต่กระนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางประนีประนอมเพื่อเจรจากันได้เลย
 
ทั้งนี้ หลักการสำคัญประการหนึ่งของการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ (ซึ่งไม่มีเขียนไว้ที่ไหน) ก็คือ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหรือเรื่องสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่ง
 
ในกรณีนี้ ผู้เขียนเสนอว่า เมื่อรัฐบาลไทยตระหนักว่าปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องสำคัญสำหรับฝ่ายกัมพูชา รัฐบาลก็ควรยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาบนเงื่อนไขที่ว่า สำหรับปราสาทพระวิหารและดินแดนอันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาท รัฐบาลไทยยอมรับตามการตัดสินของศาลโลกว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา (รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องใช้ความกล้าหาญและทำความเข้าใจกับประชาชนไทยในกรณีนี้ด้วยว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขคำตัดสินเมื่อ 47 ปีก่อนได้อีกแล้ว เพราะหากไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ก็ไม่มีทางที่การเจรจาและรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกัมพูชาจะเกิดขึ้นได้) แต่พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ยังจำเป็นต้องมีการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขกันต่อไป  ทั้งนี้ การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมเด็จฮุน เซ็น ให้สัญญาว่าจะไม่เชิญพ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้าไปในกัมพูชาอีก    
 
รัฐบาลไทยไม่ควรมองว่าการเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอให้เจรจาเท่ากับไทยอ่อนแอ หรือจะทำให้ไทยเสียหน้า ในทางตรงกันข้าม การเป็นฝ่ายเสนอให้เปิดเจรจาแสดงให้เห็นความมีวุฒิภาวะและความพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยสันติของไทย  
 
ทั้งนี้ การส่งสัญญาณว่าไทยต้องการเปิดเจรจาสามารถกระทำได้หลายทาง เช่น ผ่านทูตไทยไปยังทูตเขมรที่อยู่ในประเทศอื่น หรือใช้บุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์เองที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา แต่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด เช่น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือโดยผ่านผู้นำอินโดนีเซีย ที่จะยินดีเป็นตัวแทนส่งสาส์นให้กับไทยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ วิธีที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ ประกาศผ่านสื่อมวลชน เพราะอาจถูกพลิกจนกลายเป็นเรื่องของการหักเหลี่ยมลูบคมระหว่างกันขึ้นมาอีกก็ได้
 
การตอบโต้กันรายวันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เพียงทำให้สองฝ่ายเสมือนเด็กทะเลาะกัน แต่ยิ่งทำให้การเผชิญหน้าตึงเครียดมากขึ้นทุกที ทางออกของปัญหาไทย-กัมพูชาด้วยการเจรจายังไม่ได้ปิดตาย มันขึ้นอยู่กับเจตน์จำนงของผู้นำเป็นสำคัญว่าต้องการเจรจาหรือไม่ หรือจะมุ่งตอบโต้กันอย่างเดียวตลอดไป
 
โปรดอย่าปล่อยให้ทิฐิของบรรดาผู้นำกลายเป็นความโชคร้ายของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net