Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หัวใจของการปฏิรูปสังคมและการเมืองคือการสร้างรัฐสวัสดิการ และการเก็บภาษีก้าวหน้า 

ในยุคปัจจุบัน ไม่มีประเทศใดที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับคนจนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบสวัสดิการที่พบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม คือให้แค่บางกลุ่มบางพวก แยกส่วน และไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เรียกว่า"สวัสดิการรัฐ"

รัฐสวัสดิการ (Welfare State) เป็นระบบสวัสดิการรูปแบบที่พัฒนาไปถึงระดับสูงสุดสำหรับระบบทุนนิยม และถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) รัฐสวัสดิการมีลักษณะพิเศษคือ

 

(ก) เป็นระบบครบวงจรที่ดูแลพลเมือง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"[1] เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

(ข) เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า คือพลเมืองมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกคน ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นคนจนที่สุดเท่านั้น

(ค) เป็นระบบสวัสดิการเดียวสำหรับพลเมืองทุกคนที่อาศัยรัฐเป็นผู้บริหาร

ไม่ใช่ว่ามีหลายระบบซ้ำซ้อนกัน อย่างสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ฯลฯ

(ฆ) เป็นระบบสวัสดิการที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน และภาษีอัตราก้าวหน้า ให้คนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อย

 

รัฐสวัสดิการเป็นระบบครบวงจรและถ้วนหน้า ดังนั้นจะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ดังนี้

1. สวัสดิการในรูปแบบเงิน คือสวัสดิการที่ประชาชนสามารถเบิกจากรัฐในกรณี ลาป่วย บำเหน็จบำนาญเกษียณ สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการลาคลอด สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำแต่มีงานทำ ฯลฯ

2. ระบบรักษาพยาบาลและยาฟรี สำหรับทุกโรคไม่จำกัด และไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงสถานดูแลคนชรา และโรงพยาบาลโรคจิตด้วย

3. ระบบการศึกษาฟรี จากอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัยพร้อมทุนศึกษาแบบให้เปล่า เพื่อให้พลเมืองทุกคนมีทุนทางปัญญา และไม่ให้นักศึกษาเป็นภาระกับครอบครัว

4. ความมั่นคงและมาตรฐานในการมีที่อยู่อาศัย ที่สร้างโดยรัฐในราคาถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนเช่า หรือมีระบบอยู่อาศัยฟรี 5 ปี แรกเพื่อให้ตั้งตัวได้ ก่อนจ่ายค่าเช่าราคาถูก

5.  ความมั่นคงในการทำงาน โดยห้ามการจ้างงานแบบรับเหมาช่วงชั่วคราว หรือระบบสัญญาที่นายทุนใช้ในปัจจุบัน ลูกจ้างทุกคนต้องมีตำแหน่งถาวรพร้อมสวัสดิการและสิทธิเต็มรูปแบบตั้งแต่เริ่มทำงาน และต้องมีกฎหมายปกป้องไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างคนงานได้ง่ายๆ

6. มาตรการเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนในราคาถูกที่รัฐอุดหนุนซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเดินทาง

7. การสนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และนอกจากนี้อาจมีสื่อมวลชนแบบวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เป็นการลงทุนของรัฐ แต่ควบคุมโดยภาคประชาชน ที่ไม่แสวงหากำไรอีกด้วย

8. ระบบนักสังคมสงเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำกับผู้มีปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว และช่วยคนจนเข้าถึงบริการต่างๆ

9. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิต และสิทธิมนุษยชนของทุกคน ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้ได้โดยคนต่างชาติที่มาพักชั่วคราว ศึกษา หรือทำงานในประเทศได้ ในกรณีแรงงานที่มาจากต่างประเทศ สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวไม่เป็นภาระเลยเพราะเขาเข้ามาทำงานสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีอีกด้วย

 

รัฐสวัสดิการมีเป้าหมายชัดเจนสองเป้าหมายคือ

1.เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม (Equality of Outcome) แทนการ "ให้โอกาสเท่าเทียม" อย่างที่ทุนนิยมเสรี (Equality of Opportunity) มักกล่าวอ้าง เพราะการให้โอกาส บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียม เนื่องจากชนชั้นในสังคมทำให้ฐานะของคนต่างกันตั้งแต่เริ่มเกิดมา 

2. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ ผู้ที่ออกแบบรัฐสวัสดิการมองว่าเสรีภาพสูงสุดที่จะเกิดขึ้นคือเสรีภาพที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ คือมีการขยายเสรีภาพดังกล่าวอย่างแท้จริง ดังนั้นสังคมก็ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย นอกจากกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ แล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจทางการเมืองไปสู่ประชาชน ทำให้คนจนแข็งแรงขึ้น มีสถานะในสังคมที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้น ซึ่งสำหรับสังคมไทยพวกที่นิยมอำมาตยาธิปไตยไม่ต้องการรัฐสวัสดิการ เพราะพวกนี้ส่งเสริมเผด็จการ ส่งเสริมการรัฐประหาร และบอกให้คนจนปิดปาก ให้รู้จักเจียมตัว รู้จักพอเพียงกับความจนที่ดำรงอยู่ โดยไม่คิดที่จะลดช่องว่างทางชนชั้น นับวันยิ่งสำแดงตัวและใช้กฎหมายเผด็จการมากดหัวประชาชน เช่น กฎหมาย พรบ.ความมั่นคง กฎหมายหมิ่น มาตรา 112 เป็นต้น

ถ้าเราสำรวจระบบการปกครองทั่วโลก เราจะพบว่าระบบที่มีสวัสดิการดีที่สุดมักมีประชาธิปไตยสูงสุด และระบบที่มีสวัสดิการแย่ที่สุดมักต้องใช้เผด็จการในการกดขี่ประชาชน แนวเสรีนิยมมักอ้างตลอดว่ารัฐสวัสดิการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งอาจจริงถ้ามองจากจุดยืนคนส่วนน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชนและร่ำรวยจากการทำงานของคนอื่น แต่สำหรับคนส่วนใหญ่มันตรงกันข้าม ยกตัวอย่างรัฐสวัสดิการที่ปรากฏในการรักษาพยาบาล ประเทศที่สวัสดิการเลวที่สุดเพราะมัวแต่เอาใจหมอนายทุนกับบริษัทยาก็คือสหรัฐอเมริกา ดูได้จากสารคดีเรื่อง Sicko ของไมเคิล มัวร์ ที่นำเอาความจริงมาตีแผ่ และเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างประเทศโลกเสรีที่โกหกคำโต กับประเทศที่มีประชาธิปไตย และสนใจฟังเสียงประชาชน การดูแลสุขภาพพลเมืองจะต่างกันราวฟ้ากับดิน

สวัสดิการทั้งหมดที่ประชาชนผู้ทำงานได้จากรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การกุศล หรือสิ่งที่คนรวย ผู้อุปถัมภ์ หรือกลุ่มทุนมอบให้กับคนจนแต่อย่างใด เพราะมูลค่าทั้งปวงที่ผลิตขึ้นในโลกมาจากการทำงานของมนุษย์เพื่อดัดแปลงทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิการถือว่าเป็นค่าแรงแบบสังคมที่ประชาชนร่วมกันบริโภค (Collectively Consumed Social Wage) ซึ่งแปลว่าการเรียกร้องรัฐสวัสดิการเป็นเพียงการเรียกคืนมูลค่าที่ควรจะเป็นของประชาชนอยู่แล้วตั้งแต่แรก

 

ระบบภาษี

เราไม่สามารถกล่าวถึงรัฐสวัสดิการได้ตามลำพัง เพราะหลายคนกังวลว่าจะนำเงินมาจากไหน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องพิจารณาระบบภาษีด้วย รัฐสวัสดิการต้องอาศัยระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าโดยตรงซึ่งเก็บจากรายได้ กำไร มรดก และทรัพย์สิน(รวมถึงที่ดิน) โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ (Wealth Distribution) เพราะเก็บจากคนรวยในอัตราสูง และนอกจากนี้เป็นแหล่งทุนสำหรับงบประมาณของรัฐสวัสดิการด้วย (Welfare Income Generation)

โดยทั่วไปแล้วสำนักความคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) และสำนักความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) จะมีมุมมองต่อภาษีต่างกัน จุดเริ่มต้นคือมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ และบทบาทของธุรกิจเอกชน

ฝ่ายเสรีนิยมมองว่ารัฐควรมีบทบาทน้อยและไม่ควรสร้างภาระให้เอกชนจากการเก็บภาษี สำนักนี้มองว่านักธุรกิจและคนรวยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเขาควรมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นควรมีโอกาสแสวงหากำไรหรือรายได้สูงสุดโดยไม่มีการจำกัด ถ้าจะเก็บภาษีก็ควรลดภาระให้กับคนรวยและเพิ่มภาระให้คนจนแทน สำนักเสรีนิยมจึงสนับสนุนการเก็บภาษีแบบล้าหลัง (Regressive Taxation) ในรูปแบบภาษีทางอ้อม (Indirect Taxation) ซึ่งเป็นภาษีที่คนจนจ่ายโดยอาจไม่รู้ตัว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่เราจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ หรือภาษีสุรา/บุหรี่ ซึ่งทำให้คนจนรับภาระสูงกว่าคนรวย

ถ้าดูผิวเผินเราอาจคิดว่าภาษีทางอ้อมเป็นภาษีที่คนรวยจ่ายมาก เพราะคนรวยซื้อของมากกว่าคนจน แต่ในความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบดูว่าคนจนกับคนรวยจ่ายภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้และทรัพย์สิน จะพบว่าคนจนจ่ายมากกว่าคนรวย การเก็บภาษีจากคนจนไม่ใช่สิ่งใหม่ ในยุคก่อนทุนนิยมมีการเก็บส่วยจากไพร่และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน และทุกวันนี้รัฐไทยยังเก็บภาษีส่วนใหญ่จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ อยู่

ระบบการเก็บภาษีรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นระบบภาษีที่เก็บในลักษณะก้าวหน้า (Progressive Taxation) ภาษีก้าวหน้าเป็นภาษีที่เก็บโดยตรง (Direct Taxation) จากคนรวยและบริษัท ในอัตราสูงโดยที่คนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย บางครั้งมีการเก็บจากคนรวยในอัตราสูงเป็นพิเศษ (Super Tax) เพราะระบบภาษีแบบนี้มีสองวัตถุประสงค์คือการหาเงินเข้าคลังเพื่อเป็นงบประมาณรัฐสวัสดิการ และเพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำภายใต้แนวคิดว่าไม่ควรมีใครรวยเกินไปหรือจนเกินไปในสังคม ตัวอย่างภาษีทางตรงคือภาษีรายได้ ภาษีจากการขายหุ้น ภาษีมรดก ภาษีจากกำไรบริษัท ภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดินเป็นต้น 

แต่การเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้าเป็นส่วนน้อยของภาษีทั้งหมดที่รัฐไทยเก็บ เพราะประมาณ 66% ของรายได้ภาษีของรัฐไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) และภาษีทางอ้อมอื่นๆ เช่นโภคภัณฑ์ภายใน (รวมภาษีสุราหรือบุหรี่ ฯลฯ) [2] ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาษีทางอ้อมแบบล้าหลัง (Indirect Regressive Taxation) นโยบายภาษีแบบเสรีนิยมของรัฐไทยสะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นนำมาตลอด และทุกวันนี้นักวิชาการอย่าง อัมมาร์ สยามวาลา ก็สนับสนุนภาษีรูปแบบนี้ เช่นในกรณีที่มีการพูดกันว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคขาดเงินงบประมาณ อัมมาร์ เสนอว่าควรเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่พูดถึงการขึ้นภาษีที่เก็บจากคนรวย [3]

จะเห็นได้ว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย และระดมรายได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการ ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีไทย เพื่อเน้นภาษีทางอ้อมในอัตราก้าวหน้า ในขณะเดียวกันควรมีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ ที่เป็นภาระกับคนจน จริงๆ แล้วถ้าเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์หรือเกาหลีใต้ จะเห็นว่าไทยมีการเก็บภาษีก้าวหน้าทางตรงน้อย และโดยส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลไทยไม่ค่อยนิยมการเก็บภาษีเพื่อบริการประชาชน แต่จะเน้นการเก็บค่าบริการหรือการใช้กองทุนที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่า ดังนั้นเราสรุปได้ว่าถ้ามีการปฏิรูปภาษีจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้สำหรับการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

การส่งเสริมให้ประชาชนมีประชาธิปไตย ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างเต็มที่ กำจัดความกลัวและสร้างความมั่นคงของชีวิต ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องคอยหมอบคลาน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับระบอบอำมาตยาธิปไตย รัฐบาลอภิสิทธิ์ชนจะไม่ยอมให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการอย่างแน่นอน อย่างดีก็แจกเงินสงเคราะห์เฉพาะส่วน หรือปล้นนโยบายประชานิยมมาย้อมแมว ปั่นราคา"สวัสดิการรัฐ" แล้วอ้างว่าเป็นรัฐสวัสดิการ ผลิตนิยามใหม่ใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างความสับสนหลอกลวงประชาชนไปวันๆ

หากรัฐต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนจริงๆ และต้องการให้ช่องว่างทางชนชั้นลดลง
ประเทศไทยต้องมุ่งสู่รัฐสวัสดิการเท่านั้น!

--------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง

[1] คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือรู้จักกันในชื่อ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานในชีวิตของผู้เขียน เขียนโดย อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับการตีความว่าเป็นข้อเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับหลักประกันสังคมและคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คนคนหนึ่งพึงมี เป็นหนึ่งในบทความที่มีการคัดลอกและถ่ายทอดมากที่สุดในสังคมไทย

[2]  สำนักงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๔๘) เอกสารงบประมาณฉบับที่ 2 งบประมาณรายรับประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๙, ทีเอลิฟฟิงจำกัด กทมฯ

[3] Bangkok Post 31/01/06

 

เรียบเรียงจากบทความใน นสพ.เลี้ยวซ้าย http://www.pcpthai.org/home.php องค์กรเลี้ยวซ้าย ตู้ ป.ณ.2049 ป.ณ.ฝ.จุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ 10332 Email: pcpthai@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net