Skip to main content
sharethis

 

ปีนี้ หน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนออกมารณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 กันอย่างคึกคัก โดยมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน ตำรวจทางหลวงได้วิเคราะห์และระบุจุดเสี่ยง 87 จุด พร้อมสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ก็เร่งให้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่จัดการจราจรและความปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยง กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้พนักงานขับรถต้องตรวจแอลกอฮอล์ก่อนออกเดินทาง มีพนักงานสำรองกรณีที่ระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากพนักงานขับรถ

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ส่งสัญญาณให้ทุกพื้นที่กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด ขณะที่ในระดับท้องถิ่นก็ขานรับนโยบายศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และกระทรวงมหาดไทย ตั้งเป้าลดการตายลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการคุมเข้มต่างๆทั้งในเรื่อง “เมาแล้วขับ” “การขับรถเร็ว” รวมถึงมาตรการแก้ไข จัดการจุดเสี่ยง และรถสาธารณะที่ปลอดภัยแล้ว การรณรงค์เน้นย้ำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ก็สามารถช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2552 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือศูนย์นเรนทร ระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 88 ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย

ภาพรวมผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งในช่วงปกติและเทศกาล จะอยู่ที่ประมาณ 8 พันคนต่อปี จะพบว่า 1 ใน 2 มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บที่ศีรษะเพราะไม่ได้สวมหมวกนิรภัย และมีบางส่วนที่สวมแต่ไม่ได้คาดสายรัดคาง หรือใช้หมวกนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่ผู้รอดชีวิตบางส่วนต้องกลายเป็นผู้พิการ เป็นภาระให้กับครอบครัว เพราะจากสถิติพบว่า ร้อยละ 6-10 ของผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเกิดความพิการ ทุพลภาพ โดย 1 ใน 4 ของครอบครัวผู้พิการเหล่านี้ ต้องประสบกับสภาวะล้มละลายในที่สุด

ข้อมูลของปี 2552 ยังบ่งชี้อีกว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 ของผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดในช่วงเวลา 18.00 – 06.00 น. โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำ 18.00-21.00 น. จะพบการเสียชีวิตถึง 1 ใน4 เนื่องจากในช่วงกลางคืน จะเป็นช่วงที่มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย โดยพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิต พบว่ามีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 70 และมักจะมีพฤติกรรมเสี่ยงของการไม่สวมหมวกนิรภัยร่วมด้วย นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ร้อยละ 30 ของผู้ที่เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ มีอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 16-20 ปีมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ขณะที่ผู้ซ้อนท้ายจะพบว่ามีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ขับขี่กว่า 2 เท่า เพราะมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำกว่าผู้ขับขี่

ส่วนช่วงเวลาที่มีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงสุด คือ 3 วันที่ฉลองอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ วันที่ 31 ธันวาคม อยู่ที่ร้อยละ 30 รองลงมาคือวันที่ 1 มกราคม และ 30 ธันวาคม ร้อยละ 20 เท่ากัน หากรวมช่วงเวลาทั้ง 3 วัน พบว่าจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ดังนั้น ช่วง 3 วันดังกล่าว จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายกับรถจักรยานยนต์

นอกจากมาตรการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายกำลังเข้มงวดกวดขันแล้ว การเข้มงวดในเรื่องการสวมหมวกนิรภัยให้ครอบคลุมก็มีความสำคัญและดำเนินการได้ง่ายกว่ามาตรการอื่น เพราะจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นประสิทธิผลของมาตรการหมวกนิรภัยของประเทศเวียดนาม ที่สามารถดำเนินการให้มีความครอบคลุมของการสวมหมวกได้ถึงร้อยละ 95 จากเดิมที่มีการสวมเพียงร้อยละ 15-20 โดยมาตรการนี้ สามารถลดการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะลงได้ถึงร้อยละ 16 ดังนั้นหากเข้มงวดในเรื่องนี้ด้วยก็จะช่วยลดการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บศีรษะและลดยอดการตายได้มากกว่าร้อยละ 5 ตามที่ตั้งเป้าไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net