Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
สมาคมนักข่าวฯ พฤติการณ์ที่ไร้ยางส่งท้ายปี
 
สมาคมนักข่าวฯกล่าวสรุปรายงานว่ามีการใช้สื่อการเมืองเพื่อผลทางการเมือง ในขณะที่ตัวสมาคมนักข่าวเองฯไม่ได้ย้อนดูตัวเองว่าทำสารพัดในสิ่งที่ตนประณาม นับตั้งแต่เรียกร้องนายกฯมาตรา 7, เข้าไปรับใช้เผด็จการด้วยการเป็นสมาชิกสนช .หลังรัฐประหาร, ปฏิบัติ 2 มาตรฐานกับ 2 ม็อบ โดยเข้าไปกราบกรานพันธมิตรให้เลิกคุกคามนักข่าวภาคสนาม แต่ออกแถลงการณ์หนุนให้รัฐบาลใช้ประกาศฉุกเฉินปราบเสื้อแดงช่วงสงกรานต์ แล้วให้รางวัลภาพข่าวดีเด่นแก่ไทยรัฐในภาพข่าวสงกรานต์เลือด โดยเสนอว่าชาวบ้านแฟลตดินแดงทนเสื้อแดงประท้วงไม่ไหว จึงจิกหัวผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งลากไปกับพื้น ต่อมามีการพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดที่แฟลตดินแดง และชายที่จิกหัวผู้หญิงก็เป็นการ์ดพันธมิตรรายหนึ่ง เมื่อหญิงคนดังกล่าวไปแถลงเรียกร้องความเป็นธรรมที่สภา ผู้สื่อข่าวก็พิพากษาว่ามาผิดที่ ต้องไปแจ้งความที่โรงพัก .. .ทั้งหมดนี้ใครคือสื่อการเมืองกันแน่?!
 
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สื่อ ปี 2552 ปีแห่งการใช้สื่อเพื่อสร้างสงครามการเมือง (คลิ้กดูรายละเอียด) มีรายละเอียดตอนหนึ่งดังนี้
 
"สื่อการเมืองได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย และถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ทั้งโดยนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ทำให้สื่อเหล่านี้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละ ฝ่าย ซึ่งมีทั้งวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ฯลฯ ซึ่งสื่อการเมืองเหล่านี้ ได้นำเสนอความคิดเห็นและความเชื่อมากกว่า “ความจริง” ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลอย่างรอบด้าน ในทางตรงกันข้ามมีการนำเสนอในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ มีความลำเอียง มีอคติ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชัง จนถึงขั้นทำลายล้างต่อฝ่ายที่มีจุดยืนและความคิดเห็นที่แตกต่างกับฝ่ายของตัวเอง"
 
 
ในประเด็นนี้สมาคมนักข่าวฯเห็นว่า เป็นปีที่แต่ละฝ่ายได้ใช้ “สื่อเพื่อสร้างสงครามการเมือง” ส่งผลให้สังคมมองบทบาทสื่อมวลชนโดยรวมว่า เป็นสื่อที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและนำมาซึ่งปัญหายุ่ง ยากในการหาทางออกของวิกฤตประเทศในครั้งนี้
 
ย้อนรอยดูสมาคมสื่อทรราชแถลงการณ์ออกใบอนุญาตปราบเสื้อแดงโยนบาปทักษิณ
 
ปัญหามีอยู่ว่าสื่อการเมือง หรือสื่อรับใช้การเมืองนั้น แท้ที่จริงดูเหมือนสมาคมนักข่าวจะมีบทบาทด้านนี้ที่สุด..โดยมีพฤติการณ์ดังนี้
 
- สมาคมนักข่าวฯ มีบทบาทนับแต่การเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ โดยการออกแถลงการณ์ร่วมกับสภาทนายความขอให้มีการเปลี่ยนนายกฯโดยใช้มาตรา 7
 
- ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายกสมาคมนักข่าวก็ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เสียเอง
 
- เมื่อพันธมิตรฯ จัดการชุมนุมก่อความรุนแรงทั้งยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน พันธมิตรคุกคามนักข่าวสารพัด แต่สมาคมนักข่าวฯ ไม่เคยมีแถลงการณ์ใดๆ ปกป้องนักข่าวสนาม แต่นายกสมาคมกับเลขาสมาคมพากันดั้นด้นไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอความกรุณาจากแกนนำพันธมิตรฯ วิงวอนไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวในลักษณะสมยอมกัน
 
- แต่เมื่อกลุ่มเสื้อแดงจัดการชุมนุมขึ้น สื่อกระแสหลักได้นำเสนอข่าวบิดเบือนให้ร้ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง และยั่วยุประชาชนให้เกลียดชังผู้ชุมนุม ยุแหย่ให้รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว สมาคมสื่อต่างๆ ยังได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในวันที่ 13 เมษายน 2552 โดยมีเนื้อหาที่โยนบาปไปให้ทักษิณว่าเป็นผู้จุดชนวนความรุนแรง โดยไม่มีการประณามรัฐบาลที่ใช้กองกำลังทหารปราบปรามด้วยความรุนแรงแต่อย่าง ใด พร้อมทั้งเปิดทางให้ปราบปรามผู้ชุมนุม
 
โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ 7 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมกัน 5 ข้อ (คลิ้กดูรายละเอียดที่นี่)
 
 
แถลงการณ์ร่วมขอให้ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤตประเท
 
จากการที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ปิดถนนบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ ๙ และ ๑๐ เมษายน และบุกเข้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเมื่อวัน ที่ ๑๑ เมษายน จนทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด และได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน และเกิดเหตุการณ์รุนแรงในตอนเช้าตรู่วันที่ ๑๓ เมษายน ที่สามเหลี่ยมดินแดงนั้น องค์กรทั้งหลายตามรายชื่อข้างท้าย มีความห่วงใยในสถานการณ์บ้านเมืองว่าจะลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรงจนควบ คุมไม่ได้ จึงขอเสนอความคิดเห็นดังต่อไปนี้
 
๑. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ขอให้รัฐบาลและกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น อย่าใช้ในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม เพราะจะยิ่งทำให้ สถานการณ์เลวร้ายลงไปจนอาจกลายเป็นจลาจล และเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยเร็วที่สุด
 
๒. สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจาก อาวุธ และต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่การชุมนุมของ นปช. ในขณะนี้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการบุกโรงแรม บุกกระทรวงมหาดไทย ทุบทำลายรถในขบวนของนายกรัฐมนตรี การปิดถนนสายต่างๆ การยึดรถเมล์ การยึดรถก๊าซ ล้วนแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนอกขอบเขตของรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายทั้งสิ้น แกนนำ นปช. ต้องยุติการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และต้องควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรง รวมถึงยุติการสร้างความเกลียดชังผ่านทางสื่อในเครือข่ายดังที่กำลังทำอยู่ใน ขณะนี้ สำหรับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องยุติการยั่วยุและปลุกระดมที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง และถ้าหากเกิดเหตุร้ายแรงมากไปกว่านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้
 
๓. ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมายโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเหมาะสม และใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับ นปช. ก็ต้องดำเนินคดีกับประชาชนกลุ่มอื่นที่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญด้วยอย่างเสมอกัน
 
๔. ขอให้รัฐบาลใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจาในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นหนทางในการนำความสงบกลับคืนมาสู่ประเทศไทยได้อย่างแท้จริง รัฐบาลควรต้องเปิดการเจรจากับแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง และขอให้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. กลับมาใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
 
๕. สื่อมวลชนทุกแขนง ต้องรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนรอบด้าน รวมทั้งต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่จะรายงานออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
 
สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า
 
กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง
 
เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง
 
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง
 
๑๓ เมษายน ๒๕๕๒
 
 
 
นักวิชาการยี้แถลงการณ์ 2 มาตรฐาน ยุครัฐบาลสมัคร-สมชายรุมด่ารัฐให้ลาออก
 
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนกระทู้หัวข้อเรื่อง "2 บรรทัดฐาน" ของ ทหาร, สื่อมวลชน, นักวิชาการ เอ็นจีโอ กรณีรัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน โดยตั้งข้อสังเกตว่าการออกแถลงการณ์ข้างต้นเป็น2มาตรฐานหากเทียบกับที่เคยออกแถลงการณ์ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
 
โดย ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงในยุครัฐบาลนายสมัครนั้น หลังเกิดการปะทะในคืนวันที่ 1-2 กันยายน 2551 ซึ่ง นายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ของ นปช. ถูกคนของพันธมิตรฯ ทำร้าย จนเสียชีวิต รัฐบาลสมัครได้ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ปรากฏว่า นอกจากทหาร ที่รับมอบหน้าที่ ไม่ยอมปฏิบัติอะไรทั้งสิ้นแล้ว วงการสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ยังพร้อมใจกันออกมาประณามรัฐบาลสมัคร และเรียกร้องให้ สมัคร ลาออก และยกเลิกประกาศ พรก.ฉุกเฉิน นี่เป็นรายงานข่าว ของบางตัวอย่างของปฏิกิริยาของบรรดาสื่อมวลชน เอ็นจีโอ ในขณะนั้น (ความจริงยังมีตัวอย่างอีกมาก)
 
อันที่จริง อาจกล่าวได้ว่า การไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่ของทหาร และการพร้อมใจกันออกมาคัดค้าน ความพยายามดำเนินการยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯของรัฐบาลสมัครในขณะนั้น ของสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ มีส่วนรับผิดชอบ ต่อความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นที่ตามมา
 
 
เคลื่อนไหวต้านเสื้อแดง อ้างหยุดทำร้ายประเทศไทย
 
เมื่อ เทียบกับตอนที่เพิกเฉยต่อพันธมิตรที่ทำการประท้วงอย่างรุนแรง สมาคมนักข่าวกลับทำหน้าที่เป็นสื่อการเมืองอย่างเอาการเอางานด้วยการร่วมกับ เอ็นจีโอเสื้อเหลือง ในการเคลื่อนไหวรณรงค์"หยุดทำร้ายประเทศไทย"ในช่วงที่กลุ่มเสื้อแดงออก มารณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย
 
"หลังจากออกแถลงการณ์เหมือนให้ใบ อนุญาตปราบปรามพวกเสื้อแดงอย่างนองเลือดแล้ว พวกเอ็นจีโอก็ดัดจริตออกมาร่วมกับสมาคมนักข่าวตั้งเครือข่ายรณรงค์หยุดทำ ร้ายประเทศไทย"ผู้เขียนวิจารณ์สื่อระบุในตอนหนึ่งของซีรีส์เรื่อง ในนามของการหยุดทำร้ายประเทศไทย พวกเขาออกใบอนุญาตฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
 
 
เปิดโปงพฤติการณ์เสนอข่าวผิดๆ แล้วไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ของสื่อไทย
 
นี่ไม่ใช่หนแรกที่สื่อกระแสหลักมีพฤติการณ์ทำนองเป็นสื่อการเมือง เมื่อไวๆ นี้สื่อกระแสหลักนำเสนอข่าวว่าตำรวจเชียงใหม่จับการ์ดเสื้อแดงพร้อมระเบิดปิงปอง 6,000 ลูกไว้ก่อเหตุช่วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเดินทางไปเชียงใหม่ แต่พอพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นเพียงประทัด สื่อก็เงียบเฉย
 
ช่วงก่อนนั้นสื่อไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ TIMES ONLINE หมิ่นสถาบันฯ พอ TIMES เปิดเผยคำสัมภาษณ์อย่างละเอียดว่าทักษิณไม่ได้หมิ่นฯเลย แต่กลับแสดงจงรักภักดี สื่อไทยก็ไม่ได้แก้ไขข่าวใดๆ
 
 
ช่วงเสื้อแดงประท้วงตอนสงกรานต์ สื่อไทยเสนอว่าชาวบ้านแฟลตดินแดงทนเสื้อแดงประท้วงไม่ไหว จึงจิกหัวผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งลากไปกับพื้น ต่อมามีการพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดที่แฟลตดินแดง แต่เกิดแถวถนนราชปรารภ และชายที่จิกหัวผู้หญิงก็เป็นการ์ดพันธมิตรรายหนึ่ง เมื่อหญิงคนดังกล่าวไปแถลงเรียกร้องความเป็นธรรมที่สภา ผู้สื่อข่าวก็พิพากษาว่ามาผิดที่ ต้องไปแจ้งความที่โรงพัก
 
ต่อมาสมาคมผู้สื่อข่าวยังมอบรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปีให้กับไทยรัฐกรณีจิกหัวผู้ประท้วงหญิงเสื้อแดง โดยไร้สำนึกว่าสื่อนำเสนอข่าวผิด
 
มาถึงเวลานี้คงต้องย้อนถามไปยังสมาคมนักข่าวฯแล้วว่า การชี้หน้าใครต่อใครว่าเป็นสื่อการเมือง แล้วพฤติการณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ที่ผ่านมานี่ ไม่ใช่สื่อการเมืองที่ทั้งน่าเกลียดน่าชังดอกหรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net