Skip to main content
sharethis

(8 ม.ค.53) สหภาพแรงงานไฮคอม ประเทศไทย และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กว่า 30 คน จากจังหวัดระยอง เดินทางยื่นหนังสือถึงสถานทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย เพื่อขอความเป็นธรรม จากกรณีบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีบริษัทสัญชาติมาเลเซีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และเป็นแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานไฮคอมฯ รวมถึงให้คนงานที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานฯ กว่า 50 คนหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (ปิดงานเฉพาะส่วน) ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน

พนักงานหญิง ฝ่ายผลิต อายุงาน 3 ปี หนึ่งในสมาชิกสหภาพฯ กล่าวว่า การยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานนี้เป็นครั้งแรก หลังจากบริษัทดำเนินงานมา 6 ปี โดยในการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น นางสาวเจนจิรา การถาง ซึ่งเป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องก็ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับค่าชดเชย

เธอเล่าว่า จากนั้นมีการนัดเจรจาในวันที่ 17 และ 22 ธ.ค.52 แต่นายจ้างก็ไม่รับข้อเสนอใดๆ และเมื่อมีการนัดอีกครั้งในวันที่ 5 และ 7 ม.ค.53 นายจ้างก็ไม่มาตามนัด โดยให้เหตุผลว่าข้อพิพาทจบไปแล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังให้คนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ กว่า 50 คนหยุดทำงาน ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.52 โดยไม่ได้รับค่าจ้าง แม้ว่าก่อนหน้านั้น บริษัทบอกว่าจะให้พนักงานทุกคนหยุดงานช่วงปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. โดยได้รับค่าจ้าง

ทั้งนี้ เธอบอกว่า คนงานได้รับการแจ้งว่า ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการเจรจาจะเดินทางมาจากประเทศมาเลเซียในวันที่ 18 ม.ค.นี้ พวกเขาเห็นว่า การเจรจาดำเนินมาเนิ่นนานแล้ว และคนงานถูกเอาเปรียบจนเกินไป ทั้งที่พวกเขายื่นข้อเรียกร้องตามกรอบของกฎหมาย จึงเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากสถานทูตมาเลเซีย

เธอเล่าว่า ปัจจุบันพวกเธอยังไม่ได้ค่าจ้างและยังรอที่จะกลับเข้าทำงาน รวมถึงต้องการให้เปิดการเจรจา แต่นายจ้างกลับยื่นข้อเสนอว่า ถ้าอยากกลับเข้าทำงานให้ยุติข้อเรียกร้องทั้งหมด รวมถึงยืนยันให้ น.ส.เจนจิรา ออกจากงาน

ขณะที่พนักงานชาย อายุงาน 2 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพฯ เช่นเดียวกัน บอกว่า พนักงานรวมตัวกันเพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิต แต่นายจ้างก็ไม่ยอมเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ ถ้านายจ้างให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไม่ดีจึงไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของคนงานได้ เขาเห็นว่า บริษัทสามารถหาความร่วมมือกับพนักงานได้ เพราะที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นไปโดยไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า จากการตรวจสอบ บริษัทยังมียอดผลิตและส่งออกจำนวนมาก

ด้านบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 52 มีองค์กรแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง 83 แห่ง จาก 100 แห่ง ขณะที่ปีก่อนหน้า มีองค์กรแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง 62 แห่ง จาก 70 แห่ง ทั้งนี้ ในการเจรจาระหว่างคนงานและนายจ้างมักตกลงกันไม่ได้ โดยนายจ้างโหนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจอ้างว่าขาดทุน ทั้งที่เมื่อตรวจสอบจะพบว่า บริษัททำกำไรได้สูง
 
เขาบอกว่า นายจ้างมักชิงใช้สิทธิปิดงานก่อนที่พนักงานจะนัดหยุดงาน เพื่อลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน และทำให้สหภาพแรงงานขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่สามารถปกป้องดูแลผลประโยชน์ของคนงานได้ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สหภาพแรงงานใดที่ไม่เข้มแข็ง ก็จะล่มสลายไป 

สำหรับบริษัท ไฮคอม ออโตโมทีฟ พลาสติก (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัทไฮคอม-เทค ซี แมนูแฟคเจอริ่ง มาเลเซีย เอสดีเอ็น บีเอชดี ประกอบกิจการประเภท ฉีดพลาสติกอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น กันชนหน้า กันชนท้อง ฝาน้ำมัน ไฟแฮนด์เดอร์น หลังคาพรมภายในรถยนต์ ส่งให้กับลูกค้าภายในและต่างประเทศ เช่น ฟอร์ด เชฟโรเลต จีเอ็ม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net