Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
                    หลายคนคาดว่าในปี 2553 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงยิ่งกว่าปี 2552 ที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด ทำนองเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตได้ จำเป็นที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจังมากขึ้น ในปีที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะจากการเข้าใจปัญหาและสาเหตุของปัญหาไม่ถูกต้อง มองว่าปัญหาเกิดมาจากทักษิณเพียงคนเดียว จึงมุ่งทำลายทักษิณเป็นหลัก แล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีได้ การแก้ไขปัญหาต่อไปคงต้องเริ่มต้นทบทวนว่าปัญหาความขัดแย้งที่มีในวันนี้ เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างใครและขัดแย้งกันในเรื่องอะไร แน่นอนคงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างระหว่างทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณอีกต่อไป การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการพยายามใช้อำนาจรัฐ อำนาจตุลาการทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ระมัดระวัง ทำให้คนรากหญ้าได้เรียนรู้ว่าสังคมไทยโดยแท้จริงแล้วไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆคือเป็นระบอบที่ถูกครอบงำด้วยระบอบอำมาตย์อีกชั้นหนึ่ง อำมาตยาธิปไตยแม้ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่กลับมีอำนาจกว้างใหญ่ไพศาลเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เหนือกว่าอำนาจของรัฐบาล ทหาร ตำรวจหรือองค์การใดๆที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ ระบอบอำมาตย์จึงเป็นตัวขัดขวางไม่ให้คนรากหญ้าสามารถเลือกรัฐบาลที่พวกเขาต้องการได้
ความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนสองฝ่ายที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งคือคนรากหญ้าซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นผู้สนับสนุนทักษิณ วันนี้ได้กลายเป็นมวลชนคนเสื้อแดงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มของอำมาตย์หรือกลุ่มผู้ครองอำนาจเดิม ประกอบด้วยกลุ่มคนชั้นสูงและชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ คนกลุ่มนี้อาจแสดงตัวให้เห็นไม่ชัดเจน ยกเว้นกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ก็เป็นกลุ่มที่สามารถครอบงำอำนาจรัฐตลอดมา จนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ”ชาติ”ตัวจริง คนสองกลุ่มนี้และเครือข่ายกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยในแบบฉบับที่ตัวเองต้องการ ฝ่ายเสื้อแดงต้องการประชาธิปไตยที่พวกเขาสามารถเลือกทักษิณหรือใครก็ตามที่พวกเขาต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพวกเขาได้ ส่วนฝ่ายอำมาตย์ก็ต้องการให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งอำมาตย์มีอำนาจกำกับดูแลอีกทอดหนึ่งได้ สามารถกำหนดให้ใครได้เป็นหรือไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดๆก็ได้
ถ้ามองว่าปัญหาความขัดแย้งในวันนี้ ได้กลายเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองที่แต่ละฝ่ายต้องการ หรือเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จะเห็นว่าที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะทำให้ความขัดแย้งหมดสิ้นไปด้วยวิธีต่างๆซึ่งน่าจะมี 3 แนวทาง คือ
หนึ่ง แนวทางแบบแตกหัก เป็นการทำให้ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงที่สุด ต้องต่อสู้กันทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นฝ่ายมีชัย และอีกฝ่ายต้องพ่ายแพ้ ฝ่ายชนะจะเป็นผู้กำหนดระบอบการปกครองที่ต้องการ สังคมไทยที่ผ่านมาเมื่อเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใด ก็มักเลือกแนวทางนี้เป็นวิธีแรก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกับฝ่ายอำมาตย์เป็นพวกเดียวกัน เช่นในเหตุการณ์ตุลา 16 หรือตุลา19 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 หรือแม้แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลก็มีแนวโน้มจะเลือกแนวทางแบบแตกหักในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลและพวกพ้องอำมาตย์พยายามใช้สื่อมวลชนสร้างภาพให้คนเสื้อแดงกลายเป็นคนไม่รักชาติ เป็นคนไม่จงรักภักดีและเมื่อมีการนัดร่วมชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็จะประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อเตรียมใช้กำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าเข้ากำหราบคนเสื้อแดงให้ราบคาบ เหมือนเหตุการณ์เดือนเมษายน 2552 ในทางตรงกันข้ามฝ่ายเสื้อแดงเองก็มีความคิดที่จะใช้ยุทธวิธีแบบแตกหักอยู่เหมือนกัน แต่เสื้อแดงไม่มีกำลังทหารและอาวุธเหมือนฝ่ายอำมาตย์ การรบแบบแตกหักของฝ่ายเสื้อแดง จึงทำได้เพียงใช้กำลังมวลชนมาแสดงพลังให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าอำมาตย์ไม่มีวันปกครองมวลชนที่ไม่ยอมรับตนเองได้ดังสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
สอง แนวทางประนีประนอม เป็นแนวทางที่น่าจะตรงกันข้ามกับแนวทางแรก แต่ใช้วิธีหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกและที่ผ่านมาก็มีความพยายามกันหลายอย่าง เช่น การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 หรือการเสนอของฝ่ายเสื้อแดงให้นำรัฐธรรมนูญปี40 มาใช้ หรือการถวายฎีกา การนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย เพื่อย้อนเหตุการณ์กลับไปก่อนการรัฐประหาร แนวทางนี้ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดีกว่าแนวทางแรก แต่โอกาสเป็นไปได้ก็มีน้อยมาก เพราะแต่ละฝ่ายต่างให้ความหมายของคำว่าประนีประนอมแตกต่างกัน โดยฝ่ายอำมาตย์มองว่าทางออกที่ประนีประนอมที่สุดก็คือการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีระบอบอำมาตย์คอยกำกับเหมือนเดิม คนรากหญ้าและคนเสื้อแดงย่อมไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้คนรากหญ้ายอมรับได้ ส่วนฝ่ายคนเสื้อแดงคำว่าประนีประนอมก็คือการเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ส่วนอำมาตย์เป็นเพียงอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนก็ยากที่ฝ่ายอำมาตย์ซึ่งมีอำนาจมาแต่เดิมจะยอมรับได้เช่นกัน
สาม การปล่อยไปตามยถากรรม หรือถ้าจะพูดให้ชัดคือปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปตามธรรมชาติ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิด แต่ละฝ่ายก็เล่นเกมการเมืองของตนไป แสวงหาความได้เปรียบในการต่อสู่ทางการเมืองข้างหน้า รัฐบาลก็ใช้งบประมาณ ใช้เครื่องมือสื่อสารใช้กลไกระบบราชการที่มีอยู่ในมือหาคะแนนเสียง พร้อมกับทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองไปในเวลาเดียวกันเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป ฝ่ายอำมาตย์ก็ใช้อำนาจแฝงสร้างบารมีสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยอมรับในอำนาจของตนต่อไป ฝ่ายเสื้อแดงก็ต่อสู้ไปตามวิถีทางของตน สร้างเครือข่ายกำลังเสื้อแดงให้กว้างขวางขึ้น ส่วนเสื้อแดงกลุ่มที่ไม่เชื่อว่าพลังมวลชนจะมีชัยเหนืออำนาจอำมาตย์ได้ จะหันไปสร้างกำลังพลมาต่อสู้ในอนาคตก็ปล่อยไป ดูก็เหมือนจะเป็นวิธีที่ดีเช่นกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นการปล่อยให้ประเทศชาติเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง เหมือนไม่มีผู้รับผิดชอบซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจ-สังคมของชาติและภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติของประเทศดังปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่โดยสภาพการณ์ของการเมืองไทยในวันนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ทั้งสามแนวทางน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้ยาก ประสบการณ์ในอดีตทำให้หลายคนคาดว่า แนวทางแบบแตกหักน่าจะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด โดยเฉพาะถ้ามองจากมุมมองของฝ่ายอำมาตย์ แต่ก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนในสายตาชาวโลกและที่สำคัญไม่ได้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาถาวร อาจทำให้ความขัดแย้งมุดหายลงใต้ดินรอวันระเบิดรุนแรงขึ้นใหม่ในอนาคตเท่านั้น
การเมืองไทยวันนี้จึงตกอยู่ในสภาพทางตัน ไม่รู้จะเดินหน้าไปทางใด เพราะความแตกแยกได้แผ่กว้างไปทุกส่วน และการเมืองไทยก็ไม่มีวันย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมได้ เพราะระบบการเมืองของอำมาตย์เป็นระบบล้าหลังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยปัจจุบัน ตั้งแต่แผน 8  เป็นต้นมา เราได้ส่งเสริมให้คนรากหญ้าเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างอิสระเช่นเดียวกับคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ส่งเสริมให้พึ่งพาตนเอง แทนการพึ่งพิงคนอื่นโดยเฉพาะการพึ่งพิงภาครัฐ แต่ในทางการเมืองรัฐและอำมาตย์กลับไม่ยอมให้คนรากหญ้า มีอำนาจอย่างอิสระ ต้องการให้พวกเขาฟังเสียงของอำมาตย์หรือชนชั้นนำ ด้วยเกรงว่าจะไม่รู้เท่าทันนักการเมืองและจะทำให้ชาติขาดความมั่นคง สถานการณ์แบบนี้ ทำให้เกิดการไม่ลงรอยกันระหว่างฐานศรษฐกิจ(economic basis) กับระบบการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบน (superstructure)ของสังคม ซึ่งมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมได้ ดังนั้นแทนที่จะรอให้เกิดความรุนแรง สังคมไทยโดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะรัฐบาลแต่หมายถึงทุกกลไกของรัฐ และคู่ความขัดแย้ง ควรต้องช่วยกันแสวงหาและสร้างสรรทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดีกว่านี้ ถ้าพูดตามยุคสมัยก็คือเป็นทางออกแบบพอเพียง เป็นทางออกที่มีเหตุผล เป็นทางออกที่มีความพอดีไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเป็นทางออกที่มีภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในระยะยาว
ผู้เขียนเห็นว่าทางออกที่พอเพียงสำหรับการเมืองไทยในวันนี้ ก็คือ การช่วยกันสร้างกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบันและอนาคต ให้เป็นกฎกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมก็คือถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ถูกเขียนขึ้นมาด้วยอคติของคณะรัฐประหาร หรือการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งถูกล้มเลิกไปแล้ว สร้างให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ไม่ยอมให้ใช้รถถัง และกำลังทหาร มายึดและฉีกทิ้งเหมือนในอดีต เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เราจะต้องเริ่มพิจารณากันตั้งแต่มาตรา1 เป็นต้นไปจนถึงมาตราสุดท้ายเพื่อกำหนดให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีสถานะที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เขียนตามประเพณี เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจนว่ารัฐสภา รัฐบาล ศาล หรือตำรวจ ทหารเป็นของประชาชนทุกคน และจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างเท่าเทียม รัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้สังคมไทยกลับมาอยู่ในสภาพสันติสุขได้อย่างแท้จริง แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือเราจะเริ่มต้นให้เกิดรัฐธรรมนูญเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้นให้เกิดกระบวนการนี้ได้ เพราะทุกวันนี้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยได้รับการยอมรับนับถือในบ้านในเมือง นักวิชาการน้อยใหญ่ ต่างก็กระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์ในความขัดแย้งกัน จนแทบไม่มีคนเป็นกลางให้เป็นที่พึ่งของสังคมนี้หลงเหลืออีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net