มูลนิธิกระจกเงารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์รอบปี 2552

 
มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีบทบาทในภาคส่วนของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีหน่วยงานปฏิบัติการ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ และ ศูนย์ข้อมูลคนหาย   เป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยในรอบปี พ.ศ. 2552 ได้รวบรวมสถานการณ์ การค้ามนุษย์น่าสนใจ ดังนี้
 
            1.การค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง
 
            ในปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา รับแจ้งเหตุแรงงานประมงขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิ กว่า  103  กรณี โดยถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า
 
            ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงและประมงต่อเนื่องกว่า 1 แสนอัตรา ทำให้เกิดขบวนการนายหน้าในการจัดหาแรงงานเข้าสู่สถานประกอบการ โดยในปีที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ขึ้นบัญชีจังหวัดท่าเรือประมงที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ใน ขั้นรุนแรง ได้แก่
 
            1.จังหวัดสงขลา
            2.จังหวัดชลบุรี (ท่าเรือแสมสาร อำเภอสัตหีบ)
            3.จังหวัดสมุทรสาคร
            4.จังหวัดสมุทรปราการ
           
            โดยในรอบปี 2552 ที่ผ่านมาจะได้มีการเข้าช่วยเหลือแรงงานประมงครั้งสำคัญ คือ ที่ท่าเรือประมงแสมสาร จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 ครั้ง และท่าเรือประมงกันตัง จังหวัดตรัง 1 ครั้ง โดยสามารถช่วยเหลือแรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ได้กว่าครึ่งร้อยราย โดยทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
 
            ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่อลวงแรงงาน โดยในจำนวนนี้ มีแรงงานเด็กรวมอยู่ด้วย   ขบวนการค้ามนุษย์ได้ใช้พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพมหานคร เช่น สถานีขนส่งหมอชิต สนามหลวง และสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานที่ในการล่อลวงแรงงานที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง
           
            ในขณะที่การดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิด แม้ว่าจะมีการจับกุมตัวนายหน้าที่ล่อลวงแรงงานได้หลายคดี แต่ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ ได้รับการประกันตัวและก่อเหตุซ้ำซากอีก ทั้งนี้ การดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการได้
 
            โดยในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาการค้ามนุษย์แรงงานประมง เพื่อหาแนวทางในการค้ามนุษย์แรงงานภาคประมงก็ตาม  แต่ยังไม่มีรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนออกมา
 
            2.ขอทานเด็ก
 
            การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานยังเป็นกรณีการค้ามนุษย์ที่มีความรุนแรงในปี พ.ศ.2552  โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกนำพามาจากประเทศกัมพูชาและพม่า ทั้งนี้จำนวนเด็กขอทานในประเทศไทยที่แน่นอนยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการกระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ ทั้ง เชียงใหม่ พัทยา หาดใหญ่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น  
           
            การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานเริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการนำเด็กมานั่งขอทานธรรมดา เป็นการให้เด็กขายดอกไม้ หรือสินค้า ตามสถานบริการต่างๆ ในยามค่ำคืน 
           
             ภาพรวมของธุรกิจเด็กขอทานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กขอทานต่อหนึ่งคนสามารถหาเงินได้ตั้งแต่ 300 บาทถึง 1,000 บาทขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ขบวนการค้ามนุษย์จะพยายามเคลื่อนย้ายเด็กเข้ามาขอทานในประเทศไทย แม้ว่าจะถูกจับกุมและส่งกลับไปประเทศต้นทางหลายครั้งแล้วก็ตาม
           
              นอกจากนี้ยังพบปัญหาสำคัญ คือ ครอบครัวชาวกัมพูชาที่เคยเดินทางเข้าประเทศไทยมากับขบวนการนายหน้าในครั้งแรกแล้วถูกจับกุมผลักดันกลับประเทศไป จะนำลูกหลานของตัวเองเข้ามาขอทานในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเดินทางเข้ามาด้วยตนเอง นอกจากนี้เมื่อมีความชำนาญ จะเริ่มชักชวนคนในชุมชนมาขอทานในประเทศไทย กลายเป็นการผันตัวเองเป็นนายหน้านำพาเด็กมาขอทานอีกทอดหนึ่ง
           
                  พื้นที่สำคัญที่มีการลักลอบนำพาเด็กเข้ามาขอทานในประเทศไทย คือ ด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ มีรายงานลับจากหน่วยงานด้านการข่าวว่า บนรถไฟสายอรัญประเทศ-กรุงเทพมหานคร  ถูกใช้เป็นเส้นทางในการนำพาเด็กจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานประเทศไทย
 
                  ในขณะที่ปลายปี พ.ศ. 2552 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน ฉบับใหม่ ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเริ่มเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรภาคเอกชน ว่าไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว ยังไม่สามารถแสดงถึงแนวทางในการพัฒนา หรือการจัดสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มคนขอทาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแต่อย่างใด
 
 
            3.การลักพาตัวเด็ก
 
            การลักพาตัวเด็ก นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยในปีนี้มีเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 7 ราย มีจำนวนเท่ากับเมื่อปี พ.ศ.2551โดยเด็กที่ถูกลักพาตัวมีอายุเฉลี่ยเพียง 6 ขวบเท่านั้น ลักษณะการลักพาตัวเด็กส่วนใหญ่เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเด็กไปกระทำทางเพศและบังคับใช้แรงงาน ทั้งนี้ การลักพาตัวเด็กมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้กระทำความผิดมิใช่กลุ่มอาชญากรรมหรือขบวนการค้ามนุษย์ที่มีขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีลักษณะอาการคล้ายป่วยทางจิต มีความต้องการที่จะนำเด็กไปสนองความใคร่ทางเพศ ผู้กระทำความผิดบางราย มีประวัติการรักษาในสถานพยาบาลด้วยอาการป่วยทางจิต และที่สำคัญ เป็นผู้กระทำความผิดมาแล้วหลายครั้ง  
 
ลักษณะการก่อเหตุในการลักพาตัวเด็กนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปที่ดี  ผู้ก่อเหตุมักจะใช้วิธีการที่แนบเนียนในการเข้ามาตีสนิทกับเด็กกลุ่มเป้าหมายและจะล่อลวงโดยการชักชวนเพื่อให้สิ่งของหรือสิ่งตอบแทนอื่นแก่เด็ก เช่น ขนม ของเล่น หรือเงินเล่นเกมส์  เป็นต้น
 
            4.ขบวนการซื้อขายเด็กทารก
           
             ในรอบปีที่ผ่านมา มีข่าวคึกโครมที่สำคัญ คือ ขบวนการซื้อขายเด็กทารกทางชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่นายหน้าจะเข้าไปติดต่อเพื่อขอซื้อเด็กนั้น จะเป็นกลุ่มหญิงขายบริการที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึ่งประสงค์หรือครอบครัวที่มีฐานะยากจนตามแนวชายแดน โดยนายหน้าชาวไทยจะเข้าไปหว่านล้อมให้หญิงที่ตั้งครรรภ์ไม่พึงประสงค์เก็บเด็กไว้จนคลอดไม่ต้องทำแท้ง เพราะเมื่อเด็กคลอดจะมีคนมารับซื้อเด็กในทันที 
           
                จากการลงพื้นของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่าในพื้นที่ อำเภอด่านนอก จังหวัดสงขลา มีสถานบันเทิงประเภทร้านคาราโอเกะ ดิสโก้เธค และนวดแผนโบราณอยู่อย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้เองจึงมีหญิงขายบริการจำนวนมากเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ข้อห้ามอย่างหนึ่งของหญิงขายบริการก็คือ “การห้ามตั้งท้อง” เพราะนั่นหมายถึงการไม่สามารถทำงานได้ และเป็นภาระในอนาคต 
           
                 ด้วยเหตุนี้เองหญิงขายบริการที่พลาดท่าตั้งครรภ์ จึงมีความคิดที่จะเอาเด็กออกหรือทำแท้ง จึงเป็นช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาเสนอขอซื้อเด็กทารก โดยมีเงินจำนวนหมายหมื่นบาทเป็นตัวล่อ ให้หญิงตั้งครรภ์เก็บเด็กไว้จนคลอดเพื่อขาย 
           
                  มีข้อมูลที่น่าสนใจในพื้นที่ด่านนอก ว่ามีร้านคาราโอเกะบางแห่ง เป็นนายหน้าในการติดต่อหญิงบริการที่ตั้งครรภ์ โดยการรับมาอยู่ในร้านจนกว่าจะคลอด หรือยินยอมให้พนักงานในร้านตั้งครรภ์ได้ ซึ่งผิดวิสัยของสถานบันเทิงทั่วไป เพราะหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถทำงานบริการได้ โดยร้านคาราโอเกะดังกล่าวจะให้ที่พักแก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่ออยู่จนกระทั่งคลอดลูกข้อมูลจากการสืบสวนของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่า มีหญิงวัยกลางคน คนหนึ่งเปิดร้านคาราโอเกะบริเวณด่านนอกมาหลายปี มีพฤติกรรมน่าสงสัยในการเป็นนายหน้าหาเด็กเพื่อส่งให้เอเย่นต์ ชาวมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง   โดยรับหญิงตั้งครรภ์เข้ามาอยู่ในร้าน และมีการเกลี้ยกล่อมให้หญิงตั้งครรภ์ เก็บลูกไว้เพื่อขาย  
           
                   แหล่งข่าวในพื้นที่ยังให้ข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาว่า ร้านคาราโอเกะแห่งนี้จะมีนายหน้าชาวมาเลเชีย เชื้อสายจีนวัยกลางคน เป็นผู้มารับซื้อเด็กทารก โดยชายคนดังกล่าวจะข้ามฝั่งจากมาเลเชียมาดื่มกินที่ร้านคาราโอเกะแห่งนี้เสมอ และมักจะพูดคุยถึงเรื่องการรับซื้อเด็กทารกจากหญิงบริการที่ตั้งครรภ์ จนเป็นที่รู้กันในพื้นที่ใกล้เคียงว่าหากหญิงคนใดต้องการขายลูก ต้องมาติดต่อกับชายคนดังกล่าว
            ส่วนวัตถุประสงค์ในการซื้อเด็กไปนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำไปเพื่อการใด แต่จากการสันนิษฐานพอสรุปได้ว่า อาจจะนำเด็กไปขายต่อให้กับครอบครัวชาวต่างชาติที่ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือ นำเด็กไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน 
           
                  สถานการณ์การค้ามนุษย์ในช่วงปี พ.ศ.2552 ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นเด็ก           ทั้งเด็กไทยและเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังพบปรากฏการณ์เหยื่อของการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้ชายมากขึ้น โดยเฉพาะในการค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง ทั้งนี้ข้อสังเกตในรอบปีที่ผ่านมาอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ แม้จะมีการดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ แต่ก็ยังไม่สามารถเอาผิด หรือเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการได้
           
                  ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา  ประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี พ.ศ.2553 ว่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในแรงงานภาคประมง เนื่องจากเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ส่วนสถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านอื่นๆ อาจจะทรงตัว แต่ไม่ได้ลดขนาดของปัญหาลง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน อาจกลายเป็นปัญหาปกติที่รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม..  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท