Skip to main content
sharethis

หลายคนรับรู้ได้ว่า'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นมีชีวิตและผลงานโดดเด่น หลากรสหลายเรื่อง และนี่คือบางความรู้สึก บางคำบอกเล่าของญาติน้ำหมึกและผู้เสพงานของเขา ในวาระ ‘มกราอำลา' ตลอดทั้งเดือน ก่อนจะมีงานพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 18 ม.ค. นี้

 

'รงค์ วงษ์สวรรค์ 
ศิลปินแห่งชาติ ปี 2538  
(ที่มาภาพ:http://www.flickr.com/photos/freemindcard/sets/72157594143593002/)
 
 
“คนเราสูงเท่ากันเสมอบนเตียงนอนและในหลุมศพ”
 
นั่นเป็นถ้อยคำของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2538 ที่ได้บันทึกไว้ผ่านตัวหนังสือของเขา บ่งบอกถึงสัจธรรมความจริงแท้ แต่แน่นอนว่า การจากไปของเขาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2552 หลังใช้ชีวิตที่เชียงใหม่มานานกว่า 30 ปี ทำให้สังคมรับรู้ว่า เขาได้ฝากคุณค่า ความหมายแห่งชีวิตอะไรๆ ไว้ในผืนบรรณพิภพนี้อย่างมากมาย เดือนนี้ พ.ศ.นี้ จึงถือเป็น ‘มกราอำลา 'รงค์ วงษ์สวรรค์’ ตลอดทั้งเดือน และจะมีงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 18 ม.ค.2553 นี้ ณ สุสานสันกู่เหล็ก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
 
เมื่อพูดถึงผลงานของเขา คงไม่สามารถจะนำมาบอกเล่า อธิบายในพื้นที่ตรงนี้ได้หมด แต่หลายคนรับรู้ได้ว่า'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นมีชีวิตและผลงานโดดเด่น หลากรสหลายเรื่อง และนี่คือบางความรู้สึก บางคำบอกเล่า ของญาติน้ำหมึกและผู้เสพงานของเขา ซึ่งเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงคารวะและอำลา 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เมื่อถึงคราพญาอินทรีแห่งสวนอักษรต้องบินไกล!

 
 
คำสิงห์ ศรีนอก หรือ ‘ลาว คำหอม’
'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ผมจะไปพูด ความหมายที่ชัดเจนที่สุดคือ รูปธรรมของความเคารพนับถือ ที่นักอ่านให้กับนักเขียน ภาพนี้ชัดเจนมาก ก่อนที่ผมจะมาพูดให้กับคุณ'รงค์นี้ ผมถือว่าเป็นมิตรที่ยาวนานมาก
ผมขอสารภาพว่า ตัวผมเองนั้นเมื่อเปรียบกับ'รงค์ ตัวผมเป็นสามเณรน้อยๆ เมื่อ'รงค์เขียนหนังสือแล้ว ผมเพิ่งจบชั้นมัธยม คิดดูก็แล้วกัน ผมเกิดก่อน'รงค์ 2 ปี เมื่อ'รงค์เขียนหนังสือมีชื่อเสียงแล้ว ผมเพิ่งจบชั้นมัธยมจากบ้านนอก ตลอดเวลายาวนาน ตอนที่มากรุงเทพฯ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เฟื่องฟุ้งในแวดวงหนังสือแล้ว คอลัมน์รำพึงรำพันโดย ลำพู ปรากฏอย่างสง่าผ่าเผยในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ต้อนรับผม เมื่อผมเดินทางจากชนบทเข้าสู่กรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน คงจะเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยากสำหรับผม การที่จะพูดถึงผู้ยิ่งใหญ่นั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะความยิ่งใหญ่ของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ มองจากด้านไหนก็เห็น มองจากทิศไหนก็เห็น เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งเราได้เห็นแล้ว ความยิ่งใหญ่ที่เป็นของแท้ไม่ใช่ของปลอม
 
แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็มีอีก 2 ประเด็นเล็กๆ ในความยิ่งใหญ่ของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น เป็นความยิ่งใหญ่ที่ทันสมัย ใครก็ตามที่อ่านงานของ'รงค์มาอย่างเกาะติดจะพบว่า สิ่งที่มหัศจรรย์ของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น คือความทันสมัยอย่างนั้น อยู่ได้มายาวนานนัก เป็นความทันสมัยที่ประกอบเพียบพร้อมด้วยความรอบรู้
คนหนึ่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์เขาบอกกับผมว่า สิ่งที่เราเขียนนั้น เขียนจากผู้รู้จริง เวลาใครจะเขียนถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาค้นคว้าจนแน่ใจจึงจะเขียนออกมา ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ความรู้เหล่านั้นทำให้ทันสมัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาถึงทุกวันนี้
 
งานของ'รงค์ทันสมัยและเต็มไปด้วยสิ่งที่รอบรู้ เป็นความประทับใจของผม
อีกสิ่งหนึ่ง เป็นตอนท้ายๆ ที่ผมอยากพูดในวันนี้ ผมเองนั้นอาจจะอยู่ในเรื่องหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือบ้าง ที่ให้เกียรติกับทุกคน ประทับใจกับทุกคนที่เขียนหนังสือได้
 
แต่'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นพิเศษกว่าใครอื่น ในแง่ที่ทำให้คนเขียนหนังสือนั้นมีศักดิ์ศรี เกือบจะเป็นคนเดียวที่ผมรู้จัก ที่มีชีวิตอยู่กับตัวหนังสือโดยไม่ทำอย่างอื่น เขาอยู่กับตัวหนังสือตลอดมา ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งสามารถประกาศสำหรับสังคมไทยเรา ที่จะสามารถจะประกาศอย่างสง่าผ่าเผยว่า เป็นคนเขียนหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ทำอย่างอื่น สามารถที่จะดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์มีศรีได้ นี่เป็นสิ่งที่มีความหมายได้
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทันสมัย เขียนหนังสือดีอย่างไร ถ้าไม่มีสื่อการผลิตที่นำไปสู่ผู้อ่านนักเขียนก็อยู่ยาก คนเขียนเก่ง สำนักพิพม์ดี ผู้อ่านที่มีคุณภาพ งานวันนี้เป็นงานที่ประกาศถึงสิ่งที่มีความหมาย
นั้นคือผมมาพูดเกี่ยวกับพญาอินทรีย์ผู้ยิ่งใหญ่
 
 

 
แรคำ ประโดยคำ
จริงๆ ไม่ค่อยรู้จักคุณ'รงค์มากเท่าไหร่ แต่ว่าได้อ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องที่คุณ'รงค์สัมภาษณ์ไว้แล้วมันมีอะไรน่าสนใจ คุณ 'รงค์ รับความคิดของเฮมิ่งเวย์มาใช้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างจะแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่อยู่เสมอก็คือว่า ตื่นเช้าขึ้นมาให้เขียนประโยคแรกที่มันเป็นความจริงที่สุดที่เราเจอ เพราะเมื่อขึ้นจากความจริงได้ มันก็จะสู่สิ่งที่คุ้นเคย แล้วเราก็จะเขียนได้ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นหนึ่ง เขาแนะนำว่าเมื่อเขียนถึงจุดที่เรื่องกำลังดำเนินไปอย่างดี ให้หยุดซะเพราะว่าถ้าเขียนไปจนจบแล้ววันรุ่งขึ้นต้องไปคิดเรื่องใหม่ มันก็จะทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วทำอะไรไม่ได้ไปค่อนวัน
 
แต่สิ่งที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ปฏิเสธความคิดเฮมิ่งเวย์ก็คือว่า เฮมิ่งเวย์เคยพูดว่าการทำงานเขียนเป็นงานโดดเดี่ยวมันอยู่กับตัวคนเดียว 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ปฏิเสธว่าไม่เห็นจะโดดเดี่ยวเลย เพราะว่าตัวละครอยู่ในหน้ากระดาษมากมายมหาศาล แล้วก็ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ งานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถ้าเราอ่าน เราจะพบว่าหลายเรื่องไม่มีพล็อต เราก็สารภาพว่า เขาเขียนเรื่องผูกพล็อตไม่เป็นอันนี้อาจจะยกเว้นสนิมสร้อย เขาบอกว่าเอามาแก้ที่หลังทำพล็อตขึ้นมา
 
งานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มันจะมีลักษณะตัวละครต้องด้นของมันไปเอง ที่นี้การด้นไปเองคล้ายๆ คนเขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครจะจูงไปไหน มันจะดึงไปอย่างไร เขาก็เลยมีความสุขกับการทำงานตัวละครตัวนั้น อีกส่วนหนึ่งเราจะพบว่างาน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเด่นที่ฉาก ตัวละครกับฉากเป็นจุดสำคัญของงานเขียน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี
 
 

 
มาลา คำจันทร์
ผมอ่านหนังสือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ครั้งแรกผมอยู่ ม.ศ. 2 ประมาณปี พ.ศ. 2510 ก็รู้สึกสะดุดลีลาภาษาที่มันไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวช่องแต่เราก็ไม่รู้สึกอย่างครูบาอาจารย์ว่ามันผิดเพราะตอนนั้นเราเด็ก เราคิดว่ามันก็สื่อความหมาย เมื่อโตขึ้นมาหน่อยย้อนคิดไป บางครั้งผมคิดว่าภาษาของคุณ 'รงค์ มีจินตภาพคือ เขียนหนังสือไม่กี่ตัว แต่ทำให้เรามองเห็นภาพอย่างคำพูดที่ว่า ‘เขาเดินออกไปจากกางเกง’ มันเห็นภาพ พอคลายเอวก็เตะโผละออกไปอย่างนั้นแหละ ใช้คำไม่กี่คำก็เห็นภาพ หรืออย่างคำว่าแสบทรวง ผมก็สะดุดจากงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ตอนนั้นคิดว่า คุณ 'รงค์ เป็นคนใช้คนแรก แต่เมื่อโตขึ้นมาเรียนถึงรู้ว่ามีในสมุทรโฆษคำฉันท์สมัยอยุธยา บางครั้งผมคิดว่าเราไปเจออะไรที่มันแปลกหูแปลกตา เราคิดว่าคนนั้นคนนี้มาทำให้ภาษาวิบัติ ผมคิดว่ามันคลี่คลายเปลี่ยนแปลงมากขึ้นมาตั้งแต่นมนามแล้ว แต่บางทีเราอาจจะลืมไปจากคลังความจำของเราไป         
                                                                                
ที่จำได้อีกอย่างของคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คือการบรรยายบุคลิกภาพของตัวละคร อย่าง ก้าน มอดอ ในสนิมสร้อย เห็นเป็นตัวเป็นคน หรืออย่างผู้หญิงของก้านมอดอ คนหนึ่ง เขาบอกว่ามีกลิ่นเหมือนกลิ่นกะทิคั้นใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้มันเป็นอย่างไร แต่ดูมันมีความแปลกใหม่ มีมิติอะไรบางอย่างที่มันเย้ายวนสำหรับคนอ่านทำให้เราไปค้นหา
 
อีกจุดหนึ่งมันเป็นเรื่องเคลื่อนไหวในวงการวรรณกรรมไทยก็คือว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นคนแรกหรือเปล่าที่ทำบันเทิงคดีให้เหมือนสารคดี แล้วทำสารคดีให้เหมือนบันเทิงคดี เขาเขียนสารคดีแต่ว่าอ่านแล้วมันเหมือนบันเทิงคดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เล่มใต้ถุนป่าคอนกรีท มันมีตัวละครอยู่ในนี้ เป็นลักษณะพูดคุยกันไป แต่จริงๆ แล้ว เป็นตัวจริงทั้งหมดเลย เพียงแต่ว่าคนๆ นี้ในชีวิตจริงๆ มันชื่ออะไร เขาก็เปลี่ยนชื่อเป็นตัวละครซะ ที่น่าสังเกตอีกอย่างตัวละครของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ชื่อประหลาดที่สุดในโลก ชื่อจะสั้นบ้าง ยาวบ้าง เป็นลักษณะเฉพาะของเขาเลย ไม่มีใครจะสามารถไปตั้งชื่อละครแบบนี้ เพราะจะรู้ทันทีว่าเลียนแบบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์
 
 

 
นิวัติ กองเพียร

'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนายของภาษา ผมชอบมากนักเขียนคนไทยที่เป็นนายของภาษาสามารถควบคุมภาษาที่เอามาใช้ได้ ผมถือว่านั่นคือนักเขียน ใครก็ตามที่ไม่สามารถควบคุมภาษาที่ตัวเองใช้ได้มัวแต่ไปหลงใหลอยู่กับไวยากรณ์ หรือวรรณคดีเก่าๆ ผมก็หลงใหลวรรณคดีเก่าๆ ผมก็โง่งมอยู่ตรงนั้น ผมไม่สามารถพัฒนาได้อย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ทำ
 
สำหรับภาษาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นภาพไม่ใช่เสียงอย่างที่คุณไพฑูรย์อ่านเมื่อกี้ จะขาดความไพเราะทางเสียงอย่างยิ่ง แต่สำนวนภาษาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คือสร้างภาพที่สวยงามด้วยภาษา เป็นจิตรกรรม อิทธิพลอันนี้มาจากฝีมือการถ่ายภาพของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียดายมาก ผมไปดูนิทรรศการไม่มีภาพของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ยุคนั้นเลย ผมเคยดูภาพถ่ายขาวดำด้วยกล้องโรไลเฟล็กทวิน กล้องบ็อกซ์สมัยนั้นนักข่าวทุกคนต้องใช้ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ถ่ายพรอตเทตของนักเขียนสมัยก่อน ตั้งแต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ลงมาเลย
 
 

 
 
พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์
 
 
ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่อ่านงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มานาน ?
จำไม่ได้ละเอียดมากนักว่า ได้อ่านงานของ คุณ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ตั้งแต่เมื่อไร แต่เข้าใจว่าได้ไปอ่านเจองานคอลัมน์ของคุณ'รงค์ ในสยามรัฐ หรือนิตยสารฟ้าเมืองไทย เล่มใดเล่มหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ พออ่านแล้วรู้สึกสนใจ จึงหางานรวมเล่มของคุณ'รงค์ มาอ่านด้วย ตอนนั้น อาตมายังอยู่ในช่วงวัยทีนเอจ ก็อ่านงานมาเรื่อยๆ อ่านมาจนจบมหาวิทยาลัย แล้วหลังจากนั้นก็ยังตามอ่านอยู่
 
ส่วนใหญ่ที่ชอบและสนใจเป็นพิเศษก็เป็นงานเขียนเกี่ยวกับสารคดี หรือบทความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างสารคดีชุดเกี่ยวกับการเดินทางต่างประเทศ หรืองานเขียนประเภทการเสพ การใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ เป็นเรื่องที่ประทับใจ อย่างน้อยก็ในแง่มุมที่เหมือนกับที่เขาเคยพูดว่า เวลาจะไปวิจารณ์ใคร เช่น วิจารณ์นายทุน วิจารณ์ผู้ดี มันก็ต้องเข้าไปใช้ชีวิตแบบผู้ดีดู มันถึงจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ดีได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ก็เป็นแง่มุมที่น่าสนใจ
 
ในความเป็นวัยรุ่น ในความเป็นคนหนุ่ม เขาเขียนถึงการเสพ การบริโภค การใช้ชีวิตของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างเช่น เขียนถึงการดื่มเหล้าอย่างที่รู้จักเหล้า การเดินทางอย่างที่พร้อมจะเรียนรู้ แม้กระทั่งเรื่องการกินอาหาร ซึ่งประทับใจในคำพูดของเขาที่บอกไว้โดยละเอียดไม่ได้ ประมาณว่า ‘ความอร่อยของอาหาร มันต้องกินด้วยลิ้นของคนชนชาตินั้นๆ คนวัฒนธรรมนั้นๆ’ อันนี้ถ้าเป็นนักเขียนทั่วไปที่รู้จักแบบผิวเผิน ก็จะมักวิพากษ์วิจารณ์อาหารด้วยลิ้นและวัฒนธรรมที่ตนเองคุ้นชิน แต่รงค์ได้เขียนในมุมมองอาหารญี่ปุ่นในมุมมองของคนญี่ปุ่น หรือกินอาหารของฝรั่งหลายๆ ชาติโดยลิ้นและสายตาของคนชาตินั้นๆ
 
ซึ่งเรื่องพวกนี้ เป็นความน่าตื่นตาตื่นใจของคนสมัยนั้น ที่ส่วนใหญ่สนใจในหนังสือของฝ่ายซ้ายมากๆ สนใจเรื่องสังคมนิยม สนใจเรื่องระบอบคอมมิวนิสต์ สนใจเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคม
แต่รู้สึกว่า รงค์ เป็นคนที่เขียนถึงชีวิตของเศรษฐี ชีวิตของนักการเมือง ชีวิตของผู้ดี นายทุน ได้พอๆ กับที่เขาเขียนถึงชีวิตของชาวไร่ชาวนา เขียนถึงอาหารอร่อยของคนลูกทุ่งก็ได้ ทำให้รู้สึกคนๆ คนนี้มีหัวใจที่เปิดกว้าง และมีอะไรครอบคลุมหลายเรื่อง แม้จะมารับรู้ในภายหลังว่า เขาเป็นนักเสพ นักบริโภค แต่ก็รู้สึกว่าเขาเป็นนักเสพนักบริโภคอย่างมีสติปัญญา ก็ตื่นตาตื่นใจ และทำให้เกิดแรงบันดาลใจหลายๆ อย่าง ทั้งในการอ่าน ในการเขียน ในการใช้ชีวิต
 
เรียกได้ว่า เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่มีผลต่อตนเองในเรื่องวิธีคิด ในเรื่องวิถีชีวิต หรือว่าในเรื่องของการเสพ การบริโภค มีผลอย่างมาก เพราะสมัยที่เป็นฆราวาส เมื่ออ่านงานที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนถึงเรื่องเหล้า ไม่ว่าจะเป็นไวน์ บรั่นดี แชมเปญ หรือเหล้าโรง 28 ดีกรี ก็ทำให้ตามอ่าน และตามหามาชิม มาลอง โดยวัยหนุ่มก็อยากรู้ รู้สึกเท่ห์ ที่ลูกผู้ชายรู้เรื่องเหล้า อยากลึกซึ้ง ว่ารู้จักไวน์ แชมเปญ บรั่นดี แตกต่างกันอย่างไร ก็มาจากการอ่านงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ก่อนที่จะมีโอกาสชิมลิ้มลองจริงๆ ก็นานหลายปี(หัวเราะ)
 
เรื่องกามารมณ์ เรื่องมุมมองต่อผู้หญิงของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็น่าสนใจ รู้สึกว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มองผู้หญิงอย่างเป็นจริง มากกว่านักสังคมสงเคราะห์ มากกว่าเฟมินิสต์ มากกว่านักการศาสนา ในส่วนของงานวรรณกรรม จำพวกเรื่องสั้น นวนิยาย ก็อ่าน เสเพลบอยชาวไร่ ผู้มียี่เกในหัวใจ ซึ่งเป็นงานชุดที่ชอบและประทับใจ
 
-มองความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียนกับตัวตนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นอย่างไรบ้าง?
ได้ติดตามของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเกินกว่า 30 ปี เพราะอ่านมาตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 13-14 ปี แต่ไม่เคยได้พูดคุยกับเขาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แบบคนรู้จักกัน คือพูดง่ายๆ ว่า เราไม่เคยรู้จัก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ตัวจริง และ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ก็ไม่ได้รู้จักเรา เคยคุยกันตามงาน คำสองคำ สมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนบ้าง แต่เท่าที่ติดตามงานมาโดยตลอด ก็รับรู้ได้ว่า'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เปิดเผยตัวตนของเขาผ่านงานเขียนในเชิงไลฟ์สไตล์ ในเชิงการใช้ชีวิตอยู่มาก แต่แน่นอนละว่า ไม่มีใครทีจะเปิดเผยตัวตนของตนได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมองในแง่ของวัฒนธรรมการอ่านการเขียนแบบตะวันตก นักเขียนก็เป็นมนุษย์ นักเขียนก็มีข้อดีข้อเสีย มีความสมบูรณ์ มีความบกพร่อง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนทั้งหมดในสิ่งที่ตัวเองเป็น หรือที่ตัวเองคิด ตราบในก็ตามที่มันไม่ได้เป็นการให้ร้ายสังคม ไม่ได้เป็นการให้ร้ายผู้อื่น หรือไม่เป็นการให้ร้ายตัวเอง
 
ก็มองในแง่หนึ่ง ในการใช้ชีวิตอย่างถึงลูกถึงคน ในการเสพ ในการบริโภค จะโดยการอ้างว่าเอามาเขียนหรือเป็นการชอบส่วนตัว ก็ถือว่าเขาได้ใช้ชีวิตเต็มที่ของเขา และเขาก็สามารถเอาแง่มุมการใช้ชีวิตเหล่านั้นมาถ่ายทอด และให้ผู้อ่านตัดสิน ซึ่งตรงนี้ถ้าจำไม่ผิด เหมือนที่'รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเขียนเอาไว้ว่า... ‘นักเขียนไม่ใช่นักบวช ไม่ได้มีหน้าที่เทศนาความดีงามอะไรให้คนอ่านมากมาย’ อันนี้ที่เขาได้เปิดเผยตัวตนของเขาออกมา เพื่อให้มีการเปรียบเทียบ เพื่อให้มีการเรียนรู้ ตรงนี้ถือว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเป็นคนที่เปิดเผยการใช้ชีวิตของตัวเอง มากกว่านักเขียน นักวิชาการ หรือศิลปินในอีกหลายๆ คน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่อยากออกความเห็น ให้คอมเม้นท์ ในเชิงที่ว่า การใช้ชีวิตของเขามันสอดคล้องกับสิ่งที่เขาคิด ในสิ่งที่เขาเขียนหรือไม่ แต่เราเชื่อว่า หลายสิบเปอร์เซ็นต์ในตัวเขา เขาเปิดเผย ผ่านงานเขียน ผ่านการสื่อสารกับสังคม และเป็นคนที่มีความมั่นใจตัวเองเพียงพอ ที่จะแสดงความมีอยู่ของเขาต่อสาธารณะ ซึ่งตรงนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคนอ่าน ขึ้นอยู่กับคนที่เกี่ยวข้อง ว่าจะหยิบฉวยอะไรมาใช้   
 
-ได้รับแรงบันดาลใจจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ มาปรับใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ?
หลายอย่าง คือถ้าจะพูดจริงๆ แบบไม่ดัดจริตว่าเชียร์คนตาย ว่าในสมัยที่เป็นฆราวาส เราค่อนข้างมั่นใจว่า ท่วงทำนองของ รงค์ วงษ์สวรรค์ สิ่งที่เขาเขียนขึ้นมา เราสัมผัส รู้สึกและรับสารตรงนั้นได้ มันมีผลต่อชีวิตของเราเป็นอย่างมาก เหมือนกับที่บอกแต่แรกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตแบบผู้ชาย ในความหมายของการกิน การเที่ยว การเกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม หรือท่าที ท่วงทำนอง การวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการเขียน แง่มุมที่เขาเขียน ได้สะท้อนว่าเขามองอะไรและถ่ายทอดมาอย่างไร อันนี้เราก็มอง จากที่สังเกตจากเขา ทำให้มีความรู้สึกว่า อยากเอามาเป็น เอามาใช้กับชีวิตตัวเองอยู่พอสมควร
 
แต่พอมาเป็นพระ มาเป็นนักบวช วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป แต่มันก็ทำให้เห็นอีกแง่มุม คือการมองให้เห็นถึงโทษภัยในบางเรื่อง ในสิ่งที่เป็นอบายมุข มันก็มีกรอบของความเป็นฆราวาส กรอบของผู้ครองเรือนหรือนักบวช แต่มันก็ทำให้เห็นอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตก็ตาม ในการเขียนอะไรก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนนั้น ก็มีอิทธิพลต่อชีวิตของเราได้ มีอิทธิพลต่อทัศนะคติ และการดำเนินชีวิต รวมไปถึงทัศนะในการทำงาน
 
เพราะฉะนั้น โดยประสบการณ์ของเราที่สัมผัส สัมพันธ์กับคนหลายแวดวง เราจึงค่อนข้างมั่นใจ สัมผัสและรับรู้ได้ว่า เขาคือของจริง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คือของจริง เป็นตัวจริง คือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ได้ดัดจริต ไม่ได้ฉ้อฉลโดยกมลสันดาน แต่เป็นตัวจริง เป็นของจริง เป็นอย่างนั้น เพราะมีหลายๆ คนอยากจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่สามารถอยู่หรือเป็นได้อย่างแท้จริง แต่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาสามารถเป็น และมีชีวิตอยู่ หาเลี้ยงครอบครัวได้ มีความสุขตามอัตภาพ และสามารถจะเผื่อแผ่เป็นแบบอย่างให้กับผู้คนได้ ก็ถือได้ว่า เขาเป็นปูชนียบุคคลได้โดยไม่ละอายต่อปากเลย ในแง่ที่ว่าเอามาเป็นแบบอย่าง แต่ก็แน่นอนว่า ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคนว่าจะนำเอามาใช้ คัดกรองให้เหมาะสม สอดคล้องกับชีวิตของแต่ละคน เพราะ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นมีคนเดียว ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่จะก๊อปปี้เป็นรงค์ หลายๆ คน
 
สรุปคือตัวเขาก็เป็นอย่างที่เขาเป็น ตั้งแต่ต้นจนบั้นปลายของชีวิต.
 
 

 
สุวิชานนท์ รันตภิมล หรือ หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง
 
 
อา'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้ใหญ่ที่มีลมหายใจปรารถนาดีให้เด็กๆได้อย่างสนิทใจ เป็นนักฝันที่มีชีวิตให้เห็นตลอดชีวิต สัมผัสได้ทั้งอยู่ให้เห็น และตัวหนังสือ เป็นแบบอย่างของความไร้ระเบียบที่เต็มไปด้วยวินัยความรับผิดชอบ และการจัดวางชีวิตไว้บนความงาม ความดีไม่ขม ละเอียดในชีวิตจริงและตัวหนังสือ ตัวหนังสือของอาเหมือนดนตรี ยามบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีน้อยชิ้น แต่เสียงที่ออกไปเป็นเสียงดนตรีวงใหญ่ จับใจ รื่นรมย์ และข้ามผ่านห้วงทุกข์ได้
 
อา'รงค์ ทำให้ผมอยากเขียนหนังสือดีๆ ละเมียดกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นดินแดนด้านดี หรือเลวก็ตาม ประณีตและรู้จักมัน เพื่อเข้าใจศิลปะในตัวหนังสือ ซึ่งไม่ใช่สิ่งใดอื่นเลย คือการใช้ชีวิตของเรา ความเข้าใจในสิ่งอื่นๆของเรา ความใจกว้างต่อโลกของเรา
 
 
 
 
 

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
 
ตอนนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว… ข้าพเจ้ากับเพื่อนครูดอยเพิ่งไปถึงสวนทูนอินและได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปที่ชั้นบนของบ้าน เขานั่งอยู่ในห้องโถงกับแมวตัวหนึ่ง มีมวนบุหรี่ที่จุดแล้ววางพาดกับขอบที่เขี่ยบุหรี่ และมีสายออกซิเจนเสียบคารูจมูก พอเห็นเราโผล่ออกไปที่หน้าประตู เขายกมือข้างหนึ่งขึ้นใช้นิ้วชี้้กับนิ้วกลางกวักเรียก เราสองคนเข้าไปนั่งพับเพียบ ฟังเขาเล่าถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่กังวาน ทรงพลัง แม้ว่าร่างกายจะถูกคุกคามด้วยโรคร้าย นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัวจริงของ'รงค์ วงษ์สวรรค์
 
และต่อมา แม้ข้าพเจ้าจะเคยมีโอกาสได้ไปเยือนสวนทวนอินอยู่อีกบ้าง แต่คิดว่าภาพของเขาที่มองผ่านสายตาตัวเอง ไม่แจ่มชัดกว่าที่รู้เห็นผ่านสายตาคนอื่น ที่รายงานข่าวความเคลื่อนไหวของเขา จากบทสัมภาษณ์ หรือการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเขา 
หรือจากคำเล่าของบางคนอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและฟังดูน่าตื่นเต้นที่ได้ยินว่าเมื่อคราวที่เขาเดินทางกลับจากอเมริกาคนหนุ่มสาวในกรุงเทพฯไปรับเขากันทั้งเมือง หรือแม้กระทั่งการมองชีวิตเขาจากงานเขียนของเขาเอง ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าอย่างหลังสุดนี้เห็นตัวตนของเขาได้ชัดที่สุด
 
ตอนเขาเสียชีวิตใหม่ๆมีคนบอกว่า'รงค์ วงษ์สวรรค์เป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในรอบร้อยปี แต่ข้าพเจ้าอยากจะพูดว่า อาจเป็นหลายร้อยปีถึงจะหาคนที่เขียนหนังสือได้อย่างนี้สักคนหนึ่ง
 
แรงบันดาลใจที่ได้จากงานของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์?
ข้าพเจ้าหัดเขียนหนังสือโดยไม่เคยมีใครช่วยสอนโดยตรงเลยก็ได้งานของ'รงค์ วงษ์สวรรค์ นี่แหละเป็นหนึ่งในแบบเรียนที่ใช้ในการศึกษาเรียนรู้ คงไม่ใช่ในลักษณะของการเอาอย่าง เพราะรู้อยู่ว่าไม่มีใครจะเลียนแบบหรือเทียบเท่าเขาได้ แต่เป็นในแบบของการศึกษาวิธีการ ตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องไปจนตั้งนามปากกา การบรรยายถึงสิ่งใดๆ อย่างกระชับและเห็นภาพ และที่สำคัญ…อ่านงานเขาแล้วจะสิ้นสงสัยเลยว่าทำไมเขาถึงมีแฟนอ่านประจำอย่างมากมายและเหนียวแน่นต่อเนื่องมานับครึ่งศตวรรษ
 
ก็เพราะงานเขียนของเขา ‘สนุก’ อย่างร้ายกาจ ไม่ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์จะเขียนถึงเรื่องอะไร แม้เรื่องราวนั้นจะเป็นความหดหู่หม่นหมองอย่างไร ไม่ว่าเรื่องคนจนในสลัม ผู้ยากไร้ที่ถูกเอาเปรียบ อาชญากรรม เรื่องเศร้าโศก การทรยศหักหลัง ฯลฯ ถ้าเล่าโดยปลายปากกาของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วเรื่องนั้นไม่ไร้กลิ่นอายของความสนุก ข้าพเจ้าคิดว่าตรงนี้เองที่เป็นหัวใจในงานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่นักเขียนใหม่ควรคือเป็นแรงบันดาลใจ เพราะสำหรับงานเขียนแล้ว ความสนุกนี่เองคือสิ่งที่จะยึดครองใจคนอ่าน
 
 
 

                 
 
 แพร จารุ
 
'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า นักเขียนต้องทำงานอย่างหนัก โดยที่ไม่ต้องถามว่า คุณทำงานหนักแค่ไหน เพราะตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือก็เห็นงานของรงค์ วงษ์สวรรค์ ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือเสมอ
 
'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนของประเทศนี้ นักเขียนที่ทำงานอย่างหนัก ด้วยความซื่อสัตย์ต่องานและเพื่อดำเนินชีวิตในทางที่ควร
 
'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นห่วงและให้กำลังใจนักเขียนคนอื่น ๆ อยู่เสมอ เช่นทุกครั้งที่ฉันได้นั่งลงพูดคุย เขาจะถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ เขียนอะไรอยู่บ้าง และบางครั้งก็ตำหนิเล็กน้อยว่า “ทำไมช่วงนี้ไม่มีงานเขียนออกมาเลย ไม่เห็นเขียนเรื่องสั้นนานแล้ว” (หลังจากตำหนิแบบห่วงใยแล้ว มีให้กำลังใจว่า เราเขียนหนังสือดี)
 
ฉันพูดกับคุณรงค์ด้วยคำพูดเดิม ๆ ว่า “เขียนอยู่ค่ะ แต่ยังไม่ได้พิมพ์ ยังไมได้ส่งไปลงที่ไหน”(ส่งไปแล้วแต่ไม่ได้พิมพ์)
 
เพื่อนสาวที่อยู่ใกล้ ๆ รีบพูดทันทีหลังจากที่เราเดินทางกลับลงมา
“ถ้าเป็นเรานะนักเขียนใหญ่เขาห่วงใยเขาพูดขนาดนี้ เราต้องคิดแล้วแหละ และต้องรีบทำงานเลย”
“เออน่า ทำอยู่ เขียนอยู่”
 
เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
 
เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตโดยรวมของครอบครัวนักเขียนว่าจะอยู่ได้อย่างไร ครอบครัวนักเขียนที่อยู่กินกับค่าแรงอันเกิดจากเขียนนั้น ฉันคิดว่าต้องใช้พลังและกำลังใจและก้าวผ่านความไม่มั่นใจและความมั่นคง
 
และฉันพบเห็นจากครอบครัวของรงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าต้องอยู่อย่างคนขยันและมีวินัยในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ฉันเห็นคุณรงค์ยังเขียนหนังสืออยู่เสมอแม้ว่าจะป่วย (ในขณะที่มีข่าวป่วย งานของรงค์ก็ยังมีให้อ่านอยู่เสมอ)
 
แล้วตัวเราที่ยังไม่เจ็บไม่ไข้จะนั่ง ๆ นอน ๆ หายใจไปเปล่า ๆ อยู่ไปวัน ๆ ให้อายุเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ฉันเห็นภาพสามีภรรยาที่ได้ดูแลเอาใจใส่กัน ฉันได้ยินเขาพูดถึงภรรยาของเขาอย่างยกย่องและให้เกียรติ วันหนึ่งฉันได้สนทนากับภรรยาของเขา ฉันจำได้ว่า ภรรยาของเขาพูดว่า ขอให้ได้ดูแลกันไปจนตลอด
 
สรุปก็คือแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์ คือแรงบันดาลใจในการมีชีวิตครอบครัวแบบครอบครัวนักเขียน ๆ และการเป็นนักเขียนอาชีพ คุณรงค์พูดเสมอว่า เขียนไปเถอะ หนังสืออะไรก็เขียน อย่าไปคิดว่าหนังสือเล็ก หนังสือใหญ่
 
บางครั้งเขาก็พยายามช่วยเหลือโดยแนะนำ เช่นเขียนไปลงเล่มนั้น เล่มนี้เขียน ในหลาย ๆ เล่มที่แนะนำ เราก็ยังไม่ได้เขียน แต่มีเล่มหนึ่งที่คุณรงค์บอกให้เขียนเสมอคือ ต๋วยตูน รวมทั้งแนะนำเจ้าของหนังสือด้วย
                     
 
 

 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 
ตัวตนของเขา ’รงค์ วงษ์สวรรค์
เท่าที่ผมได้รู้จักและมองเห็น จากมวลอันมหึมาในงานเขียนและตัวตนในชีวิตจริงของเขา เขาคือผู้ชายที่มีตัวตนอยู่สองบุคลิก บุคลิกแรกคือบุคลิกของลูกผู้ชายที่เป็นนักเลงชีวิตผู้แกร่งกร้าว ใจถึง และค่อนข้างดุดัน...

ก่อนจะกลับมาสัมผัสตัวจริงของเขา
อีกนับครั้งไม่ถ้วน ณ บ้านสวนทูนอิน เชียงใหม่ ตราบจนเท่าถึงทุกวันนี้ และอีกบุคลิกหนึ่ง เขาคือศิลปินในความหมายที่เรียกกันว่า ARTIST ที่ละเมียดละไมและประณีต ช่างพิถีพิถันกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ซับซ้อนกันอยู่ในตัวตนของเขา ผู้ชายเข้มแข็งที่แทบไม่เคยแสดงความอ่อนแอใด ๆ ออกมาให้ใครเห็น แม้ในยามเจ็บป่วยและเจ็บปวด อยู่บนเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย...

และอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมมองเห็น

ในความเป็นศิลปินของเขา เป็นจุดเด่นพิเศษในตัวตนของเขา คือความเป็นผู้มีรสนิยมดีเลิศในเรื่องความงาม จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลก... ที่เขาจะเขียนหนังสือออกมา ด้วยภาษาที่งดงามถึงปานนั้น ใช่เพียงแต่งานเขียนเท่านั้น ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาจะทำออกมาได้งดงามและดูดีไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้า พืชผักสวนครัว นิวาสสถานที่พำนักพักพิง ภูมิทัศน์ และการมีชีวิตคู่อยู่ร่วมกับคุณสุมาลี วงษ์สวรรค์ อันเป็นที่รักของเขาและลูกเต้า ถ้าคุณอยากมองเห็นภาพรวมทางรสนิยมทั้งหมดนี้ของเขา
 
คุณจงไปค้นหาหนังสือ พ็อคเก็ตบุ๊ค รายเดือนเล่มหนา ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่มละแวกถนนเฟื่องนครทำกัน ประมาณเวลาระหว่างปี 2512-2513 จากหอสมุดแห่งชาติมาดู คุณจะมองเห็นหนังสือที่มิใช่สักแต่ว่า - เป็นเพียงแค่หนังสือ แต่ยังเป็นงานศิลปะการสื่อสาร ที่งดงามประณีตทั้งรูปแบบและเนื้อหายุคหนึ่ง ซึ่งยิ่งกาลเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูงดงามคลาสสิก ควรค่าแก่การหวงแหนเป็นยิ่งนัก...

เช่นเดียวกับการพบปะผู้คนในสังคม
ที่พากันไปเยี่ยมเยียนเขาอยู่เป็นเนืองนิตย์ ณ บ้านสวนทูนอิน เขาจะพิถีพิถันในการแต่งตัวให้แลดูดีอยู่เสมอ ทั้งโดยอุปนิสัยส่วนตัวของเขา และการให้เกียรติแขกผู้มาเยือน ก่อนจะปรากฏออกมาพบปะสนทนา กับผู้คนตามเวลานัดหมายที่ยากจะคลาดเคลื่อน !
 
แรงบันดาลใจที่คุณได้รับจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
 
’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเป็นนักเขียน
ใช่ - เขาเป็นนักเขียน ที่ผมไม่จำเป็นต้องหยุดคิดทบทวน...และลังเลใจ ที่จะตอบตัวเองว่า นี่คือนักเขียนคนแรกในวัยหนุ่ม ที่ผมได้อ่านงานเขียนของเขาแล้ว ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเขียนหนังสืออย่างรุนแรง ใช่ - ผมชอบงานเขียนของเขา โดยเฉพาะการใช้ภาษาของอารมณ์และความรู้สึก ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา - อันงดงามเพริศแพร้วราวกับบทกวี สะดุดตาสะดุดใจ และมิอาจมีใครมาตรแม้นมาเหมือน...
อ๋อ...ใช่
แน่นอน เขาคือฮีโร่ทางวรรณกรรมคนแรกของผม
และยังคงเป็นอยู่มิรู้เสื่อมคลาย
ตราบจนเท่าถึงทุกวันนี้...
 

 
มกราคม อำลา ’รงค์ วงษ์สวรรค์
Rong Wong-Savun…One for the Road  

9-30 มกราคม ที่หอศิลปวัฒนธรรม ถ.นิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่
 
เสาร์ที่ 16 มกราคม 2553                                                                                                
14.00 น. เสวนา “พินิจวรรณกรรม...สำนวนเพรียวลม ’รงค์ วงษ์สวรรค์” โดย อดุล จันทรศักดิ์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์), สุมิตรา จันทร์เงา นักเขียน คอลัมนิสต์ ฯลฯ
16.00 น. เสวนา “กว่าจะเป็นภาพประกอบและปกหนังสือของ’รงค์ วงษ์สวรรค์” โดย ช่วง มูลพินิจ ศิลปิน , ทองธัช เทพารักษ์ ผู้ออกแบบปก นักวาดภาพประกอบ, ฯลฯ
18.00 น. คอนเสิร์ต “’Rong Wong-Savun…Fly To Heaven” โดย โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน, ตุ๊ก บราสเซอรี่, ฮาโมนิก้า ซันไรท์ และอื่นๆ อีกมากมาย
 
 อาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2553                                                                                                     
14.00 น. เสวนา “จากฮิปปี้ถึงฮิปฮอป...หนังและเพลงในช่วงชีวิต ’รงค์ วงษ์สวรรค์” โดยคอลัมนิสต์ดนตรีชื่อดัง ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา, อารี แท่นคำ ฯลฯ
16.00 น. เสวนา “อะไรอีกมากมาย...เบื้องหลังการทำหนังสืองานศพของ’รงค์ วงษ์วรรค์” โดย บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนซีไรท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เจ้าของผลงานสัมภาษณ์ชิ้นสุดท้าย’รงค์ วงษ์สวรรค์ ฯลฯ
เสาร์ที่ 23 มกราคม 2553                                                                                                      
16.00 น. เสวนา “การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน” โดยนักเขียนรุ่นใหม่ เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, วชิรา, หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง, ฯลฯ
18.00 น. เทศกาลหนังและคลิปวิดีโอ “In The Memory Of ’Rong Wong-Savun” 
เสาร์ที่ 30 มกราคม 2553  
14.00 น. บรรยาย “ประวัติศาสตร์ในเลนส์กล้องของ’รงค์ วงษ์สวรรค์” โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ
16.00 น. เสวนา “อาหารการกิน...ศิลปะการใช้ชีวิตและความรักของ’รงค์ วงษ์สวรรค์” โดย “มาดามวารินชำราบ” สุมาลี วงษ์สวรรค์ ภรรยา’รงค์ วงษ์สวรรค์, ประมวล เพ็งจันทร์ เจ้าของหนังสือเดินสู่อิสรภาพที่โด่งดัง, คำ ผกา นักเขียนที่คนเชียงใหม่ภาคภูมิใจ ฯลฯ
18.00 น. มินิฟู้ดแฟร์ปาร์ตี้เคล้าเสียงเพลง เลี้ยงส่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์”
 
 
 
ข้อมูลประกอบ :
-ญาติน้ำหมึก จาก http://www.tuneingarden.com/
-บางส่วนจากเรื่อง หรีดอักษราแห่งรักและอาลัย แด่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ “พ่อมดแห่งภาษากวีมาดวิไล จากบ้านสวนทูนอิน”พิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net