Skip to main content
sharethis
 
ระหว่างวันที่ 16-17 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.), ชมรม STP สันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับ องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ (Peace Southern Festival) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บรรยากาศในงานประกอบไปด้วยเวทีการแสดง เวทีเสวนา การออกร้านขายของและมีการจัดนิทรรศการจากองค์กรต่างๆ มากมายในจังหวัดชายแดนใต้ มีผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม
 
โดยในคืนวันที่ 17 ม.ค. 53 นั้นมีเวทีเสวนาเรื่อง “เยาวชนหนุ่มสาวกับความหวังของสังคม” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นายมูฮัมหมัด เจ๊ะแม คณะกรรมการบริหาร สนน.จชต.ฝ่ายข้อมูลข่าวสาร นายอนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นางสาวสุลักษณ์ หลำอุบล รองเลขาธิการฝ่ายประชาชน สนนท. และนางสาวไลลา เจ๊ะซู อดีตประธานเครือข่ายนักศึกษาเยาวชนเพื่อสันติภาพ ดำเนินรายการโดย นายอับดุลเราะมัน มอลอ โฆษก สนน.จชต.
 
ตอนนี้รัฐไม่ได้จุดไฟแค่ในจังหวัดชายแดนใต้ แต่รัฐกำลังจุดไฟทั่วประเทศ
นายอนุธีร์ เดชเทวพร กล่าวว่า ในตอนนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นความขัดแย้งทั่วประเทศ ที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องทางกรุงเทพ ทางภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการไม่มีประชาธิปไตย และความไม่เป็นธรรมที่ล้วนเกิดจากรัฐทั้งสิ้น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่รัฐบาลที่กำลังเล่นกับอำนาจประชาชนหรือแย่งชิงอำนาจของประชาชนไปในแบบของการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจศาลทำร้ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชน สาเหตุเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวมากขึ้น
 
สำหรับการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายพิเศษต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตามนโยบายของรัฐ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากบอกว่ารัฐดำเนินนโยบายมาถูกทางแล้วคงเป็นการโกหกโดยสิ้นเชิง สำหรับข้อบังคับในกฎอัยการศึกนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้มากมายเพราะเนื้อหามันมีแค่ว่า “ข้อที่หนึ่งทหารถูกทุกอย่าง ข้อที่สองหากทหารทำผิดให้ย้อนกลับไปดูข้อที่หนึ่ง” สันติภาพในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาดหากประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง ฉะนั้นโดยส่วนตัวจึงมองว่ารัฐยังคงดำเนินนโยบายต่อจังหวัดชายแดนใต้ไม่ถูกทางและยังเข้าไม่ถึงประชาชนจริงๆ
 
อนุธีร์กล่าวปิดท้ายว่า พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้โดดเดี่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ เพราะตอนนี้รัฐไม่ได้จุดไฟแค่ในภาคใต้แต่รัฐยังจุดไฟในอีสาน ภาคเหนือ และส่วนกลาง ซึ่งความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ล้วนเกิดมาจากรัฐ ตอนนี้อำนาจที่กดขี่พี่น้องอยู่ในขณะนี้คืออำนาจท็อปบูทผสมกับคนใส่เสื้อสูท คนใส่ชุดครุย ทุกวันนี้ประเทศกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนพี่น้องกำลังเผชิญอยู่เหมือนกัน และพวกเขาก็กำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเหมือนที่พี่น้องทำอยู่เสมอมา ทุกวันนี้รัฐกำลังทำคือแบ่งแยกและกดขี่ และกำลังบิดเบือนข่าวสารไม่ให้ประชาชนรับรู้ความจริง ตอนนี้พี่น้องทางอีสาน ทางเหนือก็กำลังรับรู้ความจริงทีละขั้นทีละขั้นอาจจะยังไม่สมบูรณ์และครบถ้วน แต่อย่างน้อยก็ยังได้รับรู้ว่ากำลังเผชิญกับอำนาจรัฐ ตอนนี้ทุกหนแห่งกำลังดำเนินการบางอย่างเพื่อให้สังคมได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นพี่น้องที่นี่จึงไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนเพราะความเป็นธรรมกำลังรออยู่ข้างหน้า เยาวชนเป็นกองหนุน ประชาชนคือพลัง แต่ทุกคนคือความหวังเหมือนๆ กัน
 
ความเป็นธรรมไม่ใช่ได้มาง่ายๆ แต่จะได้มาต้องต่อสู้
นางสาวสุลักษณ์ หลำอุบล กล่าวว่า ระบบสองมาตรฐานนั้นยืนยันว่ามี “อย่างเช่นการยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา ระหว่างนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงแต่ไม่เห็นมีใครโดนจับซุกคน” แกนนำหลายคนก็ยังคงใช้ชีวิตปกติแต่ในขณะเดียวกันในจังหวัดชายแดนใต้คนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำอะไรก็ถูกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกเช่นกัน จากสองสถานการณ์นี้หากไม่เรียกว่าสองมาตรฐานอาจะเรียกว่าสี่หรือห้ามาตรฐานก็ได้ การเกิดความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบางภาคส่วนแต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีที่มาจากความต้องการรวมศูนย์อำนาจของชนชั้นนำบางกลุ่มให้อยู่ในส่วนกลาง หากชนชั้นนำพร้อมที่จะกระจายอำนาจให้ประชาชน โดยส่วนตัวคิดว่า 2 มาตรฐานอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้
 
สุลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำนึกความรับรู้ของนักศึกษาในส่วนกลางนั้นคือ เขาไม่สนใจการเมือง ซึ่งคนที่สนใจการเมืองและทำกิจกรรมนั้นมีจำนวนน้อยมาก สำหรับตนเองนั้นการจะเดินทางมาจังหวัดชายแดนใต้ก็จำเป็นต้องโกหกที่บ้านว่าไปที่อื่น ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ก็มีน้อยมากที่กล้าลงมาที่นี่ เมื่อพุดถึงการรับข้อมูลข่าวสารของส่วนกลางก็จะพบแต่ข่าวทหารถูกยิงตาย คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจังหวัดชายแดนใต้ก็จะนึกถึงระเบิด นอกจากนั้นการรับรู้หรือเข้าใจประวัติศาสตร์ของคนข้างนอกต่อจังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่มีและไม่ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก
 
การลงมาสัมผัสชีวิตที่นี่กับเพื่อนๆ ในพื้นที่และนำกลับไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนอกพื้นที่หรือในส่วนกลางนั้นเป็นนิมิตหมายอันดีในการทำกิจกรรม สำหรับความเป็นนักศึกษาแล้วหากไม่สนใจปัญหาของประชาชนก็ไม่รู้จะมองหาใครแล้ว ตอนนี้ความขัดแย้งระบาดไปทั่ว ซึ่งไม่ใช่ในประเทศไทยแต่ยังรวมถึง พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเชีย ก็มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเช่นเดียวกัน แม้แต่ในอินโดนีเซียก็มีการกดขี่ประชาชนหรือว่าการที่ประชาชนจะต้องอยู่ใต้อำนาจของทหารหรือใครบางคน มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นหากคุณคือผู้ถูกกดขี่หรือวันนี้คุณคิดว่าคุณยังไม่ถูกกดขี่ จะทำยังไงให้สันติภาพเกิดหากความยุติธรรมยังไม่มา ความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมทางกฎหมายไม่มีทางได้มาง่ายๆ แต่มันจะมาจากการต่อสู้ของพวกเรา ซึ่งประวัติศาสตร์ก็สอนเรามาอย่างนั้น ก็ขอเป็นกำลังใจให้เยาวชนในพื้นที่และที่อื่นๆ เพื่อซักวันจะมีสันติภาพเกิดขึ้นจริงๆ
 
เมื่อถูกรังแกก็ต้องอยู่เป็นกลุ่มเพื่อป้องกันการถูกรังแก
นายมูฮัมหมัด เจ๊ะแม กล่าวว่า 2 มาตรฐานเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น ตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาก็เกิดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ๆวันหนึ่งตำรวจเข้าไปตรวจค้น เขาบอกว่ามีคำสั่งจากศาลแต่พื้นที่นั้นอยู่ในเขตสงขลาไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อประชาชนถูกรังแกจึงสอนให้รู้ว่า ประชาชนต้องอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกรังแกอีก
 
สำหรับเยาวชนนั้นต้องหากิจกรรมที่เป็นจุดร่วมของทุกๆ คน เพื่อพบปะชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อย่างเช่นงานนี้เป็นงานรวมของนักศึกษาจากหลายจังหวัดของจังหวัดทางใต้ ในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้นทำให้คนหลงใหลอะไรหลายอย่างจนลืมสิ่งที่ต้องทำ เยาวชนในพื้นที่ควรตระหนักและความจะเริ่มต่อสู้ด้วยตนเองไม่ใช่ให้คนอื่นมานำ
 
มูฮัมหมัดกล่าวส่งท้ายว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่กลัวการลงพื้นที่แต่กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนเกิดเหตุการณ์ตากใบขึ้นหากประชาชนมีสื่อเหมือน 7 ตุลารัฐคงเป็นคนผิด แต่ในตอนนี้รัฐไม่กล้าพูดความจริงและไม่กล้ายอมรับความจริง ทั้งนี้ก่อนตายก็ขอทำอะไรซักอย่างเพื่อสังคมของตนและขอให้คนหนุ่มสาวและพี่น้องประชาชนร่วมมือกัน เพื่อความสงบสุขของสังคม
 
ตราบใดที่รัฐมองว่าประชาชนเป็นโจร ตราบนั้นรัฐก็จะไม่มีทางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้
นางสาวไลลา เจ๊ะซู กล่าวว่า ผลผลิตจากระบบที่ครอบงำเราทำให้เราลืมชาติพันธุ์ของตนเอง และตราบใดที่รัฐยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำตราบนั้นปัญหาในสามจังหวัดก็ไม่ทางจบลงได้ ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ในขณะที่รัฐบอกว่ากำหนดนโยบายมาถูกทางแต่กลับไม่ยอมถามประชาชนว่าต้องการและเข้าใจสิ่งนั้นหรือเปล่า หลายครั้งที่นักศึกษาลงพื้นที่แล้วถูกกล่าวหาว่าไปช่วยโจร แต่กลับไม่ช่วยทหารที่ถูกยิง ตราบใดที่รัฐมองว่าประชาชนเป็นโจร ตราบนั้นรัฐก็จะไม่มีทางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้
 
ในมุมมองของตนเองนั้นมองว่านโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาหรืออื่นใดหากทำได้จริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐกลับไมได้ทำตามนโยบายที่ลงมา ในบางครั้งแม้แต่นักศึกษาเองก็ถูกมองว่าเป็นโจร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐจะใช้นโยบายปราบปรามโจร ดังนั้นรัฐต้องพิสูจน์ตนเองว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาจริงๆ
 
ไลลากล่าวตบท้ายว่า รัฐไม่เคยให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างจริงจังและไม่เคยสนใจว่าประชาชนต้องการอะไร ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมารวมกัน เพราะว่าคนอื่นปกครองเรามานานเกินไปแล้ว แม้แต่ในระบบการศึกษารัฐยังพยายามยัดเยียดหลักสูตรที่ทำลายความเป็นตนเอง ทำให้ลืมรากเหง้าของตนเองและทำให้นักศึกษากลายเป็นคนไม่สนใจปัญหา ดังนั้นจะทำยังไงให้นักศึกษาและปัญญาชนอยู่ข้างประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยที่ไม่ได้เป็นเพียงนามธรรมสวยหรู และที่สำคัญคือถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมาจับมือกันและตะโกนว่าเราต้องการอะไร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net