ต้านข้อเสนอดักข้อมูลบนเน็ต หวั่นละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

จากกรณี "คณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต" ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพิ่มหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการต้องติดตั้งอุปกรณ์ดักจับข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Sniffer ไว้ที่เกตเวย์ วานนี้ (19 ม.ค.)(ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ)

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การติด Sniffer ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะหากมีการดาวน์โหลด จะแยกไม่ออกว่า กำลังดาวน์โหลดโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หรือถ้ามีการเข้ารหัสไว้ก่อน ก็ยากที่ระบบจะสามารถตรวจสอบได้ ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะสิ่งที่จะเห็นคือข้อมูล text โดยยกตัวอย่างว่า ขณะที่การเก็บข้อมูล log files จะเห็นว่า ใครส่งอีเมลติดต่อกับใคร แต่ถ้าใช้ Sniffer จะเห็นข้อความที่คุยกัน

นอกจากนี้ จิตร์ทัศน์ บอกว่า ปกติแล้ว Sniffer เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ถ้าอินเทอร์เน็ตใน ม.เกษตรช้า ก็ใช้เครื่องนี้ตรวจดูว่าปัญหามาจากเครื่องไหน แต่หากนำมาใช้เก็บข้อมูลตลอด คงทำไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีลายน้ำ นั่นคือ ถ้ามีการใส่ลายน้ำไว้ในหนังเรื่องหนึ่งๆ ก็เป็นไปได้ที่จะใช้ Sniffer ตรวจเจอ แต่ก็ยากมาก เพราะนอกจากจะไม่สามารถตรวจสอบในกรณีที่มีการเข้ารหัสเพื่อซ่อนเนื้อหาได้ และอาจจะต้องดักข้อมูลตลอดเวลา ทำให้สิ้นเปลืองฮาร์ดดิสท์ และนอกจากผู้ผลิตจะต้องใส่ข้อมูลลายน้ำแล้ว ผู้ที่ตรวจก็ต้องมีข้อมูลของลายน้ำนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่ป้องกันการตรวจนี้

ต่อประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เขามองว่า การใช้การเข้ารหัสก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งไม่น่าจะยากเกินไป ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะป้องกันตัวเองได้ เช่น เข้าเว็บด้วย https, ส่งอีเมลแบบเข้ารหัส

ขณะที่ ปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ kapook.com แสดงความเห็นไว้ที่ http://board.thaifollow.com/topicboard.php?tid=72 ว่า หาก กทช.เห็นชอบตามข้่อเสนอของคณะทำงานฯ ก็จะมีผลกระทบหลักๆ ต่อสังคมไทย 3 ข้อ ได้แก่ 1. ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จะถูกรุกล้ำอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างเช่น อีเมลที่ส่งหากัน การเรียกดูเว็บไซต์ต่างๆ ของทุกคนมีโอกาสที่จะถูกเห็นโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบการที่ดูแลเกตเวย์รายนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงและต่อส่วนตัวมากขึ้นแทนที่จะลดลง

2. ต้นทุนของผู้ประกอบการเกตเวย์ในการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับข้อมูล และเก็บข้อมูล ตลอดจนสืบค้นข้อมูลจำนวนมาก อาจเป็นภาระกลับไปยังผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อตอบสนองต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ และ 3. ในแง่กฎหมายหากข้อมูลที่ Sniff เก็บไว้ถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ จะมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้ให้บริการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

"ต้นทุนที่สังคมจะต้องเสียไปทั้งหมดนี้ เพียงเพื่องานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้หลายคนมีคำถามว่า คุ้มกันหรือไม่? จึงเรียนมาเพื่อให้ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะเพิ่มหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการ ตามที่คณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเสนอมา" ปรเมศวร์ ระบุ
 

ด้านผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายคนในเว็บไซต์ twitter.com มีการแสดงความเห็นด้วยว่า การติด Sniffer น่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

มาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ใส่ tag #thaiNoSniff เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการติดตั้งเครื่อง Sniffer รวมถึงมีการตั้งกลุ่ม ThaiNoSniff ในเว็บไซต์ facebook.com ด้วย

บางส่วนจาก http://twitter.com/#search?q=%23ThaiNoSniff

 

กลุ่ม ThaiNoSniff ในเว็บไซต์ facebook.com


 

อนึ่ง คณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต" แต่งตั้งโดยกระทรวงไอซีทีคณะทำงานประกอบด้วยกระทรวงไอซีที กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และมีนายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท