ไอซีทียัน “ประเทศไหนก็ติด Sniffer” ผู้ใช้เน็ตค้านหนัก ยกตัวอย่างอเมริกาแย้ง

จากกรณี "คณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต" ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพิ่มหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการต้องติดตั้งอุปกรณ์ดักจับข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Sniffer ไว้ที่เกตเวย์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ)

ล่าสุด วันที่ 21 ม.ค.53 เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประธานคณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยลุกขึ้นมาแสดงความเห็นต่อต้าน Sniffer ว่า การติดตั้ง Sniffer เป็นการช่วยป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต้นเหตุ แถมยังสามารถคัดกรองเว็บไซต์เหมาะสมทุกประเภท ต่างจาก พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่สามารถเอาผิดได้เมื่อมีคดีความเกิดขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
       
"สำหรับกรณีที่หลายภาคส่วนเป็นห่วงว่าการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงด้วย แต่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนถนนสาธารณะที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง ไม่ให้มีการใช้เพื่อดำเนินการผิดกฎหมาย"
       
อาจินระบุว่าข้อมูลที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นมีจำนวนมหาศาล เป็นไปได้ยากที่ไอเอสพีจะเฝ้าดูข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าทุกราย ประกอบกับไอซีทีจะมีเกณฑ์ข้อมูลที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ส่งไปยัง ISP แต่ละรายแบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ประกอบการ ISP จะต้องคัดเฉพาะข้อมูลที่เข้าข่ายเท่านั้นมาพิจารณา และหาก ISP รายใดนำข้อมูลส่วนตัวลูกค้าไปใช้ประโยชน์ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายทันที
       
“เราจะให้ ISP คัดกรองข้อมูลที่น่าสงสัย สมมติมีปริมาณการเข้าใช้เว็บไซต์เพลงเว็บไซต์หนึ่งจำนวนมากผิดปกติ เราก็ต้องตรวจเช็คว่าเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงหรือไม่ อย่างไรก็ดี การเฝ้าระวังทราฟิกที่น่าสงสัยบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นการเฝ้าระวังที่ต้นเหตุ ดีกว่ารอให้เกิดคดีแล้วค่อยไปไล่ตรวจจับ ประกอบกับอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่มีใช้อยู่ทั่วไปในระดับสากล เพราะในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการดักจับข้อมูลไม่เหมาะสม เช่นในอเมริกา ก็มีการร่างกฎหมายดักจับข้อมูลขึ้นมาโดยเฉพาะ”
       
อย่างไรก็ดี การติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยอมรับว่าเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการ ISP ต้องรับภาระเอง แต่การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบหลีกเลี่ยงที่จะให้ความร่วมมือ ไอซีทีจึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในฐานะผู้กำกับดูแลสั่งการให้ ISP ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว
       
"สำหรับกลุ่มผู้คัดค้านก็ต้องถามกลับไปว่าพวกเขาคัดค้านอะไร กรณีการดำเนินการของรัฐบาลครั้งนี้ต้องการสร้างความสงบสุขบนสังคมอินเทอร์เน็ต และเป็นเกราะป้องกันเยาวชนให้พ้นจากภัยที่มากับอินเทอร์เน็ต การทำหน้าที่ของรัฐครั้งนี้เปรียบเสมือนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง คนที่ผ่านไปมาต้องยอมเสียความเป็นส่วนตัวบ้างเพื่อความปลอดภัย ความสงบสุขของประเทศ และการเฝ้าระวังการใช้งานบนเครือข่ายนี้ก็ดูแลโดยรัฐนั้นคือไอซีที ซึ่งการันตรีว่าจะไม่มีการละเมิดข้อมูลส่วนของประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแน่นอน"
       
นอกจากการขอความร่วมมือกทช. ไอซีที ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดลิขสิทธิ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดคดีความนั้นสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และยังได้ดำเนินการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย
       
ด้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในเว็บไซต์ twitter.com ยังคงแสดงความเห็นวิจารณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ดูได้ที่ http://twitter.com/#search?q=%23thainosniff  ส่วนใน facebook.com มีการตั้ง fanpage กลุ่ม Thailand No Sniffe http://www.facebook.com/thainosniff ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนแล้ว
 
 
ภาพการ์ตูน Baby Don't Sniff! "รณรงค์ต่อต้านการใช้ Sniffer เพื่อแอบดูข้อมูลเน็ตของทุกคน" โดย @tpagon ที่มา: http://twitpic.com/z28cs
 
 
ด้านสฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์คนชายขอบ’ และกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นพร้อมตั้งคำถามในบล็อก ‘คนชายขอบ ว่า “1. ไอซีทีระบุว่า “การติดตั้ง Sniffer เป็นการช่วยป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต้นเหตุ” แต่การดักจับข้อมูลของผู้ใช้เน็ตจะเป็นการ “แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ” ได้อย่างไร? พูดแบบนี้ก็เหมือนกับบอกว่า ตำรวจควรดักฟังโทรศัพท์ของคนไทยทั้งประเทศ เผื่อได้ยินผู้ร้ายโทรศัพท์คุยกัน จะได้ป้องกันอาชญากรรมได้ก่อนเกิดเหตุ
 
“ต้นเหตุ” ของการละเมิดลิขสิทธิ์ย่อมอยู่ที่ “ต้นตอ” เช่น เซิร์ฟเวอร์ที่โฮสแต่ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำไมไอซีทีไม่ไปจัดการกับเนื้อหาเหล่านั้น?
 
2. ไอซีทีอ้างว่าอเมริกาก็มีกฎหมายดักจับข้อมูล - อเมริกามีกฎหมายนี้ก็จริง แต่:
 
2.1 วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายนี้คือเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยรัฐปราบปรามภัยรุนแรงต่อความมั่นคง เช่น กลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ฯลฯ ไม่ใช่ปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนเน็ต และกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นที่คัดค้าน โต้แย้ง และต่อต้านตลอดมาจากผู้ใช้เน็ตและผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ต รวมทั้ง Vinton Cerf หนึ่งใน “ผู้ก่อตั้ง” อินเทอร์เน็ต และสมาคมไอทีแห่งอเมริกา (IT Association of America) ว่าไม่เพียงแต่จะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มที่ผู้ใช้เน็ตจะต้องรับภาระ รวมทั้งเปิดความเสี่ยงด้านระบบอีกด้วย – ดูสรุปประเด็นเหล่านี้ใน หน้านี้ของ EFF และบทความ Risking Communications Security: Potential Hazards of the Protect America Act
 
2.2. กฎหมายดักจับของอเมริกาไม่ได้บังคับให้ ISP ติดตั้ง sniffer (คือเป็นฝ่ายดักข้อมูลเอง) แต่กำหนดว่า ISP ต้องเตรียมเครือข่ายให้ “พร้อม” ให้รัฐดักข้อมูลได้โดยง่าย หน่วยงานรัฐที่ทำเรื่องนี้ในอเมริกาคือ FBI โดยใช้ระบบที่เรียกว่า DCSNet
 
2.3. การละเมิดลิขสิทธิ์ในเน็ตอเมริกาไม่ได้ใช้กฎหมายดักจับ แต่ใช้ขั้นตอนตามกฎหมายลิขสิทธิ์ – อ่านสรุปได้ใน หน้า Notice & Takedown Procedure สรุปขั้นตอนคร่าวๆ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องส่งจดหมาย (Notice of Infringing Material) ไปยังเจ้าของเว็บไซต์ ระบุเนื้อหาที่ละเมิดและตำแหน่งบนเว็บไซต์อย่างชัดเจน ถ้าเจ้าของเว็บไม่ทำตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ถึงจะเข้าข่ายที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิฟ้องตามกฏหมาย แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามจะไม่มีการดักข้อมูลของผู้ใช้เน็ตเพื่อการนี้แบบที่ไอซีทีอ้าง
 
3. น่าสังเกตว่ากระทรวงไอซีทีทำงานคล้ายกับกระทรวงวัฒนธรรมมาก คือดูจะคิดเป็นแต่เรื่อง “ควบคุม” “ปิดกั้น” และ “จับ” ผู้ใช้เน็ต ออกมาตรการลิดรอนสิทธิราวกับมีสมมุติฐานว่าประชาชนเป็น “ผู้ร้าย” โดยอัตโนมัติ ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าแยกแยะได้ระหว่าง “อาชญากร” ตัวจริงที่ทำผิดกฎหมาย กับคนธรรมดาที่บริสุทธิ์ รวมทั้งไม่เคยผลักดันกฎหมายหรือกฏเกณฑ์อะไรที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้เน็ตบ้าง เช่น เรามีร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มานานหลายปีแล้วแต่ไม่เคยได้ออกมาเป็นกฎหมาย กระทรวงไอซีทีทำเรื่องเชิงบวกแบบนี้บ้างได้ไหม?
 
4. กลุ่มคนหรือบริษัทใดก็แล้วแต่ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐ “จัดการ” กับการละเมิดลิขสิทธิ์บนเน็ตแบบเหวี่ยงแหเหมารวมและลิดรอนสิทธิแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเพลง ฯลฯ กำลังทำตัวเป็น “ธุรกิจล้าหลัง” ที่ดึงดันจะกอดโมเดลธุรกิจโบราณของตัวเองเอาไว้ แทนที่จะวิ่งตามความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทอล ถ้าท่านอยากรู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ก้าวหน้าและไม่ดูถูกผู้บริโภคคิดอย่างไร ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง FREE โดย Chris Anderson, Remix โดย Larry Lessig, และ The Pirate’s Dilemma โดย Matt Mason”
 
สฤณีระบุด้วยว่า คุ้นเคยกับขั้นตอนของกฎหมายอเมริกาดี เพราะเคยมีประสบการณ์ตรงหลายครั้ง เมื่อตอนทำเว็บไซต์ที่มีเกมเก่าแต่ผิดกฎหมายให้ดาวน์โหลด ทุกครั้งที่ทนายส่งจดหมายมาก็จะเอาเกมที่ละเมิดลิขสิทธิ์ลงจากเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งคิดว่าเป็นขั้นตอนที่เป็นธรรมและรักษาสมดุลได้ค่อนข้างดีระหว่างสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และวัฒนธรรม “เปิด” ของอินเทอร์เน็ต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท