Skip to main content
sharethis

 
 

ความคืบหน้าการชุมนุมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐบาล วันนี้ (21 ม.ค.53) ซึ่งถือเป็นวันที่สามของการชุมนุม กลุ่มชาวบ้านได้เริ่มทะยอยเดินทางกลับแล้ว หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือสั่งการเพื่อให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประสานงานจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เข้าไปดูแลความปลอดภัยพื้นที่ที่ตั้งชุมชนของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ใน อ.พระแสง และอ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ภายใน 7 วัน และรักษาการอยู่จนกว่ากระบวนการแก้ปัญหาระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาลจะแล้วเสร็จ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มคนจนไร้ที่ดินที่ชุมนุมอยู่บริเวณประตู 4 ข้างทำเนียบรัฐบาลฝั่ง หน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บนถนนพิษณุโลก ได้ลุกฮือขึ้นมาและเคลื่อนขบวนไปที่บริเวณประตู 3 เยื้องสะพานชมัยมรุเชษฐ์ เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามในหนังสือสั่งการ ซึ่งนายสาธร วงศ์หนองเตย ที่ปรึกษางานกำกับราชการส่วนภูมิภาค ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมร่างกับเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ และรับที่จะประสานงานให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (20 ม.ค.53) โดยชาวบ้านขู่ว่าหากไม่รีบดำเนินการจะมีการพังประตูเข้าไปในทำเนียบฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือสั่งการดังกล่าวมาจากข้อเรียกร้องของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ ก่อนหน้านี้ ที่ให้รัฐส่งกำลังเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปดูแลความปลอดภัยแก่ชาวบ้าน โดยให้ตั้งจุดตรวจทั้งหมด 6 จุด ในพื้นที่ ชุมชนไทรงามพัฒนา 1-3 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี ชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง และชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ในเครื่อข่ายปฎิรูปที่ดินฯ

ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่นายสมพร พัฒนภูมิ อายุ 53 ปี ชาวบ้านชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดิน ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.52 และมีการข่มขู่คุกคามในพื้นที่หลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวั่นวิตกในเรื่องความปลอดภัยหากต้องกลับเข้าพื้นที่ โดยที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนใดๆ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายเมื่อชาวบ้านได้ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือสั่งการ และทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำสำเนาเอกสารมายืนยันแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ทยอยกันเดินทางกลับ และเตรียมการที่จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 1 ก.พ.53 โดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

 

ภรรยาผู้สูญเสียเข้ากรุง พบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความช่วยเหลือ

วันเดียวกัน นางจินตนา พัฒนภูมิ ภรรยาของนายสมพร ได้เดินทางมาจาก จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมพูดคุยในเรื่องการชดเชยเยียวยาค่าเสียหายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาล และได้เดินทางไปยื่นหนังสือแก่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา เพื่อเร่งรัดการไต่สวนหาข้อเท็จจริงในคดีการเสียชีวิตของนายสมพร

นางจินตนา กล่าวว่า ในวันนี้ได้พบกับตัวแทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งได้มีการมอบเงินช่วยเหลือให้จำนวน 9,000 บาท และได้พูดคุยกับตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมในเรื่องการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และการให้ความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของลูกคนเล็ก ซึ่งนางจินตนาได้แสดงความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอ และไม่สามารถที่จะทดแทนชีวิตของสามีของเธอได้

นอกจากนี้ นางจินตนาเล่าด้วยว่ามีคนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มาสอบถามถึงความเป็นอยู่ และข้อมูลในวันที่เกิดเหตุ แต่ตนไม่ทราบ เพราะทำงานรับจ้างและอาศัยอยู่กับแม่ของนายสมพร ที่ จ.นครศรีธรรมราช แต่เหตุการณ์เกิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ที่นายสมพรได้เข้าไปเคลื่อนไหวร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ

เมื่อถามถึงการเข้าร่วมปฎิรูปที่ดินของนายสมพร นางจินตนาเล่าว่า ก่อนหน้านี้นายนายสมพรทำอาชีพเป็นช่างเคาะทำสีรถยนต์ ใน จ.สุราษฎร์ธานี ได้เงินค่าจ้างวันละ 500 บาท และได้เข้าร่วมการปฎิรูปที่ดินเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยบอกว่าต่อสู้เพื่อที่จะได้มีที่ดินทำกินต่อไป หากได้ที่ดินครอบครัวก็จะสบายเพราะก่อนหน้านี้ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ไม่ได้ทำงานเหมือนเดิม ซึ่งตนก็คอยช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายในบางครั้ง โดยที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตขนาดนี้

“ตอนแรกคิดว่าดี... ครั้งแรกที่เข้าไปอยู่ที่นั่นเขาเป็นคนอ้วน แต่ไปอยู่ตรากตรำทำให้ผอมลง คิดว่าอาหารการกินคงจะลำบาก พี่กับญาติๆ ทั้งแม่เขาก็บอกให้กลับ ถึงแม้ไม่มีที่ดินแต่ก็มีบ้านแม่ให้อยู่ แต่เขาไม่ยอมกลับ” นางจินตนากล่าว

ส่วนอนาคตต่อไป นางจินตนาวาดหวังไว้ว่าจะพยายามทำงานเพื่อส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบ เพราะตอนนี้ลูกชายคนเล็กของเธอเรียนอยู่ในชั้น ป.ว.ช.ปีที่ 3 และจะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปีนี้ ส่วนในเรื่องการต่อสู้คดีความ ยังไม่ได้คิดไปถึงตรงนั้นเพราะคิดว่าถ้าไม่มีเงินก็ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่ต้องไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาเพื่อให้เร่งรัดการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น

 

ตำรวจพื้นที่ชี้คดีโยงความขัดแย้งที่ดินกับบริษัทใหญ่ แต่ให้คำตอบไม่ได้คดีจบเมื่อไร

ในวันเดียวกัน เมื่อ เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการประชุมเพื่อพิจารณากรณีนายสมพร พัฒนภูมิ ถูกยิ่งเสียชีวิต โดยเชิญผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเขาพนม อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการ

พ.ต.อ.วิทยา วังด่าน ผู้กำกับสถานีตำวจภูธรเขาพนม อ.ไชยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีความเชื่อมโยงกับความขัดแย้งระหว่างชาวชุมชนกับบริษัทที่ใช้พื้นที่ทำสวนปาล์ม เบื้องต้นมีเพียงหลักฐานเป็นปลอกกระสุนปืน เอ็ม 16 ที่ยิงใส่กลุ่มชาวบ้าน 4 คน แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงน่าจะเป็นแค่การยิงขู่ ขณะที่อาวุธที่ใช้ยิงชาวบ้านจนเสียชีวิตเป็นปืนลูกซอง เชื่อได้ว่าคนร้ายมีเกินกว่า 2 คน ส่วนพยานหลักฐานอื่นๆ จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อสืบหาต่อไป และไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าคดีจะสิ้นสุดได้เมื่อไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net