Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
 
22 ม.ค.53 เวลาประมาณ 10.30 น.ที่กรมราชทัณฑ์ กลุ่มประชาชนและคนเสื้อแดงราว 30 คน นำโดย นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด และพระสงฆ์ 2 รูปจากวัดในจังหวัดนครนายก ฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรียกร้องให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นไปตามหลักสิทธิมุนษยชน
 
นายกิตติชัยกล่าวถึงสาเหตุในการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า เนื่องจากน้องสาวซึ่งต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลา 18 ปี ป่วยด้วยโรคขากรรไกรอักเสบเรื้อรังตั้งแต่ก่อนถูกคุมขัง และต้องการเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก เพราะสถานพยาบาลในทัณฑสถานหญิงไม่มีอุปกรณ์ในการรักษา ใบรับรองแพทย์จากในทัณฑสถานก็ระบุว่าเจ็บป่วยจริง แต่ศาลกลับปฏิเสธที่จะปล่อยชั่วคราวเพื่อรับการรักษา และทางเรือนจำก็ไม่ส่งตัวไปรักษาภายนอกแต่อย่างใด จึงต้องการยื่นเรื่องเพื่อให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยการยื่นหนังสือในครั้งนี้ต้องการเรียกร้องสิทธิในการรักษาให้กับผู้ต้องขังโดยรวมด้วยเช่นกัน รวมไปถึงสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างผู้ต้องขังชายและผู้ต้องขังหญิง เนื่องจากได้รับข้อมูลว่ามีกฎในเรือนจำหลายข้อที่มีลักษณะไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองเพศ
 
“เด็กวัด” นามแฝงของหนึ่งในผู้ร่วมยื่นหนังสือกล่าวว่า เหตุที่มาร่วมกันยื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน และดารณีควรได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วยแม้ว่าจะเป็นผู้ต้องขังก็ตาม
 
“วันนี้ถึงไม่ใช่ดา เป็นคนอื่นโดนคดีอื่น เราก็ต้องทำ เพื่อหาความยุติธรรมให้เพื่อนร่วมโลก เขาไม่ได้เป็นฆาตรกรขนาดที่อภัยกันไม่ได้ จะตายก็เรื่องของมัน วันนี้คนอาจมาไม่มาก เพราะคดีนี้ทำให้คนกลัว แต่มันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคดีความ เพราะได้ตัดสินไปแล้ว แต่เรามาขอความเป็นธรรมให้คนที่เจ็บป่วย” เด็กวัดกล่าว
 
จากนั้นมีการส่งตัวแทน 3-4 คนรวมทั้งพี่ชายของดารณี เข้าพบ พ.ต.รัฐกิจ ใจจริง เลขานุการกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการพูดคุยกันราว 30 นาที โดย พ.ต.รัฐกิจ ชี้แจงว่า ทัณฑสถานหญิงกลางได้ส่งตัวดารณีไปตรวจอาการดังกล่าวที่โรงพยาบาลตำรวจแล้วเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดแพทย์ยังไม่ได้นัดหมายทำการผ่าตัดหรือการรักษาในขั้นตอนอื่น เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ หากแพทย์เห็นว่าอาการร้ายแรงก็จะเร่งดำเนินการ แต่หากไม่ร้ายแรงนักและยังพอรอได้ก็ต้องรักษาผู้ที่เจ็บป่วยร้ายแรงกว่าก่อน อย่างไรก็ตาม ทางราชทัณฑ์ต้องดำเนินการตามที่แพทย์ระบุอย่างแน่นอน ขณะที่พี่ชายของดารณีสอบถามถึงการส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นๆ และพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง เลขานุการกรมฯ ยืนยันว่าคงต้องเป็นไปตามกฎของกรมราชทัณฑ์และเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลตำรวจซึ่งมีการประสานงานกับกรมราชทัณฑ์มีศักยภาพในการรักษา การส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ นั้นก็เป็นไปได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
 
นอกจากนี้ นายกิตติชัย ยังระบุถึงปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในเรือนจำ เช่น การกำหนดให้ดารณีนั่งขัดสมาธิคนเดียว ห้ามพูดคุยกับผู้อื่นเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงในช่วงเย็น หรือการย้ายเรือนนอนจากที่เคยอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังจำนวนไม่มากไปอยู่ตึกที่มีผู้ต้องขังหนาแน่นและต้องโทษยาวนาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการบริหารจัดการภายใน อย่างไรก็ตาม จะรับเรื่องดังกล่าวไว้และเร่งตรวจสอบพร้อมทั้งแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง นอกจากนี้ พ.ต.รัฐกิจยังรับปากว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อการกดดันผู้ต้องขังมากยิ่งขึ้นอย่างที่นายกิตติชัยเป็นห่วงอย่างแน่นอน และแม้เป็นผู้ต้องขังในคดีเช่นนี้ก็จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม มาตรฐานเดียวกับคนอื่นๆ เพราะเข้าใจดีถึงความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งมีอยู่ทุกที่ทั้งในหรือนอกเรือนจำ หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติสองมาตรฐานก็จะปกครองผู้ต้องขังไม่ได้
 
 
 
 

 
จดหมายเปิดผนึก
 
เรียน      อธิบดีกรมราชทัณฑ์
เรื่อง      เรียกร้องความเป็นธรรมในหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตาม
กฎหมาย
 
เนื่องจากมีการกล่าวถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในคดีความผิดทางอาญา อันสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง ซึ่งผู้ต้องขังหญิงที่ถูกดำเนินคดีความดังกล่าวนั้นเป็นที่กล่าวขานถึงในสังคมส่วนใหญ่ ประชาชนในสังคมได้ติดตามในประเด็นปัญหาต่างๆที่มีความละเอียดอ่อน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการทางยุติธรรมตลอดจนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในโทษทัณฑ์ที่ได้รับที่มีความแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศอันซับซ้อน ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นสังคมที่ยกย่องให้เพศชายเป็นใหญ่กว่าเพศหญิง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความลึกซึ้งต่อการปฏิบัติในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงบทบาทของความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันที่มีการยกย่องเทียบเท่าสถานะทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน และการปฏิบัติใดๆก็ตามไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเสรีชน ผู้ต้องหา ตลอดจนผู้ต้องขังที่ได้รับการพิพากษาทางคดีความอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็ยังคงอยู่ในหมวดหมู่ของกติกา กฎหมายสูงสุดร่วมกันในนามรัฐธรรมนูญซึ่งได้แสดงลายลักษณ์อักษรความเป็นชายความเป็นหญิงที่ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้นในขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิง นามว่า ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่มีความละเอียดอ่อนต่อรูปการในกระบวนการความยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการยุติธรรมต่อคดีอาญาที่มีปัญหาทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ก็ค้านในสายตาประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิทางการเมืองของประเทศ เราในนามของ “ประชาชน” ที่มีความคิดและมีความสนใจในสถานการณ์ทางการเมือง ได้เห็นว่า กรมราชทัณฑ์ควรที่จะยกระดับมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ให้ตรงตามสิทธิของผู้ต้องขังตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคม โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
1.     เรียกร้องให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับสิทธิในการปฏิบัติเทียบเท่ากับผู้ต้องขังชายในทุกๆด้าน
 
2.     เรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เข้าไปดูแลและตรวจสอบไม่ให้มีการประณาม ซ้ำเติม หรือประจาน ผู้ต้องขัง ที่เกินเลยไปจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  
3.     เรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เข้าไปดูแลและตรวจสอบให้ผู้ต้องขังมีสิทธิในการดำรงอยู่ตั้งแต่สภาพที่อยู่อาศัย การโภชนาการ รวมไปถึงการขับถ่ายที่ถูกต้องตามสุขลักษณะ
 
4.     เรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เข้าไปดูแลในเรื่องของสุขภาพ และอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง ให้ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการรักษาเทียบเท่าอย่างคนปกติ
 
5.     เรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ได้เห็นถึงคุณค่าของผู้ต้องขัง และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
 
                                                                                               
                                                                                          ด้วยความเคารพ
                                                      นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล,คณะสงฆ์,กลุ่มพลังรวมใจและประชาชน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net