Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 21 ม.ค.53 ตัวแทนสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดังอย่างไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ได้ยื่นหนังสือถึงนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ลงมารับหนังสือแทน ซึ่งการยื่นหนังสือในครั้งนี้เพื่อขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในเรื่องความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักแรงงานสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทอย่างถึงที่สุด รวมทั้งทัศนคติต่อคนงานและสหภาพแรงงาน


นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงานลงมารับหนังสือจากผู้ชุมนุม
บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงาน

โดยหลังจากรับหนังสือดังกล่าวจากผู้ชุมนุม รองปลัดกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินงานต่อจากนี้ว่าจะนำเรื่องเข้าสู่สำนักงานรัฐมนตรี และย้ำว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกคน พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า เรื่องของคนงานไทรอัมพ์ฯ นั้นมีทางออก และเห็นใจผู้ชุมนุม

“การมาชุมนุมที่นี้ไม่ได้สบาย ไม่ได้เป็นส่วนตัว อยู่บ้านถึงจะไม่ใหญ่เท่านี้ แต่ก็เป็นส่วนตัว” นายสมเกียรติกล่าวและชี้แจงว่า “ท่านรัฐมนตรี ท่านอธิบดี (กรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้มีความคืบหน้าเยอะแล้ว” พร้อมทั้งขอโทษแทนอธิบดีฯ หลังจากที่ผู้ชุมนุมแจ้งว่าอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีพฤติกรรมและท่าทีที่ไม่ดีต่อผู้ชุมนุม

สุดท้ายผู้ชุมนุมยังได้ย้ำต่อรองปลัดกระทรวงแรงงานให้ช่วยส่งหนังสือฉบับดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้เร็วที่สุด เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เพราะได้รอมาเกือบ 7 เดือนแล้ว

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมดังกล่าวเป็นคนงานที่ถูกเลิกจ้าง 1,959 คน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนในปีที่ผ่านมา และได้ชุมนุมคัดค้านการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ปัจจุบันได้ย้ายสถานที่ชุมนุมจากหน้าบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มาอยู่บริเวณใต้ถุนอาคารกระทรงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2552
 

หนังสือที่ผู้ชุมนุมยื่นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานผ่านรองปลัดกระทรวง

ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน
21 มกราคม 2553

เรื่อง ขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรียน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง

สิ่งที่ส่งมาด้วย
สำเนาหนังสือออกจากกรมสวัสฯที่ รง 0509/009712
สำเนาหนังสือถึงบริษัทฯสทอท.ที่ 92/2552

ด้วยพวกเราสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยคืออดีต คนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถูกบริษัทฯ เลิกจ้างและได้ชุมนุมเรียกร้องอยู่ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานมาเป็นระยะเวลา 100 กว่าวัน และขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก คนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถหางานใหม่ได้เนื่องจากอายุมาก และคนงานที่ได้งานใหม่ก็ได้ค่าจ้างขั้นต่ำถูกมากไม่พอกับการดำรงชีวิต และไม่มีสวัสดิการเหมือนเดิม

ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการบกพร่องในการทำหน้าที่และความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักแรงงานสัมพันธ์และ บังคับใช้และกฎหมายกับบริษัทอย่างถึงที่สุด เช่นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างของบริษัทฯ เป็นต้น

เมื่อประมาณเดือนตุลาคม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ไปพบคนงานที่ชุมนุมที่ หน้าโรงงานและได้ให้แนะนำคนงานให้กลับบ้านและเห็นว่าการชุมนุมเกิดจากการที่คนงานไม่รู้เรื่องเป็นเรื่องของแกนนำ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอธิบดีมีอคติต่อแกนนำเลยนำไปสู่การไม่แก้ปัญหาให้กับคนงาน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ได้มีหนังสือออกจากกรมสวัสฯที่ รง 0509/009712 การออกหนังสือดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับผู้ชุมนุมและสมาชิกสหภาพในโรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดแย้งกับหนังสือออกของสหภาพแรงงาน ฉบับที่ สทอท.ที่ 0092/25552 ที่ได้ทำแจ้งไว้ก่อนแล้ว

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงานได้ยื่นจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานได้รับการจดทะเบียนเมื่อวัน ที่ 30 ธันวาคม 2552 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการจดทะเบียนเป็นเวลานานทำให้สหภาพแรงงานไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ให้กับสมาชิกได้เนื่องจากบริษัทฯอ้างว่ายังไม่ได้รับจดทะเบียน จากกระทรวงแรงงาน นี่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าเกินสมควร

พวกเราจึงขอให้ท่านรัฐมนตรีฯได้ตรวจสอบพฤติกรรม ทัศนคติ และการบริหารงานของอธิบดีกรมสวัสฯ ท่านนี้ด้วยว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนี้หรือไม่? เพราะจากพฤติกรรมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจคนงานและสหภาพแรงงาน รวมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาที่ขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงานเอง ที่ต้องการให้ “แรงงานมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี” หรือไม่? อธิบดีกรมสวัสฯ มีวิสัยทัศน์ที่ไม่สร้างสรรค์หรือไม่?

ที่สำคัญการเป็นข้าราชการระดับสูง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของราชการทั่วไป ตามหลักการบริหารข้าราชการยุคใหม่ ที่ต้องคำนึงถึงความประทับใจแก่ผู้รับบริการหรือประชาชน การคิดในเชิงบวก ในเชิงสร้างสรรค์ การปล่อยให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจะทำให้การแก้ปัญหาคนงานไม่มีประสิทธิภาพทำ เรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่สร้างสรรค์หรือไม่?
ฉะนั้นพวกเราอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อที่คนงานจะได้มีชีวิตอย่างมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงานอย่างแท้จริง

จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ
...................................................                .........................................................
(นางสาวธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์)                        ( นางสาวบุญเสริม คำรส)

.....................................................             ...........................................................
(นางสาวศรุดา ดอนกระโทก)                               ( นางสาวรำเพลย ภู่เย็น)
ตัวแทนอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง

ค่ำวันเดียวกัน (18.00 น.) นาย เพอร์ โซเลนเซ่น (Per Sørensen) ตัวแทนสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังระหว่างประเทศ (ITGLWF) ที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรดังกล่าวให้มาดูกรณีการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมของสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ชุมนุม ณ ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน โดยก่อนหน้านั้นนายเพอร์ โซเลนเซ่น ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ทั้งในส่วนที่ถูกเลิกจ้างและส่วนที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งประกอบด้วย จิตตินันท์ สุขโน ประธานสหภาพแรงงาน ทศพร อู่ทอง เลขาธิการสหภาพแรงาน จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน และตัวแทนคนงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้าง คือ สวี สุดารักษ์ และ วิภา มัชฉาชาติ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและพฤติกรรมการทำลายสหภาพแรงงาน


ภาพการต้อนรับนาย เพอร์ โซเลนเซ่น ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน

ในการมาเยี่ยมผู้ชุมนุมที่กระทรวงแรงงานของตัวแทนสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังระหว่างประเทศนี้ ผู้ชุมนุมได้ร้องเพลงและมีพิธีการต้อนรับ

นายเพอร์ โซเลนเซ่น กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า ได้รับทราบเรื่องราวการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่นี้ และได้รับการต้อนรับอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน รวมถึงกล่าวถึงความรู้สึกว่าผู้ชุมนุมยังมีความเหนียวแน่นและสมานฉันท์กัน เมื่อได้ยินผู้ชุมนุมร้องเพลง ทำให้นึกถึงที่แอฟริกาใต้ที่มีการต่อสู้คล้ายกันที่พูดถึงจิตสำนึกและความเชื่อมั่นในชนชั้นแรงงาน และจากการต่อสู้ทำให้ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความมีเอกลักษณ์ การต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ฯ วันนี้มันเป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นตัวอย่างในระดับสากล ที่ผู้ใช้แรงงานในหลายๆประเทศได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ รู้ว่ามีการแข่งขันในการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่าในระหว่างการต่อสู้ บางครั้งเราอาจจะเหนื่อย ท้อแท้ แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

นายเพอร์ โซเลนเซ่น เล่าถึงตัวอย่างจากแอฟริกาใต้ว่า มีช่วงหนึ่งที่คนผิวดำได้ต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิว ช่วงนั้นเวลาที่คนผิวดำได้รับแจกกางเกงจะเป็นขาสั้น การต่อสู้เล็กๆ ของเขาอันหนึ่งคือเขาต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นกางเกงขายาว เพราะเขาไม่อยากใส่กางเกงขาสั้น เนื่องจากเวลาที่ใครใส่กางเกงขาสั้นจะถูกเรียกว่าเป็นเด็ก และพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่เด็ก และเขาต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะฉะนั้นเขาใช้เวลาการต่อสู้ 1 ปี เพื่อที่จะให้เปลี่ยนไม่เอากางเกงขาสั้น เขาจะใส่กางเกงขายาว

ดังนั้นในกรณีของคนงานไทรอัมพ์ฯ ก็เช่นเดียวกัน มันไม่ยุติธรรมที่มีการประกาศเลิกจ้างพนังงานไทรอัมพ์ฯ โดยที่ไม่มีการปรึกษากับสหภาพแรงงาน ทั้งที่มีข้อตกลงสภาพการจ้างเรื่องการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ ในอีกด้านหนึ่งการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงาน ถือเป็นสิทธิในสังคมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นถึงแม้ในบางโรงงานที่ไม่มีข้อตกลงเหล่านี้ ถ้าบริษัทเลิกจ้างคนงานโดยไม่ปรึกษากับคนงานหรือสหภาพแรงงาน ก็ถือว่าเป็นสถานประกอบการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุด เพราะว่ามันกระทบกับชีวิตของเราทุกคน เพราะฉะนั้นเขาจะทำอะไร การตัดสินใจครั้งสำคัญที่กระทบต่อคนงานจะต้องปรึกษาหารือต่อคนงานด้วย


การปราศรัยต่อผู้ชุมนุมของนาย เพอร์ โซเลนเซ่น

เขามองว่าในอีกด้านหนึ่งที่บริษัทปฏิบัติแบบนี้ สะท้อนว่าจริงๆ แล้วลึกๆ บริษัทกลัวสหภาพแรงงาน บริษัทถึงทำอะไรโดยที่ไม่ปรึกษาคนงาน เพราะถ้าคนงานตั้งตัวไม่ทั้น บริษัทก็จะผลักดันสิ่งที่บริษัทอยากจะทำได้สำเร็จ

นายเพอร์ โซเลนเซ่น ได้ย้ำอีกว่า การต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ฯ และประเด็นเรื่องสิทธิทางประชาธิปไตย และการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน จะเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ สหภาพแรงงานเวลาที่เขาเผชิญปัญหาและไม่รู้ว่าจะต่อสู้อย่างไร ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับนักสหภาพแรงงานหลายคนที่ส่วนหนึ่งมาจากสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังระหว่างประเทศ แน่นอนจะมีการพูดถึงถึงกรณีไทรอัมพ์ฯ เพื่อที่จะผลักดันร่วมกันให้บริษัทเปิดการเจรจา เรื่องนี้แม้จะเป็นบันไดขั้นเล็กๆ แต่สิ่งที่เราทำเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา มันก็จะเป็นทางที่ถูกต้อง

“ไม้ขีดอันเดียวมันหักง่าย แต่ถ้าเอามาทั้งกำ มันหักยาก ก็เหมือนพวกเราถ้าคนเดียวมันถูกทำลายง่าย แต่ถ้ารวมเป็นกลุ่ม มันเยอะทำลายยาก” นายเพอร์ โซเลนเซ่น กล่าวทิ้งท้าย


กลุ่มคนงานจากสหภาพแรงงาน 3F มาสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
ที่กระทรวงแรงงาน พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตกางเกงใน Try Arm

ต่อมา เย็นวันที่ 22 ม.ค. กลุ่มคนงานจาก Fagligt Fælles Forbund (3F) สหภาพแรงงานในประเทศเดนมาร์ก 10 คน เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ชุมนุมที่กระทรงแรงงาน พร้อมทั้งเยี่ยมชมการผลิตกางเกงชั้นใน Try Arm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net