Skip to main content
sharethis

เกาะติดสถานการณ์ที่เวียงแหง จ.เชียงใหม่ “ลิกต์ไนต์และเขื่อนกั้นน้ำแตง” โครงการที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ นักวิชาการและชาวบ้านมีความคิดเห็นอย่างไร

 

 
 

เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ในหุบเขา ของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 154 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500 ไร่

เวียงแหง อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ย 750 เมตร โดยยอดเขาที่สูงที่สุดคือดอยปักกะลา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร บนความสูงระดับนี้ จึงทำให้เวียงแหงนั้นมีสภาพภูมิอากาศดี มีทิวทัศน์งดงามตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เราจะพบทะเลหมอก กับสภาพป่าอันสมบูรณ์ มองเห็นดอกบัวตองและดอกนางพญาเสือโคร่งบานอยู่รายรอบสองข้างทาง นอกจากนั้น ยังเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สมกับที่คำขวัญของอำเภอว่าไว้... ‘พระธาตุแสนไหเป็นศรี ประเพณีหลายเผ่า ชมทิวเขาสุดสยาม งามล้ำค่าฟ้าเวียงแหง’

แต่ความงาม ความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียงแหง กลับถูกผู้คนหลายฝ่ายมองข้าม หนำซ้ำกลับมีคนบางกลุ่ม บางหน่วยงาน พยายามนำสิ่งแปลกปลอมเข้ามายังอำเภอเล็กๆ ในหุบเขาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเด็นที่ชาวบ้านทั้งอำเภอต่างพากันวิตกกังวลกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

สิ่งแปลกปลอม สิ่งแรก นั่นคือเมื่อมีการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง เป้าหมายเพื่อขุดถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง และขนย้ายไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

 

ย้อนดูที่มาโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง

โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง นั้นเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 โดยมีการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงเป็นครั้งแรก และเข้าทำการสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี พ.ศ.2530 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2531 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับ กฟผ. เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเมื่อมีการศึกษาทางธรณีวิทยา แล้วพบว่า มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ139 ล้านตัน แต่เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในห้วงเวลานั้น มีการสรุปว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงส่งคืนแหล่งเวียงแหงตามประสงค์ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปเปิดประมูลตามมติ ครม.เมื่อวันที่10 มี.ค.2535

เรื่องการเปิดเหมืองเงียบไปนานหลายปี พอถึงเดือนตุลาคม 2542 ทาง กฟผ.ได้เสนอเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อขอทบทวนมติ ครม.10 มี.ค.2535 จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) และกฟผ.ซึ่งได้มีมติให้ทาง กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง และดำเนินการในรูปของบริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการขอประทานบัตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามโครงสร้างการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

เดือนมิถุนายน 2543 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สศช. และคณะกรรมการกำกับงานนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ

เดือนกันยายน 2544 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) ได้อนุมัติให้ กฟผ.เข้าไปใช้โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ.จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง หากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้วให้ กฟผ. นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นั่นคือที่มาที่ไปของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ซึ่งว่ากันว่า เป็นการดำเนินการ โดยที่ชาวบ้านคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนล่วงหน้า ว่าจะเกิดปัญหาผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือไม่ อย่างไร!?

 

พื้นที่ตั้งโครงการเหมือง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล

เมื่อดูจากแผนที่โครงการ พบว่า พื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง มีพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านกองลม ต.เมืองแหง บ้านปางป๋อ บ้านม่วงป๊อก บ้านมหาธาตุ บ้านสามปู ต.แสนไห บ้านจอง บ้านม่วงเครือ บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง

ในอำเภอเวียงแหง มีทั้งหมด 3 ตำบล คือต.เมืองแหง ต.แสนไห และ ต.เปียงหลวง ซึ่งก็เท่ากับว่าพื้นที่โครงการนี้กินเนื้อที่ครอบคลุมเกือบทั่วทั้งอำเภอ

นอกจากนั้น พื้นที่ของโครงการบางส่วนยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าลุ่มน้ำฝาง และเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์บางช่วงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

ที่สำคัญก็คือ พื้นที่ตั้งโครงการเหมืองถ่านหิน นั้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร และมีชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ล้อมรอบ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปราะบางอย่างมาก เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทราบข่าว จึงเกิดการตื่นตระหนกตกใจกับความแปลกเปลี่ยนที่จะเข้ามาในวิถีชีวิต

มีข้อมูลระบุว่า...การดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหินเวียงแหง จะใช้วิธีทำเหมืองเปิด โดยการขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขนไปยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ แล้วจึงขุดตักถ่านหินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาทางธรณีพบว่า แหล่งถ่านหินที่เวียงแหง มีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ139 ล้านตัน มีปริมาณสำรองที่คุ้มทุนประมาณ 15 ล้านตัน

มีรายงานอีกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบ้านปางป๋อ นั้นมีศักยภาพมากที่สุดในการเปิดเหมืองแร่เวียงแหง และถ่านหินที่เวียงแหงมีคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง คือเป็นถ่านหินประเภท Lignite และ Subbituminous

และก่อนหน้านั้น มีการกล่าวถึงเอกสารของทาง กฟผ. รายงานไว้อีกว่า ในพื้นที่เปิดเหมืองถ่านหินเวียงแหงนั้น เมื่อมีการเจาะลึกลงไปประมาณ 800- 2,400 เมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ชั้นฐานลึกอยู่จำนวนหลายล้านลูกบาศก์ฟุต และในโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน ระบุว่า มีแผนการจะจัดตั้งโรงงานผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ในครัวเรือนในอนาคตอีกด้วย

เมื่อรับรู้ข้อมูลตรงนี้แล้ว อาจทำให้หลายๆ คน คงเริ่มเข้าใจว่า เหตุใดทาง กฟผ. และรัฐ มีความพยายามจะดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหงต่อไป ท่ามกลางกระแสคัดค้านของชาวบ้านอย่างหนักและต่อเนื่อง

 

ชาวบ้านเวียงแหงรวมพลังต้าน เพราะมีการแอบทำ EIA ชุมชนไม่มีส่วนร่วม
และเชื่อหากทำเหมืองลิกไนต์ จะกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เป็นที่สังเกตว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวคัดค้านโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหง นี้อย่างหนัก นั้น คงเป็นเพราะทาง กฟผ.ได้ดำเนินการว่าจ้างทีมนักวิชาการทำการสำรวจ โดยไม่มีผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด รวมไปถึงชาวบ้านได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในพื้นที่ชุมชนแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ลิกไนต์ และรู้ว่าชาวบ้านแม่เมาะ ต่างได้รับผลกระทบกันมายาวนาน จนกระทั่งหลายคนต้องล้มป่วยด้วยโรคทางลมหายใจและเสียชีวิตไปหลายรายแล้ว ก็ยิ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านในเขตเวียงแหง ต่างเชื่อกันว่า หากทางกฟผ.ดำเนินการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ จะกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในอำเภอเวียงแหง อย่างแน่นอน

แน่นอนทำให้การคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้ขยายและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน แม้กระทั่งชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.เวียงแหง อาทิ นายก อบต. ประธานสภา อบต. สมาชิก อบต. รวมทั้งเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน ต่างผนึกกำลังรวมตัวกันคัดค้านกันอย่างหนักแน่น

ซึ่งเมื่อวันที่ 25มิ.ย.2550 ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านได้ออกยืนยันและแสดงจุดยืน ด้วยการออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเวทีประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งที่ 3 ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยการจัดเวทีครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และผลกระทบด้านสังคม(เอสไอเอ)

โดยในแถลงการณ์ระบุใจความว่า ... ตามที่กฟผ.ได้ว่าจ้างสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ พวกเราในนามตัวแทนของชุมชน อ.เวียงแหง ขอแถลงการณ์และข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอประณามการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่ได้เกิดมาจากความยินยอมของพี่น้องในชุมชนเรา และพี่น้องในชุมชนไม่มีส่วนร่วม คณะผู้จัดเก็บข้อมูลมีพฤติกรรมปล้นข้อมูลเยี่ยงโจร

2.เวทีการนำเสนอข้อมูลอีไอเอผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อชาวบ้านและสาธารณะชน และจะต้องให้ความสำคัญกับชุมชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ใส่ใจ กลับมาจัดเวทีนอกพื้นที่ และ 3.ขอให้ยุติทุกกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปิดเหมืองลิกไนต์ และเราขอยืนยันว่าจะคัดค้านการดำเนินการจนถึงที่สุด เราจะไม่ยอมเป็นเหยื่อการพัฒนาที่ไม่มีส่วนร่วมจากชุมชน

“...ที่ผ่านมานั้นการดำเนินการต่างๆรวมทั้งการจัดเวทีในพื้นที่อ.เวียงแหงไม่เคยมีสักครั้ง ชาวบ้านเวียงแหงไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการใดๆแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันชาวบ้านเองไม่เคยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดมาเก็บข้อมูลอย่างจริงๆจังๆ แต่อยู่ๆวันนี้กลับมีการเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบด้านสังคมขึ้นมา ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากล” นายพะยอม คารมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มคัดค้านโครงการ บอกย้ำถึงการดำเนินโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามสำหรับในเวทีการประชุมสัมมนาครั้งนั้น ศ.ดร.มนัส สุวรรณนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบด้านสังคม(SIA) กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเหมืองหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อำนาจอยู่ที่รัฐบาล แต่ตนทำหน้าที่แค่นำเสนอผลการศึกษาเท่านั้น ขณะที่โครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นถือเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม (SIA) ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) อีกทั้งยังพยายามให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการมากที่สุดแม้จะถูกต่อต้านในพื้นที่บ้างก็ตาม

ศ.ดร.มนัส กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นสามารถสรุปได้ว่าหากมีการเปิดเหมืองลิกไนต์จะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะสาธารณูปโภคต่างๆจะมีการพัฒนามากขึ้น อาทิ ไฟฟ้าที่ปริมาณกระแสไฟฟ้าจะคงที่มากขึ้น ประปาก็จะดีกว่าปัจจุบันเพราะการประปาส่วนภูมิภาคจะเข้ามาให้บริการ อีกทั้งการคมนาคมและการสื่อสารก็จะมีการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย

“นอกจากนี้ เรื่องการท่องเที่ยวก็จะเฟื่องฟูมากขึ้น กล่าวคือเวียงแหงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หากมีการเปิดเหมือง มีการพัฒนาถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่างๆธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่ก็จะบูม ขณะที่บริเวณเหมืองภายหลังการพัฒนาก็อาจมีการปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย โดยภาพรวมของผลกระทบนั้นจะเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ จะมีผลดีมากกกว่าผลเสีย ขณะที่ผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นก็สามารถจัดการแก้ไขได้” ศ.ดร.มนัส กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้นำชุมชนนำโดย นายอ่อง จองเจน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง พร้อมผู้นำชุมชน จากชมรมองค์กรส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนกว่า 50 คน อ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการและผลการศึกษาอีไอเอ ว่าไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชน ทั้งที่ผู้นำชุมชนเคยทำหนังสือผ่านนายอำเภอเวียงแหงให้จัดเวทีในพื้นที่ก่อสร้างแต่ก็หลีกเลี่ยงมา 3 ครั้ง แสดงถึงความไม่ชอบมาพากลของทีมศึกษาผลกระทบ

"ชาวเวียงแหงส่วนใหญ่ไม่ยอมรับโครงการพัฒนาที่จะนำความเสียหายมาสู่ ไม่ต้องการตกนรกแบบคนแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ต้องทนอยู่กับสารพิษจากถ่านหินลิกไนต์ เราพอใจชีวิตชนบทแบบพอเพียงด้วยการยังชีพแบบวิถีเกษตรทั้งการปลูกข้าว กระเทียม และพริก" นายอ่องกล่าว
 

สถานการณ์ล่าสุด,ในความนิ่งมีการเคลื่อนไหวเชื่อมีการรื้อขบวนการอีไอเอหรือเอสไอเอกันใหม่ 

ล่าสุด หลังจากสอบถามประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวของโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์เวียงแหง ซึ่งตัวแทนชาวบ้าน ต่างบอกกันว่า ยังมีการเคลื่อนไหวกันอย่างเงียบๆ ซึ่งชาวบ้านนั้นยังตื่นตัวและเตรียมพร้อมลุกขึ้นมาคัดค้านตลอดเวลา
 

นายพะยอมคารมณ์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ในฐานะตัวแทนกลุ่มคัดค้านโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กฟผ.เริ่มเข้ามาแล้วเพื่อต้องการที่จะให้มีการรื้อขบวนการ EIA หรือเอสไอเอกันใหม่ ซึ่งใน EIA ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เอาแยกทำเป็นฉบับหนึ่ง เป็นเล่มเล็กๆซึ่งที่ผ่านมา ทางชาวบ้านเคยขอผลการศึกษา ฉบับสมบูรณ์ มาตั้งแต่ 2-3 ปีมาแล้ว ก็ยังไม่ได้แต่ชาวบ้านเข้าใจว่าการดำเนินโครงการ คงจะหยุดชะงักมีปัญหาเรื่องของ EIA พอสมควรเพราะหลังจากที่มีการไปฉีก EIA ที่โลตัสปางสวนแก้ว แล้วก็เงียบหายไปแต่คิดว่าหลังจากเงียบ ตอนนี้เข้าใจว่ากำลังจะกลับเข้ามาใหม่ ความวุ่นวายเริ่มที่จะมีการก่อตัวอีกแล้ว
 

เผย กฟผ. ทำมวลชนแบบเจาะกลุ่มฐานผู้นำชุมชน

นายพะยอม คารมณ์กล่าวว่า ตอนนี้เท่าที่สังเกต จะรู้ว่า ทาง กฟผ. เริ่มเข้ามาเจาะกลุ่มผู้นำว่าใครที่เป็นประธานชมรมครูชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านชมรมอบต.โดยการเข้ามาเอาข้อมูลและเอากลุ่มเหล่านี้เข้าไปวางแผนก่อนนอกจากนั้น ก็ใช้วิธีเจาะผ่านเข้าไปในโรงเรียน โดยวิธีการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน เพื่อซื้อใจผู้ปกครอง

“ซึ่งเงินที่เข้ามาสู่โรงเรียน เราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน หากเป็นเงินที่เข้าไปทำมวลชนของ กฟผ.ซึ่งก็เป็นอันตรายพอสมควรในเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในที่ผู้ปกครองโดนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นทุนการศึกษา อาหารกลางวันซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองนักเรียน รู้สึกคล้อยตาม เห็นดีเห็นงามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าวิตกและน่ากลัวกว่าเดิมยิ่งตอนนี้ มีเงินโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่แน่อาจเอาเงินมาทำในลักษณะของมวลชนเข้มแข็งและอาจจะอ้างให้เอาเงินส่วนนี้มาทำให้มวลชนพอมาทำมวลชนเสร็จก็เกิดการได้ใจ ได้เรื่องของความเห็นร่วม ซึ่งเมื่อก่อน ก็มีกลุ่มที่สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง มากพอสมควร และเป้าหมายนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรแต่สังเกตการณ์เคลื่อนตัวของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ตอนนี้ เชื่อว่าเขากำลังเริ่มรุกและเริ่มใหม่อีกครั้ง” นายพะยอม กล่าวถึงความไม่ชอบมาพากล

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในอำเภอเวียงแหงที่คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน ต่างเตรียมพร้อมรับมือและต่อสู้กันจนถึงที่สุดหาก กฟผ.ยังไม่คิดล้มเลิกโครงการ

“ก็ต้องทำให้ชาวบ้านเห็นก่อนว่า กฟผ. กำลังจะกลับเข้ามา และชาวบ้านนั้นจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้างซึ่งตอนนี้ เราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเข้ามาแต่ครั้งหลังสุดเราก็เริ่มรู้ว่าเริ่มมีการแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กทีละน้อยเล่นมวลชนแบบซึมลึก ซึ่งน่ากลัวกว่ารอบแรกที่กฟผ.เข้ามาเสียอีกอันตรายอย่างมากและตอนนี้รู้ตัวชัดเจนแล้วว่าใครเป็นใคร”

นายคำ ตุ่นหล้าแกนนำกลุ่มคัดค้านอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า กรณีของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ตอนนี้ก็ไม่ได้เงียบเสียทีเดียวแต่ก็ยังมีการเฝ้าระวังกันอยู่ว่าเขาจะเข้ามาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างไรรูปแบบไหน

“ซึ่งตอนนี้ เราก็รู้อยู่ว่า ทางกฟผ.เขามาในแนวของการแจกทุนการศึกษา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็ยังคงมีความคิดเหมือนเดิมอยู่ยังคงคัดค้าน ไม่เอาเหมืองถ่านหิน” นายคำ ตุ่นหล้า กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นเดิม

 

 

ข้อมูลประกอบ: สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net