Skip to main content
sharethis

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐมีคำสั่งสั่งระงับโครงการก่อสร้างเหมืองทองขนาดยักษ์ในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐเนวาดาเป็นการชั่วคราว หลังจากที่มีคำวิพาษ์วิจารณ์ว่า เหมืองทองจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก

ผู้พิพากษาในซานฟรานซิสโกเปิดเผยว่า สำนักจัดการที่ดินของสหรัฐอเมริกาขาดข้อมูลอย่างเพียงพอ ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากเหมือง ในประเด็นความเป็นไปได้ที่เหมืองจะทำให้เกิดมลภาวะในอากาศจากสาเหตุการฟุ้งกระจายของสารปรอทที่ใช้ในกระบวนการผลิต อีกทั้งตัวเหมืองจะทำให้แหล่งน้ำของรัฐเนวาดาต้องแห้งแล้ง โดยโครงการนี้จะตั้งอยู่บริเวณภูเขา”เทนาโบ”ห่างไปทางตะวันออกของเมืองรีโน่ราว 250 ไมล์

 

ผู้พิพากษาเปิดเผยอีกว่ารายงานไม่ได้ตรวจสอบอย่างเพียงพอในเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้าน ถ้าหากเหมืองใช้น้ำในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้น้ำผิวดินแห้ง และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สายน้ำมากกว่า 12 แห่งเหือดแห้งลง

 

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ยังรวมการศึกษาวิจัยของบริษัทซึ่งทำอย่างไม่เพียงพอภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดในโครงการขนาดยักษ์ พวกเขาเปิดเผยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้พิจารณาอย่างเต็มที่เกี่ยวกับผลกระทบกับคุณภาพของอากาศ เมื่อมีการขนส่งแร่

 

ส่วนในประเทศชิลี บริษัท บาร์ริค ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองทองยักษ์ใหญ่จากแคนาดา ผู้เป็นเจ้าของเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศชิลี ชื่อ “ปาสกัว ลามา” ที่จะถูกสร้างขึ้นตามรอยต่อเขตแดนระหว่างประเทศอาร์เจนติน่ากับประเทศชิลี อาจจะต้องเผชิญกับบทลงโทษทางกฎหมาย หลังจากที่คณะกรรมการน้ำแห่งชาติของชิลีมีรายงานว่า บริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศชิลี

 

คณะกรรมการน้ำแห่งชาติของชิลีได้ยื่นคำร้องไปยังผู้มีอำนาจ เรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทคณะกรรมการเป็นกังวลเกี่ยวกับผลการศึกษาที่ปรากฏออกมาว่า การก่อสร้างเหมืองแห่งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความเสียหายกับธารน้ำแข็งบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุที่คนงานไม่ได้ปฏิบัติตามกฎการขนส่งที่เข้มงวด อย่างเช่นว่า การใช้ผ้าใบคลุมรถบรรทุกและใช้ยางรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของฝุ่นละออง

 

พวกเขากลัวว่าการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจะทำให้ธารน้ำแข็งบริเวณใกล้เคียงเสียหาย และการปกคลุมของฝุ่นละอองจะทำให้ธารน้ำแข็งหลอมละลายได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการปกคลุมของฝุ่นเพียง 1 มิลลิเมตรจะเป็นผลให้ธารน้ำแข็งลดจำนวนลงมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์

 

ความกังวลทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าเหมืองทองคำ “ปาสกัว ลามา” อยู่ท่ามกลางธารน้ำแข็ง 3 แห่ง ซึ่งคร่อมเขตแดนระหว่างอาร์เจนติน่าและชิลี ธารน้ำแข็งเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญมากในพื้นที่หุบเขาฮูอัสโก้ ส่งน้ำให้กับฟาร์มขนาดเล็ก 70,000 แห่ง

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลสถิตย์ยุติธรรมในประเทศโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศโลกที่สามอย่างชิลี ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ไม่นับรวมกับเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยภูเขาเป็นสิ่งพักพิงทางจิตวิญญาณ ที่ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐใช้เป็นเหตุผลอ้างเพื่อระงับการก่อสร้างเหมืองทองด้วย

 

นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี สำหรับอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินการใดๆ ของ

ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ก็เพียงพอแล้วที่จะมีคำสั่งระงับ หรือทบทวนมาตรการการดำเนินการของบริษัทเหล่านั้น

 

จะเห็นว่ากรณีนี้จะต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย ณ ดินแดนเขตร้อนชื้นอันอุดมไปด้วยความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต พืชและสัตว์ ดินแดนที่ว่ากันว่าพืชผลกินกันทั้งปีก็ไม่มีวันหมด ในพื้นที่ทำเหมืองทองของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอัคราไมนิ่ง (แน่นอนว่า อาจจะไม่ใหญ่เท่ากับบาร์ริค)ในแถบรอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ที่นั่นชาวบ้านกำลังลุ้นกันอย่างอกสั่นขวัญหายว่าเหมืองทองจะได้รับใบอนุญาตขยายพื้นที่มาทับที่ของเขาหรือไม่

 

แน่นอนว่ามีชาวบ้านทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย คำว่าล้มทับทองใครจะปฏิเสธได้เต็มปาก เมื่อที่ดินที่ไม่เคยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าหากการทำเหมืองขยายมายังพื้นที่ดังกล่าว ราคาที่ดินก็จะพรุ่งพรวดในทันทีทันใด การขายที่ดินจะเป็นการเปลี่ยนสถานะให้กับเจ้าของที่ดินได้ในชั่วพริบตา จากจนเป็นรวย (แต่จะชั่วคราวหรือถาวรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ) แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่อยากให้เหมืองทองขยับเข้ามาใกล้บ้านของพวกเขา เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองนั้นหนักหนาสาหัส

 

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาวบ้านในจังหวัดพิจิตรราว 30 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกับการขยายพื้นที่ของเหมืองทอง ได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตรเพื่อยื่นคัดค้านการขยายพื้นที่ของเหมืองทองอัคราไมนิ่ง ต่อนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร หลังจากที่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เหมืองทองคำแห่งนี้ดำเนินการ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงถ้วนหน้า น้ำเป็นพิษ ข้าวไม่ออกรวง มะม่วงที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชาวบ้านไม่ติดผล กระทบกระเทือนกับวิถีชีวิตของคนที่นั่นอย่างไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม แน่นอนว่าพวกเขาไม่อยากให้มันเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อีก

 

แต่สุดท้ายหนังสือที่พวกยื่นไปก็ไม่ถึงมือผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อพ่อเมืองของพวกเขาไม่ยอมออกมารับหนังสือร้องเรียน โดยอ้างเหตุผลว่า”มีคนรับหน้าที่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว”

 

ตามประกาศแจ้งข้อมูลโรงงานที่จะขออนุญาต ระบุว่าจะมีการใช้โซเดี่ยมไบซัลไฟท์ 30 ตัน/วันและโซเดี่ยมไซยาไนด์ 6.6 ตัน/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก อีกทั้งชาวบ้านยังไม่เคยได้รับการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายจากผู้ขออนุญาต นอกจากนี้จากข้อมูลโรงงานที่ขออนุญาตเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการป้องกันระบบกำจัดไซยาไนด์ โดยเติมอากาศกับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในถังกำจัดไซยาไนด์ พร้อมโซเดียมไบซัลไฟด์และคอปเปอร์ซัลเฟต เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์เป็นรูปอิสระจนมีความเป็นพิษไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วน สำหรับกากโลหะกรรมเก็บในบ่อเก็บกัก ขนาด 400 ไร่ ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานของรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นผู้ขอยังไม่เคยจัดให้มีการประชาคมและชี้แจงโครงการ ดังนั้นจึงขอคัดค้านการขยายโรงงานของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด”

 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความกังวลของชาวบ้านที่พยายามส่งไปยังผู้มีอำนาจ โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ได้

 

เมื่อผู้ว่าฯ ไม่ยอมออกรับหนังสือร้องเรียน ชาวบ้านจึงเดินทางไปอุตสาหกรรมจังหวัด โดยทางอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือออกมาฉบับหนึ่งให้ชาวบ้านมีใจความว่า "จะไม่มีการขยายโรงงานแต่อย่างใด ตราบเท่าที่ยังมีการร้องเรียนอยู่"

 

ซึ่งอาจจะขัดกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ อ.เนินมะปราง ที่เวลานี้เริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านกันอย่างหนัก

 

อารมณ์ คำจริง ชาวบ้านในพื้นที่ อ.เนินมะปราง หมุดหมายสำคัญของการขยายพื้นที่เหมืองทองเปิดเผยว่า “ในพื้นที่เนินมะปรางนั้นเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำทั้งหมด ถ้าหากมีการทำเหมืองทอง เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะโม่จะบดหรือว่าทิ้งไซยาไนด์เอาไว้ตรงนั้นหรือเปล่า ถ้าหากเขาทิ้งเอาไว้เราจะตายไหม แล้วเราจะย้ายไปทางไหน ถ้าหากเรามีเงิน เราอาจจะย้ายได้ แต่ส่วนคนที่ไม่มีเงิน อย่างคนเฒ่าคนแก่ แล้วลูกหลานของเราจะไปไหน ก็ต้องกินน้ำไซยาไนด์ไป”

 

แล้วถ้าหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่เขาหม้อคือว่า ข้าวของชาวบ้านไม่ออกรวงหรือน้ำไม่มีกินใช้ ถ้าหากในพื้นที่เนินมะปรางจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนั้นแล้ว ชาวบ้านจะทำอย่างไร ที่นี่ชาวบ้านทำนา 1 ปี 3 ครั้ง ถ้าหากว่าน้ำไม่มี อะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมามีข้อสังเกตซึ่งยังเป็นไสยศาสตร์แต่ยังไมได้เป็นวิทยาศาสตร์ก็คือว่า ปีนี้มะม่วงของชาวบ้านแทบจะไม่มีของใครติดผล ฝนชะมาก็ร่วงหมด มะม่วงราคาดีแต่ว่าเราไม่มีปัญญาเอาไปขาย แล้วใครบอกได้บ้างว่าที่ไซยาไนด์ขึ้นไปบนอากาศมันทำอะไรกับคนบ้านเราหรือเปล่า นอกจากมันจะมีผลกระทบโดยตรงในเรืองสุขภาพแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครบอกได้”

 

นั่นคือหนึ่งในความกังวลของชาวบ้านอย่างอารมณ์ ที่ยังคงทำไร่ทำนาทำสวนในผืนดินมาหลายสิบปีอธิบายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะรับฟังเอาไว้ในกรณีที่จะริเริ่มโครงการ หรือว่าลงนามอนุญาตใดๆ ว่าแท้จริงแล้วมันเกิดผลกระทบขึ้นกับชาวบ้านหรือไม่ ประสบการณ์กระบวนการยุติธรรมจากต่างประเทศที่ผู้เขียนยกตัวอย่างก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐฐะควรจะเอาเยี่ยงอย่างว่า ไม่ใช่รอให้เหตุมันเกิดขึ้นก่อนที่จะแก้ เพราะถ้าหากถึงตอนนั้นคงจะมีแต่คำว่าสายเกินไปเท่านั้นที่เหมาะสมกับการอธิบายเรื่องราวของชาวบ้านที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตของพวกเขาตลอดไป

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก

http://www.protestbarrick.net/article.php?id=556

http://www.protestbarrick.net/article.php?id=548

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net