Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสียงเรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุข ‘ให้’ หลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ หรือบัตรทองแก่คนไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร ผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานจนผสมกลมกลืนกับสังคมไทยแล้วมีนโยบายให้ขอสัญชาติไทยได้ในอนาคต และคนไทยที่ตกหล่นจากการ ‘ขึ้นทะเบียน’ ราษฎรนั้น ไม่ใช่ครั้งเเรก เเต่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ควบคู่มากับพัฒนาการของ ‘บัตรทอง’ ตั้งเเต่เป็นโครงการ ‘30 บาทรักษาได้ทุกโรค’

หากพิจารณาตั้งเเต่ก้าวเเรกของการจัดหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนในประเทศไทย พวกเขาเป็นฝ่ายถูก ‘ริบ’ หลักประกันสุขภาพที่เคยมีทุกช่องทาง ทำให้ขาดหลักประกันการเข้าถึงสุขภาพทุกชนิด ตั้งแต่ช่วงแรกการดำเนินการโครงการนำร่องของบัตรทอง หรือที่ขณะนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘บัตรสามสิบบาท’ เมื่อ พ.ศ. 2544 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ผู้มีสิทธิรับบัตร คือ ‘ผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย หรือระเบียบอื่นๆ ของรัฐอยู่ก่อนแล้ว’ และ ‘มีชื่อในทะเบียนบ้านพื้นที่ที่กำหนด’ นั่นหมายความว่า ประชากรทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะคนสัญชาติไทย มีสิทธิได้รับเเละใช้บัตรทองได้ โดยไม่เเบ่งเเยกสัญชาติ ขอเพียงให้มีบัตรประจำตัว และมีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น

คนไร้สัญชาติหลายคน จึงมีบัตรทอง และใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลแทนบัตรสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ‘โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูล’ (สปร.) ราคา 300 - 500 บาท ต่อครอบครัว (รัฐสมทบ 500 เเละ 1,000 บาท) สวัสดิการจากรัฐที่รองรับและให้หลักประกันแก่คนไร้ สัญชาติตั้งเเต่ พ.ศ. 2537 ซึ่งถูกยุบไปพร้อมการมาถึงของบัตร 30 บาท ซึ่งนับว่าเป็นความหวังใหม่ของคนที่รอสัญชาติไทยหรือสถานะบุคคลในประเทศไทยที่เริ่มเรืองรองขึ้นอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2546

แต่แล้ว ประตูที่เปิดออกก็ปิดลงอีกครั้ง เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ เริ่ม ‘ตัด’ บุคคลกลุ่มนี้ออกจากบัตรสามสิบบาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการนิยามเจ้าของบัตร 30 บาทใหม่ว่า ไม่ครอบคลุมคนต่างด้าว และผู้ที่จะมีบัตรทองได้ต้องเป็น ‘ชนชาวไทย’ หมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ จึงไม่ครอบคลุมถึง คนต่างด้าว’ ทั้งๆ ที่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มที่มีบัตร 30 บาทเเต่แรก ยังอยู่ในทะเบียนบ้าน และ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในบทบัญญัติที่ระบุว่า ‘บุคคล’ ที่มีสิทธิได้บัตร 30 บาท ต้อง ‘มีสัญชาติไทย’

ระหว่าง พ.ศ. 2546-2548 คนไร้สัญชาติเริ่มพบปัญหาเมื่อไปใช้บริการที่โรงพยาบาล แทนที่พวกเขาจะได้ยื่นบัตร และใช้บริการได้ตามปกติ กลับถูกทยอยเก็บบัตร 30 บาทคืนเมื่อยื่นบัตรหน้าเคาน์เตอร์โรงพยาบาล

การ ‘เรียกคืน’ ครั้งนี้ร้ายแรงกว่าเดิม เพราะไม่เหลือ บัตร สปร.’ ให้คนไร้สัญชาติที่ยากจนกลับไปซื้อใช้ได้อีก คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ ‘ตกหล่น’ จากระบบประกันสุขภาพอย่างสมบูรณ์

การเดินทางจากผู้ทรงสิทธิสู่ภาระ : คำอธิบายที่ภาครัฐยังไม่ตอบ
นับจากวันที่บัตร 30 บาทถูกยึด และโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกโรค เปลี่ยนเป็น 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค จนถึงการเปลี่ยนจากการร่วมจ่าย 30 บาท เป็นผู้ใช้บัตรไม่ต้องร่วมจ่าย คนไร้รัฐถูกผลักตกขบวนมาโดยตลอด ผู้ป่วยเรื้อรังไร้สัญชาติบางคน ถึงกับต้องพึ่งพาการซื้อระบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติราคา 1,300 บาท เเละจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้ง หากโรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลยินยอม หรือต้องเข้าสู่ระบบสงเคราะห์ ยอมทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ทยอยผ่อนจ่ายค่ารักษาให้โรงพยาบาล โดยที่รัฐไม่มีคำตอบว่า ทำไม? จึงยึดหลักประกันสุขภาพสุดท้ายที่เขามีอยู่คืน โดยไม่เหลือทางออกใดๆ ไว้ให้เลย

นับเเต่นั้น คนไร้สัญชาติที่เคยได้ถือบัตรทอง เป็นผู้ใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพอย่างภาคภูมิ กลับถูกเเปะฉลากว่า เป็น ‘ภาระ’ ของโรงพยาบาล และมักถูกนำไปผูกโยงอย่างผิดๆ กับ ‘แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย’ ทั้งๆ ที่เขาเเละเธอเกิดและอาศัยในประเทศไทยมาทั้งชีวิต

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตัดสินใจตีความว่า ผู้มีสิทธิได้บัตรทอง คือผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น การตัดสินใจนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของหน่วยงานเอง กฎหมาย งบประมาณ หรือมุมมองของความมั่นคงของรัฐ หรือทั้งหมดร่วมกัน

จริงหรือไม่ว่า การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำเป็นต้องตีความผู้มีสิทธิได้รับบัตรทองใหม่ ก็เพราะไม่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เนื่องจากสำนักงบประมาณเชื่อว่า การนำงบประมาณไปจัดหลักประกันสุขภาพให้คนไร้สัญชาติขัดรัฐธรรมนูญ

จริงหรือไม่ ที่ความพยายามผลักดันของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ติดล็อคที่หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกรงว่า การให้คนไร้สัญชาติมีบัตรทอง จะทำให้ดูเหมือนว่า เป็นการยอมรับว่าคนไร้สัญชาติ ได้สัญชาติไทย ทั้งๆ ที่บัตรทอง ไม่ใช่บัตรประชาชน เเละไม่เกี่ยวข้องกับสัญชาติ หรือเกรงจะดึงแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ จึงทำให้มติที่ สปสช. ซึ่งเสนอมาตั้งเเต่ปี 2548, 2550 เเละ 2552 ให้คืนหลักประกันสุขภาพให้คนไร้สัญชาติต้องตกไป

และท้ายที่สุด คงต้องเรียกร้องให้ สปสช. ตรวจสอบและยืนยันว่า การตีความ ‘บุคคล’ ที่พึงได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้ เป็นคำถามที่รัฐต้องชี้เเจง หากจะไม่ ‘คืน’ สิทธิในหลักประกันสุขภาพ ให้คนไร้สัญชาติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net