สัมภาษณ์ "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" เนื่องใน "วันครู"

“อรรคพล สาตุ้ม” สัมภาษณ์ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” เนื่องในวันครู 16 ม.ค. โดยชวนสนทนาในเรื่องวัฒนธรรมความรู้ การศึกษา และปัญญาชนไทย และทำไมนักวิชาการจึงสน (และไม่สน) ประชาธิปไตย?

สำหรับศิโรตม์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่องแรงงานวิจารณ์เจ้า และประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา เคยเป็นบรรณาธิการวารสารวิถีทรรศน์ชุดโลกาภิวัตน์ ล่าสุดศิโรตม์เพิ่งแปลหนังสือเรื่อง รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า ปัจจุบันเป็นนักวิชาการรับเชิญที่โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

000

1

“วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทยไม่คิดถึงการอยู่ร่วมกันของคณาจารย์และนักศึกษาในฐานะชุมชนทางปัญญา แต่เป็นโครงสร้างลำดับขั้นที่อาจารย์มีสถานะสูงสุด ส่วนชนชั้นในหมู่คณาจารย์จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกกรณี

อย่าลืมว่าเมืองไทยเรียกการบรรยายว่า “ไปสอน” เรียกนักศึกษาว่า “ลูกศิษย์” เรียกผู้บรรยายว่า “อาจารย์” คำเหล่านี้มีความหมายทางวัฒนธรรมไม่น้อยกว่าความหมายตามตัวอักษร การแทนคำว่า “ไปสอน” ด้วยคำว่า “ไปนำสัมมนา” แทน “ลูกศิษย์” ด้วย “เพื่อนร่วมงาน” หรือแทน “อาจารย์” ด้วย “คุณ” เปลี่ยนลำดับชั้นทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาได้รุนแรงจนไม่มีใครยอมแน่นอน

ประจักษ์พยานของทัศนะบูชาครูจนล้นเกินคือการจำกัดสิทธินักศึกษาในการยืมหนังสือห้องสมุด เราพูดกันมากว่านักศึกษาไม่เข้าห้องสมุด แต่ที่ไม่มีใครพูดคืออาจารย์มีสิทธิยืมหนังสือได้มากและในเวลานานกว่านักศึกษาจนเหลือเชื่อ หลายมหาวิทยาลัยไม่มีระบบให้ผู้ยืมเรียกคืนหนังสือด้วยซ้ำ ผลก็คือโอกาสในการอ่านหนังสือของนักศึกษาถูกพรากไปด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรนักศึกษาก็ไม่อ่าน คำตอบแบบนี้จะไม่มีทางเกิดได้เลยถ้าเลิกคิดว่าคณาจารย์เข้าถึงตัวบทศักดิ์สิทธิ์ได้เหนือคนปกติ และมองนักศึกษาเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการไม่น้อยกว่าบรรดาคณาจารย์”

 

2

“ควรคลายความวิตกว่ามหาวิทยาลัยและนักวิชาการเป็นพวกหัวนอกในหอคอยงาช้าง เพราะที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยไทยไกลจากความเป็นหอคอยงาช้างสุดกู่ เราไม่เคยสนความรู้ที่ใช้งานและขายไม่ได้ การอุดมศึกษาของไทยเน้นการผลิตความรู้เชิงเทคนิคเพื่อประโยชน์ทางวัตถุที่จับต้องได้ภายใต้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบศักดินาที่แสนจะเป็นไทยมาโดยตลอด

การผสมผสานความเหลวไหลแบบไทยกับพลังของสถาบันสมัยใหม่เป็นบุคลิกของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน”

 

3

“นักวิชาการหลายรายทำงานบนโลกทัศน์ตายตัวว่าด้วยความอ่อนแอทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาและทัศนะศักดินาย้อนยุคของคนจนในชนบท งานอย่างสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ การเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรืองานของรังสรรค์และประเวศหลายชิ้นมีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ที่ถึงที่สุดแล้วมองสังคมไทยสมัยใหม่ผ่านแว่นหลายแบบที่ทำให้เห็นภาพคนจนชนบทเฉพาะด้านการล่มสลายของสังคมชาวนา มองแต่ความจำเป็นที่พวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจท้องถิ่น และถึงที่สุดคือไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีวิธีของเขาในการต่อรองกับสังคมสมัยใหม่ต่างๆ นานา

ในมุมนี้ ชาวนาในชนบทต้องมีนายคุ้มหัวไม่ต่างจากไพร่โบราณมีมูลนายต้นสังกัด คนเหล่านี้ตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระไม่ได้ ผู้แทนจากการเลือกตั้งของพวกเขาจึงไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนในความหมายที่แท้จริง

… การมองชาวนาและคนจนชนบทแบบนี้ทำให้คนฝั่งนี้ดีใจแทบคลั่งกับวาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ขบวนการพันธมิตร ตุลาการวิบัติ ฯลฯ พวกเขาจัดวางการเมืองและวาทกรรมหลงยุคนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต้านพลังทุน…”

 

000

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ที่มา: แฟ้มภาพ a day weekly)

 

วันครูและปัญญาชนไทย

ในจารีตทางปัญญาของไทย ครูไม่ได้เป็นแค่ผู้รู้ที่พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ครูไม่ได้หมายถึงแค่ปัจเจกชนที่ร่ำเรียนจนมีคุณวุฒิมีวุฒิบัตรทางการศึกษาเยอะแยะเต็มไปหมด ครูที่เราคาดหวังตามอุดมคติในจารีตแบบนี้คือผู้บรรลุความรู้ชั้นสูงจนมีสัจธรรมสูงสุดในมือ ครูคือปราชญ์ ครูเป็นอภิมนุษย์ที่การมีความรู้แยกไม่ออกจากการมีบุญบารมีบางอย่าง ครูถูกนับถือ หรือจะพูดว่าถูกคาดหวังก็ได้ ว่ามีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ยิ่งคิดถึงสังคมก่อนสมัยใหม่ ก็ยิ่งเห็นภาพครูผู้ทรงบารมีมากขึ้น โหราศาสตร์และไสยศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้สำคัญของอดีตสังคมจึงบังคับให้ครูมีพรตเหนือมนุษย์ หาไม่แล้ว วิชาความรู้จะหายไป

โปรดอย่าคิดว่าสองเรื่องนี้ไม่ใช่ความรู้และเลอะเทอะเหลวไหล คำนำของรัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีสิบสองเดือนกล่าวไว้ชัดๆ ว่าราชสำนักไทยถือว่าไสยศาสตร์และคติพราหมณ์เป็นส่วนหนึ่งของราชประเพณีมาช้านาน ถึงจะรู้ว่าสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลยก็เถอะ

อาจารย์มหาวิทยาลัยมีอาชีพเหมือนครู แต่ไม่มีคุณสมบัติภายในแบบนี้ เราไหว้อาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะปริญญาที่คนพวกนี้แบกไว้เหนือเกล้า ไหว้เพราะบรรดาศักดิ์ในสถานศึกษา ไหว้เพราะคุณสมบัตินอกตัวเขา แต่เราไม่ได้ไหว้คุณสมบัติภายในตัวเขาแบบเดียวกับเวลาไหว้ครู

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกยกย่องในแง่ความเป็นครูคืออาจารย์ที่มีคุณสมบัติภายในบางแบบ นั่นคือสอนศิษย์ให้เป็นคนดี ฝากงาน หาทุนวิจัย ส่งไปเรียนต่อ ช่วยเหลือผู้อื่น เอื้อเฟื้อต่อชุมชน รักความเป็นธรรม ฯลฯ ความซาบซึ้งแบบนี้ทำให้นักศึกษาบางคนเคลิบเคลิ้มขนาดเห็นอาจารย์เป็นผู้ให้กำเนิดอีกราย ที่นับญาติกับอาจารย์ของอาจารย์ว่าเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์แบบไทยๆ เลยก็มี

คนที่อึดอัดกับการไหว้ครูในมหาวิทยาลัย ไม่ต้องแปลกใจ พิธีนี้ยักยอกอุดมคติจารีตมาใช้ในสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ ความประดักประเดิดและเข้ากันไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา มีนักศึกษาที่ปกติกี่คนมองอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนครูที่สอนเราสมัยประถมหรือมัธยม

อุดมคติเรื่องครูแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง คตินี้เกี่ยวแน่ถ้าคิดถึงมันในบริบทสังคมที่แบ่งลำดับชั้น ยอมรับความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยที่เห็นว่าผู้น้อยเป็นติ่งของผู้ใหญ่ ไพร่เป็นติ่งของกษัตริย์และมูลนาย และนักวิชาการรุ่นจิ๋วต้องใต้สังกัดนักวิชาการรุ่นใหญ่ ในที่สุดคตินี้แยกไม่ออกกับโลกทัศน์ทางการเมืองหลงยุคแบบศักดินาโบราณ

ทำไมอุดมคติแบบนี้ยืนยงได้? คำตอบคือสังคมมีพิธีกรรมตอกย้ำความสูงส่งของครูไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น พิธีไหว้ครู พิธีครอบครู ฯลฯ ขณะเดียวกัน พิธีนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าครูได้ถ่ายทอดคุณสมบัติภายในบางอย่างให้เรา เรารับคุณสมบัตินี้จากครู เราเป็นส่วนหนึ่งของครูไปตลอดชีวิต เราเป็นหนี้ครูเพราะครูให้ชีวิตที่วิเศษ ครูคือประทีป ครูมีสถานะกึ่งเทพ อวตารอยู่ในเราตลอดเวลา

ถ้าถามว่าตะวันตกไหว้ครูมั้ย เท่าที่รู้คือไม่มี มีการเคารพในฐานะ mentor แต่ไม่ธรรมดาแน่ถ้าใครไหว้ใครเยี่ยงเทพ ครูที่ผมเคารพมากคนนึงคือบาร์บาร่า อันดาย่า เป็นครูที่ดีจนทำให้รู้ว่าอาจารย์ที่ดีต้องเป็นแบบนี้ ความเป็นครูแบบนี้ไม่ได้เกิดจากศีลธรรมส่วนบุคคล แต่จากการอ่านงานทุกบรรทัด ตรวจทุกย่อหน้า ช่วยแก้ทุกข้อความ วิจารณ์แบบช่วยให้เราคิดได้ถี่ถ้วนรอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่วิจารณ์เพื่อให้ตัวเองดูมีภูมิ วิจารณ์เพื่อสรุปว่าข้าพเจ้าเท่านั้นที่ฉลาดและรู้มากที่สุด เหมือนที่คนบางจำพวกในบ้านเราเข้าใจว่าคือการวิจารณ์ที่ดี

สำหรับโลกตะวันตก ครูคือปัญญาชน ครูคือวิชาชีพ ความเป็นครูคือการประกอบอาชีพประเภทหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการมีศีลธรรมพิเศษหรือมีบุญบารมี ครูจึงไม่วิเศษวิโสกว่าอาชีพอื่น และในครูด้วยกันก็ไม่มีวรรณะต่างกันระหว่างครูโรงเรียนอนุบาลกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่มีชนชั้นระหว่างอาจารย์จบปริญญาเอกจากต่างประเทศกับครูประถมที่จบวิทยาลัยการศึกษาธรรมดาๆ

ความเป็นปัญญาชนคืออะไร? ปัญญาชนแบบตะวันตกไม่ใช่คุณสมบัติภายในอย่างเดียว ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของอาชีพ แต่อีกด้าน ก็เป็นเรื่องของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางปัญญา ชุมชนนี้หมายถึงสถาบันการศึกษา หมายถึงกลุ่มนักอ่าน หมายถึงห้องสมุด หมายถึงการทำงานเผยแพร่ความคิด หมายถึงการค้นคว้าและเขียน หมายถึงการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงทั้งวงกว้างและแคบในเรื่องที่ตัวเองสนใจ

ฟังเหมือนปัญญาชนไม่ต้องมีศีลธรรม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ความเป็นปัญญาชนในโลกตะวันตกแยกไม่ออกกับศีลธรรมในความหมายของสถาบันศาสนา สถาบันวิชาการมหาศาลเกิดจากศาสนิกชนเพื่อเผยแพร่ศาสนา การศึกษาสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันภูมิปัญญาแบบเทววิทยาตั้งแต่แรก แต่พอนานเข้าก็แยกทางกัน สู้กัน บางแห่งก็เดินเป็นเส้นขนานกันอย่างสิ้นเชิง บางแห่งก็ถือเป็นกิจกรรมทางโลกที่ศาสนิกชนสนับสนุนโดยสถานศึกษาไม่มีภารกิจเผยแพร่ศาสนาอีกต่อไป

มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนใหญ่ๆ ในโลกเยอะแยะที่ศาสนจักรก่อตั้ง แต่ทุกวันนี้มีการสอนศาสนาอยู่นิดเดียว หรือหลายที่ก็ไม่มีเลย และที่มีก็ไม่ได้สอนการบำเพ็ญภาวนาหรือปลูกฝังศีลธรรมตามหลักศาสนา แต่เป็นการเรียนในแง่เทววิทยา

สถานศึกษาในโลกตะวันตกเป็นเรื่องการครอบงำแน่ แต่วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองก็มีฐานที่เข้มแข็งด้วย ความรู้ที่ตั้งคำถามกับความรู้เก่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความรู้อย่างแยกกันแทบไม่ได้ แนวคิดที่ตั้งคำถามกับปัญญาชนและระบบการศึกษามีเยอะแยะเต็มไปหมด คำว่าปัญญาชนสำหรับนักคิดหลายคนแล้วชักชวนให้หันหลังให้ความเป็นปัญญาชนด้วยซ้ำไป

มาร์กซ์พูดมานานแล้วว่าปัญญาชนเป็นโครงสร้างส่วนบนที่เผยแพร่อุดมการณ์เพื่อการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้น กรัมชี่บอกว่าปัญญาชนทำให้เกิดสามัญสำนึกว่าการขูดรีดในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ อัลธูแซร์มองสถานศึกษาและสถานทางปัญญาเกือบทั้งหมดในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ปัญญาชนทำหน้าที่เดียวกับทหารและตำรวจ แต่คนละเฉดคนละมุม แนวคิดเรื่องวาทกรรมของฟูโกต์ก็ชี้ให้เห็นอันตรายของวาทกรรมที่ปัญญาชนบางประเภทสร้างขึ้น นักคิดแนวหลังอาณานิคมอย่างซาอิดและคนอื่นๆ เห็นว่าสภาพจิตแบบอาณานิคมนั้นเกี่ยวแน่กับความรู้ที่ปัญญาชนสร้างขึ้น มีการศึกษาภาพถ่าย ดนตรี หนัง ฯลฯ เต็มไปหมดที่ชี้ว่าปัญญาชนสร้างระบอบความรู้ที่อันตราย

สรุปให้สั้นก็คือเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเกิดการโจมตีว่าแท้จริงแล้วปัญญาชนเป็นตัวการตอกตรึงผู้คนให้อยู่ในโครงข่ายอำนาจตลอดเวลา

ถ้ามองวัฒนธรรมครูในมุมนี้ ปัญญาชนไทยนั้นแสนจะเป็นไทยมากกว่าที่ตัวเองคิด ปัญญาชนแนวจารีตนั้นไม่ปฏิเสธความเป็นไทยของตัวเองแน่ๆ ส่วนปัญญาชนแนววิพากษ์ก็เสพติดคติบูชาครูไม่ต่างกัน ครูพูดเรื่องมาร์กซ์อย่างไร ก็ว่าตามนั้น เขาสอนฟูโกต์แบบไหน ก็จำมันแบบนั้น เขาวิจารณ์สถาบันแบบไหน เราก็สูดคำวิจารณ์นั้นเข้าไปเต็มปอด เขาตั้งคำถามกับใคร เราก็ตั้งคำถามทำนองเดียวกัน กลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์โลกได้ทั้งโลกเพื่อกราบครูบาอาจารย์ไว้เหนือหัวตลอดเวลา

อย่าไปห่วงเรื่องปัญญาชนหรือนักวิชาการจะไม่มีความเป็นไทย ทุกคนเป็นไทยทั้งนั้น เหตุผลคือไม่มีใครหรอกที่ไม่อยากมีครู ครูในอุดมคติแบบนี้ไม่ใช่เป็นแค่สถานภาพทางศีลธรรม แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในวงวิชาการไม่น้อย สัมพันธภาพกับครูบางลักษณะจึงยังให้เกิดสถานะพิเศษทางศีลธรรม สัมมาชีพ และเศรษฐทรัพย์ ได้ตลอดเวลา

 

อุดมศึกษาของไทย

กำเนิดของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับตะวันตกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้สำคัญมากต่อการทำความเข้าใจบุคลิกของการศึกษาและปัญญาชนนักวิชาการไทย

กล่าวโดยย่อแล้ว การศึกษาในโลกตะวันตกในความหมายกว้างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยรัฐ เหตุผลทางการเมืองสมัยใหม่ สถานศึกษาไม่ใช่สถานที่สาธารณะ และการศึกษาก็ไม่ใช่สาธารณกิจ ในทางตรงกันข้าม การศึกษาเป็นเรื่องของผู้มีอันจะกิน คนกลุ่มนี้รุ่มรวยจนไม่ผิดปกติที่จะศึกษาเพื่อแสงสว่างทางปัญญาล้วนๆ วิชาความรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาตะวันตกตั้งแต่ต้นคือปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ เทววิทยา วรรณคดี อีกนัยคือวิชาที่เน้นแสวงหาพุทธิปัญญาโดยไม่สนใจอรรถประโยชน์ของความรู้โดยตรง

ความร่ำรวยของการศึกษาตะวันตกทำให้สถานศึกษาเป็น “หอคอยงาช้าง” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรที่น่าภาคภูมิใจโดยแท้ คือเป็นชุมชนของชนผู้รักในความรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบคำถามว่าจะเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

การศึกษาสมัยใหม่ของไทยไม่มีประวัติแบบนี้ ของอีกหลายประเทศที่ภาษาอาณานิคมเรียกง่ายๆ ว่า “โลกที่สาม” ส่วนใหญ่ก็เช่นกัน ในด้านหนึ่ง ประเทศกลุ่มนี้ยากไร้จนลงทุนกับการเรียนสาขาที่ “ไม่จำเป็น” ไม่ได้แน่ๆ การศึกษาในสังคมแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐในความหมายแคบ การศึกษาเกิดขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรแบบที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าจำเป็น ส่วนการอุดมศึกษาก็ยิ่งชัดว่าเกิดเพื่อผลิตข้าราชบริพารและมหาดเล็กมาตั้งแต่ต้น จากนั้นก็คือเป็นโรงเรียนผลิตข้าราชการ ผลิตนักเทคนิคเพื่อการ “พัฒนา” ประเทศ และท้ายที่สุดก็คือการผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับตลาดและวิชาชีพที่สังคมทุนนิยมต้องการ

งานเขียนเรื่องปฏิรูปการศึกษาของอ.เสน่ห์ จามริก อ้างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีบ่อยมากเรื่องการศึกษาเพื่อให้ทุกคนเป็นคนเท่ากัน แต่ความเท่ากันในที่นี้หมายถึงการเป็นพลเมืองของรัฐอย่างเซื่องๆ คนเท่ากันได้ในความหมายที่ทุกคนเป็นกำลังแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์เพื่อราชการและตลาดทุนนิยม ไม่ใช่เท่ากันในฐานะความเท่าเทียมทางการเมือง

ชนชั้นปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาในแง่อรรถประโยชน์และวิชาชีพมาโดยตลอด สาขาวิชาที่ท่านชายและราชนิกูลในอดีตนิยมไปเรียนในต่างประเทศคือวิศวกรรม การทหาร และการแพทย์

มีน้อยมากที่จะเรียนทางละคร ภาษา หรือปรัชญา คณะที่มีการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกๆ ในประเทศไทยคือนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะสองคณะสร้างคนไปปกครองท้องถิ่นและประชาชนในนามรัฐบาลกลาง สร้างข้าราชการมหาดไทย ผู้พิพากษา ตำรวจ ฯลฯ จะเป็นรัฐบาลของกษัตริย์หรือรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญก็ตาม

คณะที่เก่าแก่ไล่เลี่ยกันคือคณะอย่างเศรษฐศาสตร์ และบัญชี สองสาขานี้เป็นวิชาชีพสำหรับสังคมสมัยใหม่โดยแท้ แพทยศาสตร์ก็เช่นกัน โรงเรียนแพทย์ยุคต้นเกิดเพื่อบริการผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงในกรุงเทพชั้นใน ในทางกลับกัน การเรียนปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ ไม่เคยเป็นเรื่องสำคัญในการอุดมศึกษาไทย รวมทั้งในโลกทัศน์ที่คนไทยมีต่อการศึกษาเอง

เมื่อเป็นแบบนี้นานเข้า วิชาอย่างประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ก็มีสภาพใกล้ตาย หลายมหาวิทยาลัยพูดถึงการยุบภาควิชาประเภทนี้ มีนักศึกษาระดับหัวกะทิน้อยมากที่เลือกเรียนสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ขณะที่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นคณะคะแนนต่ำสุดในสายวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน

กรณีวิทยาศาสตร์นั้นน่าสนใจ เพื่อนที่นับถือคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเป้าหมายของการตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คือการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รัฐบาลทุ่มงบไปมากมายก็เพราะเหตุนี้ แต่พอเปิดโรงเรียนไปสักพัก เด็กกลับไปสอบเข้าหมอเข้าวิศวะไปหมด กลายเป็นว่าการสร้างโรงเรียนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ แต่ไปสร้างลูกจ้างให้โรงพยาบาลเอกชนกับโรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียนกลายเป็นเตรียมอุดมหรือสวนกุหลาบแห่งใหม่โดยปริยาย

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ควรได้เครดิตจากคำพูดที่พูดไว้เป็นเวลาสิบปีๆ แล้วถึงการขาดความเป็นเลิศทางวิชาการและลักษณะลุ่มหลงในเทคนิควิทยาของการอุดมศึกษาไทย แต่นอกจากประเด็นนี้ อุดมศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องอื่นด้วย นั่นคือทัศนะที่มีต่อตัวการศึกษาเอง

การศึกษาไทยยุคก่อนสมัยใหม่คือการศึกษาแบบพระ จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่ฐานของการศึกษาสมัยใหม่ในปัจจุบัน แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบโบราณมีผลต่อการศึกษาสมัยใหม่มากกว่าที่เราคิด นั่นคือวัฒนธรรมการเรียนที่เน้นความสำคัญของการรู้ตัวบทศักดิ์สิทธิ์เพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุด รู้พระไตรปิฎก อ่านบาลี อ่านชาดก อ่านพระเวท อ่านคัมภีร์โบราณ ฯลฯ เพื่อเข้าใจ “จักรวาลวิทยา” ของความจริงทั้งหมดที่คัมภีร์เขียนไว้เป็นกุญแจไขโลกความรู้ของเรา

วัฒนธรรมความรู้แบบนี้อ่อนแอลงหรือไม่ในระบบมหาวิทยาลัย? คำตอบคือมีบ้าง แต่ไม่มากนัก

ประเด็นสำคัญคือราชบัณฑิตโบราณสร้างเขตอำนาจของตัวด้วยวิธีผูกขาดการเข้าถึงตัวบทมาโดยตลอด ความรู้ถ่ายทอดโดยการสอนตัวต่อตัวและรุ่นต่อรุ่น การอ่านไม่ใช่ส่วนสำคัญในระบบการศึกษาไทย แต่คือการสอนและฟังคำบรรยายให้ครบถ้วนต่างหาก วัฒนธรรมนี้แทบไม่เปลี่ยนในสมัยนี้ แม้การเข้าถึงความรู้จะง่ายขึ้นโดยการพิมพ์และวิทยาการสมัยใหม่ แต่การอ่านก็ไม่ใช่หัวใจของวิธีแสวงความรู้แบบไทยอยู่ดี ทัศนะคติว่าครูบาอาจารย์คือผู้ทรงภูมิธรรมไม่เคยจางหายไป อาจเปลี่ยนรูปไปบ้าง แต่ไม่เสื่อมคลายนักจากเดิม

วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทยไม่คิดถึงการอยู่ร่วมกันของคณาจารย์และนักศึกษาในฐานะชุมชนทางปัญญา แต่เป็นโครงสร้างลำดับขั้นที่อาจารย์มีสถานะสูงสุด ส่วนชนชั้นในหมู่คณาจารย์จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกกรณี

อย่าลืมว่าเมืองไทยเรียกการบรรยายว่า “ไปสอน” เรียกนักศึกษาว่า “ลูกศิษย์” เรียกผู้บรรยายว่า “อาจารย์” คำเหล่านี้มีความหมายทางวัฒนธรรมไม่น้อยกว่าความหมายตามตัวอักษร การแทนคำว่า “ไปสอน” ด้วยคำว่า “ไปนำสัมมนา” แทน “ลูกศิษย์” ด้วย “เพื่อนร่วมงาน” หรือแทน “อาจารย์” ด้วย “คุณ” เปลี่ยนลำดับชั้นทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาได้รุนแรงจนไม่มีใครยอมแน่นอน

ประจักษ์พยานของทัศนะบูชาครูจนล้นเกินคือการจำกัดสิทธินักศึกษาในการยืมหนังสือห้องสมุด เราพูดกันมากว่านักศึกษาไม่เข้าห้องสมุด แต่ที่ไม่มีใครพูดคืออาจารย์มีสิทธิยืมหนังสือได้มากและในเวลานานกว่านักศึกษาจนเหลือเชื่อ หลายมหาวิทยาลัยไม่มีระบบให้ผู้ยืมเรียกคืนหนังสือด้วยซ้ำ ผลก็คือโอกาสในการอ่านหนังสือของนักศึกษาถูกพรากไปด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรนักศึกษาก็ไม่อ่าน คำตอบแบบนี้จะไม่มีทางเกิดได้เลยถ้าเลิกคิดว่าคณาจารย์เข้าถึงตัวบทศักดิ์สิทธิ์ได้เหนือคนปกติ และมองนักศึกษาเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการไม่น้อยกว่าบรรดาคณาจารย์

ควรคลายความวิตกว่ามหาวิทยาลัยและนักวิชาการเป็นพวกหัวนอกในหอคอยงาช้าง เพราะที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยไทยไกลจากความเป็นหอคอยงาช้างสุดกู่ เราไม่เคยสนความรู้ที่ใช้งานและขายไม่ได้ การอุดมศึกษาของไทยเน้นการผลิตความรู้เชิงเทคนิคเพื่อประโยชน์ทางวัตถุที่จับต้องได้ภายใต้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบศักดินาที่แสนจะเป็นไทยมาโดยตลอด

การผสมผสานความเหลวไหลแบบไทยกับพลังของสถาบันสมัยใหม่เป็นบุคลิกของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน

 

การศึกษากับประชาธิปไตย

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการศึกษากับประชาธิปไตยคือการศึกษาไทยสร้างประชาธิปไตยได้แค่ไหน และองค์ความรู้ของนักวิชาการเอื้อต่อประชาธิปไตยอย่างไร ประเด็นแรกสำคัญแต่ตอบให้ดีได้ยาก จนไม่อยากตอบในตอนนี้ ประเด็นที่สองสำคัญและอยู่ในวิสัยที่จะตอบได้ในปัจจุบัน

เราทุกคนรู้ว่ารัฐประหาร 19 กันยา ทำให้นักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโจมตีอีกฝ่ายว่าเป็นพวกรับใช้เผด็จการ ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ได้ประโยชน์จากรัฐประหาร ฯลฯ คำโจมตีนี้ถูกต้องแน่ แต่ก็น่าสงสัยว่าเป็นคำอธิบายที่รอบด้านจริงหรือ ปัญญาชนที่เชียร์ คมช. และคลั่งพระราชอำนาจหลายคนไม่ได้ตำแหน่งอะไร คำอธิบายเรื่องความไม่เข้าใจประชาธิปไตยน่าจะใช้ไม่ได้กับบางคนในกลุ่มนี้ที่ศึกษาประชาธิปไตยเป็นงานหลักด้วยซ้ำ

สำหรับคนกลุ่มนี้ ท่าทีการเมืองช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยอัตวิสัย ในทางตรงข้าม พวกเขาหันหลังให้ประชาธิปไตยเพราะความรู้เรื่องการเมืองไทยบางแบบ ในแง่นี้ เผด็จการแบบไทยใต้เสื้อคลุมวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นผลผลิตของความเข้าใจสังคมและการเมืองไทยที่มีลักษณะทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยสี่เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก นักวิชาการหลายรายทำงานบนโลกทัศน์ตายตัวว่าด้วยความอ่อนแอทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาและทัศนะศักดินาย้อนยุคของคนจนในชนบท งานอย่างสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ การเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรืองานของรังสรรค์และประเวศหลายชิ้นมีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ที่ถึงที่สุดแล้วมองสังคมไทยสมัยใหม่ผ่านแว่นหลายแบบที่ทำให้เห็นภาพคนจนชนบทเฉพาะด้านการล่มสลายของสังคมชาวนา มองแต่ความจำเป็นที่พวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจท้องถิ่น และถึงที่สุดคือไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีวิธีของเขาในการต่อรองกับสังคมสมัยใหม่ต่างๆ นานา

ในมุมนี้ ชาวนาในชนบทต้องมีนายคุ้มหัวไม่ต่างจากไพร่โบราณมีมูลนายต้นสังกัด คนเหล่านี้ตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระไม่ได้ ผู้แทนจากการเลือกตั้งของพวกเขาจึงไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนในความหมายที่แท้จริง

มีคำอธิบายหลายแบบว่าทำไมปัญญาชนนักวิชาการคิดแบบนี้ นักวิชาการสังคมศาสตร์จำนวนมากรับทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาชุมชนหมู่บ้านไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาใช้อย่างไม่แยกแยะ ไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่านักวิชาการตั้งคำถามถึงการเมืองของทฤษฎีนี้ขนาดไหน ไม่ว่าจะที่ถามโดยนักวิชาการฝรั่ง หรือโดยนักวิชาการไทยรุ่นก่อนสิบสี่ตุลา อย่างวารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ หรือฉลาดชาย รมิตานนท์ ซึ่งเขียนเรื่องนี้ไว้มากมาย

ความคิดที่ไม่ใช่ทฤษฎีวิชาการนัก แต่มีอิทธิพลกับปัญญาชนสูงอย่างความคิดชุมชนนิยม หรือแนวคิดเอนจีโอที่มองชาวนาตามทฤษฎีนารอดนิคอย่างอ้อมๆ ก็มองชาวนาและคนชนบทไม่ต่างจากนี้ ดูเผินๆ แล้วสองแนวคิดเชื่อมั่นในศักยภาพของชนบท แต่แท้จริงแล้วมีสมมติฐานเหมือนกับกลุ่มแรก นั่นคือชาวนาและคนจนชนบทไม่สามารถคิดวิธีต่อรองกับอำนาจรัฐและทุนนิยมด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องรวมความเคลื่อนไหวเพื่อประกอบสร้างความเป็นชุมชน หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนเพื่อป้องกันภัยคุกคามของระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นและทุนเอกชน

การมองชาวนาและคนจนชนบทแบบนี้ทำให้คนฝั่งนี้ดีใจแทบคลั่งกับวาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ขบวนการพันธมิตร ตุลาการวิบัติ ฯลฯ พวกเขาจัดวางการเมืองและวาทกรรมหลงยุคนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต้านพลังทุน เหมือนกับรสนา โตสิตระกูล ที่พูดเต็มปากเต็มคำว่า “พี่รับรัฐประหาร 19 กันยานี้ได้ เพราะเป็นรัฐประหารต้านทุนนิยม”

 

เรื่องที่สอง ปัญญาชนจำนวนมากปฏิเสธการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมทั้งผลที่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีต่อความเข้าใจการเมือง กล่าวอีกนัยคือการแบ่งแยกระหว่างปริมณฑลทางเศรษฐกิจกับปริมณฑลทางการเมือง

นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาปฏิเสธการพัฒนา ในทางตรงข้าม ทัศนะต่อการพัฒนาเป็นฐานทางปัญญาฐานหนึ่งของปัญญาชนไทยทุกฝ่าย ปัญหาคือแทบทั้งหมดเห็นการพัฒนาราวกับวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอดีตไปแล้ว ปัญญาชนกระแสหลักพูดถึงการพัฒนาราวยาสารพัดโรค ขณะที่ปัญญาชนทวนกระแสวิจารณ์การพัฒนาเยี่ยงยาพิษ ทั้งสองกลุ่มนี้เหมือนกันคือไม่ค่อยประเมินว่าสังคมไทยในช่วงหลังทศวรรษ 2530 โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนไปขนาดไหน และความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อความเข้าใจการเมืองอย่างไร

หนึ่งในคนที่อธิบายเรื่องนี้ไว้มากที่สุดคือนักประวัติศาสตร์อย่างนิธิที่ในช่วงทศวรรษ 2530 พูดเรื่องนี้ไว้ในงานหลายชิ้น พูดให้ง่ายที่สุดก็คือทศวรรษนี้เกิดสภาพที่ชนบทซึ่งเคยถูกขูดรีดโดยรัฐราชการเพื่อการพัฒนาเมืองและภาคอุตสาหกรรมตามแบบทุนนิยมสมัยใหม่ กลายเป็นชนบทที่ปรากฏคนกลุ่มใหม่ๆ และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่ที่ต่อรองกับราชการ และแย่งชิงทรัพยากรจากส่วนกลางผ่านการขยายตัวของประชาธิปไตยรัฐสภาในระดับชาติ การปกครองตนเองระดับท้องถิ่น รวมทั้งขบวนการทรัพยากรของชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนิธิแล้ว นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาหลายรายศึกษาสังคมหมู่บ้านจนพบการแตกตัวทางชนชั้น การเกิดชาวนาไร้ที่ดินและแรงงานรับจ้างภาคเกษตร การโยกย้ายประชากรชนบทสู่เมือง การแบ่งขั้วระหว่างคนในหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนชนบทและสังคมไทยสู่ภูมิประเทศใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่นี่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาไทย

แน่นอนว่าการพัฒนาทำให้ชาวนาอ่อนแอ แต่ปัญญาชนอคติเองจนไม่เห็นการปรับตัวของภาคชนบทแทบทั้งหมดเพื่อต่อรองกับรัฐและทุนนิยมโดยอาศัยประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ พวกเขารับไม่ได้กับสภาพที่นักการเมืองบ้านนอกคุมการจัดสรรทรัพยากรของชาติระดับต่างๆ พวกเขาดูถูกผู้แทนราษฎรว่าไม่มีการศึกษา ไม่มีชาติตระกูล เป็นเจ๊กบ้านนอก ฯลฯ สร้างวาทกรรมวิชาการโจมตีว่าคนพวกนี้เป็นทุนสามานย์ เป็นนักเลือกตั้ง เป็นการเมืองอุปถัมภ์เจ้าพ่อท้องถิ่น โดยไม่ตระหนักว่านี่คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านการเมืองจากอำนาจของระบบราชการครั้งสำคัญ

อคติทางวิชาการย้อนยุคแบบนี้คลอดอวิชชาทางการเมืองที่ปัญญาชนไม่น้อยรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาพร้อมกับการขยายตัวของประชาธิปไตยไม่ได้ เสี้ยนหาพลังอะไรก็ได้ที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนี้ หลายรายหันไปหาวาทกรรมชาตินิยมก่อนที่จะจบด้วยการอัญเชิญตัวเองเป็นไรฝุ่นของอำนาจลายครามจนรักประชาชนถึงขั้นเห็นคนนับล้านเป็นศัตรูในปัจจุบัน

 

เรื่องที่สาม ปัญญาชนไทยไม่คิดถึงสังคมในฐานะที่เป็นหน่วยในการศึกษาที่สำคัญโดยตัวเอง อันที่จริง พูดให้ถูกกว่าก็คือความคิดว่าสังคมคืออะไร เป็นเรื่องที่แทบไม่ปรากฏในปัญญาชนไทยหลายฝ่ายด้วยซ้ำ ปัญญาชนไทยศึกษาการเมืองหรือเศรษฐกิจเอาไว้มหาศาล ขณะที่งานศึกษาการจัดตั้งทางสังคม ชีวิตทางสังคม ความคิดทางสังคม ประวัติศาสตร์สังคม ฯลฯ มีอยู่หยิบมือเดียว

วงวิชาการไทยเห็นสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ปัญญาชนส่วนมากสนใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่วนยอดโดยไม่มองความเคลื่อนไหวมูลฐานในสังคม แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวและร่วมสมัยอย่างเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง การศึกษาพื้นฐานทางสังคมของคนกลุ่มนี้ก็มีน้อยมาก นอกจากงานของพฤกษ์ เถาถวิล กับของนักศึกษาปริญญาเอกปริญญาโทไม่กี่คน

เราไม่มีคนอย่างอีริค ฮอบส์บอว์ม ที่ศึกษาว่าการขยายตัวของทุนนิยมสู่ชนบทเปลี่ยนโลกทรรศน์ชาวนาอังกฤษอย่างไร เราแทบไม่รู้เรื่องการรวมตัวของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม คนจนเมืองและกรรมกรโรงงานห้องแถวเข้าใจตัวเองแบบไหน? อินเตอร์เน็ตสร้างเครือข่ายความคิดใหม่อย่างไร? คนรักเพศเดียวกันมีความคิดทางการเมืองอนุรักษ์หรือเสรีกว่าคนเพศอื่น? แม้กระทั่งชนชั้นสูงที่เชิดชูกันนักหนา ความรู้เรื่องวิถีชีวิต การจัดตั้ง และวงศ์วานว่านเครือ ของคนเหล่านี้ก็มีจำกัดเหลือเกิน

สภาพแบบนี้เกี่ยวแน่กับการที่ปัญญาชนผลิตคำอธิบายการเมืองไทยวนเวียนกับโครงเรื่องไม่กี่ชนิด ผู้มีการศึกษามากรายอธิบายการเมืองลึกซึ้งเท่าสภากาแฟและหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนเหลืองอธิบายแดงว่าถูกทักษิณซื้อ ปัญญาชนแดงมองว่าเหลืองถูกประธานองคมนตรีใช้ ฝ่ายแรกถือว่าทักษิณคือตัวแสดงหลักของการเมืองไทย ฝ่ายหลังว่าคือสถาบัน ทุกฝ่ายคิดว่าความขัดแย้งจะยุติถ้าไม่มีฝ่ายอื่น ส่วนพวกขาวดีแต่เอาคำขวัญเรื่องความสามัคคีแบบทหารมาแพ้คกิ้งว่ารักพ่ออย่าทะเลาะกัน

ในแง่นี้แล้ว ปัญญาชนทุกฝ่ายเหมือนกันตรงที่เชื่อว่าคนไม่เกิน 4-5 คน อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ทางการเมืองในรอบหลายปี ปัญญาชนหมกมุ่นทำให้การเมืองเป็นเรื่องของการวางแผนและการสมคบคิดลับๆ สถานการณ์สลับซับซ้อนในช่วงไม่กี่ปีถูกอธิบายด้วยวิธีคิดซึ่งวิ่งวนรอบทฤษฎี conspiracy ที่ตื้นเขินและไม่ยังให้เกิดปัญญา ทั้งที่มีเรื่องชวนคิดเยอะไปหมด เช่น กระบวนการทางสังคมในการจรรโลงอำนาจของเครือข่ายราชนิกูล แดงขยายตัวอย่างไรในสภาพที่ถูกรัฐปิดกั้นทุกมิติ ฯลฯ

อาจารย์ทามาดะเคยปาฐกถาว่าการเมืองไทยมีปัญหาเพราะชนชั้นนำไม่เข้าใจประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้น ปัญหาหนึ่งของปัญญาชนไทยคือการหันหลังให้สังคมจนปั่นหัวตัวเองเป็นกองโฆษณาชวนเชื่อว่าไม่มีใครรักประชาธิปไตยเท่าชนชั้นนำ ลองอ่านตำราประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยฉบับมาตรฐานหลายเล่มก็จะเห็นประเด็นนี้เอง

 

เรื่องที่สี่ ความหมกมุ่นกับทฤษฎีอำนาจบริสุทธิ์และความเข้าใจว่าเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการสร้างสถาบันการเมืองในฐานะอวตารของอำนาจแบบนี้ จะเรียกอำนาจนี้ว่าอำนาจแบบเทวราชาหรืออะไรก็ตาม ความหมายโดยรวมคือการคิดถึงอำนาจผ่านบุคลิกของอำนาจว่าคือความสุจริต มีศีลธรรม ปราศจากโลภจริต สมถะ บำเพ็ญตบะ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นอำนาจบริสุทธิ์ที่อยู่เหนือผลประโยชน์ทางโลกทุกชนิด ศักดิ์สิทธิ์จนอยู่เหนือบรรทัดฐานทางการเมืองทั้งหมด จึงต้องอ้างอิงอำนาจนี้ในการล้มล้างหรือสถาปนาบรรทัดฐานตลอดเวลา

แน่นอนว่าคติเรื่องอำนาจแบบนี้มาจากการผสมผสานความคิดเรื่องกษัตราธิราชของพุทธเถรวาทกับพราหมณ์-ฮินดู ประชาธิปไตยเป็นส่วนย่อยในจักรวาลวิทยานี้ ทัศนะนี้ยัดเยียดกรอบการคิดว่าประชาธิปไตยคือสถาบันการเมืองซึ่งเฉพาะคนดีเท่านั้นที่สามารถมีอำนาจ ดีในที่นี้พูดให้ชัดคือมีศีลธรรม มีการศึกษา มีเวสสันดรจริต และมีชาติตระกูล ความดีแบบเพ้อเจ้อเลื่อนเปื้อนนี้ดูดสถาบันการเมืองสมัยใหม่ให้อยู่ใต้อุดมการณ์ยุคสังคโลกจนเป็นอวตารของฝ่ายหลังได้อย่างน่ามหัศจรรย์

การดึงประชาธิปไตยออกจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมในแต่ละจังหวะของประวัติศาสตร์คือความสำเร็จครั้งสำคัญของอนุรักษ์นิยมไทย คำอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างของสังวาสข้ามสายพันธุ์ระหว่างอุดมการณ์โบราณกับสถาบันสมัยใหม่ได้ดีที่สุด ปัญญาชนจำนวนมากคิดเรื่องประชาธิปไตยผ่านฉากจบของเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา และพฤษภา 35 แต่ไม่เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นส่วนยอดของความเปลี่ยนแปลงมูลฐานหลายอย่าง ประชาธิปไตยกลายเป็นสถาบันที่ไม่สัมพันธ์กับชนชั้น การแย่งชิงผลประโยชน์ ลักษณะของรัฐ การจัดพวกทางประวัติศาสตร์ระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ และการช่วงชิงจัดสรรทรัพยากรของสังคม

ในนามของอำนาจบริสุทธิ์ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นการล้มหรือสถาปนาบรรทัดฐานอะไรก็ได้เพื่อต่อชีวิตอุดมการณ์ชราให้เสื่อมสภาพช้าลงไปอีก ไม่ว่ารัฐประหาร ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตุลาการภิวัตน์ หรือตั้งรัฐบาลที่ผู้นำไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน

อันที่จริง ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของจุดหมาย แต่คือเงื่อนไข ประชาธิปไตยไม่มีความหมายหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนได้ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย กรอบกว้างๆ คือการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นภาวะการเมืองแบบเปิดที่คนทุกกลุ่มสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ไม่รู้จบ ประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจก ของกลุ่ม ของชนชั้น คือพื้นฐานของประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อุปสรรค ในทางตรงข้าม การอ้างส่วนรวมในนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ชาติ ความสงบสุข ความมั่นคง องค์รวม จิตใหญ่ ฯลฯ เป็นฐานสำคัญของวาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ต้องระวังอันตรายทุกกรณี

สถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยสำคัญเพราะยึดโยงกับเงื่อนไขการเมืองแบบเปิด หาไม่แล้ว สถาบันประชาธิปไตยก็คือผ้าห่อซากอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตย มีนับครั้งไม่ถ้วนที่อำนาจนอกระบบและอำนาจเหนือระบบทรงเครื่องแบบรัฐสภาจนดูเหมือนประชาธิปไตยอยู่ในภาวะปกติ เส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคือการมีการเมืองแบบเปิดที่ไม่มีคนกลุ่มไหนชี้นำการตัดสินใจทางการเมืองทุกชนิดได้ล่วงหน้าโดยปราศจากการต่อสู้แข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนทุกกลุ่มทุกเหล่าทุกชนชั้นในอาณาบริเวณสาธารณะ พรรคการเมืองและรัฐสภาสำคัญต่อประชาธิปไตย แต่การปกครองโดยพรรคการเมืองและรัฐสภาไม่เท่ากับประชาธิปไตยในทุกกรณี

ขอทิ้งท้ายว่าที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การปกป้องปัญญาชนฝ่ายต้านประชาธิปไตย แต่คือการชวนให้คิดว่าความไม่เป็นประชาธิปไตยในปัญญาชนมีรากลึกกว่าความไม่เข้าใจหรือการได้ประโยชน์ทางวัตถุอย่างตื้นๆ นี่ไม่ใช่ทางออกของการสร้างประชาธิปไตย แต่คือการตั้งข้อสังเกตว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันถูกกำหนดกรอบโดยวาทกรรมความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์อย่างไร

แน่นอนว่าการสร้างประชาธิปไตยอยู่ในระนาบการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ทางความรู้ แต่ความรู้ก็สำคัญมากต่อการทำให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพในระยะยาว

ปัญญาชนไม่ใช่ชนชั้น จุดยืนของพวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดโดยลักษณะทางชนชั้นล้วนๆ ปัญญาชนชนชั้นเดียวกันที่คิดเรื่องการเมืองต่างนั้นมีนับไม่ถ้วน ครอบครัวเดียวกันแล้วเห็นต่างกันก็มาก แต่ปัญญาชนก็ไม่ใช่อิสรชนที่ก่อรูปความคิดหรือจุดยืนได้อิสระ ปัญญาชนในความหมายของบุคคลที่กินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากสถาบันอุดมศึกษานั้น มีชีวิตกับวัฒนธรรมความรู้แบบไทย งานประจำ การประชุม กรอกใบประเมินคุณภาพการศึกษา เป็นกรรมการชุดต่างๆ เขียนแผนพัฒนาโครงการ ถูกนักศึกษาบูชากราบไหว้ สัมพันธ์กับข้าราชการใต้วัฒนธรรมศักดินา อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์กับคณาจารย์อาวุโส ฯลฯ

แบบแผนในชีวิตประจำวันอย่างนี้นี้ทำให้ปัญญาชนนักวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการและวาทกรรมที่มีรากในประวัติศาสตร์มากกว่าที่คิด ทั้งหมดนี้เกี่ยวแน่กับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของปัญญาชนไทย

ควรกล่าวด้วยว่าการอุดมศึกษาไทยเปลี่ยนนิดเดียวในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 ที่ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อความรู้ใหม่ผ่านการเรียนการสอนหลักรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ บนจุดยืนแบบใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป การสอนความรู้แบบที่เป็นเรื่องต้องห้ามภายใต้รัฐบาลของกษัตริย์ การเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ การเรียนโดยขายตำราและเอกสารราคาถูกเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นของนักศึกษาและทุกคนได้จริงๆ ทั้งหมดนี้เปลี่ยนธรรมชาติของสถานอุดมศึกษาแน่ จะแง่ไหนก็เป็นอีกกรณี

แต่อย่างน้อยมันทำให้การเข้ามหาวิทยาลัยไม่ขึ้นอยู่การมีทรัพย์ มีสติปัญญาพิเศษ หรือมีภูมิหลังทางการศึกษาดีเท่านั้นอีกต่อไป

อุดมศึกษาไทยไม่เคยสานต่อสปิริตแบบนี้ เราสอนหลักรัฐธรรมนูญที่ทำลายหลักอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน สอนกฎหมายโดยไม่พูดถึงความคิดเรื่องความยุติธรรม สอนรัฐศาสตร์โดยไม่ยืนยันหลักการเลือกตั้งในฐานะแหล่งที่มาสูงสุดของอำนาจการเมือง สอนเศรษฐศาสตร์โดยหันหลังให้การแก้ความทุกข์ในชีวิตคนส่วนใหญ่ในประเทศ สอนประวัติศาสตร์ที่เหยียดตัวเองเป็นแค่พงศาวดารราชสำนัก สอนภูมิศาสตร์แบบราชอาณาจักร ฯลฯ อุดมศึกษาแออัดไปด้วยความรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยและการจรรโลงสถานะอภิสิทธิ์ชนโดยวิธีต่างๆ

แน่นอนว่าการศึกษาทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์จนถูกท้าทายจากพลังตลาดสูงขึ้น และดูเหมือนต้องพึ่งพิงกระฎุมพีระดับล่างมากขึ้นด้วย คำถามคือวาทกรรม วัฒนธรรมความรู้ และความเข้าใจตัวเองของคนกลุ่มต่างๆ จะเปลี่ยนไปแค่ไหนภายใต้ภูมิประเทศแบบใหม่ซึ่งแตกต่างมากจากเดิม?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท