กทม.แจงแก้ปัญหาเอาคนออกจากสนามหลวง เผยยืดเวลาอีก 1 เดือนให้เตรียมตัว

วานนี้ (27 ม.ค.53) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมพิธีเปิดที่ทำการกลุ่มขยะรีไซเคิล ที่ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ของคนไร้บ้าน นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานยังมีการจัดงานพบปะคนไร้บ้าน กทม.และเชียงใหม่ เวทีเสวนา “นโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาคนไร้บ้านในมุมมองใหม่” โดยมีข้าราชการ กทม.สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าร่วมด้วย

ภาพคนไร้บ้านในสนามหลวง

ที่มา: มพศ.

รองผู้ว่า กทม.รับ 3 ข้อเสนอคนไร้บ้าน ไปประสานต่อ
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาคนไร้บ้านฝากไปยังผู้บริหาร กทม. 3 ข้อ คือ 1.สนับสนุนการจ้างงาน เช่น การขุดลอกท่อ กวาดถนน ตัดแต่งสวน 2.สนับสนุนคนไร้บ้านให้มีโอกาสในการค้าขาย โดยสนับสนุนพื้นที่วางขายสินค้าในงานออกร้านของ กทม.และในพื้นที่ต่างๆ 3.จัดหน่วยแพทย์มาบริการตรวจสุขภาพ อย่างน้อย 2 เดือนต่อหนึ่งครั้ง

ด้านนายธีระชน กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า จะประสาน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ ฝ่ายสาธารณสุขเพื่อให้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม ให้มาบริการตรวจสุขภาพให้ และจะประสานนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ การศึกษา การกีฬาและการท่องเที่ยว ในเรื่องของกระทรวงพัฒนาสังคม เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการจ้างงานและสร้างแหล่งอาชีพ

ชี้สร้างศูนย์พักพิง ทางออกปัญหาคนไร้บ้าน
นายธีระชน ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการจัดภูมิทัศน์สนามหลวง กล่าวด้วยว่า ทาง กทม.เชื่อว่ารูปแบบของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มาสร้างศูนย์พักพิงให้กับคนไร้บ้านน่าจะเป็นคำตอบของสังคม เพราะจากศูนย์ตลิ่งชันที่ประสบความสำเร็จ และศูนย์บางกอกน้อย ทั้ง 2 ศูนย์มีคนมาพักประจำ 70 คน ต่อวันและถ้าหมุนเวียนด้วยประมาณ 100 คน โดยส่วนมากเป็นคนจากสนามหลวง และนอกจากศูนย์นี้จะเป็นที่พักอาศัยแล้วก็ยังมีการส่งเสริมอาชีพตามมาด้วย อย่างศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิล ในส่วนนี้ทำให้ กทม.ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าได้พบทางออกของปัญหาสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ทั้งนี้ การทำงานของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแก้โจทย์ไม่ตรงคำถาม ซึ่งโจทย์ก็คือต้องแก้ให้เขามีบ้าน มีที่พักพิง

“เราจะพยายามขยายผลพวกนี้ออกไปให้เป็นรูปธรรมมาขึ้น ลำพัง กทม. พม.และกระทรวงแรงงาน เราก็ทำอย่านี้มาหลายสิบปีมันก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ปัญหามันก็ลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเมื่อเราเห็นคำตอบแล้ว เราน่าจะเอาตรงนี้มาเป็นโจทย์ตั้งว่าจะขยายามมันให้มากที่สุดได้อย่างไร”

ในเรื่องพื้นที่ นายธีระชน กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ไปประสานกับทางการรถไฟ และในเบื้องต้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสนอที่ว่าง 2 แปลงที่ถนนเจริญนคร 55 และชุมชนสวนเงิน ถนนพระราม 6 และอาจจะได้ที่ดินย่านถนนเชื้อเพลิงจากกรมธนารักษ์ขนาดประมาณ 5 ไร่ ส่วนทาง กทม.หรือพอช.ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคาร หากมีการช่วยกันคนละไม้ละมือจากหลายๆ องค์กร คาดว่าน่าจะสำเร็จได้เพียงแต่ต้องคุยกันมากขึ้น ประสานงานมากขึ้น

ยันเยียวยาเบื้องต้นยังต้องใช้บ้านมิตรไมตรี-บ้านอุ่นใจเป็นหลัก
นายธีระชน กล่าวด้วยว่าการเยียวยาเบื้องต้นต้องใช้บ้านมิตรไมตรีและบ้านอุ่นใจ ซึ่งมีการบริหารงานโดยรัฐก่อน แต่ในส่วนปัญหาข้อจำกัดที่เดิมจะให้คนไร้บ้านอยู่ได้เพียงระยะสั้นนั้น เบื้องต้นในส่วนของ กทม.จะประสานนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ ให้ผ่อนปรนกฎระเบียบดังกล่าวให้คนไร้บ้านสามารถเข้าพักได้นานขึ้น และอาจจัดระเบียบการพักใหม่เพื่อให้สามารถรองรับคนได้มากขึ้นเนื่องจากอยู่ในระยะเยียวยา แต่ปัญหาที่แก้ยากที่สุดคือการสลายกำแพงกั้นระหว่างรัฐกับคนไร้บ้าน ให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจต้องอาศัยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ช่วยเป็นตัวกลางช่วยประสาน

จัดพื้นที่ริมคลองหลอดให้ค้าขายชั่วคราว คาดรองรับได้นับพันราย
ส่วนในกลุ่มปัญหาผู้ที่ทำการค้าในพื้นที่สนามหลวง นายธีระชน กล่าวว่า ขณะนี้นายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองปลัดกทม.ได้รายงานการสำรวจจำนวนผู้ทำการค้าขายและหาบเร่แผงลอย บริเวณสนามหลวงและริมคลองหลอดพบว่าในสนามหลวงมี 996 ราย ส่วนบริเวณคลองหลอดมีจำนวน 227ราย แต่เป็นกลุ่มคนที่ทับซ้อนกัน ดังนั้นเมื่อหักลบแล้วจะเหลือจำนวนราว 700 กว่าราย ซึ่งทางกทม.ได้เตรียมจัดพื้นที่ริมคลองหลอดช่วงจากสนามหลวงจนถึงปากคลองตลาด คาดว่าจะสามารถรองรับได้เพียงพอ และอาจรองรับได้เพิ่มอีกกว่า 300 รายจากรอบพระบรมหาราชวัง (รอบวัง-ท่าเตียน-ท่าช้าง-ถนนสนามไชย) หากจะต้องเคลื่อนย้ายทั้งหมด

นายธีระชน ให้ข้อมูลต่อมาว่า หลังจากนี้นายทวีศักดิ์และสำนักงานเขตพระนครจะทำการวางผังกำหนดพื้นที่การค้าแล้วจะเปิดให้ลงทะเบียนผู้ค้าเพื่อจัดแผงให้ โดยพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นการอนุญาตให้ขายชั่วคราวจนกว่าปรับปรุงสนามหลวงแล้วเสร็จ ส่วนในระยะยาวจะมีที่ฐาวรในอนาคตให้ โดยนายทวีศักดิ์ได้มอบให้สำนักงานตลาด กทม.จัดหาพื้นที่ค้าจุดอื่น เช่น สนามหลวง 2 (ตลาดนัดธนบุรี) มีนบุรี หรือที่อื่นๆ ให้ ส่วนผู้ค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือทาง กทม.ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ

ยืดเวลาให้พ่อค้า-แม่ค้าสนามหลวงขายของต่อได้อีก 1 เดือน
นายธีระชน กล่าวด้วยว่าผู้ค้ายังมีเวลาอีก 1 เดือนที่สามารถขายของได้ และเตรียมลงทะเบียนค้าขาย รวมทั้งการประสานเรื่องที่พักพิงให้คนไร้บ้าน เนื่องจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแจ้งว่าต้องการใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานสัปดาห์พระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ กทม.ประกาศปิดพื้นที่วันแรก จะมีการห้ามรถเข้าจอดเท่านั้น ซึ่งได้หารือกับพล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว ในการจัดระบบรถที่มาส่งนักท่องเที่ยวที่สนามหลวง แล้วไปวนจอดที่อื่น และจะมีการล้างทำความสะอาดพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าปรับปรุง อีกทั้งจะทำการตั้งกรงเพื่อขนย้ายนกพิราบ

แนะผู้ชุมนุมทางการเมืองยังใช้พื้นที่อื่นได้
ส่วนการใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อชุมนุมทางการเมือง นายธีระชน กล่าวว่ายังมีอีกหลายจุดที่ใช้เป็นที่ชุมนุมได้ เช่นในส่วนของลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนตัวคิดว่าการปรับปรุงพื้นที่ไม่ได้มาจากประเด็นทางการเมือง แต่เกิดจากกระแสของประชาชนที่อยากให้สนามหลวงดีขึ้น เพราะสภาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างย่ำแย่ ยืนยันไม่ใช่เพราะเรื่องเสื้อแดง

เผยยอดคนไร้บ้าน ใน กทม.มีกว่า 1,000 คน
ด้านตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) และเครือข่ายคนไร้บ้าน ได้เปิดเผยผลการสำรวจคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.53 โดนการลงพื้นที่ตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 22.00-02-00 น. ระบุพบว่ามีคนไร้บ้านทั้งหมด 1,092 คน เป็นชาย 923คน เพศหญิง 140 คน เด็ก 29 คน และมีครอบครัวไร้บ้าน 21 ครอบครัว ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มจากปี 2544 ที่เริ่มมีการสำรวจซึ่งพบว่ามีคนไร้บ้านประมาณ 630 คน

โดยพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านพักอาศัยมากที่สุด คือ สนามหลวงและริมคลองหลอด 607 คน รองลงมาคือรอบสถานีขนส่งหมอชิต 80 คน, เยาวราช 52 คน, ย่านหัวลำโพง42 คน ย่านกษัตริย์ศึก-บางรัก-ราชเทวี 34 คน, สะพานพุทธ ฝั่งพระนคร 32 คน,สะพานพุทธฝั่งธนบุรี 27 คน สวนลุมพินี 27 คน, ถนนราชดำเนินกลาง 2 ฝั่ง-บางลำพู 23 คน, รอบตลาดนัดจตุจักร-สะพานควาย-พระรามหก 18 คน, สถานีรถไฟสามเสน และสถานีรถไฟบางซื่อ ที่ละ 17 คน โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหาของเก่า ค้าขาย รับจ้าง และขอทาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท