Skip to main content
sharethis

"อารมณ์ คำจริง"?. เพราะบ้านของเขาตั้งอยู่บนแหล่งแร่ทองคำที่มูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านบาท อยู่ในส่วนขยายของเหมืองทองอัคราไมนิ่งระยะที่ 3 ซึ่งเวลานี้เหมืองทองระยะที่ 2 ซึ่งอยู่แถบบ้านเขาหม้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กำลังสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นั่นอย่างไม่มีวันเยียวยา แน่นอนว่าในฐานะคนพื้นที่เธอย่อมไม่เห็นด้วย ไม่ว่าโครงการนั้นจะมีมูลค่าหมื่นล้านหรือแสนล้าน วิถีชีวิตของเธอที่จะอยู่กับเธอไปอีก "สิบยี่สิบชั่วโคตร" อย่างที่เธอว่า เธอไม่มีวันแลกกับความฉาบฉวย ขายที่ดินได้ใช้เงินเดี๋ยวเดียวก็หมด แต่กลับทุนมูลค่าหมื่นล้าน แน่นอนว่าย่อมต้องมีวิธีการบั่นทอนชุมชนและคนในพื้นที่ ให้แตกกระเซ็น

ประชาธรรมมีโอกาสไปพูดคุยกับเธอ ได้รับฟังตั้งแต่เริ่มเรื่อง ผลร้ายของเหมืองทอง และสุดท้ายในฐานะนักต่อสู้เพื่อท้องถิ่น ตอนไหนที่เธอจะวางอาวุธและหยุดต่อสู้ !

ขุมทองแห่ง "เนินมะปราง"

พื้นที่ที่เขาขอสำรวจเพิ่มเติมเป็นระยะที่ 3 จากเหมืองทองชาตรี พื้นที่ของเรานี้ถูกสำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัด คือในส่วนของ จ.พิษณุโลก อ.เนินมะปรางนั้นโดนไปเต็มๆ ในพื้นที่ 7 ตำบล ใน จ.พิจิตรมีพื้นที่บางส่วน แล้วก็เพชรบูรณ์ซึ่งก็เป็นพื้นที่ส่วนน้อย ซึ่งใน จ.พิษณุโลกของเรา ใน อ.เนินมะปรางจะเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ตอนนี้ยังเป็นเพียงการสำรวจเท่านั้น แต่จากข่าววงในนั้นตนเองคิดว่าเกิดแน่ๆ เพราะว่าบริษัทอัคราไมนิ่ง ซึ่งมีบริษัทแม่ที่ออสเตรเลีย ได้มีการเตรียมระดมหุ้นโดยเปิดเผยข้อมูลว่า พบแหล่งทองคำที่ประเทศไทยประมาณ 700 ตัน ในพื้นที่แหล่งสุวรรณ แหล่งโชคดี และพิกัดที่พบจะพบในพื้นที่เขาเขียว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก แสดงว่ายังไงเราก็เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องถูกกระทำแบบชาวบ้านในพื้นที่เขาหม้อ (จ.พิจิตร )แน่นอนเรามั่นใจ

"เท่าที่เราสังเกตเห็น ในพื้นที่แถว ต.วังยาง อ.เนินมะปรางนั้น ทางบริษัทได้ก่อสร้างสำนักงาน เหมือนกับกำลังกันพื้นที่ของเขาและมีรถเข้าออกตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าเขาขนอะไรออกเข้า ซึ่งนี่ขนาดที่ว่าทางบริษัทยังไม่ได้สัมปทานบัตร เพราะในพื้นที่บริเวณนั้นอยู่ในขั้นตอนเพียงแค่การสำรวจแร่ อาชญาบัตรเพื่อการสำรวจเท่านั้น"

เมื่อที่ดินราคาพรุ่งพรวด สามล้อจึงถูกหวย

"ทางบริษัทพยายามซื้อที่รอบๆ จากที่ดินแค่ไร่ละหมื่นกว่าบาทกลายเป็นไร่ละแสนห้า มีชาวบ้านบางคนก็ขายไป ขายไปครึ่งค่อนหมู่บ้านก็มี เขา(บริษัท)ก็อ้างชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะใช้พื้นที่เพื่อปลูกไม้ ชาวบ้านก็หลงดีใจว่าตนเองขายที่ได้เยอะ เขาอาจจะไม่รู้ว่าตนเองขายที่ได้เงินไปแค่เพียง 1 หรือ 2 ล้าน มันก็เหมือนกับสามล้อถูกหวยเดี๋ยวเดียวก็หมด ถามว่าชาวบ้านต้องกินต้องใช้วันละเท่าไหร่ แล้วคนทั้งครอบครัว คนที่ไม่เคยมีเงิน แป๊บเดียวก็หมด แผ่นดินก็ไม่มี กลายเป็นว่าต้องไปรับจ้างเขา เพราะพื้นที่ที่ขายไปเป็นสวนมะม่วง เป็นพื้นที่ที่ทำไร่ทำนาก็มี บางคนก็ไม่ได้ทำอะไร หรือให้เขาเช่า เพราะมันเหมือนกับว่าเดิมที่ดินมันราคาถูก แต่ว่าก็มาให้ราคาเขาแพง ชาวบ้านก็อยากมีเงินล้านใช้ รถคันละ 7 แสนก็ซื้อได้ ทีนี้พอเขาซื้อไปแล้ว บางทีพื้นที่บางแห่งเจาะซื้อยาก บริษัทก็จะเสนอราคาแพงๆ ไป พอชาวบ้านเห็นเพื่อนขายได้ ตัวเองก็อยากขาย ทีนี้ในหมู่บ้านก็เกิดความแตกแยกกัน เอ็งขาย เอ็งไม่คิดถึงข้า ข้าอยู่ด้านในแล้วข้าจะออกอย่างไร มันก็ต้องขายในราคาถูกไป พอเค้าซื้อหมดกลายเป็นว่าเขาจะทำอะไรกับเราก็ได้"

หายนะ !

จากประสบการณ์ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ อย่างเหมือง ย่อมก่อให้เกิดปัญหากับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหมืองทองก็ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยกเว้น"ในพื้นที่เนินมะปรางนั้นเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำทั้งหมด ซึ่งถ้าหากมีการทำเหมืองทอง เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะโม่จะบดหรือว่าทิ้งไซยาไนด์เอาไว้ตรงนั้นหรือเปล่า ถ้าหากเขาทิ้งเอาไว้เราจะตายไหม แล้วเราจะย้ายไปทางไหน ถ้าหากเรามีเงิน เราอาจจะย้ายได้ แต่ส่วนคนที่ไม่มีเงิน อย่างคนเฒ่าคนแก่ แล้วลูกหลานของเราจะไปไหน ก็ต้องกินน้ำไซยาไนด์ไป"

เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เห็นได้พบมาจากพื้นที่ข้างเคียง"แล้วถ้าหากเป็นจริงอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขาหม้อคือว่า ข้าวของชาวบ้านไม่ออกรวงหรือน้ำไม่มี ถ้าหากคิดว่าในพื้นที่เนินมะปรางจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนั้นแล้ว ชาวบ้านจะทำอย่างไร ที่นี่ชาวบ้านทำนา 1 ปี 3 ครั้ง ถ้าหากว่าน้ำไม่มี อะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาแล้วมีข้อสังเกตซึ่งยังเป็นไสยศาสตร์แต่ยังไมได้เป็นวิทยาศาสตร์ก็คือว่า ปีนี้มะม่วงของชาวบ้านแทบจะไม่มีของใครติดผล ฝนชะมาก็ร่วงหมด มะม่วงราคาดีแต่ว่าเราไม่มีปัญญาเอาไปขาย แล้วใครบอกได้บ้างว่าที่ไซยาไนด์ที่ขึ้นไปบนอากาศมันทำอะไรกับคนบ้านเราหรือเปล่า นอกจากมันจะมีผลกระทบโดยตรงในเรืองสุขภาพแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครบอกได้"

"พื้นที่ที่ตนเองทำงาน ห่างจากพื้นที่เขาหม้อ (พื้นที่เหมืองในระยะที่ 2) ไม่เกิน 30-40 กิโลเมตร แต่จากเรื่องราวที่รู้เห็นมา ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงเขาหม้อจะป่วยเป็นแผลพุพองกันมาก โดยปกติที่ตนเองเป็นพยาบาลก็สงสัยว่าเด็กตัวนิดเดียวที่เป็นผื่นแพ้อย่างเช่นที่เกิดขึ้น รักษาไม่นาน กินยาเดี๋ยวเดียวก็หาย แต่ว่านี่มันไม่หาย แล้วที่แย่คือผู้ใหญ่ก็เป็น คิดว่าสาเหตุของโรคจะต้องมีการสะสมเป็นเวลานาน อาจจะอยู่ในอาหารการกิน หรือว่าอยู่ในน้ำ หรือว่าหายใจเข้าไปทางอากาศ จริงๆ เรายังไม่รู้สาเหตุ มีแต่คนเอานั่นนี่ไปตรวจ แต่ว่ายังไม่เคยมีใครเอาผลการวิจัยมาให้ดูสักครั้งเลย แล้วตรวจนั้นก็ไม่ได้ตรวจกันง่ายๆ แล้วค่าตรวจก็แพง เอาแค่น้ำในบ่อน้ำตื้น ตรวจตัวอย่างละ 2,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมการตรวจไซยาไนด์ มันก็เหมือนกับประชาชนถูกปิดหูปิดตา"

"เชื่อไหมว่าถ้าหากมันดำเนินการมันต้องมีคนตาย ขนาดโรงโม่หินที่เนินมะปรางก็มีคนตาย (พิทักษ์ โตนวุธ) ครั้งที่มีโรงโม่หิน เราคิดว่ามันใหญ่ ผลประโยชน์ของมันเป็นร้อยล้าน แต่สำหรับเหมืองทองนี่เป็นแสนล้าน คนละเรื่องกันเลย วันนั้นที่ทำเรื่องโรงโม่มันเหมือนกับว่ามันยิ่งใหญ่ แต่ว่าวันนี้ที่ทำเรื่องเหมืองทองนั้น มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย โรงโม่มันก็แค่ระเบิดหิน มีฝุ่น เอาเทือกเขาสวยๆ ของเราไปแค่นั้นเอง แต่ว่ามันไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรกับเรามาก ป่าอาจจะหายไป แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลอย่างไซยาไนด์ หรือว่าสารแคดเมียม เราไม่รู้ว่ามันจะอยู่กับเราอีกกี่ร้อยปี"

บนอู่ข้าวอู่น้ำที่ไม่มีวันหมดของชาวบ้าน

กับผืนดินที่อยู่อาศัยมากว่า 40 ปี แน่นอนว่าต้องมีอะไรๆ ที่เธอเชื่อว่าถ้าหากไม่มีเหมืองทองอีก 10-20 ชั่วโคตรเธอและลูกหลานของเธอก็สามารถอยู่ต่อไปได้ "เขาจะมาชี้ว่าจะมาเอาทองในพื้นที่ตรงนี้ไป บนพื้นที่ที่เราทำนาได้อย่างไร ฉะนั้นถ้าหากเราจะไปชี้ว่าเราจะไปทำนาที่สีลมคุณจะให้ไหม คุณจะมาทำอะไรตามอำเภอใจ ถ้าหากเราบอกว่าเราจะไปเอาที่ตรงนั้นมาทำนา คุณจะให้ไหม ทองมันขุดแล้วมันก็หายไป แต่ถามว่าการทำนานั้นลูกพี่ทำนาไปได้อีกสิบยี่สิบชั่วโคตรที่นาก็ยังอยู่ ถามว่าพอเราขายไปแล้วมันก็หมดสิทธิ"

ความเป็นธรรม (อยู่ที่ไหน)

"จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านเขาหม้อโครงการมันมีผลกระทบขนาดนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมยังมีคนตาบอด คนที่อยู่ในลำดับที่สูงกว่าเราไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ดูแลด้านกฎหมายต่างๆ คณะกรรมการต่างๆ คนที่จะอนุมัติ จะไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยหรือ ประสบการณ์จากคลิตี้ก็ดัง มาบตาพุดก็ดัง ทำไมมันน่าจะมีการตรากฎหมายไว้เลยว่า ถ้าหากมีผลกระทบขนาดนี้ ใครจะมาขอสัมปทานอะไรต่างๆ เรายุติได้แล้ว"เธอว่าอย่างมีน้ำเสียง

การต่อสู้ที่เพิ่งเริ่มและอาจจะต้องมีวันจบ...

"ตอนนี้เชื่อไหมว่าชาวบ้านใน อ.เนินมะปราง รู้เรื่องเหมืองกันไม่กี่คนเท่านั้น คือรู้เฉพาะคนที่สนใจไม่กี่คน ตอนนี้เราพยายามหาเพื่อน บอกให้พวกเขารู้ว่าในกรณีแบบนี้มันมีจริงๆ ผลกระทบมันเกิดขึ้นจริงๆ พี่จะสู้แค่ก่อนสัมปทานเท่านั้น ถ้าหากเมื่อไหร่อนุญาตโดยประชาชนในพื้นที่ หรือนักการเมืองในพื้นที่ พี่จบนะ พี่ยังมีลูก พี่ยังมีผัวนะ พี่จะบอกเลยว่า "กูบอกมึงแล้ว มึงไม่เชื่อกูมึงก็ต้องรับชะตากรรมไป"

"คือแต่ว่าในการต่อสู้เราจะทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนรู้ผลกระทบ เพื่อให้ตรวจสอบ หรือว่ารู้ข้อมูล ต้องระวังว่าถ้าหากจะให้เราลงชื่ออะไรต้องดูก่อนว่าจั่วหัวเรื่องว่าอะไร ไม่ใช่ลงชื่อไปแล้วใครก็ไม่รู้เขียนอะไรแปะหน้าลงไป เราจะทำอย่างไรก็ได้ ให้คนรู้มากที่สุดเพื่อให้นักการเมืองเกรงใจเรา ในการที่จะตัดสินใจ ให้รู้จักมองซ้ายขวา ระแวดระวัง ไม่ใช่หน้าด้านขาดสำนึก เห็นแก่เงินล้านสองล้าน ซื้อรถเพียงคันเดียวก็หมดแล้ว หรือว่าถ้าหากกินก็เป็นขี้เป็นตดหายไป อยากให้เขาได้ละอาย ก่อนที่จะเซ็นชื่ออนุมัติอะไรให้มองหน้าคนอื่นๆ ก่อนว่าเขาคิดกันอย่างไร"

"ชาวบ้านจะต้องเป็นคนตัดสินใจ ถ้าหากสุดท้ายขาเข้ามาทำประชามติภายในหมู่บ้าน แล้ววันนั้นถ้าหากชาวบ้านอนุญาตไปแล้ว จะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้เลย ปล่อยให้มันไปตามเวร คิดว่าชีวิตนี้เป็นเวรกรรม ของคนเนินมะปราง ในเมื่อเราทำเต็มที่แล้ว ต้องปล่อยไป กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสนอง" เธอกล่าวทิ้งท้าย.หลายหมื่นล้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net