รายงาน: เมื่อนายกฯ ตอบคำถามว่าด้วยงบประมาณดับไฟใต้

 
 
จะผ่าหรือไม่ผ่าพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ที่หน่วยทหารใช้กันอยู่ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังไม่มีข้อสรุป แต่จากการทำงานที่ผิดพลาดของอุปกรณ์ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง จนนำมาซึ่งการสูญเสียในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามมากมายและวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในทำนองที่ว่า คุ้มค่าหรือไม่กับราคาเรื่องละล้านกว่าบาท
 
 
แต่ในขณะเดียวกันหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานใช้ GT200 โดยตรง ต่างก็ออกมาการันตีถึงประสิทธิภาพว่าใช้ได้เจ๋งจริง แต่สังคมก็ยังคงตั้งคำถามไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณมหาศาล ในภารกิจดับไฟใต้ของรัฐบาลว่าคุ้มค่าจริงหรือ หรือเพียงแค่การละเลงงบ
 
อย่างครั้งหนึ่งในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์Ž ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ระหว่างเวลา 09.00 - 10.00 น. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ที่ได้กำหนดประเด็นพูดคุยเรื่อง ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้Ž ผู้เข้าร่วมพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในคราวนั้น ประกอบด้วย นายอนุพงศ์ ไชยฤทธิ์ จากทีวีไทย นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายสุพจ จริงจิตร จากหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส โดยมีน.ส.เขมสรณ์ หนูขาว เป็นพิธีกรรับเชิญ
 
ประเด็นสำคัญในเรื่องการใช้งบประมาณดับไฟใต้อยู่ที่คำถามของนายสุพจ จริงจิตร ที่มาพร้อมกับการแจกแจงรายละเอียดที่ได้มาจากสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง พร้อมคำตอบที่ตรงประเด็นหรือไม่ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
.................
สุพจ จริงจิตร : ตัวเลขงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระหว่างปี 2547 - 2552 ที่ผมได้มาจากสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางรวมแล้ว 109,296.21 ล้านบาท เฉลี่ยตกปีละ 18,216.035 ล้านบาท
 
ในขณะที่แต่ละรัฐบาลพูดถึงนโยบายการเมืองนำการทหาร จะพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อดูตัวเลขงบลงทุนของรัฐบาล ช่วงปี 2548 - 2552 เฉพาะ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดความรุนแรงโดยตรง ผมคิดว่าไม่น่าจะตอบโจทย์ความกินดีอยู่ดี หรือตอบสนองนโยบายการเมืองนำการทหารของรัฐบาล
 
เพราะตัวเลขงบลงทุนที่ทุ่มลงไป มีงบประมาณที่ใช้ในโครงการเสริมสร้างความยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม ใน 3 จังหวัดเพียง 650,000 บาท
 
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่ฟื้นฟูดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นฐานชีวิตของคน 3 จังหวัด กลับได้รับงบประมาณเพียง 3.53 ล้านบาท
 
ไม่แตกต่างจากงบลงทุนของกระทรวงแรงงานที่ 3 จังหวัดได้มาแค่ 38.68 ล้านบาทเท่านั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแม้จะได้งบประมาณมากถึง 4,582.06 ล้านบาท แต่เกือบทั้งหมดไปอยู่ที่กรมชลประทาน เหลือให้สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ดูแลเรื่องที่ดินเพื่อการเกษตร อันเป็นฐานอาชีพของคน 3 จังหวัดแค่ 11.4 ล้านบาท
 
กระทรวงมหาดไทย ใช้งบประมาณไป 19,622.80 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่กรมที่ดินซึ่งดูแลเอกสารสิทธิ์ อันเป็นฐานความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคน 3 จังหวัด ได้รับงบประมาณแค่ 5.59 ล้านบาท
 
ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบประมาณ 3,038 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณก่อสร้างอาคารสถานที่ โดยผู้รับเหมาจากนอกพื้นที่ได้งานรับเหมาก่อสร้างไปแทบจะทุกโครงการ
 
ไม่แตกต่างจากกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว ได้รับงบประมาณ 159.61 ล้านบาท แต่เกือบทั้งหมดกลายเป็นงบประมาณของสถาบันพลศึกษายะลา ขณะที่ปัตตานีได้แค่ 1.59 ล้านบาท นราธิวาสได้ไป 15.22 ล้านบาท
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงแม้จะได้มา 246.55 ล้านบาท ก็กระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก
จากนี้จะจัดการบริหารงบประมาณอย่างไรให้ตอบโจทย์การเมืองนำการทหาร ในขณะที่ช่องทางการใช้งบประมาณ ยังคงใช้กระทรวง และกรมกองต่างๆ เหมือนเดิม
 
นายกรัฐมนตรี : ผมจะเรียนปรับความเข้าใจให้ตรงกันสักนิดหนึ่ง การเมืองนำการทหารหมายความว่า เราถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่การเมืองต้องนำนโยบายนำเข้าไปแก้ ผมไม่อยากพาดพิงรัฐบาลเก่า รัฐบาลเก่าพูดชัดเจนเลยว่า อันนี้เป็นปัญหาที่ตำรวจ ทหารเข้าไปแก้ไข อดีตนายกรัฐมนตรีเคยพูดชัดเจน
 
คำถามว่างบประมาณใช้ผ่านช่องทางไหนอย่างไร เพื่อตอบสนองนโยบายตัวนี้ จะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ผมยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยก็ได้ว่า ถนนที่ผมไปเปิดยะลา – ปัตตานี เดิมงบประมาณเป็นของกรมทางหลวง ปรากฏว่าทำไม่ได้ เพราะเกิดปัญหาขึ้นกับผู้รับเหมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้รับเหมาก็ทิ้งงาน ในที่สุดก็ไม่สามารถทำงานได้ ทำได้ 25%
 
ถามว่าการเมืองนำการทหาร ผมเป็นคนเสนอกับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ บอกว่าท่านเอาทหารเข้าไปทำซิ เพราะจะทำให้เห็นผลสำเร็จของงาน และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทหารกับประชาชนด้วย
สุดท้ายก็จัดงบให้ทหารช่างเข้าไปทำ จนเส้นทางนี้สำเร็จ การที่งบประมาณไปอยู่กับทหารช่าง ไม่ได้บอกว่าขัดกับการเมืองนำการทหาร
 
ขณะนี้ต้องยอมรับว่า หมู่บ้านหลายร้อยหมู่บ้าน ต้องพัฒนาหลายเรื่อง ถ้าไม่เอาทหารเข้าไปก็เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขั้นนี้ ยังเป็นขั้นที่บทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี ทหารก็ดี หรือกลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
 
ผมอยากจะย้ำว่าหลักของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ไม่ใช่หลักของทหาร แต่เป็นการบูรณาการระหว่างทหาร ตำรวจ ข้าราชการฝ่ายปกครองเข้าด้วยกัน เราต้องอาศัยกลไกเหล่านี้มากพอสมควร เพราะกลไกของกระทรวงทบวงกรมตามปกติพบว่า ทำงานยากในหลายพื้นที่
 
เมื่อเข้าไปแล้วผมไม่ต้องการให้เข้าไปแบบถาวร จึงมีนโยบายชัดเจนว่า จะลดกำลังทหารลง พอเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้แล้ว ก็จะถอนกำลังออกมา ให้หน่วยงานปกติเข้าไปทำงานต่อ ผมว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของงบประมาณ และการใช้บุคลากรที่ตามมาอีกขั้นหนึ่ง
 
ผมไม่อยากให้มองว่า เป็นเรื่องขัดกัน ขณะนี้ทำไมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังมีบทบาทสูง ขณะที่เรากำลังพูดถึงการเมืองนำการทหาร
 
สุพจ จริงจิตร : ผมไม่ติดใจว่าจะใช้โครงสร้างไหนทำงาน จะใช้ทหารก็ได้ แต่ที่ผมอยากทราบคือเราจะบริหารจัดการงบประมาณอย่างไร ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบโจทย์นโยบายการเมืองนำการทหารได้
 
นายกรัฐมนตรี : โจทย์ที่เราตั้งขณะนี้ เป็นโจทย์ที่มาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ที่เราทำขึ้นมา มีเป้าหมายชัดเจน เขาต้องไปสำรวจแต่ละหมู่บ้านว่า รายได้ของครัวเรือนที่ต่ำกว่า 64,000 บาทต่อปี อยู่ตรงไหนอย่างไรบ้าง จะแก้ไขอย่างไร จะนำมาฝึกอาชีพ หรือเรื่องการศึกษาขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการการศึกษาเอกชนขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ผมน้อมรับนะครับ ผมทราบว่าเสียงวิจารณ์ในเรื่องงบประมาณตรงนี้ยังมีอยู่พอสมควร และได้กำชับในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ระมัดระวัง ต้องขอขอบคุณที่ได้ตั้งข้อสังเกต จะระมัดระวังครับ
 
นางสาวเขมสรณ หนูขาว : 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายกรัฐมนตรี : ผมอยากให้เข้าใจว่าผมยังไม่พอใจ เพราะข้อเท็จจริงยังมีความรุนแรงอยู่ แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรง เวลาดูตัวเลขอาจจะบอกว่าลดลง ปี 2552 เทียบกับปี 2551 อาจจะลดลงเล็กน้อย ปี 2551 ถ้าเทียบกับปี 2550 ก็ลดลง
 
ที่ผมบอกว่ายังไม่พอใจก็คือว่าความรุนแรงยังอยู่ในระดับที่เราไม่ควรจะยอมรับ
 
ขณะเดียวกันต้องยอมรับด้วยว่า ที่สามารถลดเหตุการณ์ต่างๆ ลงได้ ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมหาศาล แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะพอใจ สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วชัดเจน ก็คือ
 
1.กำลังปรับปรุงกฎหมายในการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้อยู่ในขั้นของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ตรงนั้นจะมีการบูรณาการชัดเจนยิ่งขึ้น และมีความรับผิดชอบทางการเมืองสูงขึ้น ในแง่ของการบริหารจัดการนโยบาย
 
2.ในสิ่งที่เราเน้นย้ำทิศทางที่ปรับเปลี่ยนก็คือ เน้นการพัฒนากับการอำนวยความยุติธรรม ส่วนแผนการพัฒนาเราได้อนุมัติแผนที่มาจากคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งขึ้น เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเพิ่งอนุมัติเงินไป 20,000 ล้านบาท พอถึงสิ้นปี 2555 เราจะใช้งบประมาณรวม 60,000 กว่าล้านบาท
 
เดี๋ยวอาจจะมีคนบอกว่า อย่าคิดว่าเงินแก้ปัญหาได้ ถูกต้องครับ ผมไม่ได้บอกว่ามีเงินลงไปแล้วจะแก้ปัญหาได้ แต่ความแตกต่างที่เราได้เห็นจากการลงพื้นที่ด้วยในครั้งนี้ก็คือ เรากำหนดเป้าหมายของแผนชัดเจน ไม่ใช่บอกว่ามีเงินลงไปแล้วคือความสำเร็จ เรามีตัวชี้วัดที่กำหนดเอาไว้แล้ว รายได้เฉลี่ยของประชาชนต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ พื้นที่ปาล์มจะเพิ่มขึ้น พื้นที่นาข้าวจะเพิ่มขึ้น มีการฝึกอาชีพเพิ่มขึ้น
 
ที่สำคัญ ในการไปทำงานเรามีการทำประชาคม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสนอว่าจะแก้ปัญหาของเขาอย่างไร เขาไปสำรวจเลยว่าครัวเรือนไหนมีรายรับต่ำกว่า 64,000 บาท ขั้นแรกจะทำให้ทุกคนมีรายได้เกิน 64,000 บาทต่อปีก่อน จากนั้นเป็น 120,000 บาทต่อปี เป็นเป้าหมายสุดท้าย อย่างนี้เป็นต้น
 
รวมไปถึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ที่อยู่อาศัย มีการมอบบ้าน การมีส่วนร่วม เราจะเห็นว่าก็มีการฝึกอาชีพ มีการฟื้นฟูเยาวชนที่มีปัญหายาเสพติด เป็นต้น
 
สุดท้าย เรากำลังปรับแนวทางเรื่องความยุติธรรมและบทบาทความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน บทบาทที่เราเห็นทหารช่างทำถนน ซึ่งค้างมาหลายปีแล้วเสร็จ บทบาททหารพราน เข้าไปจัดกิจกรรมพิเศษ จริงๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องการรักษาดวงตา ปรากฏว่าที่นั่นกลายเป็นที่ยอดนิยม สำหรับคนที่เป็นชิคุนกุนยาก็มารักษา เป็นบริการที่สร้างความไว้วางใจที่ดี ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน
 
ส่วนปัญหาการละเมิดสิทธิ คณะรัฐมนตรีได้มีมติไป 2 - 3 ครั้ง ปรับปรุงกระบวนการร้องเรียน ทุกครั้งที่จะต่ออายุพระราชกำหนดการบริหาราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการประเมินว่า มีจุดอ่อนตรงไหนในการใช้
กฎหมาย จัดมีกลไกขึ้นมาจัดระบบการร้องเรียน ระบบการบันทึก เกี่ยวกับการใช้อำนาจ
 
จนสุดท้ายใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เราได้เริ่มทดลองยกเลิกกฎอัยการศึก เอาพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเบากว่าเยอะเข้าไปใช้แทน ต้นปี 2553 ผมจะเอามาตรา 21 ของกฎหมายความมั่นคงนี้มาดู เพื่อดึงคนที่หลงผิดเข้าร่วมกับขบวนการก่อความไม่สงบกลับมา ถ้าเราทำตรงนี้ไปได้ดี ผมจะเอาตรงนี้ไปใช้กับ 3 จังหวัดชายแดน
 
นางสาวเขมสรณ์ หนูขาว : เรื่องเขตปกครองพิเศษ นครปัตตานี นครรัฐปัตตานี เรื่องการกระจายอำนาจ มีเรื่องไหนที่คิดว่าพอจะนำไปแก้ปัญหาได้บ้าง
นายกรัฐมนตรี : แนวคิดของรูปแบบของโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ไม่ได้เป็นปัญหา ผมคิดว่าที่สำคัญมากกว่าคือ การพัฒนาที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ความต้องการของเขา
ถ้าเขามีความต้องการรูปแบบการปกครองพิเศษ ผมคิดว่าสามารถนำเสนอกันได้ แต่ความเห็นอาจจะหลากหลายแตกต่างกันไป แต่การมีโครงสร้างปกครองพิเศษเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ หนึ่งท้องถิ่นครอบคลุมสามจังหวัด ผมไม่แน่ใจว่าจะตอบโจทย์ มากว่าการมีองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือไม่
หัวใจจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบพิเศษ แต่อยู่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่
 000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท